กองทุนซะกาตช่วยแก้ไขปัญหาสังคมมุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  9694

 

 

กองทุนซะกาตช่วยแก้ไขปัญหาสังคมมุสลิม

 

ทวีศักดิ์ หมัดเนาะ
 

(ตรวจทานโดย ดร.อับดุลเลาะฮ์ หนุ่มสุข)

 

การจัดตั้งกองทุนซะกาตฯอย่างเป็นทางการช่วยแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิม

 

       ทุกคนคงเคยได้ยินข่าวคราวที่ปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ หรือแม้แต่เคยพบเห็นด้วยตนเองว่า ขอทานบางคนสามารถหาเงินได้วันละหลายพันบาททุกวัน เคยมีข่าวกระทั่งว่าขอทานบางคนบริจาคเงินเพื่อสร้างศาสนสถานที่ตนบูชาครั้งหนึ่งๆ ด้วยจำนวนเงินนับล้านบาท และบริจาคหลายครั้งด้วย คนเหล่านี้แน่นอนว่ามีฐานะเข้าขั้นเศรษฐี แต่ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาขอจากผู้อื่นร่ำไป ด้วยเห็นว่าเป็นอาชีพที่แสนสบาย ได้เงินมาอย่างง่ายๆ โดยอาศัยความสงสารและความใจบุญศุลทานของผู้อื่น

 

       ทุกวันนี้ สังคมมุสลิมเองยังคงปรากฎภาพคนขอทานที่เดินไปขอเงินบริจาคตามบ้าน ตามชุมชน และตามมัสยิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์จนเห็นเป็นเรื่องปกติ แท้ที่จริงกลุ่มคนเหล่านี้จำนวนมากที่ขอเพราะทำเป็นอาชีพ แม้มีอวัยวะครบถ้วนสมบูร์และยังอยู่ในวัยทำงาน สามารถประกอบสัมมาชีพที่สุจริตและมีเกียรติได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะขอเงินจากผู้อื่น บางส่วนอาจจะขอทานด้วยสาเหตุความยากจนขัดสนจริงๆ แต่ก็เชื่อว่ามีเพียงจำนวนน้อย เพราะที่จริงในสังคมไทยเอง มีหน่วยงานหลายแห่งทั้งของรัฐและอาสาสมัครเอกชนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือหากประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างแท้จริง หลายคนทำไปเพราะความเดือดร้อนขัดสนบีบคั้นในครั้งแรก แต่เมื่อทำบ่อยๆ เข้าอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเขินอายที่ต้องขอเงินจากผู้อื่น ก็จะพัฒนาเป็นความรู้สึกชินชาและกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่สามารถละเลิกได้ในที่สุด พ่อแม่ที่ขอทานเป็นอาชีพอยู่แล้ว ก็มักจะฝึกฝนให้ลูกๆ หัดขอกันตั้งแต่เล็กๆ จนกลายเป็นประกอบอาชีพขอทานกันทั้งครอบครัว

 

       ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่พบเห็นกันโดยทั่วไปในสังคมมุสลิมก็คือ การขอเรี่ยไรเงินโดยอาศัยศรัทธาทางศาสนา เช่นเรี่ยไรเพื่อนำเงินไปสร้างมัสยิด โรงเรียนสอนศาสนา หรือแม้กระทั่งขอเรี่ยไรเงินซะกาตเพื่อนำไปจัดเลี้ยงคนยากจน เด็กกำพร้า หลายครั้งอาจเป็นเรื่องจริง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่หลอกลวง ทำกันเป็นกระบวนการ มีหนังสือรับรองจากบุคคล มัสยิดหรือหน่วยงานที่ตรวจสอบไม่ได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แม้สถาบันหรือบุคคลที่อ้างถึงจะมีอยู่จริงแต่ก็มิอาจปักใจเชื่อถือได้ว่าเป็นเอกสารจริงหรือเอกสารปลอมแปลง สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้ที่ถูกเรี่ยไร บางครั้งให้ไปเพราะความรำคาญเนื่องจากทนถูกตื๊อไม่ไหว การให้ด้วยเหตุนี้ จึงมิอาจคาดหวังผลบุญได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แตกต่างกับการให้ด้วยความเต็มใจบริสุทธิ์ใจ นอกจากนั้น ยังสร้างความหวาดระแวงสงสัยรวมทั้งอาจสร้างความเสื่อมเสียให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่ถูกอ้างถึง พฤติกรรมในลักษณะเช่นที่ว่านี้ มักดำเนินการโดยชาวต่างชาติที่มาจากประเทศมุสลิมที่มีฐานะยากจนเป็นส่วนใหญ่

 

       เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพฤติกรรมและเหตุการณ์ที่กล่าวถึงทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นเรื่องน่าละอายยิ่ง ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียและเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิมโดยรวม หลายคนขอหรือเรี่ยไรโดยไม่สนใจว่าผู้ถูกขอจะเป็นมุสลิมหรือไม่ ยิ่งทำให้สังคมมุสลิมถูกดูหมิ่นดูแคลนหนักยิ่งขึ้นไปอีก เรามิได้ปฏิเสธหรือรังเกียจความยากจน หรือปฏิเสธว่าไม่มีคนยากจน รวมทั้งมิได้ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ หรือปฏิเสธศรัทธาต่อบทบัญญัติของอิสลามเรื่องซะกาตและซอดะเกาะฮ์ แต่การขอ การเรี่ยไร และการให้ความช่วยเหลือ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นเครื่องมือของการทำร้ายทำลายภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิมอีกต่อไป 

 

          ในประวัติศาสตร์สมัยของท่านศาสดาและบรรดาเศาะฮาบะฮ์ ท่านส่งเจ้าหน้าที่เพื่อไปรวบรวมจัดเก็บซะกาตจากคนร่ำรวยและนำไปแจกจ่ายให้แก่คนยากจนในชุมชนนั้นๆ ผู้เรี่ยไรทำหน้าที่อย่างมีศักดิ์ศรีและความเข้มแข็งด้วยอำนาจของผู้ปกครองผู้ทรงคุณธรรม ผู้จ่ายหรือผู้ให้กลับกลายเป็นผู้อ่อนด้อยกว่า และจ่ายหรือบริจาคด้วยจำนนต่อความศรัทธาที่มีต่อศาสนา หรือชนต่างศาสนาจำต้องจ่ายเพราะจำนนด้วยอำนาจของผู้ปกครอง แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ผู้ขอเรี่ยไรคือผู้ยอมจำนนต่อชะตาชีวิต ไม่คิดที่จะดิ้นรนต่อสู้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองแม้มีโอกาสที่จะทำได้ โดยเฉพาะศักดิ์ศรีความเป็นมุสลิมที่ถูกกล่าวขานว่าจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่มนุษยชาติทั้งมวล


 

       การจัดตั้งกองทุนซะกาตสามารถแก้ไขปัญหาและกอบกู้ภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิมโดยรวมได้ ดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

 

       1. มีความน่าเชื่อถือ
 

          กองทุนซะกาตที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ มีความน่าเชื่อถือ ไว้วางใจว่าจะสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะได้รับการรับรองสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรบริหารกิจการศาสนาอิสลาม ผู้บริจาคก็มั่นใจได้ว่าเงินบริจาคของตนไม่หายไปไหน และถูกใช้อย่างมีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมอย่างจริงจัง สามารถตรวจสอบได้ ผู้ขอรับความช่วยเหลือก็มั่นใจว่ากองทุนซะกาตจะเป็นแหล่งพึ่งพิงได้อย่างเพียงพอในยามจำเป็นของครอบครัว หรือเมื่อได้รับความเดือดร้อน

 

       2. มีประสิทธภาพ

          กองทุนซะกาตจะจัดทำระบบงานเพื่อให้การดำเนินงานในด้านต่างๆดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นระบบฐานข้อมูลผู้บริจาค(Source of Fund) ระบบฐานข้อมูลผู้รับบริจาค(Use of Fund) ระบบบัญชีการเงินและการลงทุน(Financial Management and Investment) ระบบการบริหารโครงการ(Project Management) ระบบการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร(Training and Development System) ระบบข้อมูลการบริหารเพื่อการตัดสินใจ(Management Information System) ฯลฯ เป็นต้น ระบบงานเหล่านี้ถูกจัดทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยทุกกองทุนฯนำไปใช้ร่วมกัน (Standardization) และมีหน่วยงานกลางที่จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลของทุกกองทุนฯในระบบออนไลน์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินงานของแต่ละกองทุนฯได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบตามเวลาจริง(Real Time)

       3. ส่งเสริมอาชีพ

          กองทุนซะกาตฯจะทำการบันทึกรายชื่อ การศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้รับบริจาคลงในระบบฐานข้อมูลผู้รับบริจาค(Use of Fund) และจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพหรือจัดหางานให้แก่ผู้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จนผู้รับบริจาคมีรายได้และฐานะทางเศรษฐกิจที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิตตามปกติของตนและครอบครัว และอาจพัฒนาจนปรับเปลี่ยนจากผู้รับบริจาคเป็นผู้ให้การบริจาคได้ในอนาคต

       4. กอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

          เนื่องจากระบบฐานข้อมูลทุกระบบของทุกกองทุนฯในเครือข่าย จะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในระบบออนไลน์ ดังนั้น ผู้ขอรับบริจาครายหนึ่งจะสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้จากกองทุนฯใดกองทุนหนึ่งเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ไม่มีใครสามารถแสวงหาความร่ำรวยจากการหลอกลวงด้วยการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯหลายๆแห่งพร้อมกัน  การเปิดโอกาสให้คนยากจนได้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ถือเป็นการกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่คนยากจนประการหนึ่ง เพราะหากพวกเขาไปขอรับความช่วยเหลือจากคนร่ำรวยที่ให้การช่วยเหลือในฐานะเป็นการส่วนตัว คนขอก็จะรู้สึกด้อยศักดิ์ศรีที่ต้องแบมือขอแม้จำเป็นต้องขอและรู้สึกติดหนี้บุญคุณ คนให้ก็อาจให้ด้วยความรู้สึกสมเพชและดูถูก และอาจเกิดความหวาดระแวงว่าจะต้องให้จนเป็นภาระอย่างต่อเนื่องต่อไปนานสักเท่าใด 


          แตกต่างจากการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ กองทุนฯจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องให้โดยหวังผลตอบแทนคือความเมตตาจากอัลลอฮ์ มิได้ให้เพราะหวังสร้างบุญคุณเหนือผู้อื่น ผู้รับความช่วยเหลือก็จะไม่รู้สึกว่าตนเองด้อยศักดิ์ศรีที่ต้องมาขอ ไม่รู้สึกว่าถูกดูหมิ่นดูแคลน แต่มาเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนจนที่อยู่เหนือคนร่ำรวยตามที่ศาสนากำหนดไว้ ไม่มีผู้ศรัทธาคนใดจะปฏิเสธได้ และเมื่อพวกเขาเข้าสู่โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยระยะหนึ่ง การให้ความช่วยเหลือย่อมมีเวลาสิ้นสุดลง และพวกเขาก็จะสามารถแปรเปลี่ยนสถานะจากผู้รับ(มือล่าง) กลายเป็นผู้ให้(มือบน)ในที่สุด


 

       เมื่อสังคมมุสลิมสามารถจัดตั้งกองทุนซะกาตอย่างเป็นทางการด้วยจำนวนที่มากเพียงพอ กระจายอยู่ในพื้นที่ชุมชนมุสลิมทั่วประเทศ และจัดวางระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพดังที่กล่าวข้างต้นได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปของการกอบกู้ภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิมก็คือ องค์กรบริหารกิจการศาสนาอิสลามจะต้องป่าวประกาศไปถึงมัสยิดทุกแห่งทั่วประเทศ เรียกร้องเชิญชวนมิให้มุสลิมทุกคนงดให้เงินบริจาคแก่ผู้มาขอเรี่ยไรตามบ้าน ในชุมชนหรือที่มัสยิด รวมทั้งรณรงค์ให้สังคมงดให้การบริจาคเป็นการส่วนตัว แม้จะเต็มใจให้กันก็ตาม เพราะถือเป็นการดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

        การให้ที่ถูกต้องจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยองค์กรที่มีสำนึกว่าต้องทำหน้าที่ทั้งการช่วยเหลือและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้ยากไร้ และแจ้งแก่บุคคลเหล่านั้นให้ไปลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากองทุนซะกาตฯในชุมชน เมื่อพวกเขายินยอมเข้าสู่กระบวนการบริหารและพัฒนาตามระบบของกองทุนฯ (ไม่ยินยอมก็ไม่ได้ เพราะต่อไปนี้จะไม่สามารถขอจากใครเป็นการส่วนตัวได้อีก  และคนที่จนไม่จริง ก็จะไม่กล้าไปลงทะเบียนเพราะต้องถูกตรวจสอบสถานะครอบครัวด้วย) คนยากจนในสังคมมุสลิมก็จะหมดไป หรืออย่างน้อยที่สุดภาพของคนขอทานที่เดินขอเรี่ยไรเงินตามบ้าน ชุมชนและมัสยิด จะต้องไม่ปรากฎให้เห็นอีกต่อไป


          อนึ่ง คำประกาศนี้อาจยกเว้นกรณีการเรี่ยไรเงินเพื่อก่อสร้างมัสยิดโรงเรียน กุโบร์ กองทุนครูสอนศาสนาที่ดำเนินงานกันโดยเปิดเผย ตรวจสอบได้ และเป็นวิถีชุมชนที่ทำกันเป็นปกติสามัญ อย่างไรก็ตาม หากกองทุนซะกาตที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ สามารถระดมเงินเข้ากองทุนได้เป็นจำนวนมาก เกิดเป็นกองทุนการเงินขนาดใหญ่ กิจกรรมการเรี่ยไรเงินเหล่านี้จะน้อยลง และสังคมจะเน้นไปให้ความสำคัญกับการระดมเงินโดยผ่านกองทุนซะกาตแทน อินชาอัลลอฮ์