อัลอัดล์ (ความยุติธรรม)
  จำนวนคนเข้าชม  10788

 

อัลอัดล์ (ความยุติธรรม)

 

ดร.มุฮัมมัด บินมุซัฟฟิรฺ บินฮุเซนอัฏเฏาะวีลอัซซะฮฺรอนี

 

          อิสลามได้สร้างสังคมของตนเองขึ้นมาบนรากฐานที่แข็งแกร่ง และหนึ่งในบรรดารากฐานนั้นก็คือความยุติธรรมระหว่างผู้คนโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องชนชั้นและเผ่าพันธุ์

 

          ♦ ความยุติธรรมเป็นลักษณะอันดีงามอย่างหนึ่งซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตามหนทางแห่งความจริง และให้แน่ใจว่าความเป็นธรรมเกิดขึ้นในทุกเรื่องของชีวิตโดยปราศจากการกดขี่ทุกรูปแบบ

 

          ♦ ความยุติธรรมถูกให้คำจำกัดความอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการปฏิบัติจริงในคำพูดและการกระทำ และให้สิทธิแก่ทุกคนโดยไม่เพิ่มขึ้นหรือขาดไป

 

          ♦ ความยุติธรรมคือลักษณะทางศีลธรรมที่ได้รับการยกย่องซึ่งแสดงออกถึงความกล้าหาญและความมีจิตใจดีงามของคนที่ปฏิบัติ คำว่ายุติธรรมถูกกล่าวไว้ในหลายอายะฮฺของคัมภีร์กุรอาน และต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เช่น
 

“แท้จริง อัลลอฮฺทรงกำชับเรื่องความยุติธรรมและการกระทำความดี”
 

(กุรอาน 16: 90)

“และเมื่อสูเจ้าพิพากษาระหว่างมนุษย์ จงพิพากษาด้วยความยุติธรรม”

(กุรอาน 4: 58)

“จงรักษาความยุติธรรม นั่นเป็นการใกล้ชิดความยำเกรง”

(กุรอาน 5: 8)

          กฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮฺ) ได้ตอกย้ำกำชับเรื่องหลักการของความยุติธรรมไว้และไม่มีหลักฐานใดที่มาท้าทายความจริงว่า อัลลอฮฺทรงถือว่าความไม่ยุติธรรมเป็นที่ต้องห้ามสำหรับพระองค์ก่อน หลังจากนั้น พระองค์จึงได้ทรงห้ามมันต่อบ่าวของพระองค์ พระองค์ทรงกล่าวว่า

“แท้จริง อัลลอฮฺมิทรงอธรรมต่อปวงบ่าวของพระองค์”

(กุรอาน 22: 10)

และพระองค์ทรงกล่าวว่า

“และฉันไม่อธรรมต่อปวงบ่าวของฉัน”

(กุรอาน 50:29)

อัลลอฮฺ  ทรงขู่บรรดาผู้กดขี่คนอื่นด้วยการลงโทษที่แสนสาหัส เช่น การผลักไสออกจากความเมตตาของพระองค์ พระองค์ทรงกล่าวว่า

“การสาปแช่งของอัลลอฮฺจะมีต่อผู้อธรรม”

(กุรอาน 11: 18)

พระองค์ทรงกล่าวไว้ในอีกอายะฮฺหนึ่งว่า

“สูเจ้าอย่าคิดว่าอัลลอฮฺทรงนิ่งเฉยต่อสิ่งที่พวกอธรรมเหล่านี้กำลังกระทำ

พระองค์แค่ทรงเลื่อนเวลาของพวกเขาออกไปจนถึงวันที่สายตาทั้งหลายจะจ้องมองด้วยความตกตะลึงเท่านั้น”

(กุรอาน 14: 42)

          หลายฮะดิษของท่านนบี  ได้กำชับเรื่องความยุติธรรมและห้ามปรามความไม่เป็นธรรมไว้ เช่น ท่านนบี  ได้พูดกับสาวกของท่านว่า

“จงระวังตนเองเรื่องการกดขี่ เพราะการกดขี่เป็นความมืดในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ”

(บันทึกโดยมุสลิม)

อบูซัรฺรายงานว่า ท่านนบี  ได้บอกเล่าถึงฮะดิษกุรฺซีย์ตอนหนึ่ง ซึ่งในฮะดิษนี้อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวว่า

“บ่าวของฉันเอ๋ย ฉันได้ห้ามการกดขี่ไว้สำหรับตัวฉันเอง และฉันได้ทำให้มันเป็นที่ต้องห้ามในหมู่พวกท่าน ดังนั้น จงอย่ากดขี่ข่มเหงต่อกัน”

(บันทึกโดยมุสลิม)

          การกดขี่ข่มเหงมีผลร้ายติดตามมาและหัวใจของผู้กดขี่มีแต่หยาบกระด้างและโหดร้ายมากขึ้น ผู้กดขี่ข่มเหงมักจะมีความสุขเมื่อเขากดขี่ข่มเหงและทำให้คนอื่นได้รับความเจ็บปวด

          การกดขี่ข่มเหง คือ การแสดงความไม่เป็นธรรมต่อเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และทรัพย์สินของคนอื่น

♣ ใครก็ตามที่ฆ่าใครคนหนึ่ง หรือทำร้าย หรือล่วงเกิน หรือสร้างความเจ็บปวดให้แก่คนอื่น นั่นเท่ากับคนผู้นั้นกดขี่ข่มเหงคนอื่น

♣ ใครก็ตามที่เอาทรัพย์สินของคนอื่นโดยไม่มีเหตุผลที่ถูกต้อง เขาก็กดขี่ข่มเหงคนอื่น

♣ ใครก็ตามที่กล่าวร้ายผู้บริสุทธิ์ด้วยเรื่องใด เขาก็กดขี่ข่มเหงคนผู้นั้น

♣ ใครก็ตามที่ใช้อิทธิพลของตนสร้างความเสียหายให้แก่คนอื่น เขาก็กดขี่คนผู้นั้น และ

♣ ใครก็ตามที่เห็นลูกจ้างคนใดดีกว่าอีกคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่ลูกจ้างทั้งสองคนนั้นมีคุณสมบัติและประสบการณ์เท่าเทียมกัน เขาผู้นั้นก็กดขี่ข่มเหงหรือไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างคนนั้น

          เพื่อที่จะป้องกันการกดขี่ข่มเหงและให้แน่ใจว่าผู้คนจะได้รับความยุติธรรม อัลลอฮฺได้ทรงจำกัดเสรีภาพของมนุษย์ด้วยพันธะและเงื่อนไขบางอย่าง และมันเป็นหน้าที่ที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้บ่าวของพระองค์ต้องปฏิบัติ ไม่มีใครยกเลิกมันหรือมองข้ามมันไปได้ อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวว่า

“…นี่เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยอัลลอฮฺ ดังนั้น จงอย่าละเมิดกฎเกณฑ์นี้ เพราะผู้ใดละเมิดกฎเกณฑ์ของอัลลอฮฺ พวกเขาก็เป็นผู้อธรรม”

(กุรอาน 2: 229)

          ท่านนบีมุฮัมหมัดได้ปฏิบัติตามความหมายของอายะฮฺนี้ ในกรณีของผู้หญิงเผ่ามัคซูมะฮฺ เมื่อท่านสั่งให้ตัดมือของนาง เพราะนางขโมยสิ่งของของคนอื่น ชาวกุเรซจึงได้ขอให้อุซามะฮฺ บินเซด ช่วยขอร้องท่านนบี  ให้ผ่อนผันการลงโทษของนาง แต่เมื่ออุซามะฮฺพูดเรื่องนี้กับท่านนบี  ท่านโกรธมากและได้บอกเขาว่า 

“เจ้าพยายามที่จะมาวิ่งเต้นขอให้ฉันช่วยใครบางคนในเรื่องที่เกี่ยวกับการลงโทษที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้กระนั้นหรือ?” 

แล้วท่านก็ลุกขึ้นกล่าวเตือนผู้คนว่า 

“สิ่งที่ทำลายชนชาติทั้งหลายก่อนหน้าพวกท่านก็คือ ถ้าคนที่มีเกียรติในหมู่พวกเขาขโมย พวกเขาจะให้อภัย

แต่ถ้าคนจนในหมู่พวกเขาขโมย พวกเขาจะลงโทษขโมยตามที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้

ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ถ้าฟาฏิมะฮฺลูกสาวมุฮัมหมัดขโมย ฉันก็จะตัดมือของเธอ”

(บันทึกโดยอัลบุคอรี)

         ดังนั้น กฎหมายอิสลามได้กำหนดการลงโทษตามกฎหมายต่ออาชญากรรมใดๆ ไว้แล้ว เช่น การลงโทษสำหรับการฆ่าโดยตรึกตรองไว้ก่อน การลงโทษสำหรับการฆ่าโดยไม่ตั้งใจ การลงโทษสำหรับขโมย การลงโทษสำหรับการผิดประเวณี การลงโทษสำหรับการปล้นบนทางสัญจร เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีความสงบปลอดภัย อิสลามได้ห้ามความก้าวร้าวที่ละเมิดกฎของรัฐอิสลามและไม่อนุญาตให้ต่อสู้ผู้รุกราน ดังที่ถูกกล่าวไว้ในอายะฮฺต่อไปนี้

“ดังนั้น ถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จงต่อสู้ฝ่ายที่ละเมิดนั้น จนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับไปสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ”

(กุรอาน 49: 9)

          อิสลามห้ามการปล้นบนทางสัญจร เพราะมันเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คนและข่มขู่คุกคามสันติภาพและความปลอดภัย ด้วยเหตุผลนี้ อิสลามจึงได้กำหนดการลงโทษโจรปล้นบนทางสัญจรโดยการประหารชีวิต หรือ โดยการจับตรึงกางเขน หรือตัดมือและขาสลับข้างกัน หรือเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน ทั้งนี้ เพื่อผู้คนจะได้ปลอดภัยจากความชั่วของคนพวกนี้ ในกรณีของการฆ่าโดยตรึกตรองไว้ก่อนนั้น อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดการลงโทษไว้แล้วเช่นกัน ส่วนในกรณีของการขโมยนั้น การลงโทษก็คือ การตัดมือขโมย

         เราเห็นได้ว่า ในกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮฺ) การลงโทษได้ถูกกำหนดไว้ตามระดับของบาป (อาชญากรรม) มันมิใช่เพื่อตอบสนองความกระหายที่จะแก้แค้นผู้ก่ออาชญากรรม แต่เพื่อป้องกันคนอื่นให้พ้นจากอาชญากรรมใดๆ ด้วยวิธีการนี้เองที่ชีวิตคนจะได้วางอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมที่เหมาะสม มีการยืนยันว่ารัฐใดก็ตามที่นำกฎหมายอิสลามมาใช้จะมีอาชญากรรมน้อยลงและสังคมนั้นจะมีความสงบสุขและมีความมั่นคงปลอดภัย  ความยุติธรรมในอิสลามไม่เห็นแก่ญาติพี่น้อง หรือความเป็นเพื่อน หรือสถานภาพ หรือความเป็นผู้มีอำนาจ เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้ว ในอายะฮฺต่อไปนี้

“บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเป็นผู้ดำรงความยุติธรรมและเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ

ถึงแม้ความยุติธรรม และการเป็นพยานของสูเจ้า จะเป็นผลร้ายต่อตัวสูเจ้าเอง หรือบิดามารดา และญาติสนิทของ สูเจ้า ไม่ว่าเขาจะมั่งคั่งหรือยากจนก็ตาม…”

(กุรอาน 4: 135)

          ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีหลายเรื่องที่ความยุติธรรมต้องได้รับการปฏิบัติและประการแรกก็คือการนำความยุติธรรมมาใช้กับตัวเองโดยการปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง ออกห่างจากบาปและการทุจริต หลีกเลี่ยงการทำให้ตัวเองต้องถูกลงโทษทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

 

         ประการที่สอง ก็คือ การสร้างความยุติธรรมขึ้นในครอบครัวของตัวเอง นั่นคือ การปฏิบัติต่อภรรยาและลูกๆ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ทำสิ่งใดที่ทำให้เห็นว่า คนหนึ่งดีกว่าอีกคนหนึ่ง มีรายงาน

          ในฮะดิษของท่านนบี  ว่า สาวกคนหนึ่งของท่านได้มาหาท่านเพื่อขอให้ท่านเป็นพยานว่าเขาได้ยกสวนทั้งหมดให้แก่ลูกชายคนหนึ่งของเขาในพินัยกรรม

ท่านนบี  ได้ถามเขาว่า “ท่านให้ลูกทุกคนเหมือนกันหมดหรือไม่ ?”

สาวกคนนั้นตอบว่า “ไม่”

ท่านนบี  จึงกล่าวว่า “ฉันไม่ขอเป็นพยานในการกระทำที่ไม่ยุติธรรมนี้”

          ประการต่อมา ก็คือ การสร้างความยุติธรรมในหมู่ผู้คน อิสลามห้ามการล่วงละเมิดทรัพย์สินของคนอื่นและการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้คนเพื่อประโยชน์ของตนเอง อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวว่า

“…จงทำให้การตวงและการชั่งเป็นที่ครบถ้วนเที่ยงตรง…”

(กุรอาน 6: 152)

          การสร้างความยุติธรรมและการต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหงเป็นสิ่งที่จะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นในสังคม และผู้คนจะได้รับความเท่าเทียมกัน ดังนั้น เพื่อที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์อันดีงามนี้ กฎหมายอิสลามจึงเข้ามาคุ้มครองคุณธรรมความดีและลงโทษอะไรก็ตามที่ล่วงละเมิดขอบเขตของมัน

          เราจะสังเกตได้ว่าความยุติธรรมของผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญมาก ในการที่จะก่อให้เกิดความสันติสุขและความมั่นคงปลอดภัยของผู้คนและทรัพย์สิน เพราะถ้าความยุติธรรมไม่มีเมื่อใด ผู้คนก็จะเป็นศัตรูต่อกัน หลังจากนั้น ความปั่นป่วนวุ่นวายไร้ระเบียบก็จะแพร่ระบาดไปในสังคมซึ่งจะนำไปสู่อาชญากรรมต่างๆ ทุกรูปแบบ

ต่อไปนี้เป็นคำพูดที่ยกย่องความยุติธรรมและอธิบายถึงผลที่จะติดตามมาจากการกดขี่ข่มเหง

      1. ความยุติธรรม คือ ตาชั่งที่อัลลอฮฺได้ทรงวางไว้สำหรับสิ่งที่ถูกสร้างของพระองค์ และทรงตั้งมันขึ้นมาเพื่อความจริง ดังนั้น จงอย่าคัดค้านพระองค์ในตาชั่งของพระองค์ หรือในอำนาจสูงสุดของพระองค์โดยการละเมิดคำบัญชาของพระองค์


       2. อบูบักรฺอัศศิดดิก พูดกับเจ้าเมืองคนหนึ่งของเขาว่า “จงรักษาความยุติธรรมและหลีกเลี่ยงการกดขี่ข่มเหง อย่าละเมิดสัญญาใดๆ (ที่ท่านทำไว้กับคนอื่น) และจงอย่าทำลายสัญญาสันติภาพ”


       3. เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ บินอับดุลอะซีซ บอกเจ้าเมืองคนหนึ่งของเขาว่า “ถ้าอำนาจหน้าที่ของท่านล่อลวงท่านให้กดขี่ข่มเหงประชาชน ดังนั้น จงนึกถึงอำนาจของอัลลอฮฺเหนือตัวท่าน”


       4. อาณาจักรถูกทำให้อุดมสมบูรณ์ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีคนมาอาศัยเพราะความยุติธรรม เข้มแข็ง และมีเสถียรภาพด้วยสติปัญญา และได้รับการคุ้มครองด้วยความกล้าหาญ


5. ถ้าท่านกดขี่ข่มเหงคนที่ต่ำกว่าท่าน ท่านก็จะถูกลงโทษโดยคนที่อยู่เหนือกว่าท่าน


6. ความยุติธรรมรวมหัวใจให้เป็นหนึ่ง ในขณะที่การกดขี่ข่มเหงทำให้หัวใจแตกแยกกัน


 

ที่มา : หนังสือการเยียวยาหัวใจ (Healing of the Heart)
 

บรรจง บินกาซัน, ผู้แปล