มารยาทต่อพี่น้อง
  จำนวนคนเข้าชม  27985

 

มารยาทต่อพี่น้อง

 

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

 

          ความเป็นพี่น้องมีหลายประเภท เช่น พี่น้องร่วมโลก พี่น้องร่วมชาติ พี่น้องร่วมภาค พี่น้องร่วมอุทร และพี่น้องร่วมนม อิสลามได้ให้ความสำคัญต่อความเป็นพี่น้องที่หลากหลายดังกล่าวแตกต่างกัน และความเป็นพี่น้องในที่นี้หมายถึง พี่น้องทุกประเภทแต่จะเน้นความเป็นพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน

 

         พี่น้องเป็นผลผลิตจากบิดามารดา ถือว่าพวกเขาเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุด ทั้งทางกายภาพและจิตภาพ เนื่องจากว่านับแต่กำเนิดก็ได้อยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกัน ในบรรยากาศเดียวกัน ในโรงเรียนเดียว และกินอาหารครัวเดียวกัน ด้วยเหตุดังกล่าวอัลลอฮฺ  จึงมีคำสั่งให้มีความสัมพันธ์ต่อกัน ให้รักษาสัญญาต่อกัน และให้ทำดีต่อกัน อย่าได้ตัดสัมพันธ์ความเป็นญาติ อย่าทำร้ายกันและกันทั้งร่างกายและจิตใจ

 

ท่านนบี  กล่าวว่า “เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่งรวมทั้งมนุษย์ด้วย “

เมื่อแล้วเสร็จ ความเป็นเครือญาติ ได้เอ่ยว่า : นี้ก็หมายความว่า ห้ามตัดสัมพันธ์เครือญาติใช่หรือไม่ ? 

พระองค์ตอบว่า “ใช่ แล้วเจ้าจะพอใจไหม ? ที่ข้าจะสัมพันธ์กับคนที่สัมพันธ์ต่อเจ้า และข้าจะตัดสัมพันธ์กับคนที่ตัดสัมพันธ์ต่อเจ้า “

ความเป็นเครือญาติตอบว่า : ข้าพระองค์พอใจ 

พระองค์จึงบัญชาว่า “ก็จงเป็นดังนี้สำหรับเจ้า” 

ต่อมาท่านนบี  กล่าวต่อว่า หากพวกท่านปรารถนาก็จงอ่านอัลกุรอานบทนี้ซิ (คือโองการที่ 22-23 ของซูเราะฮฺ มุฮัมมัด) ความว่า

 

“และบางทีพวกเจ้าอาจคาดหวังไว้ว่า หากพวกเจ้าหันหลัง(โดยไม่ศรัทธา) แล้วพวกเจ้าจะบ่อนทำลายในแผ่นดิน และตัดสัมพันธ์ไมตรีของพวกเจ้า

พวกผู้บ่อนทำลายเหล่านั้น เป็นพวกที่อัลลอฮฺได้ทรงสาปแช่ง แล้วทรงทำให้พวกเขาหูหนวก และทำให้ตาของพวกเขาบอด”  
 

(บันทึกหะดีษโดย บุคอรีและมุสลิม)


 

และนี้คือ มารยาทอิสลามบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับพี่น้อง

 

1. ต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพต่อผู้เป็นพี่ และต้องให้ความรัก ความเมตตาต่อผู้ที่เป็นน้อง

 

2. ปฏิบัติการโดยรวมกับพี่น้องด้วยความอ่อนโยน ความรัก และความสมานฉันท์

 

3. ต้องแสดงกิริยามารยาทที่ดีงามต่อพี่น้อง มีความรักใคร่กลมเกลียว และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

 

4. เข้าหากันด้วยการให้สลามต่อกัน จับมือกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

 

       5. แสดงความรู้สึกทุกข์และสุขร่วมกัน โดยไม่แสดงความดีใจต่อพี่น้องที่กำลังมีทุกข์ ไม่รับประทานอาหารต่อหน้าพี่น้องที่กำลังถือศีลอด และไม่ส่งเสียงรบกวนขณะพี่น้องกำลังนอน

6. รักที่จะให้พี่น้องได้ซึ่งความดีงาม ดุจความดีงามที่ตนเองได้รับ

7. ขอบคุณในไมตรีจิตที่พี่น้องมีต่อเรา และควรตอบแทนไมตรีจิตที่ดีกว่าให้

8. สนใจในสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้อง ด้วยการถามหาและให้การช่วยเหลือเมื่อพวกเขาเดือดร้อน

        9. ให้ข้อเสนอแนะ ให้คำแนะนำที่ดีต่อพี่น้อง และเชิญชวนด้วยคำพูดที่สุภาพให้พวกเขาอยู่ในหลักการศาสนา รวมทั้งให้ปฏิบัติกิจทางศาสนาอย่างเคร่งครัด

10. ช่วยเหลือ ให้การสนับสนุนพี่น้อง หากพวกเขากระทำสิ่งที่ถูกต้อง และต้องรักษาเกียรติยศของพวกเขามิให้เกิดความเสียหาย

11. ขอรับการอภัยจากพี่น้องหากเรากระทำการที่ไม่ดีต่อพวกเขา และพร้อมให้อภัยต่อพวกเขาหากพวกเขาเกินเลยต่อเรา

12. ต้องมีการประนีประนอมหากพี่น้องมีข้อพิพาทกัน ต้องไม่แตกสามัคคีกัน ไม่อิจฉากัน และไม่มองกันในแง่ร้าย

13. ต้องไม่ทำร้ายในหมู่พี่น้อง ไม่ว่าด้วยอำนาจ หรือด้วยการกระทำ หรือด้วยคำพูด หรือด้วยการหยอกล้อที่เกินความพอดี

14. ต้องไม่ทะเลาะวิวาท ไมโต้เถียงที่ไร้เหตุผล และไม่แตกแยกระหว่างพี่น้อง

15. ต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือเข้าไปก้าวก่ายงานของพี่น้อง หากไม่ได้รับการขอร้องหรืออนุญาต

       16. ต้องรักษามารยาทในการพูดจา ในการสวมใส่เสื้อผ้า โดยเฉพาะกับพี่น้องที่เป็นเพศตรงข้าม และที่สำคัญต้องไม่มองส่วนสงวนของพวกเขาเด็ดขาด