มารยาทการขอพร (ดุอาอฺ)
  จำนวนคนเข้าชม  34056

 

มารยาทการขอพร (ดุอาอฺ)

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

 

        การขอพร (ดุอาอฺ) เป็นส่วนต่อเชื่อมระหว่างอิบาดะฮฺ (กิจภักดี) กับการตอบรับของอัลลอฮฺ  หมายความว่า หากเราทำความดีต่าง ๆ แล้วมีการขอให้พระองค์ทรงรับความดีนั้น ก็ต้องด้วยการขอพรกำกับท้ายการกระทำ เช่น เมื่อคนหนึ่งทำการละหมาดหรือถือศีลอด ถ้ามีการขอพรต่ออัลลอฮฺ  ต่อท้ายการกระทำความดีนี้ จะยิ่งแน่ใจมากขึ้นว่า อัลลอฮฺ  จะทรงรับการละหมาดและการถือศีลอด

ท่านนบี  กล่าวความว่า “การขอพรนั้น เป็นสมองของอิบาดะฮฺ (กิจภักดี)” 

(บันทึกโดยติรมิซี)
 

อัลลอฮฺ  ทรงรับรู้การขอพรของบ่าวตลอดเวลา มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี  แล้วกล่าวว่า :

พระเจ้าของพวกเราอยู่ใกล้ ๆ หรือพวกเราจะได้เข้าเฝ้าพระองค์ หรืออยู่ไกลพวกเราจะได้ร้องเรียกพระองค์

ท่านนบี  นิ่ง อยู่ชั่วครู่ อัลลอฮฺ  จึงประทานอัลกุรอานลงมา ความว่า
 

“และเมื่อบรรดาบ่าวของข้าได้ถามเจ้าเกี่ยวกับข้า (เจ้าจงตอบเถิดว่า) แน่แท้ข้าก็ใกล้พวกนั้นอยู่แล้ว

ข้าจะรับซึ่งคำขอของผู้ขอเมื่อเขาวอนขอต่อข้า ฉะนั้น พวกนั้นจงวิงวอนต่อข้าและจงศรัทธามั่นต่อข้าเถิด เพื่อพวกนั้นจักได้มีปฏิภาณ” 
 

(2/186) 

        อัลลอฮฺ  ทรงแจ้งข่าวดีแก่บ่าวของพระองค์ว่า พระองค์ทรงรับการวอนขอแน่นอนและทรงประณามผู้ที่อหังการไม่ยอมขอพรต่อพระองค์ พระองค์ตรัสในอัลกุรอานบท ฆอฟิรหรืออัลมุมิน โองการที่ 60 ความว่า
 

“และองค์อภิบาลของพวกเจ้าได้มีบัญชาว่า พวกเจ้าทั้งหลายจงวอนขอข้าเถิด แน่นอนข้าจะตอบสนองพวกเจ้า

แท้จริงบรรดาผู้ยโสต่อการที่จะทำการนมัสการต่อข้า พวกเหล่านั้นจะต้องเข้านรกอย่างน่าอัปยศเป็นที่สุด” 

(40/60) 

การขอพร (ดุอาอฺ) เป็นการผลักภัยให้พ้นตัวได้ บันทึกโดย อบู อัซซีค จากอะบีฮุรอยเราะฮฺ ท่านนบี  กล่าวความว่า
 

“การขอพร (ดุอาอฺ) ต่ออัลลอฮฺ  นั้น จะระงับภัยได้” 


การขอพรนั้น เป็นกิจกรรมที่มีเกียรติยิ่งสำหรับอัลลอฮฺตะอาลา บันทึกโดยติรมิซี จากอบีฮุรอยเราะฮฺ ท่านนบี  กล่าวความว่า
 

“ณ อัลลอฮฺนั้น ไม่มีกิจกรรมใดที่จะมีเกียรติยิ่งกว่าการขอพร” 

 

        การขอพรเป็นอิบาดะฮฺอย่างหนึ่งดังที่กล่าวแล้ว และเป็นอิบาดะฮฺที่สำคัญยิ่ง จนท่านนบี  ยกระดับว่า “เป็นมันสมองของอิบาดะฮฺ” ดังนั้น ย่อมจะต้องมีกฎ มีระเบียบการขอพรอย่างรัดกุม เพื่อเป้าหมายให้อัลลอฮฺ  ทรงรับ จึงควรมีมารยาทในการขอพรตามที่อิสลามได้กำหนด และนี้คือบางส่วนแห่งมารยาทการขอพร

 

       1. มีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ  มีน้ำละหมาด หันหน้าทางกิบลัต สำนึกผิดต่อัลลอฮฺ (เตาบัต) ขออภัยต่อพระองค์ และคืนสิ่งที่เคยละเมิดแก่เจ้าของสิทธิ์
 

2. ยกมือเสมอไหล่ แบมือและหงายมือขึ้นฟ้า 

3. จิตใจจดจ่อกับอัลลอฮฺ  หวังและมั่นใจว่าพระองค์จะทรงรับการขออย่างแน่นอน

       4. หมั่นขอพรต่อพระองค์ให้มากเป็นนิจ และขอต่อพระองค์ทุกเรื่องไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ เพราะการขอพร คือ สุดยอดของการขอความช่วยเหลือ และเป็นการแสดงออกในความเป็นบ่าวที่ต้องพึ่งพาพระองค์ตลอดเวลา

5. ขอพรด้วยเสียงไม่ดังนัก ลดสายตาให้ต่ำลง และไม่ต้องแหงนหน้าขึ้นฟ้า

6. พร่ำวอนขอพรต่ออัลลอฮฺ  ซ้ำ ๆ กันสามครั้งในทุกเรื่องที่ขอ

       7. มั่นใจในการขอพร และเชื่อมั่นในพระเมตตาของพระองค์ว่าจะทรงตอบสนองการขอทุกประการ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะยิ่งใหญ่ มากหรือน้อยก็ตาม เพราะพระองค์ทรงเมตตายิ่ง ทรงอานุภาพยิ่ง

8. ไม่เสแสร้งในการขอพร ไม่ต้องใช้คำที่คล้องจอง และควรใช้บทขอพรจากอัลกุรอานและ จากบทขอพรของท่านนบี  เป็นสำคัญ

9. เริ่มเปิดการขอพรด้วยการสรรเสริญอัลลอฮฺ (อัลฮัมดุลิลลาฮฺ) และสดุดีท่านนบี (ซอละวาตนบี) แล้วจบท้ายด้วยสองประการดังกล่าว

10. กล่าวอามีนให้กับการขอพรของตนเอง และการขอพรของคนอื่น

11. ต้องไม่ขอพรในลักษณะการแช่งตัวเองและคนอื่น ๆ ไห้ได้รับภัยพิบัติ

12. ต้องไม่ย่อท้อและสิ้นหวังในการขอพรต่ออัลลอฮฺ  แม้จะต้องใช้เวลานานทั้งชีวิตก็ตาม

      13. ควรเลือกเวลาและสถานที่อันประเสริฐเพื่อการขอพร เพื่อความสมหวังในสิ่งที่ขอในเร็ววัน เช่น เวลาดึกสงัด ในวันศุกร์ เดือนรอมฏอน สิบวันแรกเดือนซุลฮิจยะฮฺ วันอารอฟะฮฺ หลังละหมาด เวลาละศีลอดที่มัสยิดหะรอมมักกะฮฺ ที่มัสยิดนบีมะดีนะฮฺ และที่มัสยิดต่าง ๆ

14. ควรวอนขอพรต่ออัลลอฮฺ  ในเวลาที่มีความสุขและไม่เดือดร้อน เพื่อพระองค์จักได้ตอบสนองให้ในเวลาที่มีความทุกข์และเกิดภัยพิบัติ

       15. ต้องละปฏิบัติสิ่งต้องห้ามทั้งปวง ไม่ว่าอาหารการกิน เสื้อผ้า อาภรณ์ และสถานที่พักอาศัย เพราะอัลลอฮฺ  ทรงบริสุทธิ์ และพระองค์จะทรงรับเฉพาะที่บริสุทธิ์เท่านั้น

16. ควรวอนขอพร ด้วยการเอ่ยพระนามอันพิสุทธิ์ของพระองค์

       17. ควรวอนขอพรต่อพระองค์ให้แก่ครอบครัว ญาติใกล้ชิด ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่อนสนิทมิตรสหาย และบุคคลที่สั่งให้ขอพรให้ เพื่อว่าพรนั้นจะได้รับกลับคืนสู่ตนเอง