มารยาทการประกอบสัมมาอาชีพ
  จำนวนคนเข้าชม  7656

 

มารยาทการประกอบสัมมาอาชีพ

 

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

       อิสลามเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติดีมีประโยชน์ และการศรัทธาโดยไม่มีการปฏิบัติย่อมเป็นแค่เพียงข้ออ้างเท่านั้น และการปฏิบัติที่มิได้ศรัทธาย่อมไร้ผล
 

อัลลอฮฺ  ตรัสในอัลกุรอานบทอัลกะฮฺฟิ โองการที่ 107  ความว่า
 

“อันที่จริงบรรดาผู้ที่ศรัทธา และได้ปฏิบัติดี พวกเขาจะได้รับสวรรค์ชั้นสูงเป็นที่พำนัก” 
 



        ความเป็นผู้ชายในทัศนะอิสลาม จะต้องมีความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของครอบครัว ต่อสู้กับการทำมาหากินเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพแก่ตนเองและคนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันหัวใจของเขาต้องยึดโยงอยู่กับอัลลอฮฺ  ผู้ประทานปัจจัยยังชีพให้ ต้องสำนึกเสมอในเวลาทำงานว่า “อัลลอฮฺ  ทรงติดตามการปฏิบัติอยู่ตลอด จึงต้องมีความยำเกรงในพระองค์ ดำเนินกิจการทุกอย่างให้อยู่ในกรอบของศาสนาเท่านั้น”

อัลลอฮฺ  ตรัสในอัลกุรอาน บทอันนูร โองการที่ 37 ความว่า

“บรรดาผู้ชายที่การค้าขายมิได้ทำให้พวกเขาละจากการระลึกถึงอัลลอฮฺ การดำรงละหมาดและการบริจาคซะกาต

โดยพวกเขากลัววันที่หัวใจ และตาเหลือกถลนในวันนั้น”  

         การทำมาหากินเลี้ยงชีพถือเป็นหน้าที่ของมนุษย์ โดยเฉพาะมุสลิมก็ต้องมีหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า ด้วยการปฏิบัติศาสนกิจที่ถูกกำหนดเช่นกัน ทั้งสองหน้าที่นั้นต้องมีการปฏิบัติควบคู่กันไป ตามเวลาและสถานที่ที่กำหนด เพราะมุสลิมต้องหาความสุขให้ได้ทั้งทางโลกนี้และโลกหน้า จะละเลยทางหนึ่งทางใดย่อมเป็นการบิดพริ้วต่อหน้าที่

อัลลอฮฺ  ตรัสในอัลกุรอาน บทอัลญุมุอะฮฺ โองการที่ 10 ความว่า

“ฉะนั้นเมื่อการละหมาดได้แล้วเสร็จ ก็จงแยกย้ายกันไปบนแผ่นดิน และจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ

และจงระลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก ๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจักมีชัย”  


        การทำงานมีหลายชนิด บางส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา บางอย่างเกี่ยวข้องกับทางโลก งานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศาสนา ได้แก่ ศาสนกิจต่าง ๆ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นกิจกรรมทางดี ส่วนงานที่เกี่ยวข้องทางโลก เช่น การทำธุรกิจการค้าขาย การทำงานอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน อันจะนำไปใช้จ่ายตามความจำเป็นแห่งการดำรงชีพ งานประเภทนี้อิสลามถือว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาด้วย หากเป็นการทำงานเพื่อนำทรัพย์ที่ได้มา เป็นค่าครองชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งเป็นหน้าที่ของบุคคลที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อครอบครัว จึงย่อมได้รับซึ่งกุศลผลบุญด้วย

          การทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ เป็นความดีที่ศาสนาสนับสนุน เพราะศาสนาอิสลามไม่ส่งเสริมให้มุสลิมอยู่กับบ้านหรืออยู่กับมัสยิดเพื่อทำอิบาดะฮฺอย่างเดียว โดยไม่สนใจต่อการหาเลี้ยงชีพ ท่านศาสดามุฮัมมัด  สอนว่าอาหารหรือค่าใช้จ่ายที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงนั้นเป็นสิ่งประเสริฐสุด ท่านกล่าวความว่า
 

“ไม่มีอาหารใดที่คนหนึ่งได้รับประทานไป จะดียิ่งกว่าอาหารที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของเขาเอง”  
 

(บันทึกโดยบุคอรี)

 

ในบรรดาศาสดาต่าง ๆ นั้น ทุกท่านล้วนมีงานทำทั้งสิ้น ท่านอิบนุอับบาส รอฎิยั้ลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า 
 

“ท่านศาสนาอาดัมนั้น ทำงานเป็น เกษตรกรชาวนา  
ท่านศาสดานูฮฺ ทำงานเป็น ช่างก่อสร้าง  
ท่านศาสดาอิดรีส  ทำงานเป็น ช่างเย็บเสื้อผ้า  
ท่านศาสดาอิบรอฮีม  และ ศาสดาลูต  ทำงานเป็น เกษตรกรชาวสวน  
ท่านศาสดา ซอและฮฺ  ทำงานเป็น นักธุรกิจการค้า  
ท่านศาสดาดาวูด  ทำงานเป็น ช่างทำเสื้อเกราะ  
ท่านศาสดามูซา  ท่านศาสดาซุอัยบฺ  และท่านศาสดามุฮัมมัด  ทำงานเป็น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์”

 

มีคนกล่าวกับท่าอาหมัด อิบนุฮัมบัล รอฮิมะฮุลลอฮฺ ว่า  
 

“ท่านคิดอย่างไร กับคนที่นั่งอยู่แต่ในบ้าน หรือในมัสยิด และบอกว่าฉันจะไม่ยอมไปทำงานทำการหรอก จนกว่าโชคผล (ริสกี) จะมาหาฉันเอง”  
 

ท่านอาหมัดตอบว่า  :  
 

"คน ๆ นั้นเป็นคนโง่เขลา เขาไม่เคยได้ยินคำสอนของท่านนบี  เลยหรือที่ท่านเคยกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงให้โชคผล (ริสกี)  ของฉันอยู่ภายใต้เงาแห่งวิญญาณฉัน"

แล้วท่านก็เอ่ยถึงนกว่า : 

"นกนั้นเมื่อมันออกไปจากรังตอนเช้าในสภาพหิว แต่พอมันกลับตอนเย็นในสภาพที่อิ่มท้อง”

มารยาทบางส่วนของการประกอบสัมมาอาชีพ

     1. ต้องมีความตั้งใจดีในการประกอบสัมมาอาชีพ  โดยตั้งเจตนาว่าการประกอบอาชีพนี้จะทำให้ตนไม่ต้องรบกวนผู้ใดในการแบมือขอคนอื่น และตั้งใจหาเลี้ยงครอบครัวอย่างเพียงพอและอาจเอื้อเฟื้อผู้อื่นได้อีกด้วย

     2. การทำอาชีพด้วยการเดินทางไปตลาดทางโลกนั้น มิได้เป็นอุปสรรคในการไปตลาดทางธรรม ตลาดทางธรรม หมายถึง มัสยิด ดังนั้น ควรจัดตารางเวลาในช่วงเช้ามืดไปยังตลาดธรรม มีการละหมาด การซิกรุลลอฮฺและขอพร ซึ่งบรรดาคนยุคก่อน (สลัฟ) ได้ใช้ช่วงเวลาเช้ามืดและตอนค่ำให้แก่ตลาดทางธรรม และใช้ช่วงระหว่างกลางวันให้เป็นเวลาของตลาดทางโลก เมื่อได้ยินเสียงอะซานบอกเวลาละหมาดซุฮฺริและอัศริ ก็เป็นการสมควรที่จะหยุดภารกิจการงานแล้วทำการละหมาดเพื่อเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ  พระผู้ทรงประทานปัจจัยยังชีพ

     3. ในระหว่างการงานด้านธุรกิจหรือประกอบอาชีพ ควรมีใจผูกพันกับอัลลอฮฺ  โดยตลอด ด้วยการรำลึกถึงพระองค์ และอย่าให้การทำงานทางโลกเป็นเหตุให้ลืมกิจทางธรรม และที่สำคัญอย่าเป็นคนแรกและคนสุดท้ายที่ไปและออกจากตลาดทางโลก

     4. ต้องเลือกทำธุรกิจหรือประกอบอาชีพโดยสุจริต (ฮาลาล) หลีกเลี่ยงการทำอาชีพที่ผิดต่อหลักการศาสนา (ฮะรอม) เพราะการประกอบสัมมาอาชีพโดยสุจริตนั้น เป็นภารกิจจำเป็นสำหรับมุสลิม

     5. การประกอบกิจการค้าขาย ต้องไม่มีการกักตุนสินค้า เพื่อหวังผลกำไรที่สินค้าขาดตลาด ซึ่งการเช่นนี้เป็นการต้องห้ามเด็ดขาด โดยนัยแห่งบัญญัติอิสลาม เพราะเป็นการฉวยโอกาสและเอาเปรียบผู้บริโภค

     6. ต้องมีความสุจริตในการทำมาหากิน ไม่ทำธุรกิจในลักษณะฉ้อโกง ด้วยการไม่อธิบายความในสินค้าที่ขาย หรือปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องของข้อมูลสินค้า ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในทำนองหลอกลวง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม

     7. ต้องไม่สบถสาบาน เพื่อให้มีน้ำหนักในการขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการทำเล่น ๆ ต่อหลักการสาบาน ที่ต้องนำพระนามของอัลลอฮฺมาอ้างในการสาบานด้วย

     8. ต้องไม่มีการทุจริตในการชั่งหรือตวงวัด หมายความว่า ต้องไม่โกงตาชั่งและมาตรวัด เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งเป็นการไร้จริยธรรมในการประกอบสัมมาอาชีพอย่างน่าเกลียดที่สุด

    9. ต้องไม่บรรยายสรรพคุณสินค้าหรือทำการโฆษณาที่เกินความจริง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหลงผิดอันเป็นการทุจริตทางการค้าชนิดหนึ่ง และทรัพย์ที่ได้มาจากการนี้ถือเป็นทรัพย์ที่ต้องห้าม

     10. ต้องไม่มีการโก่งราคาสินค้า ด้วยการตั้งราคาที่แพงเกินควรหรือทำทีให้คนอื่นที่ไม่ต้องการซื้อสินค้าจริง ๆ มาอ้างว่าจะซื้อสินค้านั้นในราคาที่แพงกว่า เพื่อให้คนซื้อคนก่อนที่ต้องการสินค้านั้นจริง ๆ จำต้องซื้อสินค้านั้นในราคาแพง

     11. ต้องไม่ซื้อหรือขายสินค้าตามถนนทางคนเดิน อันเป็นเหตุให้คนที่สัญจรไปมาไม่ได้รับความสะดวก และอาจเป็นอันตรายที่ต้องหลีกไปใช้สัญจรทางถนนรถเดิน

      12. ต้องพอใจในผลกำไรที่พอควรเพื่อไม่เป็นการขูดรีดผู้บริโภค และจะเป็นการสร้างความพอใจของลูกค้า อีกทั้งจะได้ลูกค้าประจำมากขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกด้วย

     13. ต้องไม่ซื้อหรือขายสินค้าที่ได้มาโดยทางทุจริต อีกในหนึ่งก็คือ ต้องไม่ซื้อหรือขายของโจร

     14. ต้องไม่ทำการค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย และเกี่ยวกับการพนันขันต่อ

     15. ต้องไม่ทำธุรกิจการค้าหรือทำอาชีพที่เกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามทางศาสนา เช่น สุรา หรือสิ่งมึนเมาและมอมเมาทุกชนิด

     16. ไม่สนับสนุนผู้ซื้อหรือผู้ขายที่กระทำการอันต้องห้าม เพราะการสนับสนุนผู้ทำชั่วนั้น ถือเป็นข้อห้ามตามหลักการอิสลาม เช่น แม่ค้าขายขายองุ่นหรืออินทผลัม ขายองุ่นหรืออินทผลัมไปทำเบียร์หรือสุรา เป็นต้น

     17. ต้องมีการผ่อนปรนหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อหรืผู้ขายตามสมควร โดยไม่เคร่งครัดหรือทำความลำบากแก่ผู้ซื้อหรือผู้ขายมากเกินไป

     18. ต้องไม่ซื้อหรือขายตัดหน้าคนอื่น แต่ต้องรอให้คนอื่นได้ตกลงซื้อขายให้สำเร็จหรือเลิกล้มการซื้อขายเสียก่อน แล้วค่อยเข้าไปซื้อขายต่อไป

     19. ต้องไม่นำเงินตราต่างสกุลหรือสกุลเดียวกันที่เลิกใช้ไปแล้วมาทำการซื้อขาย เพราะการทำเช่นนี้เป็นการหลอกลวงชนิดหนึ่ง

     20. ต้องรับคืนสินค้าและคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อ หากพบว่าสินค้าที่ขายไปนั้นชำรุด เสียหาย หรือผิดไปจากสินค้าที่ตกลงซื้อขาย

     21. ผู้ทำงานเป็นข้าราชการ เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือเป็นพนักงานบริษัทห้างร้าน รวมทั้งลูกจ้างทั่วไป ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มความสามารถและเต็มเวลาที่กำหนด ต้องไม่เข้างานสาย เลิกงานก่อนเวลา หรือทำงานไม่เต็มที่ และหรือบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะการดังกล่าวเป็นการทรยศต่อหน้าที่ที่ได้รับหมาย อันถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่

      22. เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพนักงานที่ทำหน้าที่ด้านบริการ ต้องมีความกระตือรือร้น กระชับกระเฉง ยิ้มแย้มแจ่มใสในการให้บริการ และต้องจัดการให้แล้วเสร็จตามระเบียบโดยไม่รีรอหรือเฉื่อยชา และไม่ให้ผู้มาติดต่อได้รอนาน