วิเคราะห์ซูเราะฮ์อัลมุมตะหินะฮ์ / 8
  จำนวนคนเข้าชม  27229

วิเคราะห์อัลกุรอานซูเราะฮฺ อัลมุมตะหินะฮ์  อายะห์ที่ 8

ในบริบทของความสมานฉันท์ระหว่างมุสลิมกับชนต่างศาสนิก

 บทนำ

           มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์สังคมที่ประเสริฐที่สุด  เนื่องจากพระเจ้าได้สร้างมนุษย์ให้เป็นผู้มีสติปัญญา มีความคิดสร้างสรรค์  และมีความรับผิดชอบ  ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว มนุษย์จึงมีสัญชาตญาณใฝ่สันติมากกว่าความรุนแรง  สัญชาตญาณนี้ได้เกื้อหนุนให้มนุษย์แสวงหาความเป็นมิตรมากกว่าความเป็นศัตรู แสวงหาความสามัคคีปรองดองมากกว่าความแตกแยก และแสวงหาความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าการประทุษร้าย และเข่นฆ่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจึงมีช่วงระยะเวลาแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติมากกว่า ช่วงระยะเวลาของการสู้รบ และการนองเลือด สัญชาตญาณใฝ่สันติของมนุษย์ดังกล่าวเป็นสัญชาตญาณ เดิมอันบริสุทธ์ ที่องค์พระผู้อภิบาลได้เนรมิต และสร้างสรรค์ไว้ในตัวของมนุษย์ และยังได้หนุนเสริมสัญชาตญาณของมนุษย์ดังกล่าวด้วยแนวทางอิสลาม แนวทางแห่งความมั่นคง ความปลอดภัย ความสันติ และความสมานฉันท์  ผ่านทางศาสนทูตต่างๆที่พระองค์ได้ทรงคัดเลือก และแต่งตั้งเขาเหล่านั้นยังหมู่ชนทั้งหลาย และผ่านทางคัมภีร์ต่างๆที่พระองค์ได้ทรงประทานลงมาจากฟากฟ้า อันมีคัมภีร์อัลกุรอานเป็นคัมภีร์เล่มสุดท้าย

 อัลกุรอาน กับหลักการสมานฉันท์

            จากการสำรวจ และพิจารณาโองการต่างๆในอัลกุรอานพบว่า โองการทุกโองการในอัลกุรอาน ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมาย และเจตนารมณ์ เพื่อให้มนุษย์บรรลุสู่ความสงบสุข และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินทั้งสิ้น  หลักการสมานฉันท์จึงเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญ ที่อัลกุรอานได้ประกาศ และเรียกร้อง ดังตัวอย่างที่สำคัญต่อไป

 1.  หลักการ     تعارف ความสมานฉันท์บนความหลากหลาย

 อัลกุรอานได้ระบุถึงความหลากหลายของมนุษย์ไว้สองด้าน คือ :


1.)  ความหลากหลายทางชีวภาพ  ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอายะห์ที่ 13 ซูเราะฮฺ อัลหุญรอต  ว่า: 

( وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوبًا وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا ) (13) سورة الحجرات        

“และเราได้ให้พวกเจ้ามีหลายชาติพันธุ์ เพื่อจะได้ทำความรู้จักซึ้งกันและกัน”(49:13)


2.)  ความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม และสีผิว  ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอายะห์ที่ 22 ซูเราะฮฺอัรรูมว่า:

(وَمِنْ آيَاتِهِ خَلْقُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ وَاخْتِلَافُ أَلْسِنَتِكُمْ وَأَلْوَانِكُمْ إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَاتٍ لِّلْعَالِمِينَ) (22) سورة الروم                                                                                       

“และหนึ่งในสัญญาณทั้งหลายของพระองค์ คือการสร้างชั้นฟ้า และแผ่นดิน และการแตกต่างของภาษา (วัฒนธรรม)  และผิวพรรณของสู่เจ้า แท้จริงในนั้นมีสัญญาณสำหรับปวงผู้มีความรู้”(30:22)


          อัลลอฮฺได้ระบุอย่างชัดเจนถึงจุดประสงค์ ในการให้มนุษย์มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ว่าเพื่อให้มนุษย์ได้มีสัมพันธ์ไมตรีต่อกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และสมานฉันท์ ส่วนความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม และผิวพรรณนั้น พระองค์ต้องการให้มนุษย์ได้ศึกษาค้นคว้า เพราะเป็นมนุษยศาสตร์ที่สำคัญที่ชี้ถึงความยิ่งใหญ่ และเดชานุภาพของพระองค์

 2.  หลักการ    إصلاح  การประนีประนอมยอมความ

          เป็นหลักการพื้นฐานของอัลกุรอานที่เรียกร้องให้มนุษย์หาทางออกเมื่อมีกรณีพิพาท หรือขัดแย้งกัน หลักการนี้มีปรากฏในอัลกุรอานในหลายที่ด้วยสำนวนต่างๆกัน เช่น:

ก.)  สำนวน أَصْلحَ   

ตัวอย่าง  :

فَمَنْ عَفَا وَأَصْلَحَ فَأَجْرُهُ عَلَى اللَّهِ إِنَّهُ لَا يُحِبُّ الظَّالِمِينَ)    (40) سورة الشورى ) 
                                            
“ดังนั้นผู้ใดให้อภัยและประนีประนอมยอมความ รางวัลตอบแทนของเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ  แท้จริงพระองค์ไม่รักผู้อธรรม”  (42:40) 

ข.)  สำนวน   تُصْلِحُوا

ตัวอย่าง  :

   {وَلاَ تَجْعَلُواْ اللّهَ عُرْضَةً لِّأَيْمَانِكُمْ أَن تَبَرُّواْ وَتَتَّقُواْ وَتُصْلِحُواْ بَيْنَ النَّاسِ وَاللّهُ سَمِيعٌ عَلِيمٌ}   
   (224) سورة البقرة
                                                    

“และพวกเจ้าอย่าให้อัลลอฮฺ เป็นอุปสรรคขัดขวาง เนื่องจากการสาบานของพวกเจ้าในการที่จะทำความดี และที่จะมีความยำเกรง และในการที่พวกเจ้าจะประนีประนอม ระหว่างผู้คน และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้”

ค.)  สำนวน  أَصْلِحُوا

ตัวอย่าง :                

  ( فَاتَّقُواْ اللّهَ وَأَصْلِحُواْ ذَاتَ بِيْنِكُمْ )    (1) سورة الأنفال

“ดังนั้นพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงประนีประนอมในระหว่างพวกท่าน” (8:1)

ง.)  สำนวน الصُلح 

ตัวอย่าง :                                     

    وَالصُّلْحُ خَيْرٌ)  (128) سورة النساء)

“และการประนีประนอมนั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่า” (4:218)

จ.)  สำนวน  إصْلاح

ตัวอย่าง :

(لاَّ خَيْرَ فِي كَثِيرٍ مِّن نَّجْوَاهُمْ إِلاَّ مَنْ أَمَرَ بِصَدَقَةٍ أَوْ مَعْرُوفٍ أَوْ إِصْلاَحٍ بَيْنَ النَّاسِ)   (114) سورة النساء                                                                                              
“ไม่มีความดีใดๆในการพูดซุบซิบอันมากมายของพวกเขา เว้นแต่ผู้ที่ใช้ให้ทำทาน หรือให้ทำสิ่งที่ดีงาม หรือให้ประนีประนอมยอมความระหว่างผู้คน” (4:114)


 3.  หลักการ  عفو  การให้อภัย

           เป็นหลักการสำคัญในอัลกุรอ่านที่เรียกร้องมนุษยชาติให้รู้จักระงับอารมณ์ความโกรธ ความแค้นเคืองด้วยการให้อภัย และถือเป็นคุณธรรมอันล้ำค่าที่มนุษย์พึงหยิบยื่นให้กัน ดังปรากฏในโองการที่สำคัญดังนี้:

ก.)  การให้อภัยเป็นคุณสมบัติของคนดี    مُحْسِنِيْن  ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า:

( فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاصْفَحْ إِنَّ اللّهَ يُحِبُّ الْمُحْسِنِين )                  
(13) سورة المائدة                     

“จงให้อภัยพวกเขา และจงเมินเฉย (มองข้ามข้อผิดพลาด) แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้ทำการดี (ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น)”  (5:13) และดู (3:314)

ข.)  การให้อภัยถือเป็นสาเหตุในการได้รับอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

( وَإِن تَعْفُوا وَتَصْفَحُوا وَتَغْفِرُوا فَإِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَّحِيمٌ )    
       
 (14) سورة التغابن 
                   
“และถ้าพวกเจ้าให้อภัย และอะลุ่มอล่วยและยกโทษ(แก่พวกเขา) และแท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (64:14) และดู (4:419,24:22)

ค.)  การให้อภัยเป็นกุศลกรรม และเป็นอานิสงส์ที่จะได้รับจากอัลลอฮฺ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

 (وَجَزَاء سَيِّئَةٍ سَيِّئَةٌ مِّثْلُهَا فَمَنْ عَفَا وَأَصْلَحَ فَأَجْرُهُ عَلَى اللَّهِ إِنَّهُ لَا يُحِبُّ الظَّالِمِينَ)
 (40) سورة الشورى  
             
“และการตอบแทนความชั่ว คือความชั่วเยี่ยงเดียวกัน แต่ผู้ใดให้อภัย และไกล่เกลี่ยประนีประนอม รางวัลตอบแทนของเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ” (42:40)


 4.  หลักการ فاع بالتي هي أحسن د   การตอบโต้ด้วยสิ่งที่ดีกว่า

          หมายถึงการตอบโต้คู่กรณีด้วยความอ่อนโยน และสุภาพ และด้วยวิธีการต่างๆที่ดีกว่า เช่น ไม่โกรธตอบ ไม่ด่าว่าตอบ เป็นต้น อัลกุรอานได้เสนอหลักการดังกล่าวในหลายบทที่สำคัญดังนี้ 

ก.)  อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า :                                   

 (ادْفَعْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ السَّيِّئَةَ َ)    

 (96) سورة المؤمنون   

                                                                  
“เจ้าจงผลักไสความเลวร้าย (ที่ประสงค์แก่เจ้า) ด้วยวิธีการที่ดีงามที่สุด” (23:96)

ข.) อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า :


       ( ادْفَعْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ فَإِذَا الَّذِي بَيْنَكَ وَبَيْنَهُ عَدَاوَةٌ كَأَنَّهُ وَلِيٌّ حَمِيمٌ )          
 (34) سورة فصلت   

“และจงตอบโต้(การกระทำอันเลวร้ายของผู้อื่น)ด้วยสิ่งที่ดีงามกว่า แล้วเมื่อนั้น ผู้ที่เคยมีอริระหว่างตัวท่านกับตัวเขา ก็จะเป็นเยี่ยงมิตรอันอบอุ่น” (41:34)

ค.)   อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า :

 ( وَجَادِلْهُم بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ )  (125) سورة النحل

“และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า”(16:125)


 5.  หลักการ       السلم  การเจรจาสงบศึก

           เป็นหลักการที่อัลกุรอานได้เรียกร้องให้นำมาใช้เมื่อมีศึกสงครามเกิดขึ้น และฝ่ายศัตรูไม่ประสงค์ที่จะทำการสงคราม แต่ประสงค์ที่จะทำสัญญาสงบศึก  ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า:

(وَإِن جَنَحُواْ لِلسَّلْمِ فَاجْنَحْ لَهَا وَتَوَكَّلْ عَلَى اللّهِ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ)         
 (61) سورة الأنفال             

“และหากแม้นพวกเขา (ศัตรู) เอนแองไปสู่การทำสัญญาสงบศึกดังนั้น เจ้าจงตอบรับมัน และจงมอบที่พึ่งต่ออัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยการได้ยิน และรอบรู้ยิ่ง” (8:61)

 6.  หลักการ    تعاونความร่วมมือ และ   اعتصامความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

           ความสมานฉันท์ของผู้คนในสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้คนในสังคมร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนสิ่งที่ดีงาม และต้านสิ่งที่เลวร้าย อัลลอฮฺจึงได้ตรัสว่า:

( وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ )         
 (2) سورة المائدة              

“และพวกเจ้าจงร่วมมือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าร่วมมือกันในสิ่งที่เป็นบาป และการเป็นศัตรูต่อกัน” (5:12)

           ความร่วมมือดังกล่าวหากเกิดขึ้นกับชุมชนใด ก็จะทำให้ชุมชนนั้นมีพลัง มีความเข้มแข็ง และที่สำคัญก็คือมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัส รับสั่งไว้ ในหลายที่ เช่น :   


                             ( وَاعْتَصِمُواْ بِحَبْلِ اللّهِ جَمِيعًا وَلاَ تَفَرَّقُواْ )
(103) سورة آل عمران                                          

 “และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮฺโดยพร้อมเพรียงกัน และจงอย่าแตกแยกกัน” (3:103) และดู (4:167,175) (23:78)

และอัลลอฮฺได้ตรัสถึงผลเสียของการแตกแยกไว้ว่า:

( وَلاَ تَنَازَعُواْ فَتَفْشَلُواْ وَتَذْهَبَ رِيحُكُمْ )                                    
 (46) سورة الأنفال                                                 

"และพวกเจ้าอย่าขัดแย้งกัน มิฉะนั้นพวกเจ้าจะอ่อนแอ  และพลังของเจ้าจะสูญสลาย”  (8:46)

7.  หลักการ     العدل  ความยุติธรรมสำหรับทุกคน

           หลักความยุติธรรมเป็นหลักการสำคัญในกระบวนการสมานฉันท์ และอาจถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญเลยทีเดียว เนื่องจากการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆทั้งในอดีต และปัจจุบัน ล้วนมีสาเหตุมาจากความไม่เป็นธรรมทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้อัลกุรอานจึงได้ให้ความสำคัญกับหลักของความยุติธรรม  โดยระบุไว้ในหลายโองการ และหลายสำนวน เช่น :

ก.)  สำนวน  عَدْلปรากฏใน (4:58 – 16:76,90  49:9)

ข.)  สำนวน    أَعْدِلُواปรากฏใน (5:18 – 6:152)

ค.)  สำนวน   تَعْدِلُوْاปรากฏใน (5:8)

ตัวอย่างความยุติธรรมที่ผู้นำต้องรับผิดชอบ

อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า:    ( وَأُمِرْتُ لِأَعْدِلَ بَيْنَكُمُ )
 (15) سورة الشورى                                                               

“และฉัน (มูฮัมหมัด) ได้รับคำสั่งให้ยุติธรรมระหว่างพวกท่าน” (42:15)

ตัวอย่างความยุติธรรมที่ต้องมีกับศัตรู หรือคู่อริ

อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า : (( وَلاَ يَجْرِمَنَّكُمْ شَنَآنُ قَوْمٍ عَلَى أَلاَّ تَعْدِلُواْ اعْدِلُواْ هُوَ أَقْرَبُ لِلتَّقْوَى
                            ( 8) سورة المائدة

“และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า” (5:8)


           ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นหลักการสมานฉันท์ที่สำคัญของอัลกุรอานที่อัลลอฮฺได้บัญญัติใว้เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้เป็นหลักยึดถือ และปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ในการสร้างความสงบสุขและความร่มเย็น

 การสมานฉันท์ระหว่างมุสลิมกับชนต่างศาสนิก
  
 

          ในส่วนของการสมานฉันท์ระหว่างมุสลิมกับชนต่างศาสนิกโดยเฉพาะนั้น อัลกุรอานไม่ได้ละเลยที่จะพูดถึง แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยก็ตาม ในที่นี้จะนำโองการที่ 8 ของซูเราะฮฺ อัลมุมตะหินะฮฺ มาวิเคราะห์ และอธิบายเพื่อให้เห็นถึงหลักคำสอนดังกล่าว  ดังนี้ :


ตัวบท และความหมายโดยสรุป :

อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า  :

( لَا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ لَمْ يُقَاتِلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَلَمْ يُخْرِجُوكُم مِّن دِيَارِكُمْ أَن تَبَرُّوهُمْ وَتُقْسِطُوا إِلَيْهِمْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُقْسِطِينَ ) (8) سورة الممتحنة                             

“อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดา (ชนต่างศาสนิก) ที่มิได้รุกรานพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม”  (60:8)
 

ข้อวิเคราะห์ที่ 1


           โองการนี้ได้ใช้ให้ท่านนบี และเศาะหาบะฮฺปฏิบัติดีกับ เผ่าคุซาอะฮฺ และบะนูอัลหาริษ ซึ่งเป็นชนต่างศาสนิกที่ได้ทำสัญญาสงบศึกกับท่านนบี และเหล่าเศาะหาบะฮฺ ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ดูอัลกุรฎบีย 1985  18 / 59) โองการนี้แม้ว่าจะประทานลงมาเกี่ยวกับกลุ่มคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่บัญญัติของเรื่องนี้ครอบคลุมทุกกลุ่มคนที่มีลักษณะเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกัน ตามหลัก (กออิดะฮฺ )ของนักอรรถาธิบายอัลกุรอาน (มุฟัสสิรีน) ที่ว่า :

     " العِبْرَةُ بعُموم اللفْظ لا بخُصوصِ السَّبب "

“การพิจารณาอัลกุรอานนั้นให้ พิจารณาถึงความหมายที่ครอบคลุมของถ้อยคำ มิใช่พิจารณาที่สาเหตุ หรือภูมิหลังเป็นการเฉพาะ” (ดูอัสสุยูฏียฺ  มปป.  2/28) ดังนั้นโองการนี้จึงสามารถนำมาใช้กับมุสลิมโดยทั่วไปในสองสถานะ  คือ :

 ก.)  มุสลิมที่เป็นชนส่วนน้อยของประเทศ ซึ่งชนส่วนใหญ่ต่างศาสนิกมิได้ต่อต้านรุกราน หรือเข่นฆ่า และมิได้ขับไล่ไสส่งออกนอกมาตุภูมิ

 ข.)  มุสลิมที่มิใช่เป็นชนส่วนน้อยของประเทศ แต่มีสัญญาตกลงในข้อกฎหมายที่จะอยู่ร่วมกันกับชนต่างศาสนิกอย่างสันติ

มุสลิมที่อยู่ในสองสถานะดังกล่าวจำเป็นต้องปฏิบัติตามบัญญัติของโองการนี้ทั้งสิ้น

 
ข้อวิเคราะห์ที่ 2
 
          ชนต่างศาสนิกที่อัลลอฮฺได้กล่าวถึงในโองการนี้ คือ ชนต่างศาสนิกที่ไม่มีพฤติกรรมเป็นภัยร้ายแรงต่อมุสลิม โดยอัลลอฮฺได้ระบุไว้สองประการสำคัญ คือ :

 1.)        " لم يقاتلوكم في الدين "ไม่ทำสงครามศาสนา หมายถึงไม่คุกคาม หรือต่อต้านในเรื่องสิทธิทางศาสนา

 2.)   " لم يخرجوكم من دياركم "ไม่ขับไล่ออกจากมาตุภูมิ หมายถึงไม่คุกคามในเรื่องสิทธิของที่อยู่อาศัย

          สำหรับชนต่างศาสนิกที่มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อมุสลิมในสองประการข้างต้น อัลลอฮฺได้บัญญัติห้ามการผูกมิตรกับพวกเขาในโองการถัดมา  คือ :

( إِنَّمَا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ قَاتَلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَأَخْرَجُوكُم مِّن دِيَارِكُمْ وَظَاهَرُوا عَلَى إِخْرَاجِكُمْ أَن تَوَلَّوْهُمْ وَمَن يَتَوَلَّهُمْ فَأُوْلَئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ )          (9) سورة الممتحنة                               

 “อัลลอฮฺเพียงแต่ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้รุกรานพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า และช่วยเหลือ (ผู้อื่น) ในการขับไล่พวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะผูกมิตรกับพวกเขา และผู้ใดผูกมิตรกับพวกเขา  ชนเหล่านั้นเป็นผู้อธรรม” (60:9)

 
ข้อวิเคราะห์ที่ 3

 อัลลอฮฺได้ระบุถึงองค์ประกอบสำคัญของความสมานฉันท์ระหว่างมุสลิม กับชนต่างศาสนิกไว้สองประการ คือ :

 1.)      البِرّหมายถึงการปฏิบัติดีต่อกัน คำนี้ปรากฏในอัลกุรอานทั้งหมด 8 ที่  คือ  :

(2:44, 177, 177, 189, 189   3:92   5:2   58:9) และคำ ในความหมายเดียวกัน มีปรากฏใน(2:224)

 2.)     القِسْطหมายถึงการให้ความยุติธรรม คำนี้ปรากฏในอัลกุรอานทั้งหมด 15 ที่  คือ :
 
(3:18, 21   4:127, 135   5:8,42   6:152   7:29   10:4, 47, 54   11:85   21:47   55:9   57:25)

และคำที่แตกออกไป ซึ่งสื่อความหมายเดียวกัน เช่น:

ก.         تُقْسِطُوْا(4:3)

ข.     أقْسِطُوْا           (49:9)

ค.     القاسِطُوْن(72:14, 15)

ง.          أَقْسَطُ(22:282   33:15)

จ. المُقْسِطِيْنَ     (5:42   49:9   60:8)

           ทั้ง   البر   (การปฏิบัติดี)และ القسط   (การให้ความเป็นธรรม)  ล้วนเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่มนุษย์พึงหยิบยื่นให้กันและกัน เพื่อความสมานฉันท์ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 ข้อวิเคราะห์ที่ 4

           อัลลอฮฺได้จบโองการนี้ด้วยการชื่นชมผู้ที่ปฏิบัติดี และมีความยุติธรรม ต่อชนต่างศาสนิก ด้วยคำว่า:  

  إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُقْسِطِينَ )   )

“แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม”

         ประโยคนี้ แม้ว่าจะเป็นประโยคบอกเล่า خَبَرية แต่ความหมายของประโยคมิใช่บอกเล่า แต่เป็นเหมือนคำสั่ง إنْشَائِية   กล่าวคือ อัลลอฮฺทรงต้องการให้มุสลิมปฏิบัติดี และมีความยุติธรรมต่อชนต่างศาสนิกที่มีพฤติกรรมดังกล่าว เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรัก และแน่นอนความรักของอัลลอฮฺเป็นยอดปรารถนาของมุสลิมทุกคน

 
ข้อวิเคราะห์ที่ 5

           การปฏิบัติดี และการมีความยุติธรรมในโองการนี้ไม่ขัดแย้งกับข้อห้ามในเรื่องของ วะลาอ.         ( ولاء )ในโองการของอัลลอฮฺที่ว่า  :

( يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ لاَ تَتَّخِذُواْ الْكَافِرِينَ أَوْلِيَاء مِن دُونِ الْمُؤْمِنِينَ )            
 ( 144 ) سورة النساء             

“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าได้ยึดเอาบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเป็นมิตร อื่นไปจากผู้ศรัทธาทั้งหลาย”       (4:144)   ดูโองการที่มีความหมายใกล้เคียงกันใน (3:28   4:89, 139   5:51   9:23   3:118)

 เนื่องจากสามารถอธิบายได้ดังนี้ คือ

1.)  ผู้ปฏิเสธศรัทธา หรือชนต่างศาสนิกในโองการต่างๆดังกล่าว มิใช่เป็นชนต่างศาสนิกที่กล่าวถึงในโองการอัลมุมตะหินะฮฺ (60:8) แต่เป็นชนต่างศาสนิกที่อัลลอฮฺได้กล่าวถึงในโองการถัดมา อัลมุมตะหินะฮฺ (60:9)

2.)  การสร้างความสมานฉันท์ในรูปของ    البر และ القسط นั้นแตกต่างจากเรื่องของالولاءกล่าวคือ เรื่องแรกเป็นเรื่องของมนุษย์สัมพันธ์ ที่มุสลิมทุกคนพึงปฏิบัติต่อชนต่างศาสนิก สอดคล้องกับอัลหะดีษที่ท่านร่อซู้ล (ศ้อลลั้ลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้กล่าวว่า:


                             " وخا لِق الناسَ بخُلق حَسَن "

“และเจ้าจงคบกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกิริยามารยาทที่ดีงาม” (อัตติรมีซีย์  หมายเลข 1987 เป็นหะดีษหะสันศอเหี้ยะห์)

         ส่วนเรื่องที่สอง คือ เรื่อง วะลาอฺ  นั้นเป็นเรื่องของการเป็นมิตรสนิท ที่มีลักษณะพิเศษของ ความรัก ความเคารพ  และการสวามิภักดิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺจึงได้บัญญัติห้ามไว้ในหลายโองการที่กล่าวมา (ดูมูฮัมหมัด นุอัยมฺ ยาซีน 1398 หน้า 145)


 บทส่งท้าย


           แม้ว่าความขัดแย้งจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกัน แต่อิสลามก็กำหนดให้มนุษย์หาทางออกด้วยวิธีการที่นำไปสู่ความสมานฉันท์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในหมู่มุสลิมต่อมุสลิมด้วยกัน หรือมุสลิมต่อชนต่างศาสนิก  อย่างไรก็ตามสันติภาพ และความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในสังคมจะต้องตระหนักว่าทุกคนจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม  ความสุข และความทุกข์ของผู้อื่น ก็คือความสุข และความทุกข์ของพวกเราทุกคนด้วย  ขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺได้โปรดประทานความสมานฉันท์ และความสันติสุข แด่เราทุกคน   อามีน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร. อับดุลเลาะ  หนุ่มสุข

د.عبدالله نومسوك 

   



   
 
เอกสารอ้างอิง
-  อัลกุรอานุ้ลกะรีม
-  มูฮัมหมัด นุอัยมฺ ยาซีน  1398  อัลอีมาน หะกีเกาะตุฮู  อัรกานุฮู นะวากิฎฮู  พิมพ์ครั้งที่ 1  จอร์แดน  ยัมอียะฮฺ อุมมาล อัลมะฎอบิอฺ
-  มุฮัมหมัด ฟุอ๊ะด อับดุลบากีย์  1987  อัลมุอฺญัมอัลมุฟะฮฺ รอส  ลิอัลฟาซิลกุรอาน  อัลกะรีม  พิมพ์ครั้งที่ 1  ไคโร : ดารุ้ลหะดีษ
-  อัตติรมิซีย  มปป. อัลญามิอฺ  อัศศอเหี้ยะห์  ตะห์กี่ก อะห์หมัด  มูฮัมหมัด ชากิร  เบรุต : ดารุ้ลกุตุบอัลอิลมียะฮฺ
-  อัลกุรฎบียฺ  1985  อัลญามิอฺ ลิอะห์กามิลกุรอาน  เบรุต : ดารุล เอี้ยะห์ยา อุตตุรอษุล อะรอบียฺ
-  อัสสุยูฎีฮ์ มปป. อัลอิตกอน  ฟีอุลูมิลกุรอาน