กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในภาคกลางและกรุงเทพฯ
  จำนวนคนเข้าชม  19428

กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในภาคกลางและกรุงเทพฯ

          มุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพ มีบรรพบุรุษมาจากเชื้อชาติต่างๆ ดังส่วนหนึ่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือ...

          สายอาหรับ-เปอร์เซีย

          ชาวเปอร์เซียได้นำเครื่องกระเบื้องของตนเข้ามาค้าขายตั้งแต่ 1,200 ปีมาแล้ว ส่วนชาวอาหรับนั้นเรามีจดหมายเหตุแน่นอนของพวกอาหรับซึ่งแสดงให้เราทราบว่า เขาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่สมัย 1,100 ปีมาแล้วเหมือนกัน (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539:4)

        มีหลักฐานแน่นอนว่ามีมุสลิมได้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ปรากฏตามจดหมายเหตุโบราณว่า มีคนที่คนโบราณเรียกว่า "แขกเทศ" ตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่ประตูจีนด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงหลังวัดนางมุกแล้วก็เลี้ยวลงไปที่"ท่ากายี" เป็นบริเวณที่มุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่ในกำแพงเมือง มีถาวรวัตถุร้างไปแล้วยังปรากฏอยู่ ชาว้านเรียกมาจนทุกวันนี้ว่า"กุฎีทอง" ที่นี่คำว่า "แขกเทศ" มีปรากฏในจดหมายเหตุดังนี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าจะเป็นผู้รับนับถือศาสนาอิสามที่มีรกรากบ้านเดิมอยู่ในประเทศอาหรับบ้าง และประเทศอิหร่านหรือเปอร์เซียบ้าง แล้วก็มาตั้งรกรากเพื่อดำเนินการค้าขาย ในที่สุดก็กลายเป็นคนไทย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539:3)

        ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากเชคอะหมัด ซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียที่มาตั้งถิ่นฐานและสร้างมัสยิดที่เรียกว่า"กุฎีทอง" แล้วยังมีชาวเปอร์เซียที่สำคัญอีกท่านหนึ่งที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่หัวเขาแดง (สงขลา) หลังจากตั้งถิ่นฐานที่อินโดนีเซียมาแล้วระยะหนึ่ง ชาวเปอร์เซียท่านนี้เป็นมุสลิมสายซุนนะฮ์ชื่อ "ท่านโมกอล" (เข้ามาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2145) บิดาของท่านสุลัยมาน ผู้ที่ประกาศแยกสงขลาออกเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองและสถาปนาตนเองเป็น"สุลต่านสุลัยมานซาห์" เมื่อ พ.ศ. 2143 โดยท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2211 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศพของท่านฝังอยู่ที่หัวเขาแดงจังหวัดสงขลา

          สายชวา-มลายู

        ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายปัตตานีซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "แขกปัตตานี" มักจะประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมและค้าขาย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539:21)

         คนที่นับถือศษสนาอิสลามในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นตำบลใหญ่ หลายร้อย หลายพันหลังคาเรือนเหมือนกัน ตำบลนั้นจะอยู่คลองตะเคียนทางทิศใต้ ส่วนอิสลามิกชนที่มาจากอินโดนีเซีย จากเกาะที่เรียกว่า "เกาะมากาซา" หรือ "มักสัน" ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตกลงไป (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539:3)

         ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ช่วงสงครามไทย-พม่า จนมาถึงช่วงการล่มสลายของอณาจักรกรุงศรีอยุธยา มุสลิมกลุ่มนี้ได้อพยพหลบหนีมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรี นอกจากนั้นตลอดสมัยธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ก็คงมีมุสลิมเชื้อสายชวา-มลายู ย้ายถิ่นฐานมาจากอณาจักรปัตตานีมาอยู่ในธนบุรี เพราะถูกกวาดต้อนเป็นเชลย และเชิญชวนมาช่วยปฏิบัติงานรับใช้ชาติ ส่วนมุสลิมจากชวาก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ประเทศไทยเช่นกัน

         สายจาม-เขมร

         จามและเขมรเป็นคนละเชื้อชาติ เพราะจามเป็นชนที่ผสมระหว่างขอมเดิม อินเดีย มลายู และจีน เป็นต้น จามเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเข้ามารับราชการเป็นทหารอาสา ดังความในกฏหมายไทย (2439 : 192) ปรากฏว่า ยังมีแขกอีกพวกหนึงซึงปรากฏในมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรียกว่า "อาสาจาม"

         มุสลิมที่อพยพจากกัมพูชานี้ ภายหลังเข้ามารวมเป็นพวกอาสาจาม ส่วนสาเหตุที่อพยพเข้ามาในไทยเพราะถูกรุกรานจากเวียดนาม (รัชนี  สาดเปรม , 2521:18)

        เมื่อเกิดสงครามไทย-พม่า กองอาสาจามจึงเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้ศัตรูไทย และเสียชีวิตลงจากการต่อสู้กับศัตรูเป็นจำนวนมาก ที่รอดชีวิตส่วนหนึ่งได้อพยพลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบางอ้อและที่อื่นๆ

         สายอินเดีย-ปากีสถาน-บังกลาเทศ

        อินเดียที่ต่อมาแยกประเทศเพิ่มเป็นปากีสถานและบังกลาเทศ เป็นชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งถิ่นฐานในไทย

         มุสลิมเชื้อสายอินเดียมีทั้งที่เป็นชีอะฮ์และซุนะฮ์ และมีทั้งรวมตัวตั้งเป็นชุมชนเฉพาะกลุ่ม และเข้าไปตั้งถินฐานรวม หรือโดยการแต่งงานกับคนมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว

         มุสลิมอินเดียเชื้อสายชีอะฮ์ คือที่"มัสยิดตึกขาว"(เซฟี) มีสุสานอยู่ใกล้กับกุฎีเจริญพาศน์ ส่วนกลุ่มที่เป็นซุนนะฮ์คือทีชุมชน "มัสยิดฮารูน" ซึ่งเป็นชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาด้านตะวันออกหรือฝั่งพระนคร นอกจากนั้นกล่าวได้ว่าทุกชุมชนเก่าแก่ในธนบุรี มุสลิมเชื้อสายอินเดียจะกระจายตัวตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ชุมชน"มัสยิดตึกแดง" ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของพระคลังสินค้า

         สายจีน

         มุสลิมเชื้อชาติจีนที่ตั้งถิ่นฐานในธนบุรีอาจมีอยู่บ้าง แต่จำนวนไม่มากเหมือนทางภาคเหนือของไทยและส่วนที่มีอยู่จะเป็นลักษณะการผสมระหว่างเชื้อชาติเสียมากกว่า กล่าวคือ ชาวจีนซึ่งอาจจะมีทั้งจีนมุสลิมแต่เดิมและจีนที่นับถือศาสนาอื่นแต่เดิม แต่งงานกับมุสลิมเชื้อชาติต่างๆ เช่น จามมุสลิมก็เป็นกลุมเชื้อชาติผสมจีน มุสลิมจากอณาจักรปัตตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบบริเวณอ่าวปัตตานีจำนวนไม่น้อยก็เป็นมลายูผสมจีน ทั้งนี้จากการเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย ซึ่งอ่าวปัตตานีจะเป็นบริเวณที่พักหลบลมมรสุมอย่างดี

         ส่วนในปัจจุบันมุสลิมจากเชื้อชาติต่างๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยูในธนบุรี ส่วนหนึ่งก็ได้แต่งงานกับลูกหลานชาวจีนที่นับถือศาสนาต่างๆ โดยเข้ามารับอิสลาม และมักจะกลายเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดเป็นจำนวนไม่น้อย

         การตั้งถิ่นฐานและชุมชนมุสลิมในไทย

         ชุมชนมุสลิมไม่ว่าจะมีบรรพบุรุษสืบเนื่องมาจากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใด จะมีการตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นชุมชน มีผู้นำ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นไปตามรูปแบบและคำสอนในอิสลาม

        เมื่อเกิดการรวมตัวตั้งเป็นกลุ่มหรือชุมชน หรือที่เรียกในภาษามลายูซึงมาจากภาษาเขมรว่า "กำปง" แล้วมุสลิมในแต่ละชุมชนจะเสียสละทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ เพื่อสร้างศูนย์กลางของชุมชนขึ้น นั่นคือ "มัสยิด" หรือ"สุเหร่า" และหาหากพื้นที่ไม่จำกัดจนเกินไป บริเวณมัสยิดจะมีหน่วยอื่นๆประกอบด้วย อาคารมัสยิด อาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ และสุสาน(กุโบร์)สำหรับฝังศพ แต่บางชมชนอาจต้องใช้ส่วนหนึ่งของมัสยิดเป็นทีศึกษา และไปใช้กุโบร์ร่วมกับชุมชนอื่น

ที่มา:จากหนังสืออนุสรณ์ชุมชน มัสยิดดารุ้ลอิบาดะฮ์(คลองสามวา)