การรักและการรังเกียจต่อบรรดาผู้ปฏิเสธ
  จำนวนคนเข้าชม  1870


การรักและการรังเกียจต่อบรรดาผู้ปฏิเสธ

 

          การรักและเป็นมิตรต่อบรรดาผู้ศรัทธา และการรังเกียจและเป็นศัตรูต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา จุดยืนของอะฮฺลิซซุนนะฮฺวัลญามะอะฮฺต่อบุคคลสามประเภทดังกล่าวข้างต้น มี 3 ข้อ คือ

 

     หนึ่ง ให้มอบความรักต่อมุอ์มินที่เที่ยงตรงแท้จริง ซึ่งเป็นความรักอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จะต้องรักบุคคลเหล่านี้ และต้องให้ความช่วยเหลือ ให้การค้ำจุนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

     สอง จะต้องปลีกตนออกห่างจากบรรดาผู้ปฏิเสธ ผู้ที่บิดเบือน ผู้ที่เป็นมุชริก ผู้ตกมุรตัด เป็นการตีตนออกห่าง เป็นศัตรูอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

     สาม คนที่มีความดีความชั่วคลุกเคล้าปะปนกันไปนั้น ก็ให้เราทำดีตามอีมานของเขา เขาทำดี เราก็ชมเชย เขาทำดีเราก็แนะนำ ตักเตือนให้กำลังใจ ในขณะเดียวกัน ถ้าเขาทำความผิด เราก็ลงโทษ ประณามเขาตามเหตุผลและความผิดที่สมควรเช่นกัน อย่าเป็นอย่างพวกเคาะวาริจญ์ หรือพวกมุอฺตะซิละฮ (ที่กล่าวหาว่า ผู้ทำความผิด ความชั่วนั้น ตกศาสนาทันที)

 

          หลักอะกีดะฮฺในส่วนที่เราเรียกว่า อัลวะลาอ์ และอัลบะรออ์นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน หลักการนี้จะทำให้เราทราบว่าใครเป็นมิตรที่แท้จริงในหมู่มุสลิม และใครคือศัตรูที่ถาวรในหมู่มุสลิมเช่นกัน 

 

          เราอาจตั้งคำถามว่า ในบรรดามุสลิมด้วยกันที่เป็นกลุ่มมุบตะดิอฺ คือกลุ่มที่ทำบิดอะฮฺนั้น เราจะปฏิบัติตนต่อบุคคลเหล่านี้อย่างไร แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงวิธีที่จะปฏิบัติตนต่อบุคคลเหล่านั้น ควรจะมาทำความเข้าใจกับคำว่าบิดอะฮฺก่อน

          คำว่า “บิดอะฮฺ” ในหลักภาษา หมายถึง การทำอะไรก็ได้ที่เป็นประดิษกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ในเรื่องของดุนยา เกิดขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน เช่น ใส่เสื้อ ใส่เข็มขัด ใส่รองเท้าแตะ เครื่องแต่งกายหรือบ้านเรือนสมัยใหม่ ซึ่งมันแตกต่างกับที่อยู่อาศัยของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ อย่างสิ้นเชิง แต่บิดอะฮฺเหล่านี้เป็นเรื่องของโลกดุนยา ไม่ใช่ข้อห้ามทางศาสนาทั่วไป ไม่ถือเป็นบิดอะฮฺที่ถูกห้ามไว้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ตามวิถีชิวิตและยุคสมัย ไม่ใช่ใหม่ในเรื่องของศาสนา  

          แต่ถ้าบิดอะฮฺเรื่องศาสนา บิดอะฮฺตัวนี้ก็คือการคิด การผลิตอิบาดะฮฺ การหาวิธีใหม่ๆ เข้ามาในศาสนาแล้วก็บอกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาจากท่านร่อซูล ﷺ มาจากการกระทำของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ บรรดาสะละฟุศศอลิหฺ  บรรดาอุละมาอ์อะฮฺลิซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ จึงได้มีมติเอกฉันท์ว่า เราจะต้องแสดงท่าทีต่อต้านต่อบรรดาผู้ที่เป็นชาวบิดอะฮฺ และจะต้องปลีกตน และออกห่างจากบุคคลเหล่านี้

 

          ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด ซึ่งเป็นเศาะฮาบะฮฺที่มีความรู้ ความเข้าใจในอัลกุรอานเป็นอย่างดี ท่านได้กล่าวเตือนบรรดาชาวบิดอะฮฺว่า “ผู้ใดก็ตามจะปฏิบัติตามสิ่งใด จงปฏิบัติตามผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งคือบรรดามิตรสหายของท่านนบีมุฮัมมัด พวกเขาคือประชาชาติที่ดียิ่งที่สุด มีจิตใจที่ดีงามที่สุด มีความรู้ที่ลุ่มลึกที่สุด บังคับใช้น้อยที่สุด เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮฺ  ทรงเลือกให้เป็นสหายของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เป็นผู้ถ่ายทอดศาสนาของพระองค์ ดังนั้นจงดำเนินรอยตามจรรยามารยาท และแนวทางของพวกเขา เพราะพวกเขาคือผู้อยู่บนทางนำที่ถูกต้องเที่ยงตรง”

          ถ้าท่านคิดจะทำบิดอะฮฺ ก็จงไปดูคนที่เป็นเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ก่อนว่าพวกเขาปฏิบัติอย่างไร เพราะพวกเขาเป็นคนที่ดีทีสุด เป็นประชาชาติที่ดีที่สุด มีจิตใจที่ดีที่สุด มีความรู้ลุ่มลึกที่สุด บังคับใช้น้อยที่สุด หมายความว่า ท่านนบี ﷺ บอกอะไรจะปฏิบัติทันที ไม่ต้องมาคอยบังคับอะไร เชื่อท่านนบี ﷺ ทันที ปฏิบัติตามท่านนบี ﷺ ทันที เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮฺ  ทรงเลือกให้เป็นสหาย ให้เป็นเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด เป็นผู้ที่นำศาสนาของพระองค์นั้นถ่ายทอดมาสู่เรา ดังนั้นให้เราเลียนแบบ ให้ปฏิบัติตามจรรยามารยาทของพวกเขา ตามแนวทางของพวกเขา ซึ่งบรรดาเศาะฮาบะฮฺเหล่านั้นได้อยู่บนทางนำที่ถูกต้องชัดเจน

          ดังนั้นถ้าเราไปเอาหนทางอื่น เอาแบบอย่างมาจากใครก็ไม่ทราบที่ไม่มีแบบอย่างมาจากบรรดาเศาะฮาบะฮฺแล้ว ก็จะทำให้ไม่ได้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง จึงขอให้เราได้พิจารณาดูหลักอะกีดะฮฺของเราและการปฏิบัติอิบาดะฮฺของเรา ว่ามีแบบอย่างที่ถูกต้องมาจากแนวทางของท่านร่อซูล หรือไม่

 

          ท่านซุฟยาน อัษเษารีย์ ซึ่งเป็นชาวสะลัฟท่านหนึ่ง ได้กล่าวเตือนว่า “บิดอะฮฺนั้นเป็นที่รักยิ่งของอิบลีสมากยิ่งกว่ามะอฺศียะฮฺเสียอีก เพราะการทำมะอฺศียะฮฺจะมีการกลับตัว ส่วนการทำบิดอะฮฺนั้นไม่มีการกลับตัว” 

          อิบลีสชอบให้คนปฏิบัติบิดอะฮฺมากกว่าให้คนฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ  เพราะมะอฺศียะฮฺ (การฝ่าฝืน, การทำบาป, ความชั่ว) นั้นสามารถที่จะปรับตัว แก้ตัว สำนึกผิด เราทำผิด เราดื่มเหล้า เรากินดอกเบี้ย เราปรับตัวได้ เพราะว่ามันผิดชัดเจน แต่พวกที่จมอยู่ในความหลงผิด อยู่ในการอุตริกรรมนั้นยากที่จะปรับตัว เพราะถูกสั่งสอนมาว่าจะละทิ้งแนวทางของบิดามารดา จะละทิ้งแนวทางของบรรพบุรุษได้อย่างไร

 

           ท่านอิมามมาลิก กล่าวว่า “ผู้ใดที่อุตริกรรมการงานใดๆ ในประชาชาตินี้ ที่ไม่ได้เป็นแนวทางของชนยุคก่อน เท่ากับว่าบุคคลนั้นได้กล่าวหาว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เป็นผู้บิดพลิ้วทรยศต่อศาสนา เพราะอัลลอฮฺ  ได้ตรัสว่า “วันนี้ข้าได้ให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว”(อัลมาอิดะฮฺ 3) ดั้งนั้น ถ้าวันนั้นมันไม่ได้เป็นศาสนา วันนี้มันก็ไม่ใช่ศาสนา” 

 

          ชาวสะลัฟอีกท่านหนึ่งได้ให้ข้อคิดแก่เราว่า “พวกท่านจงอย่าร่วมวงกับบรรดาผู้ทำตามอารณ์ใฝ่ต่ำ หรือบรรดาผู้ชอบโต้เถียงอย่างไร้เหตุผล เพราะฉันไม่มั่นใจว่า พวกท่านจะถูกครอบงำไปในความหลงผิดของพวกเขา หรือพวกเขาอาจสร้างความเคลือบแคลงสงสัยต่อสิ่งที่พวกท่านได้รู้มา”

 

ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ กล่าวว่า  

«وَمَنْ دَعَا إِلَى ضَلَالَةٍ، فَعَلَيْهِ مِنَ الْإِثْمِ مِثْلُ آثَامِ مَنِ اتَّبَعَهُ، لَا يَنْقُصُ ذَلِكَ مِنْ آثَامِهِمْ شَيْئًا»

“และผู้ใดที่เชิญชวนผู้อื่นสู่ทางหลงผิด เขาก็จะได้รับผลบาปเท่ากับผลบาปของผู้ปฏิบัติตามคำเชิญชวนของเขา

โดยที่ผลบาปของเขาเหล่านั้นไม่ได้ขาดหายไปแต่ประการใด”

 

          ถ้าเรามองอย่างผิวเผินในหลักการอัลวะลาอ์ และอัลบะรออ์ เราอาจจะมองว่าอิสลามเป็นศาสนาที่เห็นแก่ตัว รักเฉพาะพวกพ้องของตนเอง แต่ถ้าราได้ศึกษาแนวทาง ศึกษาประวัติศาสตร์ ศึกษาการร่วมอยู่กันของบรรดานบี ของบรรดาเศาะฮาบะฮฺกับพวกมุชริกที่มักกะฮฺ หรือกับบรรดายะฮูดที่มะดีนะฮฺ เราจะทราบว่ามุสลิมเหล่านั้นไม่ได้ไปอธรรม ไม่ได้ลำเลิก ไม่ได้ข่มเหงรังแกผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมแต่อย่างใด แต่ความเกลียดต่อผู้ปฏิเสธคือ เกลียดในความเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาของเขา แต่เราจะต้องหาทางที่จะสั่งสอน หาทางที่จะเชิญชวนเขาให้เข้าใจถึงสัจธรรมที่แท้จริง 

 

ที่มา อัล อิศลาห์สมาคม บางกอกน้อย