สิทธิของบิดามารดา
  จำนวนคนเข้าชม  3327


สิทธิของบิดามารดา


 

เชค มุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน

 

          ไม่มีผู้ใดที่สามารถปฏิเสธบุญคุณที่บิดามารดามีต่อบรรดาลูกๆ ของเขาทั้งสองได้ เนื่องจากทั้งสองเป็นสาเหตุที่ให้มีบุตรเกิดขึ้น ดังนั้น เขาทั้งสองจึงเป็นบุคคลที่พึงได้สิทธิมากที่สุด ทั้งสองได้เลี้ยงดูบุตรตั้งแต่เยาว์วัยอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ลูกรักได้นอนอุ่นหลับสบาย มารดาต้องอุ้มครรภ์เป็นระยะเวลาประมาณเก้าเดือน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า 

 

“มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาอย่างเหนื่อยล้าชั้นแล้วชั้นเล่า” 
 

(ลุกมาน : 14)

 

          ♥ หลังจากคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว มารดาก็ต้องดูแลเลี้ยงดูให้นมเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยอย่างสาหัส 

 

          ♣ ส่วนบิดาก็เช่นกันต้องพยายามดิ้นรนเพื่อหาปัจจัยมาเลี้ยงชีพตั้งแต่เจ้ายังแบเบาะจนถึงเป็นผู้ใหญ่สามารถช่วยตัวเองได้ 

 

          ♦ นอกจากนั้นทั้งสองต้องพยายามอบรมเลี้ยงดูและแนะแนวทางแก่เจ้า ซึ่งตัวเจ้าเองตอนนั้นยังต้องอาศัยคนอื่น ไม่มีความสามารถที่จะสร้างประโยชน์หรือโทษแก่ผู้ใดเลย

           ดังนั้น อัลลอฮฺได้บัญชาให้เราทำดีต่อบิดามารดาและแสดงความกตัญญูกตเวทีตอบแทนบุญคุณของท่านทั้งสอง ดังที่พระองค์ตรัสว่า 
 

           “และเราได้สั่งการแก่มนุษย์เกี่ยวกับบิดา มารดาของเขา โดยที่มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาอย่างเหนื่อยล้าชั้นแล้วชั้นเล่า และการหย่านมของเขาในระยะเวลาสองปี เจ้าจงขอบคุณข้า และบิดามารดาของเจ้า ยังเรานั้น คือการกลับไป” 
 

(ลุกมาน : 14)


และพระองค์ตรัสอีกว่า

 

          “และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อบิดามารดา เมื่อบุพการีคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนได้บรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ก็จงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ ! และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง

          และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน และจงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสอง ซึ่งการถ่อมตนเนื่องจากความเมตตา และจงกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของฉัน ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นที่ทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย” 
 

(อัล-อิสรออ์ : 23-24)

 

          แท้จริง สิทธิหน้าที่ที่พึงมีต่อบิดามารดา คือการทำดีแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านทั้งสอง ด้วยการทำดีต่อท่านทั้งด้วยวาจา การกระทำ การมอบกำลังกายและทรัพย์ให้แก่ท่าน การปฏิบัติตามคำสั่งของท่านทั้งสองตราบใดที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ และไม่เป็นอันตรายต่อตัวท่านเอง การพูดจากับท่านอย่างอ่อนน้อม การแสดงหน้าตาที่ยิ้มแย้ม การให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับท่าน การไม่พูดจาที่ทำให้ท่านทั้งสองกระทบกระเทือนจิตใจยามที่ท่านทั้งสองแก่ชรา เจ็บป่วย หรืออ่อนแรง 

 

          และต้องไม่ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นภาระสำหรับท่าน เพราะภายภาคหน้าตัวท่านเองก็จะอยู่ในสภาพเช่นนั้นเหมือนกัน ท่านเองต้องกลายเป็นพ่อ หรือ แม่ดังที่ท่านทั้งสองได้เป็นพ่อแม่ของท่านมาแล้ว และท่านเองก็ต้องแก่ชราในสายตาลูกหลาน หากอัลลอฮฺทรงไว้ชีวิตท่านยาวนาน เมื่อถึงเวลานั้นท่านเองคงต้องการความกตัญญูจากลูกหลานดังที่พ่อแม่ของท่านเคยต้องการจากตัวท่านมาแล้ว หากเจ้าเคยทำดีต่อพ่อแม่ทั้งสองแล้วก็จงภูมิใจในสิ่งที่ท่านจะได้รับ นั่นคือผลบุญอันมากมายจากอัลลอฮฺ และท่านเองจะได้รับการปฏิบัติจากลูกของท่านเหมือนกับที่ท่านได้เคยปฏิบัติกับพ่อแม่ของท่านเช่นกัน

 

           ผู้ใดที่กตัญญูรู้คุณบิดามารดาของเขา เขาก็จะได้รับความกตัญญูจากลูกหลานภายภาคหน้า ส่วนผู้ใดที่อกตัญญูเนรคุณบิดามารดาในภายภาคหน้าลูกหลานของเขาจะแสดงความอกตัญญูต่อเขาเช่นกัน ผลตอบแทนของคนเรานั้นจะได้รับเสมือนที่เขาได้เคยปฏิบัติ อัลลอฮฺได้จัดลำดับการทำดีต่อพ่อแม่อยู่ในระดับที่สูงส่ง พระองค์ได้ลำดับสิทธิของทั้งสองรองลงมาจากสิทธิที่พึงมีต่อพระองค์และศาสนทูตของพระองค์ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

 

“และจงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่าให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์ และจงทำดีต่อพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง” 
 

(อัน-นิสาอ์ : 36)

 

“เจ้าจงขอบคุณข้า และจงขอบคุณบิดามารดาของเจ้า ยังเรานั้นคือการกลับไป” 
 

(ลุกมาน : 14)

          ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้วางการทำดีต่อพ่อแม่เหนือกว่าการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ดังหะดีษที่รายงานโดยท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า ฉันได้กล่าวว่า

"โอ้ ศาสนทูตของอัลลอฮฺ การงานใดที่อัลลอฮฺทรงรักมากที่สุด? 

ท่านนบี  ตอบว่า “การละหมาดในเวลาของมัน” 

และฉันได้ถามอีกว่า แล้วมีการงานอะไรอีก(ที่พระองค์ทรงรัก)? 

ท่านนบี  ตอบว่า “การทำดีต่อพ่อแม่” 

แล้วฉันก็ถามท่านอีกว่า แล้วการงานอะไรอีก? 

ท่านนบี  ตอบว่า “การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ” 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 504, มุสลิม 85, อัต-ติรมิซีย์ 1898, อัน-นะสาอีย์ 610, อะหฺมัด 1/439, อัด-ดาริมีย์  1225)


          หะดีษบทนี้ชี้ถึงความสำคัญของสิทธิที่พึงมีต่อพ่อแม่ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะละเลยและไม่ให้ความสำคัญ จนถึงขั้นแสดงความอกตัญญูเนรคุณ และตัดขาดความสัมพันธ์กับท่านทั้งสอง เราพบว่าบางคนนั้นไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิหน้าที่ที่พึงมีต่อพ่อแม่ และมีบางคนถึงขั้นดูถูกเหยียดหยาม พูดจาขึ้นเสียงกับพ่อแม่ของเขาเอง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นเขาจะได้ประสบกับตัวเองไม่ช้าก็เร็ว





ผู้แปล: อันวา สะอุ และ อุษมาน อิดรีส 

Islam House