หมอดูในทัศนะของอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  11385


หมอดูในทัศนะของอิสลาม

 

โดย.. เชค อาลี อีซา ร่อฮิมะฮุลลอฮ

 

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رضي الله عنه، عَنْ النَّبِيِّ صلى الله عليه وسلم قَالَ : مَنْ أَتَى كَاهِنًا، أَوْ عَرَّافًا، فَصَدَّقَهُ بِمَا يَقُولُ، فَقَدْ كَفَرَ بِمَا أُنْزِلَ عَلَى مُحَمَّدٍ صلى الله عليه وسلم. 

มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูล  กล่าวว่า

”ผู้ใดไปหาหมอดูหรือนักพยากรณ์ แล้วเขาเชื่อในสิ่งที่เขา (หมอดูหรือนักพยากรณ์) พูด

แน่นอน เขาผู้นั้นปฏิเสธในสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่มูฮัมมัด”

 

(บันทึกโดย อิมามอะหฺหมัด ฮากิม และอัลบัซซ๊ารฺ)

ความหมายฮะดีษ 

          การที่คนเราจะไปหาหมอดูนั้น มีหลายเรื่องที่เขาต้องการรู้เหตุการณ์ในอนาคต เช่น บางคนต้องการที่จะรู้เรื่องธุรกิจบ้าง ความรักบ้าง ฯลฯ แต่ฮะดีษนี้ไม่ได้ระบุว่าเป็นเรื่องใด การที่ฮะดีษไม่ระบุแสดงว่าเป็นการปิดประตูทุกทางไม่ให้เราเชื่อหมอดู ไม่ว่าเรื่องใดๆทั้งสิ้น  ซึ่งไม่ใช่ไม่ให้เชื่ออย่างเดียวและไม่ให้ถามอีกด้วย  

          ตามฮะดีษที่รายงานโดยอิมาม มุสลิม ถึงเรื่องถามเพียงอย่างเดียว แต่ฮะดีษอื่นระบุถึงเรื่องเชื่อหมอดู ซึ่งที่จริงแล้ว ถ้าเขาไม่เชื่อเรื่องหมอดูแล้วเขาจะไปหาทำไม ? การที่เขาไปหา ไปถามก็แสดงว่าเขาเชื่อ การที่เขาไปหาผู้ที่อ้างว่ารู้ในสิ่งเร้นลับ เพื่อให้ทำนายหรือไปขอความช่วยเหลือ ทั้งๆที่อัลลอฮ์ ได้แจ้งให้เราทราบโดยผ่านท่านร่อซูล  ว่า 

ผู้ที่รู้ในสิ่งเร้นลับคือ อัลลอฮ์ เพียงองค์เดียวเท่านั้น

 

          การที่เราไปมอบความเชื่อนี้ให้แก่คนหนึ่งคนใด ก็เท่ากับว่าคำสอนของท่านร่อซูล  และตัวบทที่ระบุชัดเจนในอัลกุรอานนั้นไม่มีความหมายแล้ว ดังตัวบทจากฮะดีษข้างต้นนี้เน้นอย่างชัดเจนว่า ผู้ใดไปหาหมอดู หรือนักพยากรณ์ แล้วเชื่อในสิ่งที่เขาพูด เขาผู้นั้นได้ปฏิเสธสิ่งที่อัลลอฮ์ประทานให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด  ซึ่งฮะดีษดังกล่าวนี้เป็นฮะดีษศ่อฮี๊ฮฺเป็นฮะดีษที่ชี้ให้เห็นถึงจุดที่เป็นประเด็นสำคัญที่มักโต้เถียงกันมากโดยบอกว่าเขายังมี “ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ ” อยู่เขายังละหมาดอยู่ เขายังทำฮัจย์อยู่ แล้วเราจะไปบอกว่าเขาเป็นกาเฟรฺ(หมดสภาพการเป็นมุสลิม)ได้อย่างไร !

         แท้จริงเขา ( ผู้ที่ไปหาหมอดู ) เขาอาจปฏิบัติตนตามรุกุ่นอิสลามครบถ้วน ละหมาดก็ละหมาด ถือศีลอดก็ถือ จ่ายซะกาตก็จ่าย ทำฮัจย์ก็ทำ แต่แล้วก็ยังไปหาหมอดูอีก ซึ่งเท่ากับว่าการงานที่เขาทำ (อิบาดะห์)ต่างๆนั้น ไม่มีความหมายเสียแล้ว 

 

           ทำไมถึงพูดว่าเขาปฏิเสธศรัทธา ทั้งๆที่เขาไม่ได้พูดว่า ”ฉันปฏิเสธต่ออัลลอฮ์” การที่เขาไปหาหมอดูโดยบอกว่าศรัทธาต่ออัลลอฮและร่อซูล  เพราะการศรัทธานั้นไม่ได้อยู่ที่ปากหรือคำพูดที่อ้าง แต่การศรัทธานั้นต้องปฏิบัติดังที่เราเชื่อเรายอมจำนน ดังที่เรากล่าวปฏิญาณ และการที่เราไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยการยกฐานะผู้หนึ่งผู้ใดให้มีคุณลักษณะเสมอเหมือนกับอัลลอฮ์ หรือปฏิเสธสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นการทำลายคำปฏิญาณของเรานั้น ไม่ว่าเราจะทำอิบาดะห์ขนาดไหน ก็ถือว่าหมดความหมาย ดังฮะดีษข้างต้นที่รายงานโดย อิมามอะหฺมัด และฮากิม และอัลบัซซ๊ารฺ ที่ยืนยันในเรื่องนี้ มีกื่มากน้อยแล้วที่คนเข้าใจว่าตราบใดที่เขาละหมาด กล่าวคำปฏิญาณและเขาก็กระทำในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนนั้นไม่เป็นไร ! แต่ความจริงแล้ว ฮะดีษนี้เป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า คนใดที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำลายหลักศรัทธาของเขานั้น แม้แต่จะละหมาด จะถือศีลอด ชำระซะกาต ก็ไม่มีความหมายใดๆเพราะสิ่งที่เขาปฏิบัตินั้นค้านกับคำกล่าวของเขาที่ว่า”ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ”

          การปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น เท่ากับเป็นการยอมรับว่าอัลลอฮ์  ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับ ทรงเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพ เป็นผู้เอาชีวิต และเป็นผู้ให้เราเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่ขณะเดียวกันเรากับรับเอาหมอดู นักพยากรณ์ นักไสยศาสตร์ มาเป็นหุ้นส่วนโดยให้มีคุณลักษณะเสมอเหมือนอัลลอฮ์ แล้วคำว่า ”ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ” จะมีความหมายได้อย่างไร ?

عَنْ النَّبِيِّ صلى الله عليه وسلم قَالَ "من أتى عرافًا فسأله عن شيء لم تقبل له صلاة أربعين ليلة أو يوما" رواه مسلم 

มีรายงานจากอิมามมุสลิมแจ้งว่า ท่านร่อซูล  กล่าวว่า

 ”ผู้ใดไปหาหมอดูแล้วเขาผู้นั้นซักถาม การละหมาดของพวกขาจะไม่ถูกรับ 40 วันหรือ 40 คืน”

(บันทึกโดยอิมามมุสลิม)

สำหรับอีกรายงานหนึ่ง จากอิมาม มุสลิม ที่ว่า  

“ผู้ใดไปหาหมอดู แล้วผู้นั้นถามหมอดูถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด”

          ฮะดีษนี้ไม่ได้ระบุว่าเชื่อหรือไม่ เพียงระบุว่าไปหาแล้วก็ถามแค่นั้น ละหมาดของเขา 40 วัน 40 คืนนั้นไม่ถูกรับ บางคนอาจมองว่า ฮะดีษแรกมีผลหนักกว่าฮะดีษที่สอง ความจริงฮะดีษที่สองผลของมันนั้นก็ไม่เบา

 

         ก่อนที่จะอธิบายรายละเอียดของฮะดีษนี้ ขออธิบายถึงความสำคัญของการละหมาดก่อน เพราะถ้าเราต้องรู้ว่าละหมาดคืออะไร ? 

          ละหมาดที่อัลลอฮ์ทรงบัญญัติ ที่ท่านร่อซูล  สอน ที่ศ่อฮาบะฮฺปฏิบัตินั้นคือ เมื่อได้ยินอะซาน ต้องไปละหมาด ไม่ใช่ได้ยินอะซานแล้วเอาไว้ก่อน นอกจากผู้ที่มีอุปสรรคเท่านั้น (อุปสรรคในที่นี้คือ เดินไม่ได้ เจ็บป่วยหนัก) แม้กระทั่งคนที่กำลังซื้อขายกันก็ยังให้หยุดก่อน ให้รีบไปละหมาดก่อน และในสมัยท่านร่อซูล  ไม่มีการละหมาดใช้ (ละหมาดกอฏอ)การจะละหมาดใช้นั้นมีสองกรณีเท่านั้นคือ หลับไปโดยไม่รู้สึกตัว หรือลืมเท่านั้น

          บางคนอาจคิดว่าขณะเป็นหนุ่มเป็นสาวยังไม่ต้องละหมาดก็ได้ เอาไว้มาใช้ตอนแก่ หรือจ้างคนอื่นละหมาด หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดทดแทนการละหมาดก็ได้ ซึ่งความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ !

ท่านร่อซูล  ได้กล่าวว่า

”ละหมาดที่หนักที่สุด สำหรับมุนาฟิกีนนั้นคือละหมาดซุบฮิและอิชาอฺ”

          เพราะเวลาซุบฮินั้นเป็นเวลาที่ทุกคนกำลังนอนหลับสบาย ส่วนเวลาอิชาอฺนั้น เป็นเวลาที่ทุกคนต้องการพักผ่อนหลังจากเหน็ดเหนื่อยมาจากการทำงานในตอนกลางวันหรือง่วงนอนหลังจากทานอาหารอิ่มแล้ว อันนี้ท่านร่อซูล  ได้เตือนให้ระวังสองเวลานี้ ถ้าหากว่าเราเห็นว่าตัวเราเองไม่กระฉับกระเฉงในเรื่องการละหมาดสองเวลานี้ หมายถึงมีสภาพเกียจคร้าน หรือเหนื่อยล้าอยากพักผ่อน ต้องบอกตนเองว่า ลักษณะของมุนาฟิกีนเข้ามาอยู่ในตัวฉันแล้วนะ โดยเหตุนี้ ศ่อฮาบะฮฺ จึงบอกว่าผู้ใดไม่มาละหมาดซุบฮฺเพียงเวลาเดียว เราก็นึกไม่ดีต่อเขาแล้ว การนึกไม่ดีเท่ากับนึกว่าผู้นั้นเป็น มุนาฟิกีน 

          มุนาฟิกีนคืออะไร ? มุนาฟิกีนคือผู้ที่อยู่ในนรกชั้นต่ำที่สุด ทั้งที่เขากล่าวคำปฏิญาณ บริจาคซะกาต และทำละหมาด ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการขาดละหมาดเพียงเวลาเดียวยังมีผลทำให้เรามีสภาพเป็นมุนาฟิกีน แต่ถ้าเราไปหาหมอดูและถามเขาก็มีผลเท่ากับเราไม่ได้ละหมาด 40 วัน 40 คืน ซึ่งในที่นี้ก็มีละหมาดวันศุกร์รวมอยู่ด้วย 4 ครั้ง 

ท่านร่อซูล กล่าวว่า 

“ผู้ที่ไม่ละหมาดวันศุกร์ 3 ศุกร์ติดต่อกันอัลลอฮ์ จะปิดประทับหัวใจว่าเขาไม่มีอีมานแล้ว”

          เพราะเหตุนี้การที่ละหมาด 40 วัน 40 คืนไม่ถูกรับไม่ใช่เรื่องเบา แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่เคยทำผิดไปแล้ว ถ้าเขากลับเนื้อกลับตัว พระองค์ทรงปิติยินดีสำหรับผู้กลับเนื้อกลับตัว หันมาสู่แนวทางของพระองค์ แต่ผู้ที่กลับเนื้อกลับตัวต้องทำตามเงื่อนไข 3 ประการดังนี้

1.เสียใจในสิ่งทีได้กระทำผิดไปแล้ว

2.ขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์

3.เลิกและตั้งใจอย่างแน่วแน่เด็ดเดี่ยวว่าจะไม่กลับไปทำอีก

          อิสลามไม่ปิดประตูในการปรับปรุงตัวเอง อย่าเข้าใจว่าอิสลามปิดทางในการที่จะเป็นคนดี แต่เราต้องเป็นคนจริง เราต้องไม่เป็นผู้ที่ในตอนเช้าตั้งใจเตาบ๊ะฮฺ แต่พอตกเย็นก็กลับไปทำผิดอีก 

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رضي الله عنه، عَنْ النَّبِيِّ صلى الله عليه وسلم قَالَ :"من أتى حائضا أو امرأة في دبرها أو كاهنا فصدقه بما يقول فقد كفر بما أنزل على محمد"

รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ แจ้งว่า ท่านร่อซูล  กล่าวว่า 

           “ผู้ใด ร่วมหลับนอนกับหญิงที่มีประจำเดือน หรือร่วมหลับนอนกับหญิงคนใดทางทวารหนัก หรือไปหาหมอดูแล้วเชื่อหมอดูในสิ่งที่หมอดูพูด แน่นอน เขาได้ปฏิเสธศรัทธาจากสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานให้แก่ นบีมุฮัมมัด”

บันทึกโดยเจ้าของตำราอัสสุนัน (อัตติรมีซียฺ ,อบูดาวู๊ด, อันนะซาอียฺและ อิบนิมาญะฮฺ)

สำหรับฮะดีษที่รายงานโดยเจ้าของตำรา สุนัน ท่านร่อซูล  กล่าวว่า 

          ผู้ใดไปหาหมอดู แล้วเขาเชื่อหมอดูในสิ่งที่เขา (หมอดู) พูด หรือร่วมหลับนอนกับหญิงที่มีประจำเดือน หรือร่วมหลับนอนกับหญิงคนใดทางทวารหนัก แน่นอน เขาได้ปฏิเสธศรัทธาจากสิ่งที่อัลลอฮได้ประทานให้แก่นบีมุฮัมมัด

           จากคำกล่าวของท่านร่อซูล  นี้จะเห็นได้ว่า ประการที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการศรัทธา ประการที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติ 

           ผู้ที่ศึกษาอิสลามจะรู้ว่า นอกจากรู้ว่าอัลลอฮ์มีองค์เดียวแล้ว และรู้ว่าพระองค์มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ตามที่อัลกุรอานและอัลฮะดีษระบุไว้แล้ว เราต้องยอมรับในทุกเรื่อง เช่นอัลลอฮ์บอกว่า ดอกเบี้ยเป็นสิ่งต้องห้าม เราจะบอกว่าเป็นฮะลาล ก็แสดงว่าเราขัดแย้งกับบทบัญญัติของอัลลอฮ์

         อัลลอฮ์ บอกว่าสุราเป็นสิ่งที่ต้องห้าม ถ้าเราบอกว่าไม่ ก็เท่ากับว่าเราไม่เชื่อฟังอัลลอฮ์ และการที่อัลลอฮ์ ทรงห้ามหลับนอนกับภรรยาในสภาพเช่นนั้นเช่นนี้ และหากยังมีการปฎิบัติก็เท่ากับว่าเรานั้นฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ

          การที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ในอัลกุรอ่าน และที่ท่านร่อซูลห้ามไว้ดังตัวบทฮะดีษ ในตัวบทอัลกุรอ่านระบุว่าได้มีคนหนึ่งถามท่านร่อซูลเกี่ยวกับสตรีที่มีประจำเดือน อัลลอฮฺทรงใช้ให้ท่านร่อซูลตอบว่า สิ่งนั้นเป็นอันตราย พวกเจ้าจงออกห่างจากผู้ที่เป็นภรรยาของพวกเจ้า พวกยิวนั้นเวลาภรรยามีประจำเดือน เขาจะไม่รวมรับประทานอาหารและนอนร่วมเตียงเดียวกันกับนาง แต่อิสลามไม่ได้ห้ามการร่วมสำรับอาหาร และนอนที่เดียวกัน ท่านร่อซูล  กล่าวว่า สามารถทำได้ทุกอย่างนอกจากการร่วมหลับนอน จนกว่านางนั้นจะสะอาดจากประเดือนและอาบน้ำยกฮะดัษแล้ว

          ในประเด็นที่ห้ามหลับนอนกับหญิงคนหนึ่งคนใดในทางที่ผิดธรรมชาตินั้น โดยที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นภรรยาหรือหญิงอื่น ขอให้เข้าใจว่าในที่นี้หมายถึง ภรรยา เพราะอิสลามห้ามเข้าใกล้การทำซินาอยู่แล้ว และการที่พระองค์ทรงห้ามหลับนอนกับภรรยาในทางที่ผิดธรรมชาตินั้น เพราะการกระทำดังกล่าวจะนำมาซึ่งความพินาศแก่ประชาชาติทั้งหลาย

 

          ท่านร่อซูล  ได้เตือนให้ระวัง และออกห่างจากการกระทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนกับบทบัญญัติด้วยกับการหลับนอนกับภรรยาทางทวารหนัก โดยที่พระองค์ได้ทรงให้ประสบกับความพินาศเกิดขึ้นแก่กลุ่มชนของท่านนบีลู๊ฎ ด้วยกับการยกเมืองทั้งเมืองขึ้นและพลิกคว่ำลงทำให้พวกเขานั้นพินาศจนหมดสิ้น ซึ่งเป็นการลงโทษที่รุนแรง 

          ทั้งสามประการนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนประการหนึ่งประการใด ก็เท่ากับว่าเขาเป็นผู้ที่ออกห่างจากแนวทางของอัลอิสลาม สำหรับเรื่องนี้ท่านร่อซูล  กล่าวว่า ผู้ใดในพวกท่านที่เห็นการปฎิบัติดังเช่นที่หมู่ชนของท่านนบีลู๊ฎเคยกระทำ ก็จงฆ่าผู้ที่กระทำและผู้ที่ถูกกระทำด้วย  และในสมัยท่านอะลี เคยมีการลงโทษรุนแรงที่สุดแก่บุคคลที่กระทำเช่นนี้ ซึ่งเขาบอกว่านางเป็นภรรยาของฉัน ใช่นางเป็นภรรยาของท่าน แต่ต้องมีขอบเขตเพราะมีบทบัญญัติห้ามมิให้สามีภรรยากระทำโดยไม่ละเมิดสิ่งที่อิสลามกำหนดไว้

 

          ทั้งสามประการนี้ถ้าหากมีผู้ใดกระทำทั้งสามประการหรือประการหนึ่งประการใดก็เท่ากับผู้นั้นได้แยกตัวออกห่างจากแนวทางของท่านร่อซูล  และปฎิเสธต่ออัลกุรอ่าน และถือว่าเป็นการแยกตัวออกจากอัลอิสลาม แม้ว่าเขาจะทำการละหมาดหรือถือศีลอดก็ตาม

 

อิสลามมาเพื่อป้องกันชีวิตมุสลิมให้สะอาด ให้เป็นคนดี มีเกียรติ และอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง

 

 

อัล อิศลาห์สมาคม บางกอกน้อย