เราเป็นมนุษย์ดินประเภทไหนกัน ?
  จำนวนคนเข้าชม  4260


เราเป็นมนุษย์ดินประเภทไหนกัน
?

 อับดุลสลาม  เพชรทองคำ 

 

          เราได้ทราบกันแล้วว่า  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสร้างมนุษย์คนแรกมาจากดิน   ดังนั้น มนุษย์จึงมีจุดกำเนิดมาจากดิน  การใช้ชีวิตในแต่ละวันๆก็จะมีการสัมผัสกับดินบ้าง  มากน้อยก็แล้วแต่  แต่ละคน แต่ละอาชีพ  ครั้นเมื่อเสียชีวิตลงก็ต้องถูกฝังกลบอยู่ในดิน  และกลายสภาพกลับไปเป็นดินในที่สุด  จะเห็นว่าชีวิตของมนุษย์ก็วนเวียนอยู่กับดิน  

          ด้วยหิกมะฮฺนี้เอง ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้เปรียบมนุษย์ดั่งเนื้อดินประเภทต่างๆ ซึ่งเราได้เรียนรู้มาว่า  เนื้อดินมีหลายประเภท  อะไรบ้าง ?

     - ดินทราย  เป็นดินที่ไม่ดูดซับน้ำ  ไม่อุ้มน้ำ  เพราะมันเป็นดินที่ปล่อยน้ำให้ไหลผ่านมันไปได้อย่างง่ายดาย

     - ดินเหนียว  เป็นดินที่มีเนื้อละเอียดแน่น  อุ้มน้ำได้ดี  ไม่ยอมให้น้ำซึมผ่านได้ง่าย  ไม่เหมาะในการเพาะปลูกพืชส่วนใหญ่  แต่สามารถนำมาทำเป็นบ่อน้ำให้แก่ฝูงปลาและสัตว์ได้อาศัยอยู่กิน  หรืออาจนำมาทำเป็นบ้านก็ได้  นำมาทำเป็นก้อนอิฐก็ได้

     - ดินร่วน  เป็นดินที่ดูดซับน้ำได้ดี  แต่ไม่อุ้มน้ำ  น้ำไหลผ่านได้  มีอากาศไหลวนเวียนผ่านได้  เป็นดินที่เหมาะกับการเพาะปลูก  และทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญเติบโต และออกดอกออกผล

 

เรามาดูกันว่า  ท่านนบี  เปรียบมนุษย์ดั่งเนื้อดินอย่างไร ?  

อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์  อิมามมุสลิม  ได้รายงานจากท่านอะบูมูซา อัลอัชอารีย์  เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  


"مَثَلُ مَا بَعَثَنِي اللَّهُ بِهِ مِنْ الْهُدَى وَالْعِلْمِ كَمَثَلِ الْغَيْثِ الْكَثِيرِ أَصَابَ أَرْضًا فَكَانَ مِنْهَا نَقِيَّةٌ قَبِلَتْ الْمَاءَ فَأَنْبَتَتْ الْكَلاَ وَالْعُشْبَ الْكَثِيرَ وَكَانَتْ مِنْهَا أَجَادِبُ أَمْسَكَتْ الْمَاءَ فَنَفَعَ اللَّهُ بِهَا النَّاسَ فَشَرِبُوا وَسَقَوْا وَزَرَعُوا وَأَصَابَتْ

مِنْهَا طَائِفَةً أُخْرَى إِنَّمَا هِيَ قِيعَانٌ لاَ تُمْسِكُ مَاءً وَلاَ تُنْبِتُ كَلاَ فَذَلِكَ مَثَلُ مَنْ فَقُهَ فِي دِينِ اللَّهِ وَنَفَعَهُ مَا بَعَثَنِي اللَّهُ بِهِ فَعَلِمَ وَعَلَّمَ وَمَثَلُ مَنْ لَمْ يَرْفَعْ بِذَلِكَ رَأْسًا وَلَمْ يَقْبَلْ هُدَى اللَّهِ الَّذِي أُرْسِلْتُ بِهِ".

 

          “อุปไมยทางนำอันเที่ยงตรงและวิชาความรู้ที่อัลลอฮฺโปรดให้ฉัน(ท่านนบี )นำมาเผยแผ่(แก่มนุษยชาติ)นั้น  อุปมาดั่งน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักบนผืนแผ่นดิน  ซึ่งหากพื้นที่ใดมีดินดี  มันก็จะรับน้ำฝนไว้ได้  (เมื่อมันรับน้ำฝนไว้ได้  มันก็จะทำให้)พืชพันธุ์ต่างๆตลอดจนต้นหญ้าเจริญงอกงามขึ้นอย่างมากมาย  

          แต่หากพื้นที่ใดเป็นดินเหนียว  เมื่อฝนตกลงมา  มันก็จะรับน้ำฝนไว้ได้เช่นกัน  แต่มันไม่ยอมให้น้ำไหลผ่าน  มันจะเก็บกักน้ำเอาไว้  จึงไม่ค่อยเหมาะกับการเพาะปลูก  (นอกจากพืชบางชนิดเท่านั้นที่มันเจริญได้ดีอยู่ในดินเหนียว  เช่น พวกต้นบัว) แต่เราอาจเอาดินเหนียวมาทำเป็นบ่อน้ำได้    อัลลอฮฺก็จะทรงให้ผู้คนได้รับประโยชน์จากมัน  โดยนำน้ำ(ที่กักเก็บอยู่ในบ่อที่ทำจากดินเหนียว)มาดื่มกิน   นำมันมาใช้อาบ  ใช้รดน้ำสำหรับการเพาะปลูก  

          แต่หากพื้นที่ใดเป็นดินทราย  เมื่อน้ำฝนตกลงมา  มันก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้  เพราะน้ำจะไหลผ่านมันไปอย่างรวดเร็ว  มันจึงไม่เหมาะกับการเพาะปลูกเช่นกัน  เพราะทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่เจริญเติบโต  ไม่งอกงาม

          (ท่านนบี  บอกว่า) อุทาหรณ์ดังกล่าวนี้แหละ  เป็นการเปรียบเทียบระหว่างคนที่เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวของอัลอิสลาม  และได้รับประโยชน์จากสิ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานแก่ท่านนบี  แล้วให้ท่านนบีนำมันมาเผยแผ่  แล้วเขาก็ได้รับประโยชน์จากความรู้นั้น  และได้นำความรู้นั้นมาสอนแก่ผู้อื่นต่อไป  

          เปรียบเทียบกับผู้ที่ทางนำและความรู้ที่ท่านนบี  นำมานั้นไม่ได้ทำให้เขาเงยศีรษะขึ้นมาได้ ( หมายถึงว่าเขาไม่สนใจที่จะรับรู้ หรือเรียนรู้มัน ) อีกทั้งเขายังไม่ยอมรับทางนำของอัลลอฮฺที่ท่านนบี  ได้นำมาเผยแผ่อีกด้วย

 

          จากอัลหะดีษนี้  ท่านนบี  ได้เปรียบทางนำและความรู้ต่างๆของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่พระองค์ทรงให้ท่านนบีนำมาเผยแผ่แก่มนุษยชาติ  ซึ่งก็ได้แก่อิสลามที่เป็นทางนำนั้น  เป็นความรู้ที่สะอาดบริสุทธิ์  เป็นทางนำแห่งความเที่ยงตรง  ไม่มีสิ่งสกปรกใดๆเจือปนทั้งสิ้น  ประทานลงมาเพื่อให้เป็นประโยชน์  เป็นทางนำที่ถูกต้องแท้จริงต่อการดำเนินชีวิตแก่มนุษยชาติ ซึ่งเปรียบประดุจดั่งน้ำฝนที่มีลักษณะใสสะอาด บริสุทธิ์  ปราศจากสิ่งสกปรกเจือปนทั้งหลาย  

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานน้ำฝนลงมาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษยชาติเช่นเดียวกัน เมื่อน้ำฝนที่มีลักษณะใสสะอาดบริสุทธิ์และมีคุณค่ามากมายนั้น เมื่อมันตกลงสู่พื้นดิน  กลายเป็นว่าเนื้อดินแต่ละพื้นที่กลับได้รับประโยชน์จากน้ำฝนที่ตกลงมาไม่เท่ากัน  ไม่เหมือนกัน  เพราะพื้นดินแต่ละที่มีลักษณะเนื้อดินที่ไม่เหมือนกัน  

 

          ในทำนองเดียวกัน  ทางนำและความรู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานลงมาแก่มนุษยชาตินั้น  มนุษย์แต่ละคนก็ได้รับประโยชน์จากทางนำและความรู้ไม่เหมือนกัน  เพราะมนุษย์แต่ละคนมีลักษณะไม่เหมือนกัน  ตอบรับต่อทางนำและความรู้ต่างๆที่ท่านนบี  นำมาเผยแผ่ไม่เหมือนกัน  

 

          เรามาพิจารณากันดูว่า  ท่านนบี  เปรียบมนุษย์เราดั่งเนื้อดินทั้งสามประเภทอย่างไร ?  และให้เราได้พิจารณาตัวเราว่า  เราเป็นคนที่มีลักษณะเหมือนเนื้อดินประเภทไหนกัน ?

 

         ประเภทที่หนึ่ง  ท่านบี  บอกว่า  “พื้นที่ใดมีเนื้อดินดี  มันก็จะรับน้ำฝนไว้ได้  (เมื่อมันรับน้ำฝนไว้ได้  มันก็จะทำให้)พืชพันธุ์ต่างๆตลอดจนต้นหญ้าเจริญงอกงามขึ้นอย่างมากมาย”   

          มันก็หมายถึงดินร่วน ซึ่งเป็นดินที่ดูดซับน้ำได้ดี  แต่ไม่อุ้มน้ำ  น้ำไหลผ่านได้  มีอากาศไหลวนเวียนผ่านได้  เป็นดินที่เหมาะกับการเพาะปลูก  และทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญเติบโต และออกดอกออกผล  เปรียบเหมือนคนที่มีความตื่นตัว  มีความกระตือรือร้น  มีความสนใจ  รักที่จะแสวงหาความรู้ในเรื่องราวของศาสนา  พร้อมทั้งขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงฮิดายะฮฺทางนำที่ถูกต้องให้แก่เขา  จากนั้น  เขาก็นำความรู้เหล่านั้นมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับตัวของเขาเอง  หลังจากนั้นเขาก็นำความรู้นั้นไปเผยแผ่  ไปสั่งสอนผู้คนอื่นๆ  ทำให้คนอื่นๆได้รับประโยชน์ต่อไป  และมีผลทำให้หลักการของอิสลามขจรขจายออกไป ดั่งเช่นต้นพืชที่เจริญเติบโตออกดอกออกผลอย่างมากมายนั่นเอง 

          ในทัศนะของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว  บุคคลประเภทนี้ถือเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด  เพราะคนที่เขาแสวงหาความรู้  เขาก็จะมีความรู้ มีความเข้าใจและปฏิบัติกิจการเรื่องราวศาสนาได้อย่างถูกต้อง  อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวของเขาเองทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ  ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงยกระดับสถานะให้แก่ผู้ศรัทธาและมีความรู้หลายขั้น   ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมุญาดะละฮฺ  อายะฮฺที่ 11  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

يَرْفَعِ اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا مِنكُمْ وَالَّذِينَ أُوتُوا الْعِلْمَ دَرَجَاتٍ ۚ

“อัลลอฮฺทรงยกย่องเทิดเกียรติและยกระดับสถานะแก่บรรดาผู้ศรัทธาในบรรดาพวกเจ้า 

และบรรดาผู้มีความรู้หลายต่อหลายขั้น”

          เมื่อเขามีความรู้แล้ว เขายังถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่น  การที่เขาแนะนำ  สั่งสอน  ตักเตือนผู้อื่น  หรือเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นทำความดี  เขาก็จะได้รับผลบุญเท่ากับผลบุญของผู้ที่ปฏิบัติตามเขา  หรือปฏิบัติตามสิ่งที่เขานำมาถ่ายทอด  โดยที่ผลบุญของผู้ที่ปฏิบัติตามเขานั้น  ไม่ได้ลดน้อยลดลงเลย  

          ในอัลหะดีษ  ในบันทึกของอิมามมุสลิม  รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า  ท่านบีมุฮัมมัด  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

          “ผู้ใดเชิญชวนไปสู่ทางนำที่ถูกต้อง  เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับผลบุญของผู้ปฏิบัติตามเขา  โดยที่ผลบุญของผู้ที่ปฏิบัติตามเขาไม่ได้ลดน้อยหรือขาดหายไปแต่ประการใด 

          ส่วนผู้ใดที่เชิญชวนไปสู่การหลงผิด  เขาจะได้รับบาป  เท่ากับบาปของผู้ที่ปฏิบัติตามเขา  โดยบาปของผู้ที่ปฏิบัติตามเขาไม่ได้ลดน้อยหรือขาดหายไปแต่ประการใดเช่นกัน”



          ประเภทที่สอง  ท่านนบี  บอกว่า “หากพื้นที่ใดเป็นดินเหนียว  เมื่อฝนตกลงมา  มันก็จะรับน้ำฝนไว้ได้เช่นกัน  แต่มันไม่ยอมให้น้ำไหลผ่าน  มันจะเก็บกักน้ำเอาไว้  จึงไม่ค่อยเหมาะกับการเพาะปลูกพืชส่วนใหญ่  แต่เราอาจเอาดินเหนียวมาทำเป็นบ่อน้ำได้    อัลลอฮฺก็จะทรงให้ผู้คนได้รับประโยชน์จากมัน  โดยนำน้ำ(ที่กักเก็บอยู่ในบ่อที่ทำจากดินเหนียว)มาดื่มกิน   นำมันมาใช้อาบ  ใช้รดน้ำสำหรับการเพาะปลูก”  

          เนื้อของดินเหนียวนี้  ท่านนบีเปรียบเหมือนคนที่เรียนรู้ในเรื่องราวศาสนา  แต่เมื่อเขาเรียนรู้แล้ว  เขากลับไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา แต่บางทีเขาก็ได้เผยแผ่  ได้นำความรู้ที่เขารู้มานั้นไปสอนคนอื่นๆ  ทำให้คนอื่นๆได้รับประโยชน์จากความรู้นั้น  แต่ตัวของเขาเองกลับไม่ได้รับประโยชน์อะไร

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเปรียบคนประเภทนี้เหมือนลาที่แบกหนังสือหนักไว้บนหลังของมัน  ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลญุมอะฮฺ  อายะฮฺที่ 5  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลาตรัสว่า

مَثَلُ الَّذِينَ حُمِّلُوا التَّوْرَاةَ ثُمَّ لَمْ يَحْمِلُوهَا كَمَثَلِ الْحِمَارِ يَحْمِلُ أَسْفَارًا ۚ

“อุปไมยบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์เตารอฮฺ แต่แล้วพวกเขาก็ไม่ได้ปฎิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้รับมอบหมาย 

อุปมาดั่งลาที่แบกหนังสือจำนวนหนึ่ง (บนหลังของมัน)”

         คือลามันแบกตำรา  แบกความรู้ที่มีประโยชน์ไว้บนหลังของมัน  ซึ่งถึงแม้ว่าตำรานี้มันจะมีประโยชน์และมีจำนวนมากมาย  แต่มันก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากหนังสือตำรา หรือความรู้ต่างๆที่มันแบกเอาไว้เลย

 


          ประเภทที่สาม
  ท่านนบี  บอกว่า “พื้นที่ใดเป็นดินทราย  เมื่อน้ำฝนตกลงมา  มันก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้  เพราะน้ำจะไหลผ่านมันไปอย่างรวดเร็ว  มันจึงไม่เหมาะกับการเพาะปลูกเช่นกัน  เพราะทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่เจริญเติบโต  ไม่งอกงาม”  

         เนื้อของดินทรายนี้  ท่านนบี  เปรียบเหมือนมนุษย์ที่มีหัวใจตายด้าน  ไม่ยอมรับความจริง  ปฏิเสธการศรัทธา  ไม่สนใจในเรื่องราวศาสนา  เมื่อได้ยินได้ฟังคำสั่งสอน  คำแนะนำ คำตักเตือน  ก็ปล่อยให้เข้าหูซ้ายทะลุออกหูขวา  ไม่นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาพินิจพิจารณาไตร่ตรอง  กลับผินหลังให้  ทำตัวยโสโอหัง  เมื่อเขาเป็นอย่างนี้  เขาก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย  แล้วก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้ผู้อื่นด้วย  ไม่มีโอกาสได้แนะนำสั่งสอนเรื่องราวศาสนาให้แก่ผู้อื่น  เพราะตัวเองเขาก็ไม่มีความรู้

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ  อายะฮฺที่ 6-7  ว่า

 

إِنَّ الَّذِينَ كَفَرُوا سَوَاءٌ عَلَيْهِمْ أَأَنذَرْتَهُمْ أَمْ لَمْ تُنذِرْهُمْ لَا يُؤْمِنُونَ ( 6 )

“แท้จริงบรรดาผู้ที่ปฏิเสธการศรัทธานั้นย่อมมีผลเท่ากันสำหรับพวกเขา

เจ้าจะตักเตือนพวกเขาแล้ว หรือไม่ได้ตักเตือนพวกเขา  พวกเขาก็ไม่ศรัทธา”

 

خَتَمَ اللَّهُ عَلَىٰ قُلُوبِهِمْ وَعَلَىٰ سَمْعِهِمْ ۖ وَعَلَىٰ أَبْصَارِهِمْ غِشَاوَةٌ ۖ وَلَهُمْ عَذَابٌ عَظِيمٌ ( 7 ) 

“อัลลอฮฺได้ทรงประทับตราบนหัวใจของพวกเขา และบนหูของพวกเขาแล้ว

และบนตาของพวกเขาก็มีสิ่งบดบังอยู่ และเขาเหล่านั้น จะได้รับการลงโทษอันมหันต์”

 

         อุทาหรณ์ที่ท่านนบี  ยกมา  เพื่อเปรียบเทียบมนุษย์กับเนื้อดินแต่ละประเภทนั้น  เป็นการเปรียบเทียบที่ลึกซึ้งมาก  และเมื่อเราได้ยินได้ฟัง ได้รู้เรื่องราวแล้ว  ก็คิดว่า  ทุกคนก็อยากเป็นมนุษย์ที่มีเนื้อดินแบบดินร่วน  อยากเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดในทัศนะของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  จึงขอให้เราได้พิจารณาตัวเองว่าจัดอยู่ในคนประเภทไหน ?

 

          ♦ สำหรับใครที่พิจารณาตัวเองว่าเป็นคนประเภทที่หนึ่งอยู่แล้ว  ก็อัลฮัมดุลลิลลาฮฺ  ขอให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงรักษาท่านให้ท่านเป็นเช่นนั้นตลอดไป 

 

          ♦ ส่วนใครที่พิจารณาตัวเองว่ายังอยู่ในประเภทที่สองก็ต้องปรับปรุง แก้ไขตัวเองอีกนิด  เพื่อจะได้เป็นคนประเภทที่หนึ่งให้ได้ 

 

         ♦ ส่วนใครที่อยู่ในคนประเภทที่สาม  ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงฮิดายะฮฺท่านให้ท่านรู้สำนึกตัวและได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขตัวเอง  ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์สำหรับตัวเองในโลกอาคิเราะฮฺ

 

ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเมตตาทุกท่าน

 

( ที่มา..การบรรยายประจำสัปดาห์ มัสยิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )