อิบาดุรเราะฮฺมาน ลักษณะปวงบ่าวของผู้ทรงกรุณาปรานี
  จำนวนคนเข้าชม  8431


อิบาดุรเราะฮฺมาน
 ลักษณะปวงบ่าวของผู้ทรงกรุณาปรานี

อาจารย์ยาซิร  กรีมี

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่าน  พึงทราบเถิดว่า แท้จริง มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกดุนยานี้จะมีสถานะหนึ่งสถานะใดในสองสถานะนี้เท่านั้นคือ  สถานะที่เป็น ”อิบาดุรเราะฮฺมาน”  หรือสถานะที่เป็น ”อิบาดุชชัยฏอน” ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับเรา  นอกจากเราจะต้องดำรงตนให้อยู่ในสถานะของ ”อิบาดุรเราะฮฺมาน”  ก็คือสถานะที่เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ผู้ทรงกรุณาปรานี  เพราะถ้าหากเราไม่ดำรงตนให้อยู่ในสถานะของ ”อิบาดุรเราะฮฺมาน”  เราก็จะต้องอยู่ในสถานะของ ”อิบาดุชชัยฏอน” ก็คือบ่าวของชัยฏอน

 

          ดังนั้น เราจึงควรมารู้จักถึงคุณลักษณะของ”อิบาดุรเราะฮฺมาน”ที่เราควรจะต้องมีไว้ประดับประดาตัวเรา  เพื่อตัวเราจะได้เป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในสถานะที่เป็น”อิบาดุรเราะฮฺมาน”  ขอให้เรามาพิจารณาอัลกุรอานในซูเราะฮฺอัลฟุรกอน  อายะฮฺที่ 63-74  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَعِبَادُ الرَّحْمَٰنِ الَّذِينَ يَمْشُونَ عَلَى الْأَرْضِ هَوْنًا وَإِذَا خَاطَبَهُمُ الْجَاهِلُونَ قَالُوا سَلَامًا ( 63 ) 

 

وَالَّذِينَ يَبِيتُونَ لِرَبِّهِمْ سُجَّدًا وَقِيَامًا ( 64 ) 

 

وَالَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا اصْرِفْ عَنَّا عَذَابَ جَهَنَّمَ ۖ إِنَّ عَذَابَهَا كَانَ غَرَامًا ( 65 ) 

 

إِنَّهَا سَاءَتْ مُسْتَقَرًّا وَمُقَامًا ( 66 ) 

 

وَالَّذِينَ إِذَا أَنفَقُوا لَمْ يُسْرِفُوا وَلَمْ يَقْتُرُوا وَكَانَ بَيْنَ ذَٰلِكَ قَوَامًا ( 67 ) 

 

( 68 ) وَالَّذِينَ لَا يَدْعُونَ مَعَ اللَّهِ إِلَٰهًا آخَرَ وَلَا يَقْتُلُونَ النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلَّا بِالْحَقِّ وَلَا يَزْنُونَ ۚ وَمَن يَفْعَلْ ذَٰلِكَ يَلْقَ أَثَامًا 

 

يُضَاعَفْ لَهُ الْعَذَابُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَيَخْلُدْ فِيهِ مُهَانًا ( 69 ) 

 

إِلَّا مَن تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ عَمَلًا صَالِحًا فَأُولَٰئِكَ يُبَدِّلُ اللَّهُ سَيِّئَاتِهِمْ حَسَنَاتٍ ۗ وَكَانَ اللَّهُ غَفُورًا رَّحِيمًا ( 70 ) 

 

وَمَن تَابَ وَعَمِلَ صَالِحًا فَإِنَّهُ يَتُوبُ إِلَى اللَّهِ مَتَابًا ( 71 ) 

 

وَالَّذِينَ لَا يَشْهَدُونَ الزُّورَ وَإِذَا مَرُّوا بِاللَّغْوِ مَرُّوا كِرَامًا ( 72)

 

وَالَّذِينَ إِذَا ذُكِّرُوا بِآيَاتِ رَبِّهِمْ لَمْ يَخِرُّوا عَلَيْهَا صُمًّا وَعُمْيَانًا ( 73 )

 

وَالَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا هَبْ لَنَا مِنْ أَزْوَاجِنَا وَذُرِّيَّاتِنَا قُرَّةَ أَعْيُنٍ وَاجْعَلْنَا لِلْمُتَّقِينَ إِمَامًا ( 74 ) 

 

          จากอายะฮฺอัลกุรอานข้างต้น  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงบอกถึงคุณลักษณะของ ”อิบาดุรเราะฮฺมาน” บ่าวของพระองค์ ผู้ทรงกรุณาปรานีดังนี้

 

ประการที่หนึ่ง  وَعِبَادُ الرَّحْمَٰنِ الَّذِينَ يَمْشُونَ عَلَى الْأَرْضِ هَوْنًا    

 

“คือบรรดาผู้ที่เดินบนหน้าแผ่นดินด้วยความสงบเสงี่ยม”

           บุคลิกการเดินของ“อิบาดุรเราะฮฺมาน”จะเดินบนหน้าแผ่นดินอย่าง ” هَوْنًا “  ซึ่งบรรดาอุละมาอ์  บรรดามุฟัซซิรบอกว่า  ” هَوْنًا “  คำนี้หมายถึงเดินด้วยความสงบเสงี่ยม สุขุม  ด้วยท่าทางหรือท่าทีที่ต่ำต้อย  ไม่ตะกับบุร  ไม่หยิ่งผยอง

 

ประการที่สอง  وَإِذَا خَاطَبَهُمُ الْجَاهِلُونَ قَالُوا سَلَامًا  

 

“เมื่อมีคนญาฮิล (คนโง่เขลา)มาพูดกับพวกเขา  พวกเขาจะพูด(อย่าง)ศานติ”

          เมื่อมีคนญาฮิล คือคนที่ไม่รู้เรื่องราวศาสนา มาพูดจาก่อกวน  พูดยั่วให้โมโหโทโส  พูดจาถากถาง ด่าทอ  มีท่าทีดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือคำพูดและท่าทางในลักษณะทำนองนี้  คนที่เป็น”อิบาดุรเราะฮฺมาน” จะต้อง قَالُوا سَلَامًا   พูดอย่างศานติ  ไม่ได้หมายความว่าให้พูดคำว่า ศานติ  แต่หมายความว่า ไม่พูดจาตอบโต้คำหยาบด้วยกับคำหยาบ  แต่ให้เผชิญกับความป่าเถื่อนของบุคคลคนหนึ่งด้วยความสุขุม  ไม่คิดอาฆาตพยาบาท 

          ดังตัวอย่างขณะที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กลับมาจากเมืองฏออิฟ  บรรดามุชริกได้เอาก้อนหินขว้างท่านนบี  จนกระทั่งเลือดออกที่หน้าผาก  แต่ท่านนบี  แห่งความเมตตาก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร  ถึงแม้ว่าบรรดาเศาะฮาบะฮฺอยากจะตอบโต้  แต่ท่านนบี  กลับห้ามทำร้ายบรรดามุชริกเหล่านั้น  ท่านนบี  บอกว่าเพราะพวกเขาไม่รู้เรื่องราวศาสนา  คำสอนในเรื่องราวศาสนายังไม่ได้เข้าไปสู่จิตใจของพวกเขา  เพราะถ้าหากพวกเขารู้  พวกเขาเข้าใจว่าท่านเป็นใคร  พวกเขาก็จะไม่ทำเช่นนี้  นี่คือท่าทีของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เป็นท่าทีของ”อิบาดุรเราะฮฺมาน”ที่มีต่อคนญาฮิล  

 

ประการที่สาม   وَالَّذِينَ يَبِيتُونَ لِرَبِّهِمْ سُجَّدًا وَقِيَامًا 

 

“บรรดาผู้ที่ใช้เวลายามค่ำคืนในการสุญูด และยืน(ละหมาด) เพื่อพระเจ้าของพวกเขา”

          “อิบาดุรเราะฮฺมาน”คือบรรดาผู้ที่ใช้เวลายามค่ำคืนในการสุญูด  และยืนละหมาดกิยามุลลัยลิ์เพื่อพระเจ้าของพวกเขา  ในอายะฮฺนี้ไม่ได้กล่าวถึงละหมาดฟัรดู  เพราะละหมาดฟัรดูนั้นเป็นภาคบังคับซึ่งจำเป็นต้องกระทำอยู่แล้ว  ในเรื่องของการละหมาดยามค่ำคืนนี้ มีเศาะฮาบะฮฺบางท่านได้ถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮาถึงยามค่ำคืนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่าท่านนบี  ทำอย่างไร ?

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ  เราะฎิยัลลอฮุอันฮากล่าวว่า “ท่านนบีจะนอนแต่หัวค่ำ  แล้วจะตื่นในตอนดึกเพื่อละหมาด” 

ซึ่งก็จะไปตรงกับอายะฮฺอัลกุรอานในซูเราะฮฺอัซซาริยาต  อายะฮฺที่ 17-18 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

كَانُوا قَلِيلًا مِّنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ ( 17 ) 

“พวกเขาจะใช้เวลาในยามค่ำคืนอย่างน้อยนิดในการนอนหลับ”  

 

        นั่นก็หมายความว่า พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ของค่ำคืนเพื่อลุกขึ้นมาละหมาดกิยามุลลัยลิ์  เพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  

وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ ( 18 ) 

“และในยามเช้าพวกเขาก็จะขออภัยโทษ(ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)”

 

          อุละมาอ์บอกว่า การละหมาดในยามค่ำคืนนั้น  ถือเป็นสัญลักษณ์ของ”อิบาดุรเราะฮฺมาน”  สัญลักษณ์ของมุอ์มินผู้มีความอิคลาศ  มีความบริสุทธิ์ใจในการทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

เราจะทราบได้อย่างไรว่า  ท่านนบียืนละหมาดยามค่ำคืนอย่างไร ? 

       ท่านหุซัยฟะฮฺ บิน อัลยะมานได้เล่าว่า  ท่านได้เคยร่วมละหมาดในยามค่ำคืนกับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยท่านนบี  เป็นอิมาม  และตัวท่านเป็นมะมูม  ท่านเล่าว่า  ท่านนบี  เริ่มต้นร็อกอะฮฺแรกด้วยซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ  ท่านหุซัยฟะฮฺก็ละหมาดตามท่านนบี  โดยท่านก็คิดว่า  เมื่อถึงอายะฮฺที่ 100 ท่านนบีคงจะรุกัวะอฺ  แต่เปล่า เมื่อถึงอายะฮฺที่ 100 ท่านนบี  ก็ยังคงอ่านของท่านไปเรื่อยๆจนกระทั่งจบซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ  ท่านนบี  ก็ยังคงอ่านต่อด้วยซูเราะฮฺอาละอิมรอน  จนจบซูเราะฮฺก็ยังอ่านต่อด้วยซูเราะฮฺอันนิซาอ์  ท่านหุซัยฟะฮฺยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า  ทั้งการรุกัวะอฺและการสุญูดของท่านนบี  นั้นมีระยะยาวนานเท่ากับการยืนอ่านอ่านอัลกุรอานแต่ละร็อกอะฮฺทีเดียว

          นั่นก็คือคุณลักษณะประการที่สามของ”อิบาดุรเราะฮฺมาน”ที่พวกเขาจะสลัดความง่วง สลัดความสุขสบายบนที่นอน  ลุกขึ้นมาละหมาดเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

ประการที่สี่    وَالَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا اصْرِفْ عَنَّا عَذَابَ جَهَنَّمَ ۖ إِنَّ عَذَابَهَا كَانَ غَرَامًا   

 

“และบรรดาผู้ที่กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของเรา  ขอพระองค์ทรงหันเหการลงโทษของนรกญะฮันนัมให้พ้นไปจากเรา

แท้จริงการลงโทษของมันนั้นคงอยู่ตลอดกาล”

          “อิบาดุรเราะฮฺมาน”จะต้องขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้ตัวของเขานั้นรอดพ้นจากการถูกลงโทษ  เพราะพวกเขาต่างทราบดีว่า  การลงโทษในนรกนั้นไม่ใช่การลงโทษเพียงชั่วครู่ชั่วยาม  แต่เป็นการลงโทษตลอดกาล นิรันดร  

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า “อิบาดุรเราะฮฺมาน”จะขอดุอาอ์ต่อพระองค์  ให้พวกเขาได้รอดพ้นจากการถูกลงโทษในนรกญะฮันนัม  เพราะการทรมานนั้นมันมีอยู่ตลอดเวลาและตลอดไป  ซึ่งเราก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆว่า  การลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้นหนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง  หนึ่งวันในกิยามะฮฺต่างกับหนึ่งวันบนโลกดุนยา ไม่ใช่เวลา 24 ชั่วโมงอย่างที่เราคิด

          สำหรับโทษที่เบาที่สุดคือโทษที่ลุงของท่านนบี  ได้รับ  ลุงของท่านนบี  ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือท่านนบี  ในทุกๆเรื่อง  จึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อท่านนบี  แต่เพราะคำพูดสุดท้ายของลุงของท่านนบี  ก่อนที่ท่านจะจากดุนยาไปนั้น  ที่ไม่ยอมรับว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น  ไม่สามารถทำให้ความเป็นญาติใกล้ชิดของท่านนบี  กับลุงของท่าน  ช่วยให้รอดพ้นจากอะซาบหรือการถูกลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไปได้  ดังนั้น ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงขอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้ทรงลงโทษลุงของท่านด้วยโทษที่เบาที่สุด

          ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่าน  ท่านทั้งหลายพึงทราบเถิดว่า การลงโทษในโลกอาคิเราะฮฺที่เบาที่สุด ก็คือการที่เท้าข้างหนึ่งเหยียบลงไปในไฟนรก  แล้วสมองเดือดพล่าน   เราลองจินตนาการถึงเวลาที่เราปวดศีรษะอย่างมากแค่เพียงชั่วโมงเดียว  เราก็ยังไม่สามารถจะทนได้  แล้วการที่เท้าของเราเหยียบลงไปในไฟนรกแล้วสมองเดือดพล่าน  เราจะทนได้ไหม ?  

          ดังนั้น คนที่เป็น”อิบาดุรเราะฮฺมาน”จึงต้องพร่ำขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้ตัวของเขานั้นรอดพ้นจากการถูกลงโทษในไฟนรก  อันเป็นการลงโทษอันถาวร  อันนิรันดร์

 

ประการที่ห้า   وَالَّذِينَ إِذَا أَنفَقُوا لَمْ يُسْرِفُوا وَلَمْ يَقْتُرُوا وَكَانَ بَيْنَ ذَٰلِكَ قَوَامًا   

 

“บรรดาผู้ที่ใช้จ่ายในทรัพย์สินที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานแก่เขา 

เขาก็จะใช้จ่ายอย่างไม่สุรุ่ยสุร่าย  และไม่ตระหนี่ถี่เหนียว  เขาจะใช้จ่ายอย่างปานกลางระหว่างสองสภาพนั้น”

          คนที่เป็น”อิบาดุรเราะฮฺมาน”จะต้องไม่สุรุ่ยสุร่าย  ไม่ฟุ่มเฟือยทั้งคำพูดและทรัพย์สิน  ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เป็นคนที่ตระหนี่ถี่เหนียว  นั่นคือเป็นคนที่ใช้จ่ายอย่างปานกลาง อยู่ตรงกลางระหว่างการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือยกับการใช้จ่ายอย่างตระหนี่ถี่เหนียว

          เราอาจจะอ้างว่าเราเป็นคนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูซะตะอาลาทรงให้ริซกีกับเรา  เราจะใช้แบบไหนก็ได้  โดยไม่คำนึงเลยว่า  ทรัพย์สมบัติที่เราได้มานั้นเป็นส่วนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานให้มา  ดังนั้น เราจึงต้องคืนส่วนหนึ่งไปให้แก่บุคคลต่างๆตามสิทธิของหลักการศาสนาที่พวกเขาพึงจะได้รับ  

          ท่านหะซัน อัลบัศรีย์ได้กล่าวว่า  การใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  การช่วยเหลือในกิจการของศาสนาไม่ถือเป็นการสุรุ่ยสุร่าย  
 

          ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องดูว่าองค์กรไหน  สถาบันไหนมีความต้องการทางด้านเงินทุน  ด้านทรัพย์สิน  ด้านสติปัญญา  เราก็รีบเข้าไปช่วยเหลือในสิ่งที่องค์กรหรือสถาบันนั้นขาดแคลน  โดยเฉพาะองค์กรหรือสถาบันที่ทำงานเพื่อหนทางศาสนา  ในทางตรงข้าม หากเราไม่ใช้จ่ายในหนทางของศาสนา  แต่เรานำไปใช้จ่ายในเรื่องที่เป็นมะอฺศิยะฮฺ  คือใช้จ่ายในทุกสิ่งที่ขัดกับหลักการอิสลาม  บรรดาอุละมาอ์บอกว่า แม้แต่เงินเพียงแค่หนึ่งบาทที่ใช้จ่ายไปในเรื่องของมะอฺศิยะฮฺก็ถือเป็นการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่าย  ดังนั้น คนที่เป็น”อิบาดุรเราะหฺมาน”ก็จะต้องพึงระมัดระวังในเรื่องนี้

 

ประการที่หก  وَالَّذِينَ لَا يَدْعُونَ مَعَ اللَّهِ إِلَٰهًا آخَرَ   

 

“บรรดาผู้ซึ่งไม่วิงวอนขอจากคนหนึ่งคนใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดคู่เคียงกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา”

          “อิบาดุรเราะฮฺมาน”จะต้องเคารพภักดีอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น  เขาจะต้องไม่นำสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือคนหนึ่งคนใดมาเป็นภาคีคู่เคียงกับพระองค์อย่างเด็ดขาด  โดยเฉพาะการเชื่อว่าสิ่งอื่นมีอำนาจ มีพลังที่จะช่วยเหลือเขาให้รอดพ้นจากความกลัดกลุ้ม  รอดพ้นจากภัยบะลาที่เขาประสบอยู่บนดุนยา  หากเขาไปเชื่อ หรือไปหวังพึ่งพิงสิ่งหนึ่งๆว่ามีอำนาจที่จะช่วยเหลือพวกเขา โดยที่เขาไม่ได้หวังพึ่งพิงอัลลอฮฺ  ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวก็ถือว่าเข้าข่ายเป็นการตั้งภาคี  เป็นการทำชิริก

          ยกตัวอย่างเช่น  คนๆหนึ่งไม่สบาย  ไปหาหมอที่เขาคิดว่าเก่งที่สุด  ไปไว้ใจหมอเต็มร้อยว่า หมอคนนี้จะต้องเป็นผู้ที่ทำให้เขาหายป่วยได้  ถ้าหากเขาคิดไปอีกนิดเดียวว่าหมอคนนี้คือคนที่ทำให้หาย ความคิดเช่นนี้แหละ คือความเชื่อที่เป็นชิริก  เพราะสาเหตุที่แท้จริงที่จะทำให้คนเราหายป่วยได้คืออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น  ดังนั้น เมื่อเวลาที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย  เราก็สามารถที่จะไปหาหมอได้  แต่ให้คิดว่า  เราจะหายหรือไม่หายขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น  

 

ประการที่เจ็ด  وَلَا يَقْتُلُونَ النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلَّا بِالْحَقِّ  

 

“และพวกเขาไม่ฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้  นอกจากเพื่อความยุติธรรม”

          “อิบาดุรเราะฮฺมาน”นั้นนอกจากจะต้องไม่เคารพสิ่งอื่นคู่เคียงกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว  เขาก็จะต้องไม่ฆ่าชีวิตหนึ่งชีวิตใดโดยปราศจากสิทธิแห่งอิสลาม  ในปัจจุบันเราจะเห็นพี่น้องในปาเลสไตน์  อิรัค  ซีเรียถูกฆ่า  เสมือนกับว่าเลือดของพวกเขาไม่มีค่า  เหมือนผักเหมือนปลา  ซึ่งคนที่อ้างตัวว่าเป็นมุสลิมกลับบังคับขู่เข็ญให้ประชาชนของเขานั้นสุญูด กราบไหว้รูปปั้นของตัวเขา  ถือเป็นการกระทำที่ญาฮีลียะฮฺ  

 

          ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ มะอฺศิยะฮฺต่างๆ  ความเลวร้ายต่างๆมันมากกว่าญาฮิลียะฮฺในยุคก่อนสมัยที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัมมาประกาศอิสลามเสียอีก  ญาฮิลียะฮฺในสมัยก่อน เมื่อไม่ชอบเด็กผู้หญิง  เนื่องจากเด็กผู้หญิงจะนำมาซึ่งความเสียหาย  เพราะคนที่เป็นชนชั้นกษัตริย์  ชนชั้นปกครอง  ชั้นเสนาบดี  ถ้าหากไปเห็นลูกสาวบ้านไหนหรือภรรยาของใครที่มีหน้าตาสะสวยเขาก็จะบังคับไปเอามาเลย  คนในสมัยนั้นจึงไม่อยากจะมีลูกสาว  คนในยุคญาฮิลียะฮฺเมื่อได้ลูกสาวก็จะเอาไปฝังทั้งเป็น 

          แต่ในยุคปัจจุบัน  การฆ่าเด็กก็ยังมีอยู่  และมีให้เห็นในลักษณะที่ว่า  ยังไม่ทราบเลยว่าเด็กเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย  ก็คือไปลักลอบได้เสียกันมา  เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็เลยต้องไปเอาออก  ไปทำแท้ง  สิ่งๆนี้แหละที่เลวร้ายยิ่งกว่าญาฮิลียะฮฺในสมัยก่อน  เพราะในสมัยก่อนจะฆ่าเฉพาะเด็กผู้หญิง  แต่ปัจจุบัน ยังไม่ทราบเลยว่าเด็กเป็นเพศหญิงหรือเพศชายก็ฆ่าทั้งเป็นแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก

 

ประการที่แปด  وَلَا يَزْنُونَ ۚ   

 

“และพวกเขาไม่ผิดประเวณี”

          “อิบาดุรเราะฮฺมาน”จะไม่ทำเรื่องที่เป็นซินา  เรื่องที่เป็นการผิดประเวณี เพราะซินา หรือการผิดประเวณี ถือเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ลามก และเลวทรามอย่างยิ่ง และยังเป็นบาปใหญ่อันมหันต์ ที่จะต้องได้รับการลงโทษทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

          “อิบาดุรเราะฮฺมาน” ไม่เพียงแต่ไม่ทำซินา แต่จะต้องออกห่างหลีกห่างจากจากสาเหตุต่างๆ ที่อาจจะนำเขาไปสู่การพลั้งเผลอกระทำผิดซินา เช่น การปะปนกันระหว่างชายหญิง การอยู่ตามลำพังสองต่อสองระหว่างชายกับหญิง การแตะเนื้อต้องตัวกันในผู้ที่ไม่ใช่มะหฺรอมกัน การมองในสิ่งต้องห้าม เป็นต้น

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอิสรออฺ  อายะฮฺที่ 32  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَلَا تَقْرَبُوا الزِّنَا ۖ إِنَّهُ كَانَ فَاحِشَةً وَسَاءَ سَبِيلًا ( 32 )

“และพวกเจ้าอย่าเข้าใกล้การผิดประเวณี แท้จริงมันเป็นการลามกและทางอันชั่วช้า”

 

          อย่าเข้าใกล้ซินานั้น มีความหมายลึกซึ้งกว่า คำว่าอย่าทำซินา เพราะคำว่า "อย่าเข้าใกล้"นั้น ห้ามทุกอย่างที่จะเป็นสาเหตุนำไปสู่การซินา ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การมอง หรือการกระทำอื่นๆ ที่นำพาไปสู่การทำซินา

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่าน  ขอให้เราได้มาพิจารณาอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลฟุรกอนกันต่อในอายะฮฺที่ 72-74 ถึงคุณลักษณะของ”อิบาดุรเราะหฺมาน” 

 

ประการที่เก้า  وَالَّذِينَ لَا يَشْهَدُونَ الزُّورَ وَإِذَا مَرُّوا بِاللَّغْوِ مَرُّوا كِرَامًا  

 

“และบรรดาผู้ที่ไม่เป็นพยานเท็จ  และเมื่อพวกเขาผ่านเรื่องไร้สาระ  พวกเขาก็ผ่านไปอย่างมีเกียรติ”

 

          “อิบาดุรเราะฮฺมาน”จะต้องเป็นคนที่มีวาจาสัตย์  จะต้องพูดจริง  จะต้องไม่เป็นพยานเท็จ  คำว่า    الزُّور      ตรงนี้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกินขอบเขตของศาสนา  เป็นเรื่องของการกระทำที่ขัดต่อหลักการศาสนา แต่เรากลับไปเห็นดีเห็นงาม  แล้วให้ความเชื่อใจ ให้การยอมรับ  อย่างนี้ไม่ได้  ในปัจจุบันมีสิ่งต่างๆที่ขัดกับหลักการอิสลาม  โดยเฉพาะเทศกาลต่างๆที่จัดขึ้นในบ้านเมืองของเราเกิดขึ้นอย่างมากมาย  เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีต้นแบบมาจากอัลอิสลาม  หากเราต้องการอยู่ในสถานะที่เป็น”อิบาดุรเราะฮฺมาน”  เราจะผ่านสภาพตรงนี้ไปได้อย่างไร  ก็ขอให้เรามาพิจารณาอายะฮนี้  ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงแนะนำเราว่า  เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์แบบนี้  หรือต้องเดินผ่านไปในสถานที่ที่มีการชุมนุมกันในเรื่องไม่ถูกต้อง  หรือเรื่องที่มันไร้สาระ  เรื่องที่มันขัดกับหลักการอิสลาม  เราจะต้องเดินผ่านไปอย่างมีเกียรติ  ผ่านไปอย่างสง่างาม   

          ตรงนี้บรรดาอุละมาอ์ให้ทัศนะไว้  ดังเช่น  ท่านอิบนุ อับบ๊าสได้อธิบายว่า الزُّور   หมายถึงวันอีดหรือวันตรุษต่างๆของบรรดามุชริก  ส่วนท่านอิบนุ มัสอู๊ด ได้อธิบายว่า หมายถึง ประเภทต่างๆของดนตรี  เสียงเพลง  เสียงกลอง  เมื่อเวลาที่เราต้องผ่านเรื่องพวกนี้  อย่างน้อยที่สุด เราต้องมีความรู้สึกต่อต้านในใจว่าสิ่งๆนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  ขัดกับหลักการศาสนา  เราจะต้องเอาตัวเองให้รอดพ้นในสถานภาพนั้นอย่างสง่างาม  คือรอดพ้นมาด้วยสติปัญญาของเรา  รอดพ้นมาด้วยหลักการอิสลามของเรา  โดยที่เราจะต้องไม่เข้าร่วมวงสนทนา  หรือเขาร่วมในกิจกรรมต่างๆที่ขัดกับหลักการอิสลาม 

 

ประการที่สิบ   وَالَّذِينَ إِذَا ذُكِّرُوا بِآيَاتِ رَبِّهِمْ لَمْ يَخِرُّوا عَلَيْهَا صُمًّا وَعُمْيَانًا  

 

“และบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาถูกกล่าวเตือนให้รำลึกถึงอายะฮฺต่างๆของพระเจ้าของพวกเขา

พวกเขาก็จะไม่ผินหลังให้เช่นสภาพของคนที่หูหนวกและตาบอด”

          เมื่อคนที่เป็น”อิบาดุรเราะฮฺมาน”ถูกตักเตือนด้วยอายะฮฺอัลกุรอานหรือหลักการอิสลาม  พวกเขาจะไม่ผินหลังให้ในสภาพที่หูหนวกตาบอด  เมื่อเราทำผิด  มีคนมาบอกเรา  เมื่อเรามีแนวความเชื่อที่ผิด  มีคนมาตักเตือนเราว่า  สิ่งนี้ไม่ใช่  สิ่งนี้ไม่ถูกต้อง  สิ่งนี้มันขัดกับหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง  เราก็ต้องรับฟัง  พร้อมกันนั้นก็ต้องไปศึกษาว่า สิ่งที่มีคนเอามาเตือนนั้น  ไม่ว่าจะเรื่องในชีวิตประจำวัน  ตั้งแต่เรื่องของความคิดความเชื่อจนกระทั่งเรื่องหลักปฏิบัติ  เราจะต้องเอาตัวเราให้อยู่กับอัลอิสลามทุกลมหายใจ 

 

          เมื่อมีคนมาเตือนว่าสิ่งนั้นผิดต่อหลักการอิสลาม  ไม่ถูกต้องกับแนวทางของท่านนบี  ตลอดจนบรรดาสะละฟุศศอและฮฺ  เราก็ต้องไม่หันหลังให้กับคำตักเตือนเหล่านั้นอย่างคนหูหนวกตาบอด  หมายความว่า  เราจะต้องมาพิจารณาว่า  คำพูดของพวกเขามีน้ำหนัก  มีหลักฐาน  สามารถจะนำมายึดถือปฏิบัติได้หรือไม่  

 

ประการที่สิบเอ็ด    وَالَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا هَبْ لَنَا مِنْ أَزْوَاجِنَا وَذُرِّيَّاتِنَا قُرَّةَ أَعْيُنٍ وَاجْعَلْنَا لِلْمُتَّقِينَ إِمَامًا   

 

“และพวกเขาคือบรรดาผู้ที่กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของเรา  ขอพระองค์โปรดประทานแก่เราซึ่งคู่ครองและลูกหลานของเรา

ให้เป็นที่ชื่นชมแก่สายตาของเรา  และทรงทำให้เราเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ยำเกรง”

         “อิบาดุรเราะฮฺมาน”จะมีความเป็นห่วงคู่ครองของพวกเขา  ลูกหลานของพวกเขา  มีความเป็นห่วงชนรุ่นหลัง  กลัวว่าพวกเขาจะประสบกับอะซาบหรือการลงโทษ  ดังนั้น พวกเขาจะต้องขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้ประทานคู่ครอง ลูกหลานให้เป็นที่เจริญตาเจริญใจ  ให้เป็นที่ชื่นตาชื่นใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้า 

          ท่านหะซัน อัลบัศรีย์ได้ถูกถามว่า  คำว่า ชื่นตาชื่นใจ  หมายความว่าอย่างไร? 

         ท่านหะซัน อัลบัศรีย์ตอบว่า  ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะชื่นตาชื่นใจมากไปกว่า การที่บ่าวคนหนึ่งเห็นคู่ครอง เห็นลูกหลาน เห็นพี่น้อง เห็นเพื่อนสนิทมิตรสหายเป็นผู้ที่เชื่อฟังอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  และเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ยำเกรง

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่าน  ทั้งหมดข้างต้นก็คือ คุณลักษณะของ”อิบาดุรเราะฮฺมาน”ที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลฟุรกอนที่มุสลิมเราพึงนำมาศึกษาและนำมาประดับประดาตัวของเรา  นำมาสั่งสอน ตักเตือนลูกหลาน  ญาติพี่น้อง  ตลอดจนบุคคลที่อยู่รอบๆตัวเรา  เพราะตราบใดก็ตามที่เราไม่เลือกเป็น”อิบาดุรเราะฮฺมาน”  เราก็อาจจะต้องเป็น”อิบาดุชชัยฏอน”  ดังนั้นเราอยากจะเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาผู้ทรงกรุณาปรานี  หรืออยากจะเป็นบ่าวของชัยฏอน  ก็อยู่ที่ตัวเราจะเลือก

 

(( ที่มา...เอกสารอัล-อิศลาหฺ (อัล-อิศลาหฺสมาคม บางกอกน้อย)  อันดับที่ 423-425  ปีที่ 83  เมษายน  2558 ))