ข้อบกพร่องของบรรดาผู้ถือศีลอด
  จำนวนคนเข้าชม  5554


ข้อบกพร่องของบรรดาผู้ถือศีลอด


ถอดความ : อนัส ลีบำรุง


          ในวาระเดือนอันประเสริฐนี้จำเป็นแก่บรรดาผู้ที่ศรัทธาที่จะต้องรู้และทราบถึงสิ่งที่เรากระทำกันอย่างผิดพลาดในช่วงเวลาแห่งการถือศีลอด แน่นอนการกระทำที่ผิดพลาดจะทำให้ผลบุญถูกลดหย่อน และส่งผลกระทบต่อการถือศีลอด ทำให้การถือศีลอดขาดความสมบูรณ์ ก็คือการที่เราใช้เวลาในช่วงที่กำลังถือศีลอดหมดไปกับสิ่งไร้สาระ ถูกชักจูงโดยนัฟซูของตัวเอง เป็นไปได้ว่าการถือศีลอดของบรรดาผู้คนเหล่านั้น เศษ 1 ส่วน 3 ของการถือศีลอด หรือน้อยกว่า หรืออาจจะมากกว่าหมดไปกับสิ่งไร้สาระ


          เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่จะต้องมุ่งเน้นการถือศีลอดของเขาให้สมบูรณ์เพื่ออัลลอฮฺ  การที่เขามุ่งมั่นจะทำให้การถือศีลอดของเขานั้นสมบูรณ์ อัลลอฮฺก็จะทรงช่วยเหลือเขา และใครก็ตามที่ทำให้การถือศีลอดนั้นบกพร่อง อัลลอฮฺ  ได้ตรัสว่า :


وَيْلٌ لِلْمُطَفِّفِينَ     “ความหายนะจงประสบแด่บรรดาผู้ทำให้พร่อง”

 


สิ่งที่จะทำให้การถือศีลอดบกพร่อง มีหลายประการดังนี้ :

 

♣ การนอนในช่วงของเวลาอาหารสะหูร

          แน่นอนใครที่นอนช่วงเวลาดังกล่าวเขาคือผู้ที่ขาดทุนอาหารของจิตวิญญาณ จิตใจของตัวของเขา การขออภัยโทษดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า  استغفار  คือ

وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ     " และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ(ต่อพระองค์)"

          ท่าน ตอวูซ บิน กีซาน อัลยะมานีย์ ได้บอกว่า : ฉันไม่เชื่อว่าจะมีคนหนึ่งคนใดในประชาชาติของท่านนบี มุหัมมัด จะนอนในช่วงเวลาของอาหารสะหูร และแน่นอนว่าผู้ที่อยู่ในหมู่คนดีคนที่เชื่อฟัง เขาจะทำให้อาหารสะหูรของเขาใช้เวลาหมดไปกับการขออภัยโทษ หวังซึ่งผลบุญและปรารถนาสวรรค์ ด้วยกับการปฏิบัติตามแบบอย่าง และตอบรับคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ 

         การนอนในช่วงของเวลาอาหารสะหูรนั้นเป็นการขาดทุนอาหารของร่างกายดังที่ท่านบบี  ได้เคยกล่าวว่า :


تَسَحَّرُوا فَإِنَّ فِي السَّحُورِ بَرَكَةً

“ พวกท่านจงรับประทานอาหารสะหูรเถิด แท้จริงในอาหารสะหูรนั้น คือ ความจำเริญ ”

และท่านนบี  ยังได้กล่าวไว้อีกว่า :


فَصْلُ مَا بَيْنَ صِيَامِنَا وَصِيَامِ أَهْلِ الْكِتَابِ أَكْلَةُ السَّحَرِ

“ ข้อแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของพวกเรา(มุสลิม) และการถือศีลอดของชาวคัมภีร์ คือการรับประทานอาหารสะหูร ”

 

♣ การละทิ้งการละหมาด ศุบฮฺ

          เนื่องจากการนอนในเวลาของการเข้าเวลา หรือการละหมาดก่อนเวลา หรือละหมาดในสภาพที่ง่วงนอน หรือละหมาดที่บ้านเป็นที่น่าเสียใจ น่ากลัวเสียเหลือเกินว่าการถือศีลอดของผู้ที่กระทำสิ่งดังกล่าวการถือศีลอดของเขาไม่มีอะไรเว้นเสียแต่ความหิวโหย ความกระหาย ท่านนบี  ได้ให้ความสำคัญของการละหมาดศุบฮฺไว้ว่า :


من صلى العشاءَ في جماعةٍ فكأنما قام نصفَ الليلِ ومن صلى الصبحَ في جماعةٍ فكأنما صلى الليلَ كلَّهُ

          “ ผู้ใดก็ตามที่เขาได้ละหมาดอิชาร่วมญะมาอะห์ เขาจะได้ผลบุญประหนึ่งกับเขาได้ละหมาดครึ่งหนึ่งของคืน และผู้ใดก็ตามที่เขาได้ละหมาดซุบฮิร่วมกับญะมาอะห์เขาจะได้ผลบุญประหนึ่งกับเขาได้ละหมาดทั้งคืน ”

และท่านนบี  ยังได้ให้ความสำคัญไว้อีกในตัวบทหนึ่งว่า :


من صلى صلاة الفجر فهو في ذمة الله

" ใครก็ตามที่เขาละหมาดฟะญัร(ศุบฮฺ) เขาจะอยู่ในความดูแล การปกป้องของอัลลอฮฺ "

          ความประเสริฐทั้งหลายของการละหมาดศุบฮฺ ไม่สามารถนับคำนวณได้ สำหรับผู้ใดที่ได้ละหมาดพร้อมญะมาอะฮ์เป็นสิ่งที่ดียิ่ง ซึ่งจะทำให้เขาเป็นมุอฺมินที่เข้มแข็ง จะพบกับรัศมี ความจำเริญทั้งหลาย ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นการเอาชนะชัยฏอนมารร้ายด้วยกับตัวของเขาเอง และสำหรับผู้ใดที่ละทิ้งการละหมาดศุบฮฺ เขาจะประสบกับความเครียด และความคับแคบ และขยับเข้าใกล้บรรดาผู้ที่หลอกลวงกลับกลอก เป็นสิ่งจำเป็นเหลือเกินสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่จะต้องมีความเพียรพยายามอย่างมากในการลุกขึ้นยืนละหมาดศุบฮฺไม่ใช่แค่ในเดือนอันประเสริฐนี้เพียงเดือนเดียว


♣ การนอนอย่างมากในช่วงเวลาของกลางวัน

          คือ การนอนที่ไม่สอดคล้องกับแบบอย่างที่อัลลอฮฺได้วางไว้ อัลลอฮฺ  ทรงทำให้ในช่วงเวลาของกลางคืนคือการพักผ่อนและกลางวันเป็นช่วงเวลาแห่งการใช้ชีวิต การนอนส่วนมากของการถือศีลอดจะทำให้ผู้ที่ถือศีลอดพลาดซึ่งความดีต่างๆอย่างมากมาย แท้จริงการงานต่างๆในเดือนเราะมะฎอนประเสริฐกว่าเดือนอื่นๆ

♣ ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า

          คือ สิ่งไร้สาระรวมไปถึงช่วงระยะเวลาการนอนที่มีมากจนเกินไป หรือหมดไปกับคนนั้นว่าอย่างนั้นคนนี้ว่าอย่างนี้ ถามอย่างมากซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และรับข่าวคราวที่ไม่มีประโยชน์จากการที่ได้รับฟังมา หรือใช้เวลาให้หมดไปกับสิ่งทีเหลวไหล เวลาของบรรดาผู้ศรัทธายิ่งใหญ่ และมีค่ามาก และเวลาที่บรรดาผู้ศรัทธาขวนขวาย และปรารถนาที่จะพบกับเดือนอันประเสริฐเดือนนี้ แล้วทำไมเล่าถึงจะปล่อยให้เวลาสูญเปล่าโดยไม่มีประโยชน์อันใดเลย !

♣ ฟุ่มเฟือยในเรื่องของการกินการดื่ม

         บางคนการที่เดือนเราะมะฎอนมาถึงทำให้เขาคิดว่า ช่วงเวลานี้แหละมีของขายละศีลอดอย่างมากมาย อยากที่จะกินนั่นกินนี่ ด้วยกับการจับจ่ายที่มากมาย บางครั้งก็รับประทานไม่หมด จนอาหารที่เหลือต้องไปกองอยู่ในถังขยะ ทำให้เราลืมไปเลยว่าช่วงถือศีลอดเป็นช่วงที่กระเพาะอาหารได้พักผ่อน เพื่อให้กระเพาะอาหารได้เจอกับอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อร่างกาย เพื่อจะทำให้ร่างกายแข็งแรง

 และแน่นอนอัลลอฮฺ  ได้ทรงห้ามในเรื่องของการฟุ่มเฟือย ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า :


وَكُلُوا وَاشْرَبُوا وَلَا تُسْرِفُوا ۚ إِنَّهُ لَا يُحِبُّ الْمُسْرِفِين

“ และจงกินจงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ทรงรักบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย ”

          บรรดาอุลามาอฺ ยังได้บอกไว้ว่าการรับประทานอาหารที่มากมายและไม่มีประโยชน์เป็นสาเหตุที่จะทำให้หัวใจบกพร่อง ดังที่ท่าน อิบรอฮีม บิน อัดฮัม ได้บอกว่า : “ ผู้ใดก็ตามที่เขาควบคุมอาหารการกินของเขาอย่างดี ศาสนาของเขาก็จะดีไปด้วย และผู้ใดก็ตามที่เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ถึงแม้นว่าเขาจะหิวโหย เขาก็จะมีจรรยามารยาทที่ดีงาม เพราะว่าแท้จริงแล้วการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮ์  จะห่างไกลจากคนที่มีสภาพหิวโหย แต่การฝ่าฝืนมันจะอยู่ใกล้กลับคนที่ท้องของเขานั้นอิ่มเอิบ ”

 

♣ การละเลยต่อการอ่านอัล-กุรอ่าน 

           ผู้ที่ละเลยต่อการอ่านอัล-กุรอ่าน เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่นอนอย่างมาก หมดไปกับการละเล่น การใช้เวลาที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือดุนยาทำให้เขาพลั้งเผลอหันเหออกไป การละเลยต่อการอ่านอัลกุรอ่าน จะทำให้หัวใจ มืดมน คับอกคับใจ และการปฏิบัติที่เป็นการฝ่าฝืนจะมีอย่างแพร่หลาย และยังทำให้เราเป็นผู้ที่มีอีหม่านน้อย และนั้นแหล่ะคือชัยชนะของชัยฏอน

          อัลกุรอ่านคือ คำพูดของอัลลอฮฺ “หากเราประทานอัลกุรอานนี้ลงมาบนภูเขาลูกหนึ่ง แน่นอนเจ้าจะเห็นมันนอบน้อมแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ เนื่องเพราะความกลัวต่ออัลลอฮฺ” เนื่องด้วยกับกุรอ่านนั้นจะเป็นการเปิดหัวอกหัวใจทั้งหลาย ลบล้างความผิดต่างๆ และปกปิดสิ่งที่ไม่ดี รวมไปถึงจะทำให้บ่าวผู้ที่มีความต้องการบรรลุผลตามที่ปรารถนา

          เราะมะฎอน คือ เดือนแห่งกุรอ่าน เมื่อครั้นอัลลอฮฺได้ประทานอัล-กุรอ่านมา  ญิบรีลเป็นผู้นำมาแสดงต่อท่านนบีในเดือนเราะมะฎอน บรรดาชาวสลัฟทั้งหลายละทิ้งทุกสิ่งอย่าง แล้วมุ่งหน้าไปยังวงของกุรอ่าน จนกระทั่งบางส่วนจากชาวสลัฟอ่านกุรอ่านจบ 60 ครั้งในเดือนเราะมะฎอน ด้วยกับค่าเฉลี่ย สองจบต่อ1วัน บางท่านจบ 1จบในทุกๆสองวัน บางท่านสองวัน 1 จบ นี่คือตัวอย่างบางส่วนจากชาวสลัฟกับการให้ความสำคัญกับอัล-กุรอ่าน 

 

♣ การละทิ้งดุอาอ์ในขณะถือศีลอด หรือขณะละศีลอด

           ดุอาอ์ คือ อิบาดะฮ์ ผู้ที่ร้องขอจะปรากฏแก่เขาคือความต่ำต้อย ความนอบน้อม ความต้องการขอต่อองค์อัลลอฮฺ ดังนั้นผู้ศรัทธาจะต้องคงอยู่ไว้ซึ่งสิ่งที่เชื่อมระหว่างท่านกับอัลลอฮฺ  ในเรื่องของการดุอาอ์ และแน่นอนอัลลอฮฺ  ได้ทรงทำให้การดุอาอ์มีเวลาที่จะถูกตอบรับ นั่นก็คือ การดุอาอ์ของผู้ถือศีล ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

ثلاث دعوات مستجابات : دعوةُ الصائم ودعوة المظلوم ودعوة المسافر 

" บุคคลสามจำพวกที่ดุอาฮฺของเขานั้นจะถูกตอบรับ

ดุอาอ์ของผู้ถือศีลอด ดุอาอ์ของผู้ที่ถูกอธรรม ดุอาอ์ของผู้ที่เดินทาง "

และท่านนบี  ได้กล่าวไว้อีกว่า  :

ثلاثة لا ترد دعوتهم : الصائم حتى يفطر ، والإمام العادل ، ودعوة المظلوم

" บุคคลสามจำพวกที่ดุอาอ์ของพวกเขาจะไม่ถูกปฏิเสธ ผู้ที่ถือศีลอดจนกระทั่งเขาได้ละศีลอด

อิหม่ามที่มีความยุติธรรม และดุอาอ์ของผู้ที่ถูกอธรรม "

          ดังที่กล่าวมานั้นคือการชี้นำ และแนวทางของท่านนบี  เมื่อครั้นเวลาละศีลอดมาถึง ท่านนบี  จะกล่าวดุอาอ์ว่า : 

“ ความกระหายได้ดับลงแล้ว เส้นโลหิตก็เปียกชื้น และผลบุญก็ได้มั่นคงแล้ว อินชาอัลลอฮฺ (หากอัลลอฮฺทรงประสงค์) ”

          เมื่อเวลาละศีลอดมาถึงท่าน อิบนุ อุมัร ก็จะเรียกบรรดาลูกหลานของท่านมานั่งรวม แล้วสั่งใช้ให้พวกเขาขอดุอาอ์  อัลลอฮฺ  จะทรงปัดเป่าทุกข์โศกทั้งหลาย ปลดเปลื้องความทุกข์ ความยากลำบาก ทำให้เรื่องที่ยากกลับกลายเป็นเรื่องง่าย ละดุอาอ์ที่ดีในช่วงเดือนอันประเสริฐนี้ก็คือ 

اللَّهُمَّ إنَّك عَفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي

" โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัย ทรงรักการให้อภัย ขอพระองค์โปรดทรงอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด "

 

♣ การละทิ้งการละหมาดมัฆริบที่มัสญิด

ด้วยกับการง่วนอยู่กับการละศีลอด ด้วยให้เหตุผลว่า :

إِذَا حَضَرَ العَشاء وأقيمت الصلاة فابدءوا بالعَشاء

" เมื่อเวลาอาหารเย็น มาถึงและเมื่อถูกเรียกให้มาทำการละหมาด ดังนั้นพวกท่านจงเริ่มด้วยกับอาหารเย็น "

لَا صَلَاةَ بِحَضْرَةِ طَعَامٍ     " ไม่มีการละหมาด(ไม่เป็นการสมควร)เมื่อสำรับอาหารนั้นพร้อม "

          *อธิบายหะดีษ(พอสังเขป) : เมื่อคนหนึ่งคนใดต้องการจะรับประทานอาหารเมื่อสำรับอาหารพร้อมเพียงแล้ว และหัวใจของเขาก็ขบคิดแต่เรื่องของอาหารโดยไม่มีความคุชัวอฺหลงเหลืออยู่ภายในจิตใจ ขณะที่เขาจะไปทำการละหมาด การละหมาดของเขาถือว่าเป็นที่น่ารังเกียจ 

          แน่นอนท่านนบี  ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้แล้วคือ ให้เราละศีลอดด้วยอินทผลัมสด ถ้าไม่มีก็อินทผลัมแห้ง หรือน้ำสองสามอึก หลังจากนั้นก็ไปละหมาดโดยที่ไม่ได้ง่วนอยู่กับอาหารละทิ้งการละหมาดที่มัสญิด แต่ถ้าหากว่าเราเอาความคิดดังกล่าวมาอ้างแล้วละก็ให้ปิดมัสญิดเวลาละหมาดมัฆริบไปเลย ดังนั้นจำเป็นแก่เราให้ปฏิบัติตามแบบอย่างที่ได้มีมาในการละศีลอดด้วยกับอินทผลัม หลังจากนั้นก็ละหมาดญะมาอะฮฺ  และอย่าได้เอาความต้องการของท้องอยู่เหนือกการเชื่อฟังของอัลลอฮฺ แท้จริงเราคือประชาชาติของความตักวา ( ความยำเกรง ) พวกเราไม่ใช่ประชาชาติที่แสวงหาแต่เรื่องปากท้อง(เรื่องกิน ) หรือประชาชาติที่แสวงหาแต่ความต้องการของตนเอง

 

♣ การละทิ้งละหมาดในยามค่ำคืน

          คือ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดพร้อมกับอิหม่ามหลังอิชาอฺ (ตะรอเวี้ยะ) การละหมาดที่บ้าน การละหมาดที่ประเสริฐ ที่ดีกว่าการละหมาดคนเดียวนคือการละหมาดพร้อมกับอิหม่าม แท้จริงแบบอย่างได้ถูกบันทึกไว้คือ เมื่อท่านนบีได้ออกมานำละหมาดบรรดาศอฮาบะฮฺใน 3 คืนแรก และไม่ได้ออกมาในคืนที่ 4 เพราะกลัวว่าการที่ท่านออกมาในทุกๆวันจะทำให้การละหมาดตะรอเวี้ยะกลายเป็นฟัรฎูสำหรับพวกเรา

          ท่านอุมัรนั้นได้เรียกบรรดามุสลิมให้มาละหมาดตะรอเวี้ยะด้านหลัง อุบัยอฺ บินกะอฺ และ ตะมีม อัรดารีย์ และในหะดีษของอะบี ศัร رضي الله عنه แท้จริงท่าน ร่อซูล ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า : 

مَنْ قَامَ مَعَ الْإِمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ

" ผู้ใดที่ยืน(ละหมาด)พร้อมกับอิหม่าม จนกระทั่งเขาออกไป(เสร็จสิ้นการละหมาด)

จะถูกบันทึก สำหรับเขาเเล้วซึ่งการยืน(ละหมาด)ทั้งค่ำคืน " 

مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

“ ผู้ใดลุกขึ้น
(ละหมาดและประกอบอิบาดะฮฺ) ด้วยศรัทธามั่นและหวังในผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ

เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดของเขาในอดีต ”


          แน่นอนอัลลอฮฺ  ได้สรรเสริญบรรดาผู้ที่ยืนละหมาด(ประกอบอิบาดะฮฺ) และได้ให้คุณลักษณะว่าพวกเขามีลักษณะเฉกเช่นชาวสวรรค์ คือ พวกเขาหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน ดังที่อัลลอฮฺ  ได้ตรัสว่า :


إِنَّ الْمُتَّقِينَ فِي جَنَّاتٍ وَعُيُونٍ

" แท้จริงบรรดาผู้ยำเกรงจะได้อยู่ในสวนสวรรค์มากหลาย และตาน้ำพุ "

آخِذِينَ مَا آتَاهُمْ رَبُّهُمْ ۚ إِنَّهُمْ كَانُوا قَبْلَ ذَٰلِكَ مُحْسِنِينَ

“พวกเขาปิติยินดีในสิ่งที่พระเจ้าของพวกเขาได้ประทานให้แก่พวกเขา แท้จริงพวกเขาก่อนหน้านั้นเป็นผู้กระทำความดี”


كَانُوا قَلِيلًا مِنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ

" พวกเขาหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน " 

وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ

" และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ
(ต่อพระองค์) "


          การที่ละทิ้งการละหมาดในยามค่ำคืนทำให้เราพลาดผลบุญอันยิ่งใหญ่ และจะถูกดึงไปด้วยการพลั้งเผลอต่างๆนา และการพลั้งเผลอนั้นถูกครอบงำด้วยกับศัตรูตัวฉกาจคือ ชัยฏอน แต่สำหรับปัญญาชนทั้งหลายจะไม่ทำให้ผลบุญอันยิ่งใหญ่ต้องสูญหายไปโดยไม่ได้ขวนขวาย ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า :


عَلَيْكُمْ بِقِيَامِ اللَّيْلِ ، فَإِنَّهُ دَأْبُ الصَّالِحِينَ قَبْلَكُمْ ، وَهُوَ قُرْبَةٌ إِلَى رَبِّكُمْ ، وَمَكْفَرَةٌ لِلسَّيِّئَاتِ 

          " ท่านทั้งหลายจงละหมาดในยามค่ำคืน เพราะแท้จริงการละหมาดในยามค่ำคืนนั้นเป็นสิ่งที่คู่กับคนที่ประกอบคุณงามความดี (เป็นคุณลักษณะของคนซอและห์) ก่อนหน้าพวกท่าน และการละหมาดในยามค่ำคืนยังเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกท่านเข้าใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ และจะเป็นสิ่งลบล้างความผิดให้กับพวกท่าน "

 

♣ อดหลับอดนอนในเวลากลางคืน

            การที่อดหลับอดนอนจะทำให้เราประสบกับโรคต่างๆมากมาย พลาดคุณงามความดีแถมเป็นชนิดหนึ่งจากบรรดาความชั่วร้ายทั้งหลาย และทำให้เราเป็นบุคคลที่ไม่ปรารถนาในความดีต่างๆ โดยที่การอดหลับอดนอนทำให้ร่างกายพบกับความอ่อนแอและเป็นการทำร้ายร่างกาย เช่น ผู้ที่อดหลับอดนอนในช่วงเวลากลางคืน เขาจะพลาดจากการละหมาดในยามค่ำคืน , พลาดการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ( อัลลอฮฺ ได้ลงมาในชั้นฟ้าของดุนยาในส่วนที่สามของคืน ) , พลาดการละหมาดฟะญัร ฯลฯ

وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وأصحابه أجمعين

ที่มาหนังสือ : บิดุรูซ อัศศิยาม