ผู้ศรัทธาต้องถูกทดสอบ
  จำนวนคนเข้าชม  15775

ผู้ศรัทธาต้องถูกทดสอบ

 อับดุลสลาม เพชรทองคำ 


ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันกะบูต อายะฮฺที่ 2 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
 

أَحَسِبَ النَّاسُ أَن يُتْرَكُوا أَن يَقُولُوا آمَنَّا وَهُمْ لَا يُفْتَنُونَ

มนุษย์คิดหรือว่า เมื่อเขาพูดว่า เราอีมานแล้ว (เรามีศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว)

เขาจะถูกปล่อยไว้โดยไม่ถูกทดสอบอย่างนั้นหรือ?”

 

           ประโยคในอายะฮฺนี้คือประโยคคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ แต่เป็นประโยคที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกให้เรารู้ว่า ผู้ศรัทธาต่อพระองค์ทุกคนต้องได้รับการทดสอบจากพระองค์อย่างแน่นอน ดังนั้น การถูกทดสอบจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ศรัทธา แต่จะเป็นสิ่งที่อยู่คู่เคียงกับผู้ศรัทธาตลอดไป

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงทดสอบเราทำไม ? พระองค์ทรงประสงค์อะไร ?

          พระองค์ทรงทดสอบเรา ทดสอบผู้ศรัทธาเพื่อจะพิสูจน์ว่า การที่เราประกาศตัวเองว่าเป็นผู้ศรัทธา กล่าวกะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺอยู่ทุกวันๆ พูดยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น และก็ยอมรับว่าท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นเราะซูลของพระองค์นั้น เราปฏิบัติได้จริงแค่ไหน เราเป็นคนที่พูดแต่ปากหรือเปล่า หรือว่าเราเป็นคนพูดจริงทำจริง

 

อายะฮฺที่ 3 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า 

وَلَقَدْ فَتَنَّا الَّذِينَ مِن قَبْلِهِمْ ۖ فَلَيَعْلَمَنَّ اللَّهُ الَّذِينَ صَدَقُوا وَلَيَعْلَمَنَّ الْكَاذِبِينَ

และเราได้ทดสอบบรรดาผู้ที่มาก่อนหน้าพวกเขามาแล้ว

ทั้งนี้ พระองค์ทรงประสงค์ที่จะแสดงให้มนุษย์ทั้งหลายได้ประจักษ์ว่า

ใครคือผู้ที่สัจจริง และใครคือผู้ที่โกหกมดเท็จ

 

          จากอายะฮฺนี้ พระองค์ทรงบอกว่า พระองค์ทรงทดสอบประชาชาติทุกยุคทุกสมัย คนรุ่นก่อนหน้าพวกเราก็ถูกทดสอบมาแล้ว ไม่มีใครได้รับการยกเว้น ถือเป็นซุนนะตัลลอฮิลเอาวะลีนเป็นซุนนะฮฺของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่มีมาทุกยุคทุกสมัย และจะมีไปจนกระทั่งถึงวันกิยามะฮฺ ไม่มีใครได้รับการยกเว้น แม้แต่บรรดานบีก็ไม่ได้รับการยกเว้น พระองค์ทรงทดสอบเพื่อพิสูจน์ว่าคนๆนั้นมีอีมาน มีการศรัทธาระดับไหน

 

          ท่านอิบนิอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เศาะฮาบะฮฺคนสำคัญท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่าจะต้องมีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ใครคือผู้ศรัทธาที่แท้จริง พูดจริง ทำจริง ไม่ใช่พูดเพียงลมปาก หรือแค่นึกคิดเอาเองว่าเป็นผู้ศรัทธาเท่านั้น โดยไม่ได้ลงมือปฏิบัติอะไรให้ปรากฏเลย

 

            การที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงทดสอบนี้ไม่ใช่ทดสอบเพื่อให้พระองค์ทรงรู้ว่า ใครศรัทธาจริง ใครศรัทธาไม่จริง เพราะพระองค์ทรงรู้อยู่แล้ว ทรงทราบดีอยู่แล้ว แต่ที่ทรงทดสอบก็เพราะทรงต้องการแสดงให้มนุษย์ทั้งหลายได้เห็น ได้รับรู้ว่า ใครเป็นผู้สัจจริง ใครเป็นผู้โกหกมดเท็จ เราจะรู้ได้ จะมองเห็นได้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงต้องการให้บ่าวที่เขาเป็นผู้ศรัทธา เป็นมุอ์มินได้รู้ได้เห็นว่า คนแต่ละคนเป็นคนอย่างไร

 

           รู้ไปเพื่ออะไร ? เราจะรู้ไปทำไมว่าคนแต่ละคนเป็นอย่างไร ? เพื่อประโยชน์อะไร ? คำตอบก็คือ เพื่อว่า...เวลาที่เราจะไปติดต่อ จะไปคบค้าสมาคมกับใคร จะทำธุรกิจกับใคร จะเป็นเพื่อนกับใคร เราจะได้รู้จักคนที่เราติดต่อด้วย ว่าเขาเป็นคนอย่างไร ? เขามีความประพฤติอย่างไร ? เป็นคนยึดมั่นในบทบัญญัติศาสนาไหม ปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ไหม ออกห่างจากสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้ามไหม เมื่อเราเห็น เราสังเกตได้ เราก็จะได้จัดการกับตัวเราได้ถูก ว่าควรจะคบกับเขาไหม ควรจะติดต่อกับเขาไหม จะติดต่อกันในระดับไหน อย่างใกล้ชิด หรืออยู่ห่างๆ หรือไม่ควรคบหากันเลย เพราะอะไร ? เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้ามเราคบกับคนเซาะละมู ظَلَمُوا คนที่ไม่ดี 

 

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺฮูด อายะฮฺที่ 113 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَلَا تَرْكَنُوا إِلَى الَّذِينَ ظَلَمُوا فَتَمَسَّكُمُ النَّارُ

ท่านทั้งหลายอย่าไปร่วมกับคนเซาะละมู (คนชั่ว คนไม่ดี คนฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนา)

เพราะไฟนรกมันจะเผาผลาญพวกเจ้า

 

           ที่เป็นอย่างนี้เพราะเมื่อเวลาที่เราไปคบหากับคนชั่ว คนไม่ดี คนที่ชอบฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนา เราจะเกิดความเคยชินไปกับพวกเขา เคยชินกับการปฏิบัติตัวกับพวกเขา แล้วเมื่อเราเคยชิน เราก็จะอาจจะกลายเป็นคนชั่ว กลายเป็นคนที่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไปด้วยโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือไม่ทันระวังตัว แล้วเราก็จะต้องถูกลงโทษ .....นี่ก็คือสิ่งที่พระองค์ทรงบอกเราไว้

 

          เมื่อเราต้องพบกับการทดสอบอย่างแน่นอน มันก็แสดงว่า ในการใช้ชีวิตของเราในทุกๆวัน สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราที่เราประสบ ที่เราได้รับอยู่ทุกวัน มันก็คือบททดสอบตัวเรา โดยที่บางทีเราก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรากำลังถูกทดสอบ

 

           บททดสอบคือคำว่าบะลา” “บะลามีทั้งที่เป็นเรื่องดีและเรื่องไม่ดี คำว่าบะลาจะมีความหมายต่างกับคำว่าอะซาบเพราะอะซาบหมายถึงการลงโทษ การถูกทรมาน 

 

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอะอฺรอฟ ส่วนท้ายของอายะฮฺที่ 168 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 وَبَلَوْنَاهُم بِالْحَسَنَاتِ وَالسَّيِّئَاتِ لَعَلَّهُمْ يَرْجِعُونَ

“...และเราได้ทดสอบพวกเขาทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี เพื่อพวกเขาจะได้กลับมา(หาพระองค์)”

 

          ผู้ศรัทธาจะได้รับการทดสอบทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี ซึ่งไม่ว่าผู้ศรัทธาจะได้รับการทดสอบแบบใด พวกเขาก็จะกลับมาหาพระองค์ คือ จะรำลึกถึงพระองค์ จะขอบคุณพระองค์ จะสรรเสริญพระองค์ จะปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ จะขอความช่วยเหลือจากพระองค์ จะขออภัยโทษจากพระองค์

 

            บททดสอบที่เป็นเรื่องดีและเรื่องไม่ดีมีอะไรบ้าง ? เช่น ความสุขกับความทุกข์ ความง่ายดายกับอุปสรรคต่างๆ การมีสุขภาพดีกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ความมั่งมีกับความยากจน สิ่งที่หะลาลกับสิ่งที่หะรอม สิ่งที่เป็นทางนำกับทางที่หลงผิด ถูกทดสอบด้วยกับอารมณ์ใฝ่ต่ำและความเคลือบแคลงสงสัย

 

           เมื่อเราได้รับสิ่งที่ดีงาม ได้รับความสุข ความสะดวกง่ายดายในการดำเนินชีวิต มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ ได้รับริสกีปัจจัยยังชีพต่างๆอย่างมากมาย เรื่องราวดีๆงามๆทั้งหมดในชีวิตนั้น นั่นเป็นความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมอบให้ ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นบททดสอบด้วยเหมือนกันว่า เราจะจัดการกับความโปรดปรานเหล่านั้นอย่างไร ?

 

          ถ้าเรารู้สึกว่าเราขอบคุณพระองค์ เราบริจาค เราแบ่งปันบางส่วนไปใช้ในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราทุ่มเทปฏิบัติตามคำสั่งห้าม คำสั่งใช้ของพระองค์ อย่างนี้ อินชาอัลลอฮฺ เราจะสอบผ่านการทดสอบ

 

           แต่ถ้าเราไม่รู้สึกถึงเนี๊ยะอฺมะฮฺนี้ ไม่ขอบคุณ ไม่บริจาค ไม่แบ่งปันบางส่วนไปใช้ในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตั้งใจฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ เราก็จะสอบตก ไม่ผ่านการทดสอบ

 

          บางคนพบแต่ความสุขสบาย ไม่ค่อยได้พบอุปสรรคอะไรมากมายในชีวิต จนทำให้หัวใจของเขาห่างเหินจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เนื่องจากความสุขสบายที่เขาได้รับ จนบางทีเขาลืมไปเลยว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นผู้ทรงมอบความสุขความสบายเหล่านี้ให้กับเขา สิ่งนี้แหละ คือบททดสอบที่เขากำลังเผชิญอยู่โดยไม่รู้ตัว พระองค์ทรงให้ความสุขกายสบายใจ เพื่อเป็นการทดสอบในอีกลักษณะหนึ่งที่ต่างจากผู้ที่ลำบากกว่า เพียงแต่เขาไม่รู้

 

          บางคนอาจพบแต่ความยากลำบาก ได้รับความยากจน ได้พบกับสิ่งเลวร้ายต่างๆมาอย่างมากมาย จนบางคนอาจท้อถอย ตีโพยตีพาย อย่างนี้ก็อาจทำให้เขาไม่ผ่านการทดสอบได้ แต่หากเขาเป็นผู้ศรัทธาแล้ว เขาก็จะอดทน จะต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เขาจะรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และขอความช่วยเหลือจากพระองค์อยู่เสมอ

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 155 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า 

وَلَنَبْلُوَنَّكُم بِشَيْءٍ مِّنَ الْخَوْفِ وَالْجُوعِ وَنَقْصٍ مِّنَ الْأَمْوَالِ وَالْأَنفُسِ وَالثَّمَرَاتِ ۗ وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ

และแน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากความกลัว ความหิว ความสูญเสีย

อันเป็นการสูญเสียในเรื่องของทรัพย์สมบัติ ความสูญเสียในเรื่องของชีวิต และความสูญเสียในเรื่องของพืชผลไร่นา

และ(มุฮัมมัด) เจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด

 

เมื่อผู้ศรัทธาโดนบททดสอบที่เป็นเรื่องที่ไม่ดี เขาจะทำอย่างไร ?

          ในตอนท้ายอายะฮฺบอกว่า จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด ...แสดงว่า เมื่อเขาได้รับบททดสอบในความสูญเสียต่างๆก็ให้เขาอดทน เมื่อเขาอดทน เขาก็จะได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในอายะฮฺถัดมาอายะฮฺที่ 156 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

الَّذِينَ إِذَا أَصَابَتْهُم مُّصِيبَةٌ قَالُوا إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ

(ผู้อดทน)คือบรรดาผู้ที่เมื่อมีสิ่งที่ไม่ดีต่างๆมาประสบกับพวกเขา

พวกเขากล่าวว่าแท้จริง เราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และเราจะต้องกลับไปพบพระองค์อย่างแน่นอน

 

           หากเราปฏิบัติได้อย่างนี้ ( คืออดทนและกล่าว إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ ) สิ่งตอบแทนที่เราจะได้รับก็คือ ในอายะฮฺที่ 157 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า 

أُولَٰئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِّن رَّبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ ۖ وَأُولَٰئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ

ชนเหล่านี้แหละ พวกเขาจะได้รับคำชมเชย และได้รับความเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของเขา

และชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับทางนำที่ถูกต้องเที่ยงตรง

 

ทั้งหมดก็คือเรื่องที่นำมานะศีหะหฺในวันนี้ เพื่อให้เราได้....

     - เป็นผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ขอบคุณพระองค์ในความโปรดปราน ความดีงามต่างๆที่เราได้รับ

     - เป็นผู้ที่อดทนต่อบททดสอบ ไม่ตีโพยตีพาย ไม่โวยวาย ไม่คิดไม่ดีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

     - เป็นผู้ที่เมื่อทำความผิดแล้ว ก็รู้สำนึกตัวในความผิดนั้น พร้อมทั้งขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และปรับปรุงแก้ไขตัวเอง

 

ท่านอิบนุลก็อยยิม เราะฮิมะฮุลลอฮฺ อุละมาอ์คนสำคัญท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

ฉันขอต่ออัลลอฮฺให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ 3 ประการต่อไปนี้ คือ

1.เป็นผู้ที่ขอบคุณพระองค์ต่อความโปรดปรานต่างๆที่ได้รับ

2.เป็นผู้ที่อดทนเมื่อโดนบททดสอบต่างๆ

3. เป็นผู้ที่ขออภัยโทษในความผิดพลาดต่างๆ

          ทั้งสามประการนี้แหละ ที่จะแสดงถึงความสุขของมนุษย์ และยังเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จในชีวิตของเขา เพราะไม่มีใครเลยที่จะหลุดพ้นออกจากเรื่องราวทั้งสามประการนี้ได้เลยในการใช้ชีวิตบนโลกดุนยาของเขา

 

( นะศีหะหฺประจำสัปดาห์ มัสยิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )