ใช้จ่ายให้เป็นในดุนยา อย่าฟุ่มเฟือย!
  จำนวนคนเข้าชม  6626


ใช้จ่ายให้เป็นในดุนยา อย่าฟุ่มเฟือย!

 

โดย ศิษย์เก่าฟุรกอน รุ่น 06

 

          ทรัพย์สินเงินทอง อาหาร เสื้อผ้าที่เราเรียกว่าปัจจัยยังชีพ ถือเป็นหนึ่งในความเมตตาและเนี๊ยะมัตที่อัลลอฮ์ประทานให้แก่มนุษย์ เราใช้เนี๊ยะมัตนี้ในการดำเนินชีวิต หากขาดปัจจัยยังชีพไปก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ หรืออาจจะดำเนินไปได้อย่างกระท่อนกระแท่น อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสั่งใช้ให้เราแสวงหาริสกี และปัจจัยยังชีพที่หะลาล และมีประโยชน์ อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า 

มนุษย์เอ๋ย! จงบริโภคสิ่งอนุมัติที่ดีๆ จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน

และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของชัยฏอน แท้จริง มันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า

(อัลบะเกาะเราะฮ์ 2/168)

          พระองค์ทรงสั่งใช้ให้เราแสวงหา แต่ก็ทรงห้ามไม่ให้ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย หรือแจกจ่ายมันไปแก่ ผู้ที่โง่เขลา (ใช้เงินไปในทางที่ไม่ถูก) แต่ไห้แจกจ่ายแก่ผู้ที่ยากจน ขัดสนและมีความต้องการ อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

จงกินและดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริง พระองค์ไม่ชอบบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย?” 

(อัลอะอ์ร็อฟ 7/31)

อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้อีกว่า 

          “และจงอย่าให้แก่บรรดาผู้ที่โง่เขลา ซึ่งทรัพย์ของพวกเจ้า ที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้เป็นสิ่งค้ำจุนแก่พวกเจ้า และจงให้ปัจจัยยังชีพและเครื่องนุ่งห่มแก่พวกเขาในทรัพย์นั้น และจงกล่าววาจาแก่พวกเขาอย่างดี

 (อันนิซาอ์ 4/5)

 

          ทุกวันนี้มุสลิมส่วนใหญ่ใช้จ่ายมันไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย หมดไปกับเสื้อผ้า อาหาร เครื่องประดับ และเครื่องมือสื่อสาร มีแล้วอยากมีอีก โดยไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นที่แท้จริง มีเสื้อผ้าและเครื่องประดับมากมายที่ถูกนำมาใส่เพียงครั้งสองครั้งเนื่องจากซ้ำและไม่ทันสมัย อาหารมากมายที่ถูกทิ้งลงถังขยะเพราะเบื่อในรสชาติ หรือซื้อมามากเกินไปจนกินไม่หมดและเกิดความเสียหาย เครื่องมือสื่อสารที่จะต้องเปลี่ยนใหม่เพราะล้าสมัย ทั้งหมดนี้คือการใช้จ่ายเพื่อสนองความต้องการของตน คือ ความสุรุ่ยสุร่าย ไม่ใช่เป็นการใช้จ่ายไปในสิ่งที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สั่งใช้มีผู้คนยากจนอีกมากมายที่ต้องการเสื้อผ้า อาหารและปัจจัยยังชีพเหล่านี้

 

     ท่านซุฟยาน อัซเซารีย์ กล่าวว่าสิ่งใดที่ฉันใช้จ่ายไปหากไม่ได้เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์สั่งใช้ นั่นคือ ความฟุ่มเฟือย ถึงแม้ว่าจะใช้จ่ายไปเพียงเล็กน้อยก็ตาม

 

     ท่านอิบนุอับบ๊าส กล่าวว่าใครที่ใช้จ่ายไปเพียงหนึ่งดิรฮัมโดยไม่เหมาะสมมันคือความฟุ่มเฟือย

 

อิสลามห้ามการฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย

 

           คำว่าฟุ่มเฟือยคือ การใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่สมควรมากเกินความเหมาะสม หรือใช้จ่ายทรัพย์สิน ไปในสิ่งที่ไม่ควรจ่าย คือ คุณลักษณะของผู้ปฏิเสธศรัทธา คนโอ้อวด และคนโอหัง เช่น ฟิรอูน (ฟาโรห์) เป็นคุณลักษณะที่น่าตำหนิซึ่งมีผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ความฟุ่มเฟือยเป็นบ่อเกิดของความยากจนแร้นแค้น และเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนจน หรือคนรวย

 

          ความฟุ่มเฟือยถือเป็นอีกหนึ่งแผนการล่อลวงของชัยฏอน ที่ทำให้การใช้จ่ายทรัพย์สินที่ครอบครองและความโปรดปรานที่ได้รับไปสู่ความหลงผิด และความพินาศ โดยถือว่าผู้นั้นเสมือนเป็นพี่น้อง และพวกพ้องของชัยฏอน และพวกพ้องของมันย่อมอยู่ในการขาดทุนอย่างแน่ชัด

อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

แท้จริง บรรดาผู้ที่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยในการใช้จ่ายนั้น พวกเจ้าเป็นพี่น้องกับเหล่ามารร้าย

และ มารร้ายนั้นมันเนรคุณต่อพระผู้อภิบาลของมัน

(อัสอิสรออ์ 17/27)

     มีรายงานจากท่านอัมร์ บุตรของท่านซุอัยบ์ อ้างถึง ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

จงกิน จงดื่ม จงสวมใส่ จงให้ทาน แต่อย่าฟุ่มเฟือย และอย่าโอ้อวด

(บันทึกโดย อิมามอะหมัด และอบูดาวู๊ด)

 

สาเหตุของการฟุ่มเฟือย

 

     1. ใช้จ่ายโดยขาดความรู้ตามหลักศาสนา อิสลามได้ห้ามในเรื่องของความสุรุ่ยสุร่ายไว้ทุกแง่มุม รวมถึงบั้นปลายชีวิตซึ่งจะได้รับความเศร้าโศกเสียใจ อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า

          “และกลุ่มทางซ้าย (ผู้ได้รับบันทึกด้วยมือซ้าย) เจ้ารู้หรือไม่ว่ากลุ่มทางซ้ายเป็นอย่างไร อยู่ใน ลมร้อน และน้ำกำลังเดือด อยู่ใต้ร่มเงาของควันที่ดำทึบ ไม่ร่มเย็น และไม่เป็นที่น่าชื่นชม แท้จริง พวกเขา แต่กาลก่อนนั้นเป็นพวกสำราญ

(อัลวากิอะฮ์ 56/41-45)

 

     2. ลอกเลียนแบบพฤติกรรมของคนในครอบครัว โดยเริ่มจากการจดจำพฤติกรรมของพ่อแม่พี่น้องของตน จนทำให้กลายเป็นนิสัยและความเคยชินในที่สุด

 

     3. ลืมแก่นแท้ของการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ โลกดุนยาเปรียบเสมือนทางผ่านไปสู่โลกอาคิเราะฮ์ที่ถาวร ดังนั้น ความโปรดปรานใดๆ ที่อัลลอฮ์ประทานแก่เรา จะต้องถูกสอบสวนว่าได้ใช้จ่ายไปในเรื่องใด หากลืมว่าต้องตายเราก็จะใช้จ่ายไปกับเรื่องของดุนยาจนลืมใช้จ่ายในสิ่งที่จะเป็นเสบียงสู่อาคีเราะฮ์

 

     4. ได้รับความสุขสบายหลังจากประสบกับความยากลำบาก คนส่วนใหญ่ที่ได้รับความยากลำบากในการดำรงชีวิต อยู่อย่างอดทน ทนอด และมีความหวังที่จะได้รับ ครั้นเมื่อสภาพของเขาเปลี่ยนไป มีความสุขสบายขึ้น ก็จะลืม และกลับกลายเป็นคนฟุ่มเฟือยในที่สุด

 

     5. คบหาผู้ที่มีนิสัยฟุ่มเฟือย เมื่อคบหาปะปนอยู่กับคนฟุ่มเฟือยก็ทำให้เราซึมซับนิสัยใจคอของเขามาด้วยเช่นกัน อยากรู้ว่าใครเป็นอย่างไรก็ให้ดูคนที่เขาคบหาสมาคมอยู่ ดังที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

บุคคลนั้นจะ (ดำเนินชีวิต) ตามแนวทางของคนที่ตนเองรักชอบ

ดังนั้น จงพิจารณาคนที่จะยึดเอามาเป็นเพื่อนสนิท

(บันทึกโดย อิมามอะหมัด)

 

     6. ต้องการโอ้อวด เพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นถึงความมั่งคั่งมั่งมี จนทำให้ใช้จ่ายไปในทุกทางโดยไม่คำนึงว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น หรือทำในสิ่งที่อัลลอฮ์ห้ามหรือไม่

 

ผลเสียที่เกิดจากการฟุ่มเฟือย

 

     1. สุขภาพร่างกายมีปัญหา เมื่อถูกอารมณ์ของความอยากครอบงำ บริโภคอาหารจนเกินขอบเขต ก็จะทำให้เกิดโรคอ้วน ไขมันสะสมตามร่างกายและเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาในที่สุด

     ท่านอุมัร ได้กล่าวว่าเพียงพอแล้วต่อคนๆ หนึ่งที่จะเป็นการฟุ่มเฟือย คือ การที่เขาจะกินทุกอย่าง ที่เขาอยากกิน

 

     2. หัวใจแข็งกระด้าง โดยปกติหัวใจคนเราจะเกิดความอ่อนไหวในยามหิวโหย และมีทรัพย์ที่จำกัด ดังนั้น ในยามอิ่ม หรือมีทรัพย์สินมากมาย จะทำให้เกิดหัวใจที่แข็งกระด้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อัลลอฮ์ทรงบังเกิดมา ครั้นเมื่อหัวใจกระด้างจะนำไปสู่การออกห่างจากความดีและการเชื่อฟัง ท้ายที่สุดก็จะพบกับความพินาศ ดังที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

ดังนั้น ความวิบัติจงประสบแด่ผู้ที่หัวใจของพวกเขาแข็งกระด้างจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ พวกเขาอยู่ในความหลงทางอย่างชัดแจ้ง

(อัซซุมัร 39/22)

 

     3. ความคิดเฉื่อยชา การบริโภคเกินขนาดที่ร่างกายต้องการ ทำให้สมองเกิดความเฉื่อยชา และนำไปสู่ความเกียจคร้าน ซึ่งตรงข้ามกับการบริโภคแต่พอดี จะทำให้สมองมีความตื่นตัวและกระฉับกระเฉง ดังที่ได้มีการกล่าวกันว่าเมื่อท้องเต็ม สติปัญญาก็หลับไหล

 

     4. การถลำสู่ความชั่วและความผิด การฟุ่มเฟือยนั้นเป็นสัญชาตญาณที่ซ่อนเร้นภายในจิตใจของมนุษย์อยู่แต่เดิม หากไม่ควบคุมมัน ก็จะนำพาไปสู่การละเมิดและกระทำผิด เช่นเดียวกับการที่อิสลามได้ สั่งใช้ให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถในการแต่งงาน ถือศีลอด เพื่อลดวามต้องการนั่นเอง เนื่องจากความต้องการนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์เช่นกัน

 

     5. เกิดความทุกข์ในขณะทุกข์ยาก คนที่ฟุ่มเฟือยนั้นจะคุ้นเคยอยู่กับความสุขสบายและชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ และห่างไกลจากความยากลำบาก ครั้นความทุกข์ยากมาประสบ เขาก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ เนื่องจากในยามได้รับความโปรดปรานนั้น เขาไม่เคยสำนึกในบุญคุณของพระองค์ และ ทำการบริจาคในหนทางของพระองค์แต่อย่างใด

 

     6. ไม่สนใจและให้ความสำคัญกับผู้อื่น การใช้ความโปรดปรานที่ได้รับไปอย่างฟุ่มเฟือยจะทำให้ ผู้นั้น ลืมมองบุคคลรอบข้าง อีกทั้งเพิกเฉยต่อการดูแลทุกข์สุขของผู้ลำบาก ซึ่งเขาไม่อาจรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้ เว้นแต่จะได้ประสบความหิวและความลำบากเช่นกัน

     ดังเรื่องราวของท่านนบียูซุฟ อะลัยฮิสลาม ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้คุมกองคลัง ท่านไม่เคยอยู่อย่างอิ่มเอิบเลย 

    เมื่อท่านถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านกล่าวว่าฉันกลัวว่าหากฉันอิ่ม ฉันจะลืมผู้หิวโหย

 

     7. การถูกสอบสวนต่อหน้าอัลลอฮ์ในวันแห่งการตอบแทน ในวันแห่งการตอบแทนนั้น คนฟุ่มเฟือยจะถูกถามถึงความโปรดปรานที่เขาได้รับว่าใช้มันไปอย่างไร? ในหนทางใด? โดยพระองค์จะคิดคำนวณในสิ่งที่สองมือของเขาได้ใช้จ่ายไปอย่างครบถ้วน อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

แล้วในวันนั้นเจ้าจะถูกถามถึงความโปรดปราน (ที่ได้รับ) อย่างแน่นอน

(อัตตะกาซุร 102/8)

 

          เมื่อใดที่เราใช้จ่ายปัจจัยยังชีพเกินความจำเป็นเพื่อสนองความต้องการของตนเอง เราอาจกลายเป็นคนฟุ่มเฟือย และพบกับความพินาศโดยไม่รู้ตัว ขออัลลอฮ์ทรงให้เราห่างไกลจากคุณลักษณะที่น่าตำหนินี้ และขอพระองค์ประทานปัจจัยยังชีพที่ยังประโยชน์แก่เรา และให้เราได้ใช้ประโยชน์จากมันไปในหนทางของพระองค์

 

 

ที่มา : วารสาร สายสัมพันธ์...♥