ปัญหาปากท้อง
  จำนวนคนเข้าชม  5933


ปัญหาปากท้อง

 

โดย เชคอาลี อีซา ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ

 

          ในปัจจุบัน คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากค่าครองชีพได้ถีบตัวสูงขึ้น จึงทำให้เศรษฐกิจไม่เพียงแต่มีความสำคัญในชีวิตของบุคคลเท่านั้น หากแต่ยังทำให้โลกแตกออกเป็น 2 ค่าย และอำนาจในทุกวันนี้คืออำนาจทางเศรษฐกิจ

 

          เป็นที่น่ายินดีสำหรับพวกเราชาวมุสลิมที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานศาสนาอิสลามมาให้แก่มวลมนุษย์ ให้ความสนใจอย่างมากต่อปัญหาเศรษฐกิจ สังเกตได้ว่าหลังจากที่อิสลามประจักษ์จะระบุถึงเรื่องปากท้อง กล่าวคือ หลังจากอายะฮ์ที่เชิญชวนให้มนุษย์รู้จักอัลลอฮ์ และเคารพภักดีต่อพระองค์องค์เดียว และถัดมาคือ อายะฮ์ที่ชักชวนให้มุสลิมทำกุศลทาน โดยใช้หลายวิธีการ อาทิเช่น

1. การมีความสงสารเห็นอกเห็นใจคนยากจน

2. การเลี้ยงดูหรืออุปการะเด็กกำพร้า

3. การบริจาคทานให้แก่ผู้ที่ยากจนขัดสน

 

          หากเราศึกษาอัลกุรอานอย่างละเอียด เราจะทราบว่า อัลกุรอานที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานมาแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ขณะที่อยู่ในมักกะฮ์นั้น ยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ซะกาต เพราะบัญญัติเกี่ยวกับซะกาตนั้น พระองค์ประทานให้กับมุสลิมภายหลังจากที่ท่านนบีได้อพยพ ไปยังนครมะดีนะฮ์แล้วเป็นเวลาถึง 2 ปี ซึ่งนอกจากจะกล่าวถึงการให้เอกภาพต่ออัลลอฮ์แล้ว ยังได้ให้ ความสนใจต่อสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นมา เพื่อให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องในคุณลักษณะของพระองค์ และอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ยังได้ตรัสใช้ให้มุสลิมมีใจเมตตาเอื้อเฟื้อต่อผู้ที่ยากจนขัดสน น้อยเหลือเกินที่เราจะพบว่าในอัลกุรอานที่อัลลอฮ์ประทานแก่ท่านนบีในมักกะฮ์จะละเว้นเรื่องการบริจาคทรัพย์ และการให้อาหารแก่คนที่ขัดสนยากจน

          และนี่เป็นข้อพิสูจน์ได้ชัดว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังคิดแก้ไขกันอยู่ จนทำให้เกิดมีลัทธิ และแนวความคิดต่างๆ ในสังคมปัจจุบันนั้น ไม่เหมือนกับระบบเศรษฐกิจในอิสลาม เพราะเศรษฐกิจในอิสลามนั้น เกิดขึ้นหลังจากมีความเข้าใจ มีการศรัทธาในอัลลอฮ์เสียก่อน การศรัทธาในอัลลอฮ์เป็นเหตุทำให้คนบริจาคทรัพย์แข็งขันใน การทำกุศลช่วยเหลือผู้อื่น มีความเมตตาสงสารต่อผู้ขัดสน โดยหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่บริจาคเพื่อต้องการเอาหน้า หรือเพื่อจุดมุ่งหมายอื่นใด

         สำหรับระบบเศรษฐกิจของลัทธิที่กำลังทำการโฆษณาชวนเชื่ออยู่นั้น ตั้งอยู่บนรากฐานที่ตรงกันข้ามกับอิสลาม เพราะลัทธินี้ไม่เชื่อในพระเจ้า แต่สำหรับอิสลามอาศัยหลักการศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์

 

          พวกเรายังไม่ค่อยให้ความสนใจในการศึกษาแนวทางของอิสลามในด้านเศรษฐกิจตลอดจนใน ด้านอื่นๆ ทั้งๆ ที่หลักการนี้อิสลามได้มีมาก่อนรุก่นละหมาด รุก่นซะกาต ฯลฯ จากการปฏิบัติของท่านศาสดาและบรรดาสาวก เราเห็นได้ชัดว่า มุสลิมในสมัยแรกไม่เคยประสบปัญหาความยุ่งยากในทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าคนส่วนมากในสังคมสมัยนั้นจะเป็นผู้ที่ยากจนก็ตาม แต่ผู้ที่มั่งมีในบรรดาซอฮาบะฮ์ อาทิเช่น ท่านอบูบักร ท่านอุสมาน ท่านอับดรเราะห์มาน อิบนิเอาว์ฟ ร่อฎยัลลอฮุอันฮุ เป็นต้น ต่างเป็นผู้ที่มุ่งอุทิศทรัพย์สมบัติเพื่องานส่วนรวม และไม่เคยฉวยโอกาสหากำไรในภาวะคับขันของสังคม เพราะสภาพการณ์เช่นนี้จะไม่เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่มีความศรัทธา แต่พวกเขายังหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ด้วยการบริจาคสินค้าและทรัพย์สินที่มีอยู่ในมือของพวกเขาแก่ผู้คนที่กำลังขาดแคลน ประชาชนผู้ขัดสนกำลังทุกข์ยาก โดยคิดว่าดีกว่าที่จะหาโอกาสทองในการกอบโกยผลกำไร

 

          ปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าสังคมของเรานำเอาหลักการของอิสลามมาใช้ในการดำเนินชีวิต และแต่ละคน รู้ดีว่าเขามีหน้าที่ต้องทำอะไร และผู้ใดมีสิทธิอะไรเหนือเขา ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนยากจนหรือร่ำรวยก็ตาม แน่นอน สังคมของเราไม่ใช่จะเป็นเพียงสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าเท่านั้น หากแต่จะเป็นสังคมตัวอย่างที่สามารถแสดงให้ประชาชาติอื่นๆ ได้เห็นว่า มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นในการแก้ไขปัญหาปากท้อง ซึ่งนับเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมมนุษย์ในทุกวันนี้ หนทางเดียวดังกล่าวคือ แนวทางแห่งอิสลามนั่นเอง

 

 

ที่มา : วารสาร สายสัมพันธ์...♥