เพราะเหตุใดอิสลามห้ามทำซินา (การล่วงประเวณี)
  จำนวนคนเข้าชม  4624


เพราะเหตุใดอิสลามห้ามทำซินา (การล่วงประเวณี)

 

โดย เชคอาลี อีซา ร่อฮิมะฮุลลอฮ์

 

สาเหตุที่อิสลามห้ามการซินา 

 

          การซินาเป็นการกระทำอย่างหนึ่งที่อิสลามห้าม เพราะด้วยการห้ามเช่นนั้นสังคมอิสลามจึงได้ถูกคุ้มกันให้พ้นจากปัญหาต่างๆ อันเกิดจากการซินา ซึ่งได้แก่การปะปนกันในการสืบเชื้อสาย การทำความผิดในด้านการสืบพันธุ์ ครอบครัวระส่ำระสาย สายสัมพันธ์ขาดสะบั้นลง เอดส์ และกามโรคระบาด เป็น การปฏิบัติตามอารมณ์ต่ำ และเสื่อมศีลธรรม

 

          ไม่เป็นการประหลาดแต่อย่างใด ถ้าเราจะมองดูศาสนาหลายศาสนาที่มาจากเบื้องบนทั้งหมด ต่างก็เห็นพ้องต้องกันในการห้าม และต่อต้านการทำซินา แต่อิสลามแตกต่างจากศาสนาอื่น ก็ตรงที่อิสลามเข้มงวดกวดขันเหลือเกินในการห้าม และสำทับเอาไว้อย่างหนัก เพราะเหตุนี้จึงปิดทุกทางที่จะนำไปสู่การซินา และห้ามทุกสิ่งที่จะเป็นต้นเหตุให้เกิดการซินา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหรือพฤติการณ์เบื้องต้นก็ตาม

 

          อันใดที่เป็นการกระตุ้นเตือนความรู้สึกทางเพศให้ตื่นตัว เป็นประตูสู่ฟิตนะฮ์ (ความเสียหาย) แก่ชายหรือหญิง ยั่วยุให้ประกอบกรรมชั่วช้า เข้าใกล้ชิดวิถีทางสู่การทำความชั่วช้า หรืออำนวยความสะดวกแก่การประกอบกรรมชั่วช้าแล้ว อิสลามห้ามไว้ทั้งนั้น อิสลามพยายามที่จะปิดกั้นหนทางที่จะนำไปสูความชั่วและคอยคุ้มกันมิให้เกิดความเสื่อมเสีย

 

          อิสลามได้วาดภาพการซินาโดยถือว่าเป็นอาชญากรรมที่น่ารังเกียจยิ่ง เราพอจะประจักษ์เช่นนั้นได้จากหลักการขั้นมูลฐานของอิสลาม เราจึงขออ้างหลักฐานจากอายะฮ์อัลกุรอาน และฮะดิษของท่านร่อซูล ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า 

         “และบรรดาผู้ที่ไม่วิงวอนขอพระเจ้าอื่นใดคู่เคียงกับอัลลอฮ์ และพวกเขาไม่ฆ่าชีวิตซึ่งอัลลอฮ์ ทรงห้ามไว้ เว้นแต่เพื่อความยุติธรรม และพวกเขาไม่ผิดประเวณี

          และผู้ใดกระทำเช่นนั้น เขาจะได้พบกับความผิดอันมหันต์ การลงโทษในวันกิยามะฮ์จะถูกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าสำหรับเขา และเขาจะอยู่ในนั้นอย่างอัปยศ

(อัลฟุรกอน 25/68-69) 

และพวกเจ้าอย่าได้เข้าใกล้การทำซินา มันเป็นสิ่งชั่วช้า และหนทางที่เลวร้าย

(อัลอิสร็ออ์ 17/32)

          อายะฮ์ที่ว่าด้วยการห้ามการซินา ห้ามเข้าใกล้ และห้ามทุกวิถีทางที่จะนำไปสู่การซินา ได้มีมาหลังจากอายะฮ์ที่ว่าด้วยการห้ามฆ่าลูกๆ และมาก่อนอายะฮ์ที่ว่า การห้ามฆ่าชีวิต เว้นแต่จะโดยวิถีทางที่เที่ยงธรรม (เมื่อมีการตัดสินให้ฆ่าตายตกตามกันไป ผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตจึงจะฆ่าคนๆ นั้นได้)

 

ระหว่างการฆ่าลูกๆ กับการซินามีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันหรือ

          แน่นอน ในการทำซินานั้น มีการฆ่าหลายด้านๆ มันฆ่าตั้งแต่เริ่มต้น เพราะในการทำซินานั้น มีการหลั่งสิ่งที่มีชีวิตลงในที่ๆ ไม่ใช่ของมัน ต่อจากนั้นส่วนมากก็จะติดตามมาด้วยความปรารถนาที่จะทำให้หลุดพ้นจากผลของการดังกล่าว ด้วยการทำลายก้อนเลือด ก่อนจะเป็นรูปร่างแล้ว บางทีก็ก่อนคลอด หรือหลังคลอด

 

          ถ้าปล่อยให้ทารกมีชีวิตอยู่ต่อไป ส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้เด็กมีชีวิตอยู่อย่างชั่วร้ายหรือมีชีวิตอยู่อย่างไร้เกียรติ นั่นก็ย่อมจะเป็นชีวิตที่เร่รอนในรูปใดรูปหนึ่งในสังคม และนั่นก็เป็นการฆ่าในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการฆ่าของหมู่คณะหนึ่งที่มีการซินาแพร่หลาย ดังนั้น การสืบตระกูลจึงสูญหาย และเลือดเนื้อเชื้อไขก็ปะปนกันหมด ความไว้วางใจในเรื่องพรหมจรรย์และลูกๆ ก็ไม่มี หมู่คณะก็ระส่ำระสาย สายสัมพันธ์ระหว่างหมู่คณะจะขาดสะบั้น แล้วในที่สุดก็จะไปจบในสิ่งที่เรียกว่า ความตายในระหว่างหมู่คณะ และนั่นก็คือการฆ่าอีกด้านหนึ่งของหมู่คณะ 

 

         การให้ความสะดวกในการปลดเปลื้องตัณหา โดยการทำซินานั้น ทำให้ชีวิตคู่ครองเป็นเรื่องไม่สำคัญ ไม่มีความจำเป็น และทำให้เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องรองลงมา ไม่จำเป็นต้องมี อันที่จริงนั้นครอบครัวเป็นรังที่เหมาะสมสำหรับลูกอ่อนที่กำลังเติบโตขึ้นมา ธรรมชาติของลูกอ่อนๆ จะไม่บริสุทธิ์และการอบรมจะไม่ปลอดภัย เว้นแต่จะต้องเลี้ยงดูอยู่ในรัง (ในครอบครัว) นั้น ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงยุคปัจจุบัน ประชาชาติใดที่มีความชั่วร้ายแพร่อยู่ทั่ว ประชาชาตินั้นก็จะมีแต่ความเสื่อมโทรม

 

          อัลกุรอานเตือนเรา แม้เพียงการเข้าใกล้การทำซินา ซึ่งนับว่าเป็นการระมัดระวัง และเข้มงวดกวดขันอย่างยิ่งยวด เพราะการทำซินานั้นเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของตัณหา ดังนั้น การระมัดระวังมิให้เข้าใกล้จึงเป็นการประกันความปลอดภัยยิ่ง เพราะมีความใกล้ชิดกัน อิสลามจึงถือเอาสาเหตุที่จะผลักดันไปสู่การทำซินา ว่าเป็นสิ่งที่ถูกห้าม ทั้งนี้เป็นการป้องกันการทำซินา อิสลามไม่ชอบการปะปนกัน (ระหว่างชายหญิง) โดยไม่มีความจำเป็น ห้ามมีการอยู่ตามลำพังสองต่อสอง ห้ามการแต่งตัวโดยการเปิดเผยอวัยวะที่ต้องห้าม ส่งเสริมการแต่งงานสำหรับผู้ที่มีความสามารถ สั่งเสียให้ถือศีลอด หากไม่สามารถจะแต่งงานได้

 

         อิสลาม ไม่ชอบมีสิ่งขัดขวาง หรืออุปสรรคในการแต่งงาน เช่น เรียกมะฮัรสูงๆ อิสลามปฏิเสธการกลัวมีลูกหลาน หรือกลัวจนเพราะมีลูกมาก อิสลามส่งเสริมให้ช่วยเหลือคนที่ปรารถนาจะแต่งงาน เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้คุ้มครองตัวของพวกเขาไว้ แต่อิสลามก็ลงโทษสถานหนักแก่ความความผิดที่เกิดขึ้น (การทำซินา) และในการกล่าวหาหรือใส่ร้ายหญิงที่ไม่รู้เรื่องราวโดยไม่มีหลักฐาน ตลอดจนวิธีการป้องกันและเยียวยาอื่นๆ อีก ทั้งนี้ เพื่อรักษาหมู่คณะมุสลิมมิให้ตกลงสู่ห้วงเหวลึก และมีแต่ความเสื่อมเสียศีลธรรมที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการชี้ให้เห็นในเรื่องการทำซินา ซึ่งปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน

 

ส่วนในซุนนะฮ์ของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีดังนี้ 

1. ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ มัสอู๊ด เล่าว่า ท่านนบี ศ็ฮลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

          “ไม่อนุญาตแก่ผู้ใดที่จะฆ่าชีวิตของมุสลิมที่กล่าวปฏิญาณตนว่าอัลลอฮ์เป็นพระเจ้าของเขา และฉันเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ เว้นแต่หนึ่งในสามกรณีนี้ 

1. ผู้ที่ผิดประเวณีที่ผ่านการสมรสแล้ว 

2. ผู้ที่ฆ่าชีวิตผู้อื่น 

3. ผู้ตกมุรตัดที่ออกจากศาสนาอิสลาม

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

2. ฮะดิษในคืนที่ท่านนบีอิสร็ออ์และเมี๊ยอ์รอจญ์ที่ว่า

       “ญิบรีลและมีกาอีล (มลาอิกะฮ์สองท่าน) ได้มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วทั้งสองนำท่านไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง คล้ายเตาเผา 

ผู้รายงานพูดว่า ฉันคิดว่าท่านได้พูดว่า

       ทันใดนั้นมีเสียงดังกึกก้องเร็ดลอดออกมา เราได้มุ่งไปทางนั้น และเห็นคนกลุ่มหนึ่งมีทั้งชายและหญิง อยู่ในสภาพเปลือยกาย เบื้องล่างของพวกเขามีไฟเผาไหม้

ฉัน (ท่านนบี) จึงกล่าวว่า พวกนี้คือใครกันหรือ โอ้ ญิบรีล

ญิบรีลตอบว่า พวกเขาคือ ผู้ที่ทำผิดประเวณีจากหมู่ชายและหญิง

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

 

ที่มา : วารสาร สายสัมพันธ์...♥