ความเข้าใจผิดที่นับว่าเป็นอันตรายยิ่ง
  จำนวนคนเข้าชม  3301


ความเข้าใจผิดที่นับว่าเป็นอันตรายยิ่ง 

โดย เชคอาลี อีซา ร่อฮิมะฮุลลอฮ์

 

          นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 แห่งฮิจญเราะฮ์ศักราชเป็นต้นมา มีบุคคลกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างปัญหาเกี่ยวกับซุนนะฮ์ของท่านร่อซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กลุ่มดังกล่าวอ้างว่าอัลกุรอานอย่างเดียวก็เป็นหลักฐานเพียงพอแล้วสำหรับเราหรือกล่าวว่าอัลกุรอานเป็นหลักฐานที่แน่นอน ไม่มีฏออี๊ฟ (อ่อน) และไม่มีการอุปโลกน์ พวกเขายังกล่าวอีกว่าซุนนะฮ์ของท่านร่อซูลไม่ใช่วะฮีย์ หากแต่เป็นคำพูดของบุคคลที่อ้างพาดพิงถึงท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น

 

         หลักฐานของกลุ่มดังกล่าว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ได้อ้างมาเพื่อปฏิเสธการใช้ซุนนะฮ์นั้น มักเกิดจากความเข้าใจผิดๆ ของพวกเขา หรืออาศัยฮะดิษที่พวกศัตรูอิสลามอุปโลกน์ขึ้นมากเป็นหลักฐาน และบางทีก็อาศัยเหตุผลหรือความเข้าใจในฮะดิษบางฮะดิษที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังที่มีพี่น้องมุสลิมท่านหนึ่งได้เขียนข้อความส่งมายังสายสัมพันธ์ว่า 

     มีผู้กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บอกว่าห้ามบันทึกคำพูดและการปฏิบัติของฉัน ให้ทำตามอัลกุรอานเท่านั้น” 

     ทำให้เด็กๆ และผู้ใหญ่บางคนเลิกละหมาดในมัสยิด เพราะพวกเขาบอกว่าอัลกุรอานบอกให้ละหมาดญุมอัตในมัสยิดเท่านั้น

 

คำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

          1. การอ้างถึงฮะดิษที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามมิให้เขียนฮะดิษนั้น เป็นความเข้าใจผิดของผู้หยิบยกหลักฐาน และในขณะเดียวกันก็เป็นการยืนยันว่า พวกเขาไม่มีความรู้อย่างถี่ถ้วน จึงทำให้เกิดความเข้าใจเช่นนั้นขึ้น

 

          เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ชาวอาหรับก่อนอิสลามนั้นไม่รู้จักการอ่าน เขียน แต่เนื่องจากนครมักกะฮ์ เป็นศูนย์กลางด้านการค้าสำหรับชาวอาหรับและไม่ใช่อาหรับ จึงทำให้มีบางคนอ่านเขียนได้ แม้รายงานที่ระบุในเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า มีจำนวนผู้ที่อ่านออกเขียนได้เพียง 10 กว่าคนเท่านั้น และในนครมะดีนะฮ์ก็มีจำนวนไล่เลี่ยกัน 

          หลักฐานที่ยืนยันในเรื่องนี้ก็คือ ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กำหนดให้ไถ่ตัวเชลยศึกและคนที่ถูกมุสลิมจับได้ในสงครามบัตรให้เป็นอิสระได้ด้วยการสอนอ่านเขียนให้เด็กๆ ชาวมะดีนะฮ์ 12 คน และผู้ที่ทำหน้าที่บันทึกวะฮีย์ในหมู่ซอฮาบะฮ์นั้นมีจำนวน 40 คน ส่วนมากเป็น ชาวมักกะฮ์ 

 

          นอกจากนี้แล้ว ขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อยู่ที่นครมะดีนะฮ์ ท่านส่งเสริมให้มุสลิมเรียนรู้การอ่าน การเขียน ดังที่ท่านอัลอัสลามะฮ์ อิบนิ อิบดิสบัรได้ระบุเรื่องนี้ไว้ในหนังสืออัลอิสตีอ๊าบ

 

          และเป็นที่ทราบกันดีอีกเช่นกันว่า ซอฮาบะฮ์ส่วนมากใช้ความจำในการจดจำฮะดิษของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จนกระทั่งขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะพวกเขามุ่งเฉพาะการบันทึกอัลกุรอานเพียง อย่างเดียว พวกเขาเกรงว่า การบันทึกฮะดิษพร้อมกันกับอัลกุรอานด้วยนั้น อาจจะทำให้เกิดการปะปนกัน ขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงห้ามบันทึกฮะดิษในระยะเริ่มแรก ดังปรากฏจากรายงานของท่านอบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ ที่ท่านอิมามมุสลิมได้บันทึกไว้

 

        ต่อมา เมื่อมีวะฮีย์ถูกประทานลงมาเป็นจำนวนมาก และมีผู้ท่องจำไว้มาก ตลอดจนมั่นใจได้ว่า จะไม่เกิดการปะปนกันระหว่างอัลกุรอานกับอัลฮะดิษแล้ว ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงอนุญาตให้ซอฮาบะฮ์บางท่านบันทึกฮะดิษได้เป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้เพื่อช่วยพวกเขาในการจดจำได้แม่นยำยิ่งขึ้น

        ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการขจัดปัญหาที่ว่าห้ามบันทึกฮะดิษเพราะเกรงการขัดแย้งกันได้โดยสิ้นเชิง ภายหลังจากที่ท่านร่อซูลได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์แล้ว ชนรุ่นหลังก็เห็นพ้องต้องกันว่าอนุญาตให้มีการบันทึกฮะดิษได้นั้น

 

         ท่านอิบนิซซอลาห์ กล่าวว่าการอนุญาตให้บันทึกฮะดิษได้นี้ เท่ากับเป็นการรักษาซุนนะฮ์ของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไว้ได้ในยุคหลังๆ

 

        อย่างไรก็ตาม มีบางรายงานระบุว่า ก่อนที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะกลับไปสู่ ความเมตตาของอัลลอฮ์นั้น ท่านได้อนุญาตให้ซอฮาบะฮ์บันทึกฮะดิษของท่านได้ และในการอนุญาตครั้งนี้เป็นการอนุญาตทั่วๆ ไป

 

ท่านอิมามอัตติรมิซีย์ ได้บันทึกรายงานหนึ่งไว้ว่า

          “ท่านสะอ์ด อิบนิ อุบาดะฮ์ อัลอันซอรีย์ เคยมีสมุดบันทึก ซึ่งได้รวบรวมฮะดิษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไว้ และปรากฏว่าบุตรชายของท่านสะอ์ดเคยอาศัยสมุดเล่มนั้น เมื่อเขารายงานฮะดิษของท่านร่อซูล

 

ท่านอิมามอัลบุคอรีย์ ยิ่งบันทึกรายงานที่ระบุว่า 

        “สมุดบันทึกเล่มนั้น เป็นฉบับเดียวกันกับสมุดบันทึกของท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อบีเอาว์ฟา ซึ่งท่านอิบนิ อบีเอาว์ฟาเป็นผู้บันทึกด้วยมือของท่านเอง และสมุดบันทึกที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็คือ สมุดบันทึกของท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อัมร์ อิบนิลอ๊าซ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่าอัซซอติเกาะฮ์มีฮะดิษรวมอยู่มากกว่า 1000 ฮะดิษ นอกจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อับบ๊าส ท่านญาบิร อิบนิ อับดิลลาฮ์ ท่านมัยซาเราะฮ์ อิบนิ ญุนดุล ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา เป็นต้น

 

          สรุปได้ว่า การที่ท่านร่อซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามบันทึกฮะดิษในระยะแรกๆ นั้นมี ฮิกมะฮ์ปรากฏอย่างชัดเจน นั่นก็คือ เมื่อท่านกำลังรับวะฮีย์อัลกุรอานซึ่งเป็นดำรัสของอัลลอฮ์โดยผ่านญิบรีลนั้น ท่านนบีเองเป็นผู้ที่บอกให้อาลักษณ์เป็นผู้บันทึกไว้ หากว่าท่านนบีสั่งให้บันทึกฮะดิษของท่านซึ่งจะเป็นคำพูดที่จะออกมาจากปากของท่านเช่นเดียวกัน ก็อาจจะก่อให้เกิดความสับสนขึ้นแก่ผู้ทำหน้าที่บันทึกว่า อันใดเป็นอัลกุรอาน อันใดเป็นฮะดิษ เฉพาะอย่างยิ่งในสภาพสังคมที่เพิ่งได้สัมผัสกับการอ่านเขียนใหม่ๆ

         และในฐานะที่อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งพระองค์ทรงรับรองว่าพระองค์จะเป็นผู้พิทักษ์รักษา จึงทำให้ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พิถีพิถันเป็นพิเศษที่จะไม่ให้การผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ครั้นเมื่ออัลกุรอานถูกประทานลงมาเป็นส่วนใหญ่แล้ว และมีซอฮาบะฮ์จำนวนมากท่องจำ และสามารถจำแนกได้ว่า คำใดเป็นสำนวนของอัลกุรอาน คำใดเป็นสำนวนของฮะดิษ ท่านร่อซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงเห็นว่า สิ่งที่ท่านเป็นห่วงนั้นหมดสิ้นไปแล้ว จึงอนุญาตให้ซอฮาบะฮ์บันทึกฮะดิษได้ และรายงานที่เป็นคำสั่งในเรื่องนี้ นอกจากเป็นรายงานที่แข็งแรงแล้วยังเป็นรายงานที่มีมากมาย อีกด้วย

          อนึ่ง การที่เราจะดำเนินตามคำสอนของศาสนาอย่างสมบูรณ์และครบถ้วนนั้น ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามซุนนะฮ์ด้วย เพราะการทำอิบาดะฮ์ต่างๆ ไม่ว่าการละหมาด การชำระซะกาต การถือศีลอด และการทำฮัจญ์นั้น เราไม่สามารถปฏิบัติดังกล่าวได้ หากไม่อาศัยซุนนะฮ์ของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และถ้าหากเรานึกเอาเองว่าการปฏิบัติตามอัลกุรอานอย่างเดียวก็พอเพียงแล้ว การนึกคิดและเข้าใจเช่นนี้จะสร้างความหายนะให้แก่ตัวเราเอง เพราะจะทำให้เรากลายเป็นผู้ที่ไม่เป็นเพียงแต่ปฏิเสธซุนนะฮ์ของท่าน ร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น หากแต่ยังเป็นผู้ปฏิเสธอัลกุรอานอีกด้วย เพราะอัลกุรอานหลายอายะฮ์ได้กำชับให้เราปฏิบัติตามอัลกุรอานและซุนนะฮ์ ให้เชื่อฟังอัลลอฮ์และร่อซูล ดังนั้น ผู้ใดที่ยังเข้าใจผิด ขอให้รีบสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว แล้วเข้ามาอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องเสียโดยเร็ว ก่อนจะสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมโดยไม่รู้สึกตัว

 

           2. ส่วนการไม่ใส่ใจต่อการละหมาดญะมาอะฮ์ที่มัสยิดให้ตรงตามเวลานั้น นับเป็นความอัปยศ อันยิ่งใหญ่ เป็นการทำบาปอันมหันต์ นอกจากนั้นยังเป็นการนำไปสู่การละเลยการละหมาดทั้งหมดอีกด้วย

 

          อิมามอัซซะอ์รอนีย์ กล่าวไว้ในเรื่องพันธะสัญญาว่า

          “ท่านร่อซูลุลลอฮ์ได้ให้เราทำพันธะสัญญา ทั่วๆ ไปกับท่านว่า ให้เราชี้แจงแก่ผู้ที่ละทิ้งละหมาด ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา บุคคลทั่วๆ ไป ตลอดจนผลอันล้ำค่าที่ผู้ปฏิบัติเป็นเนืองนิจจะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวให้มากๆ ดังที่ อัลลอฮ์และร่อซูลุลลอฮ์ได้กล่าวย้ำไว้ ปัจจุบันบรรดาผู้คนทั่วๆ ไป ตลอดจนบรรดานิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ได้เพิกเฉย ละเลยการละหมาดอยู่อีกมากมาย

         จะเห็นได้ว่ามีการปะปนคบค้ากับผู้ที่ทิ้งละหมาด ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ คนรับใช้ มิตรสหาย ฯลฯ มีการกิน การดื่ม หยอกล้ม ทำงาน และมีการทำธุรกิจร่วมกัน โดยมิได้ชี้แจงหรือตักเตือนกันถึงโทษภัยของการละทิ้งละหมาด แถมยังไม่ยอมพูดถึงผลตอบแทนที่ผู้ไม่ทำละหมาดจะได้รับเสียอีก ดังกล่าวนี้ นับเป็นการทำลายศาสนา"

          ดังนั้น พี่น้องทั้งหลาย จงช่วยกันตักเตือนชี้แจง ผู้ที่ขาดความรู้ ให้ได้ทราบถึงความบกพร่องในหน้าที่ของเขาที่มีต่อศาสนา มิเช่นนั้น ท่านจะเป็นคนแรกที่ตกเป็นเหยื่อของไฟนรก ดังที่ปรากฏในฮะดิษ ซอเฮียะฮ์ เพราะท่านนั้นอยู่ในข่ายของผู้ที่มีความรู้ และมิได้ปฏิบัติตามความรู้ที่มีอยู่ เพราะผู้ใดที่รู้ข้อบัญญัติศาสนาข้อใด และมิได้ปฏิบัติตามความรู้นั้น และมิได้นำความรู้นั้นไปสอนผู้อื่น แน่นอน เขาย่อมเข้าอยู่ในข่ายของผู้ที่รู้แล้วไม่ปฏิบัติตามความรู้นั้น

 

     พึงรู้เถิด พี่น้องผู้ดำรงละหมาดทั้งหลาย ขออัลลอฮ์ทรงให้ท่านประจักษ์ซึ่งความจริงด้วยเถิด แท้จริง ชัยฏอนนั้นมากด้วยเล่ห์ที่จะพยายามหันเหท่านทั้งหลายให้ออกจากการละหมาดและให้ออกจากการวิงวอนขอความเมตตาจากอัลลอฮ์

          เล่ห์ของชัยฏอนนั้นเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากการชักชวนให้ทิ้งละหมาดญะมาอะฮ์ แล้วก็ตามด้วยให้ละทิ้งการกล่าวตัสบีฮ์หลังละหมาด และก้าวต่อไปก็หมายถึงการผลักไสให้ห่างเหินจากการละหมาดนั่นเอง 

          อะไรที่ทำให้ท่านเลือกเอาผลบุญเพียงหนึ่งเดียว ทั้งๆ ที่ท่านมีโอกาสเลือกให้ได้รับผลบุญถึงยี่สิบเจ็ดเท่าในเวลาเดียวกัน? หรือท่านไม่ต้องการสะสมผลบุญความดีเอาไว้? ทั้งๆ ที่ในอนาคตผลบุญของท่านจะเป็นประโยชน์แก่ตัวท่าน พระเจ้าของท่าน

 

     พึงคิด พึงสังวรเถิดว่า อย่ายึดเอาผู้เย่อหยิ่งต่ออัลลอฮ์เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะพวกนี้ตกเป็นเบี้ยล่างของชัยฏอน ซึ่งมันพยายามหน่วงเหนี่ยวพวกท่านเอาไว้อย่างที่สุด ถึงแม้พวกนี้จำเป็นจะต้องทำละหมาด มันก็อาจจะปล่อยให้เขาละหมาด แต่เป็นละหมาดที่ขาดความตั้งใจ ขาดความแน่วแน่ ลุกขึ้นทำละหมาดอย่าง เกียจคร้าน ขอท่านทั้งหลายจงระวังอย่าตกเป็นเบี้ยล่างของชัยฏอน

 

     พึงรู้เถิดว่า ความสงบทางใจที่แท้จริงนั้น ท่านจะไม่พบในบ้าน แต่ทว่าท่านจะพบได้ มัสยิด แท้จริง ผู้ที่ไปมัสยิดนั้นเป็นผู้ที่มีอีมานต่ออัลลอฮ์ มีอีมานต่อวันอาคิเราะฮ์ แล้วท่านต้องการจะเป็นหนึ่งในบรรดาคนเหล่านี้มิใช่หรือ?

 

     พึงรู้เถิด ดังปรากฏในบันทึกของท่านอิมามอัลบุคอรีย์ ที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ระบุไว้ว่า 

           “ผู้ที่มุ่งไปมัสยิด หรือผู้ที่กลับจากมัสยิด อัลลอฮ์จะจัดเตรียมที่พักในสวรรค์ไว้ให้แก่ผู้นั้นทุกๆ ครั้ง ที่ไป และทุกๆ ครั้งที่กลับจากมัสยิด” 

แล้วท่านไม่ต้องการที่พำนักในสวรรค์กระนั้น !

 

         ที่กล่าวมานี้เท่ากับเป็นข้อชี้แนะแก่ผู้ที่อัลลอฮ์ปรารถนาทางที่เที่ยงธรรม และต้องการความดีให้ เกิดแก่เขาผู้นั้น และขอปิดท้ายด้วยคำที่ว่าอัลฮัมดุลิลลาฮิร็อบบิลอาละมีน” “การสรรเสริญทั้งมวลนั้น เป็นของอัลลอฮ์ ผู้เป็นเจ้าแห่งโลกทั้งผอง"

 

 

ที่มา วารสารสายสัมพันธ์...♥