หลักการจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลามโดยใช้สมองเป็นฐาน
  จำนวนคนเข้าชม  16824


หลักการจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลามโดยใช้สมองเป็นฐาน

ดร. วิศรุต เลาะวิถี

 

          ปัจจุบัน ในวงการศึกษามักมีการกล่าวถึงการจัดการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า Brain Based Learning หมายถึง การใช้ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับสมองเป็นเครื่องมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยเชื่อว่าโอกาสทองของการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นอยู่ระหว่างแรกเกิด – 10 ปี

 

           ในทำนองเดียวกัน การจัดการเรียนรู้ศาสนาอิสลามทุกระดับ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความรู้ ความคิดด้วยสมองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผู้เรียนที่อยู่ในวัยแรกเกิด – 10 ปี ซึ่งจะต้องเรียนรู้การอ่านอัลกุรอานให้ถูกต้องตามหลักนิรุกติศาสตร์และอักขระวิถี มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักศรัทธา (อัลอีมาน) ประพฤติปฏิบัติตนในฐานะมุสลิมที่ดีตามหลักปฏิบัติ (อัลอิสลาม) และได้รับการซึมซับจิตวิญญาณด้วยหลักคุณธรรม จริยธรรม (อัลเอียะห์ซาน) ขณะอยู่ในช่วงที่กำลังเรียนรู้ศาสนาอิสลามระดับเบื้องต้น

 

          อย่างไรก็ตาม มีนักวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับสมองเป็นหลักได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน 12 ข้อ ดังต่อไปนี้

 

1. สมองเป็นกระบวนการคู่ขนาน

 

          สมองเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญที่สุดในร่างกายของคนเรา เพราะการที่มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ จะต้องอาศัยสมองและระบบประสาทเป็นพื้นฐานของการรับรู้ รับความรู้สึกจากประสาทสัมผัส ได้แก่ ตาทำให้มองเห็น หูทำให้ได้ยิน จมูกทำให้ได้กลิ่น ลิ้นทำให้ได้รับรส และผิวกายทำให้เกิดการสัมผัส

 

แนวการจัดกิจกรรมการสอน

 

         ผู้สอนจำเป็นต้องใช้กลวิธีและเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นสมองของผู้เรียน ไม่มีวิธีหรือเทคนิคของบุคคลใดสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น การสอนที่ดี ต้องสอดคล้องกับการที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายของการศึกษาอิสลาม ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ของบุคคลนั้น มีความหลากหลายและแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และความสามารถพื้นฐานของแต่ละคน หรือรูปแบบการเรียนรู้มีหลายรูปแบบ

          โดยพบว่าห้องเรียนหนึ่งๆ มักจะมีผู้ถนัดการเรียนรู้อยู่ 4 รูปแบบ คือ นักทฤษฎี นักวิเคราะห์ นักปฏิบัติ และนักกิจกรรม ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมและเอื้อต่อผู้เรียนทั้ง 4 แบบอย่างเสมอภาคกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนุกสนานเกิดความสุขในการเรียนรู้ตามรูปแบบที่ตนถนัด รวมทั้งยังมีโอกาสพัฒนาความสามารถด้านอื่นๆ ที่ตนเองไม่ถนัดด้วยวิธีการหลากหลายอีกด้วย ทั้งนี้ อาจเริ่มจากรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล แล้ววางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียน รวมทั้งสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

 

2. สมองกับการเรียนรู้

 

          สมองมิได้มีหน้าที่เฉพาะรับรู้แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการพัฒนาของอวัยวะทั้งหมดของร่างกาย ซึ่งรวมถึงการคิด การเรียนรู้ การจำ และพฤติกรรมของมนุษย์ มีความจำเป้นอย่างยิ่งที่ผู้สอนควรจะมีความรู้ที่เกี่ยวกับการทำงานและการพัฒนาของสมอง เพื่อจะได้วางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะที่กระตุ้นให้สมองคิดและทำงานแบบท้าทาย ยั่วยุมากที่สุด ผู้เรียนได้คิดและแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในทุกด้าน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการคิดและเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ และยังเป็นรากฐานไปสู่การเป็นคนดี คนเก่งและมีความสุขในการดำรงชีวิต และเมื่อเติบโตขึ้นจะได้เป็นเยาวชนมุสลิมที่ดีของสังคมต่อไป

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

 

วิธีการเตรียมความพร้อมทางสมอง

     1. การดื่มน้ำ ควรดื่มน้ำบริสุทธิ์ วันละ 6 – 8 แก้ว เพราะหากร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ จะทำให้เซลล์สมองทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     2. การรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งถูกต้องตามหลักโภชนาการ เพราะอาหารจะทำให้เซลล์ประสาท/เซลล์สมองเจริญเติบโต ส่งผลให้ความจำดีและเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

     3. การหายใจ ควรฝึกหายใจให้ลึกๆ ซ้ำๆ และมีจังหวะที่แน่นอน เพราะสมองต้องการอ็อกซิเจน ช่วยให้กระบวนการคิดดี ถ้ามีการหายใจที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดสมาธิ สมองปลอดโปร่ง ลดสภาพการหลงๆ ลืมๆ และสามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมได้

     4. การฟังบทลำนำอนาซีด ควรหาโอกาสฟังบทลำนำอนาซีด ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และการกระตุ้นการทำงานของสมอง ทั้งสองซีกให้สอดคล้องกันทั้งระบบ การฟังบทลำนำอนาซีดที่มีคุณภาพทำให้สมองผลิต Alpha Waves และ Theta Waves ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วและเกิดความคิดสร้างสรรค์ ขั้นสูง

     5. การคลายความเครียด ความเครียดเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ดังนั้น ควรหาเวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย จัดลำดับความสำคัญของงาน การหัวเราะ/ยิ้ม ทำให้จิตใจเบิกบาน ไม่เครียดและไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่า

     6. การบริหารสมอง การบริหารสมองเป็นระบบการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่จะเร้าให้สมองทำงานอย่างดี เป็นการเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกายกับการทำงานของสมอง

 

3. การเรียนรู้มีมาแต่กำเนิด

 

          ในการเรียนรู้ของบุคคลเรานั้น จะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีชีวิตและเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดนั้น จะต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองหรือเป็นการเรียนรู้โดยประสบการณ์ตรง

 

การเรียนรู้กับการเรียนการสอน

 

          การที่จะทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ เพื่อเป็นคนดี เก่ง และมีความสุขได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการด้วยการ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน เพราะหัวใจของการเรียนการสอนคือ การเรียนรู้ของผู้เรียน หากมีการจัดการเรียนการสอนที่ดี ย่อมก่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีได้

ลักษณะการเรียนการสอนศาสนาอิสลามที่ดี มีดังต่อไปนี้

1. ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

2. เน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก

3. ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน

4. ต้องเป็นที่น่าสนใจ ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย

5. ต้องดำเนินไปด้วยความเมตตากรุณาต่อผู้เรียน

6. ต้องท้าทายให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้

7. ต้องตระหนักถึงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้

8. ต้องสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยการปฏิบัติจริง

9. ต้องสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้

10. ต้องมีจุดมุ่งหมายของการสอน

11. ต้องสามารถเข้าใจผู้เรียน

12. ต้องคำนึงถึงภูมิหลังของผู้เรียน

13. ต้องไม่ยึดวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น

       14. การเรียนการสอนที่ดีเป็นพลวัตร (Dynamic) คือ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านการจัดกิจกรรม การสร้างบรรยากาศ รูปแบบ เนื้อหาสาระ เทคนิควิธี ฯลฯ

15. ต้องสอนในสิ่งที่ไม่ไกลตัวผู้เรียนมากเกินไป

       16. ต้องมีการวางแผนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ดังนั้น การเรียนรู้ของผู้เรียน จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถ้าผู้วางแผนการเรียนรู้ได้คำนึงถึงลักษณะการเรียนรู้ที่ดี มีวิธีการเรียนรู้หลักการ

         เรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ หลักการสอนที่มีประสิทธิภาพและลักษณะการเรียนการสอนที่ดี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการจัดการเรียนรู้ศาสนาอิสลามต่อไป

 

4. รูปแบบการเรียนรู้ของบุคคล

 

          ผู้เรียนในห้องเรียนหนึ่งๆ มักมีผู้ถนัดการเรียนรู้ตามรูปแบบของตน ผู้สอนจึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนทุกรูปแบบอย่างเสมอภาคกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนุกสนานและเกิดความสุขในการเรียนรู้ตามรูปแบบที่ตนถนัด รวมทั้งยังมีโอกาสพัฒนาความสามรถด้านอื่นๆ ที่ตนไม่ถนัดอีกด้วย

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

 

          การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ มิใช่เกิดจากการสั่ง การสอน หรือการถ่ายทอดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ มีการรับรู้ คือ การแสวงหาและรับข้อมูล ข้อความ รู้จากประสาทสัมผัสต่างๆ มีการบูรณาการความรู้ เป็นการนำข้อมูลข่าวสาร ความรู้ใหม่ที่ได้รับมาผสมผสานเชื่อมโยงกับประสบการณ์ หรือโครงสร้างของความรู้เดิม เพื่อขยายหรือสร้างความรู้ใหม่ มีการประยุกต์ใช้ คือ การนำความรู้มาใช้ในการดำรงชีวิต หรือการแก้ปัญหาในการทำงาน

           ดังนั้น การจัดการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงและถาวรนั้น จะต้องจัดให้ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ การรับรู้ การบูรณาการความรู้ และการประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติจริงในวิถีชีวิต

 

5. ความสนใจมีความสำคัญต่อการเรียนรู้

 

          ความสามารถพิเศษของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 8 ด้านด้วยกัน มนุษย์ย่อมมีความแตกต่างระหว่างบุคคล แต่ละคนมักจะมีความเก่งไม่เหมือนกัน ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้วางแผนในการพัฒนาตนเอง โดยเริ่มจากรู้จักตนเอง รู้จุดเด่น จุดด้อย ค้นหาวิธีการพัฒนาความเก่งให้แก่ตนเองที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีความสุขและเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

 

          ผู้สอนจะต้องมีข้อมูล และรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล คิดและจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนาความถนัด/ความสามารถหรือความเก่งให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาด้านอื่นๆ อีกทั้งให้มีความเก่งหลายๆ ด้าน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกถึงความสามารถหรือความเก่งสู่สาธารณชน โดยอาจจัดเวทีให้แสดงอย่างอิสระ

 

6. สมองมีหน้าที่สร้างกระบวนการเรียนรู้

 

          สมองของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ซีก คือ ซีกซ้ายกับซีกขวา สมองทั้งสองด้านมีความสัมพันธ์กัน สมองมีหน้าที่ควบคุมการรับรู้ การคิด การเรียนรู้และการจำ ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และควบคุมความรู้สึกและพฤติกรรม

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สมองไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะรับรู้แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการพัฒนาของอวัยวะทั้งหมดในร่างกาย ซึ่งรวมถึงความคิด การเรียนรู้ การจำและพฤติกรรมของมนุษย์

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

 

          การจัดการเรียนการสอนที่ดี ผู้สอนต้องมีความเข้าใจทักษะที่เกี่ยวโยงกับความสามารถพิเศษของสมองแต่ละซีก สมองซีกซ้ายสั่งการทำงานเกี่ยวกับคำ ภาษา ตรรกะ ตัวเลข จำนวน ลำดับ ระบบ การคิดวิเคราะห์ และการแสดงออก เป็นต้น สมองซีกขวาจะสั่งการเกี่ยวกับ จังหวะ ศิลปะ จิตนาการ การสร้างภาพ การรับรู้ การเห็นภาพรวม ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

 

7. การเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจสามารถรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          สมองจะซึมซับข้อมูลที่บุคคลมีความสนใจเรื่องนั้นอยู่แล้ว เชื่อมโยงข้อมูลกับความรู้ใหม่ ประสานข้อมูลความรู้เข้าด้วยกัน ซึ่งหมายความว่า การเรียนรู้ของมนุษย์จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เมื่อมีการเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เดิมของผู้เรียนกับการจัดประสบการณ์ในการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

 

           ผู้สอนควรจัดเนื้อหาที่มีความหลากหลายครอบคลุมทุกมิติของชีวิตมนุษย์ กระบวนการเรียนรู้มีลักษณะหลากหลายร่วมกันในลักษณะผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แหล่งการเรียนรู้หลากหลาย เช่น เรียนรู้จากสื่อธรรมชาติ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ จากแหล่งงานอาชีพของชุมชน จากการค้นคว้าทางเทคโนโลยี ฯลฯ

 

8. การเรียนรู้เกิดขึ้นได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ทั้งในแบบที่มีจุดมุ่งหมายและไม่ได้ตั้งใจ

 

          การเรียนรู้ของคนส่วนใหญ่มักเกิดการเรียนรู้ได้จากสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ในสถานการณ์จริง เช่น ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เผชิญอยู่โดยไม่ได้คิด ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อน โดยอาศัยประสบการณ์เดิมของแต่ละบุคคลในการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม

 

แนวการจัดกิจกรรมการสอน

 

          ในกระบวนการเรียนรู้นั้น ขณะที่ผู้เรียนเรียนรู้ อาจเป็นแค่การรับรู้ แต่ยังไม่เข้าใจ ความเข้าใจอาจเกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เรียนสามารถมองเห็นถึงความหมายและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันถึงสิ่งต่างๆ ที่ตนเองรับรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ในระดับที่สามารถอธิบายเชิงเหตุผลได้ บางครั้งการสอนใน ชั้นเรียน เมื่อจบบางบทเรียน ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ เนื่องจากการสอนนั้นไม่สอดคล้องกับประสบการณ์เดิมของผู้เรียน

 

9. การเรียนรู้ที่เกิดจากกระบวนการสร้างความเข้าใจ

 

          การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากกระบวนการที่สร้างความเข้าใจ และให้ความหมายกับสิ่งที่รับรู้มา มีการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เรียนกับชีวิตจริง สอน/แนะนำบนพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์และทักษะที่มีอยู่เดิมของผู้เรียน

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

 

          บางครั้งการจำ เป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ แต่การสอนที่เน้นการจำไม่ก่อให้เกิดความเชื่อมโยง ให้เกิดการเรียนรู้และบางครั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเข้าใจ หากครูไม่ได้ศึกษารูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละประเภทว่า มีความชื่นชอบ ความถนัด วิธีการเรียนรู้ หลักการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และจัดกิจกรรมการสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละประเภทจะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน

 

10. การเรียนรู้เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

          ภาษาแรกของมนุษย์ได้รับการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างหลากหลาย ด้วยคำศัพท์และไวยากรณ์ได้รับการเรียนรู้โดยกระบวนการเรียนรู้ภายในของบุคคลที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอก

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

 

          ผู้สอนจำเป็นต้องใช้กิจกรรมที่เป็นสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย การสาธิต การจัดทำโครงงานทัศนศึกษา การรับรู้ประสบการณ์ด้วยการมองเห็นของจริง การเล่าเรื่องและการมีปฏิสัมพันธ์ต่อคนหลายๆ ประเภทการเรียนแบบมุ่งประสบการณ์ทางภาษาสามารถเรียนรู้ได้ในกระบวนการโดยผ่านเรื่องหรือการเขียน

          ความสำเร็จของการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับการใช้ประสาทสัมผัสและให้ผู้เรียนพบประสบการณ์ที่ซับซ้อนและมีความเกี่ยวข้องกันในเนื้อหา ผู้สอนไม่ควรเป็นเพียงผู้บรรยาย แต่ควรเป็นผู้กำกับที่ทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ให้มากที่สุด

 

11. การเรียนรู้คือ การส่งเสริมให้ผู้เรียนเผชิญกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้

 

            เซลล์สมองจะเกิดมีการเชื่อมต่ออย่างสูงสุด เมื่อถูกกระตุ้นให้เผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ โดยผ่านกระบวนการเล่นอย่างสนุกสนาน และมีความสุขปราศจากความเครียด เพราะความเครียดเป็นสิ่งที่บั่นทอนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

 

          ผู้สอนควรสร้างสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยเพื่อการเรียนรู้ โดยผ่านการเล่นแบบท้าทาย การเสี่ยง ความสนุกสนาน เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ การถูกทำโทษ อันเนื่องมาจากความผิดพลาด จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ผู้สอนจึงไม่ควรลงโทษผู้เรียนในการเข้าร่วมกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเผชิญกับสถานการณ์แวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้

 

12. สมองของบุคคลมีความเท่าเทียมกัน

 

          มนุษย์ทุกคนมีระบบสมองเหมือนกัน ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีศักยภาพแตกต่างกันในด้านความรู้ ความถนัดที่มีอยู่เดิมตามสภาพแวดล้อมของแต่ละคน แต่สามารถเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพได้อย่าง เท่าเทียมกัน

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

 

          ผู้เรียนมีความแตกต่างกันเกี่ยวกับความสามารถทางสติปัญญา ความสามารถ ความเก่งของมนุษย์ คือ ทฤษฎีพหุปัญญา ความเป็นคนเก่งคืออะไร มีคำตอบมากมายหลายรูปแบบ แต่สรุปรวมได้ว่า คนเก่ง คือ ผู้มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะด้าน หรือหลายๆ ด้าน ที่แสดงออกถึงความสามารถได้อย่างเป็นที่ประจักษ์

 

          ดังนั้นในการพัฒนาความเก่ง ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้วางแผนในการพัฒนาตนเอง โดยเริ่มจากการรู้จักตนเอง รู้จุดเด่น จุดด้อย ค้นหาวิธีพัฒนาความเก่งให้แก่ตนเองที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีความสุขและเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ภายใต้การดูแล กระตุ้น ให้คำแนะนำ การอำนวยความสะดวกของผู้สอน พ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าความเก่งพัฒนาได้ หากผู้สอนรู้วิธีและทำ ถูกวิธี นั่นคือ คุณภาพการจัดการเรียนรู้ศาสนาอิสลามก็จะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

 

 

เอกสารอ้างอิง

     - University of Nebraska at Ohama (1999) Principles of Brain Based Learning from http://www.unocoe.unomaha.edulbrainbased.htm.

     - สุวิทย์ มูลคำ และ อรทัย มูลคำ การเรียนรู้สู่ครูมืออาชีพ กรุงเทพมหานคร : ดวงกมลสมัยจำกัด 2543

 

 

ที่มา : วารสารมุสลิม กทม.