ให้พึงพอใจในการทดสอบจากอัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  5071


ให้พึงพอใจในการทดสอบจากอัลลอฮฺ

 

โดย... อ.นิสรีน อับดุลเลาะห์

 

         มีรายงานฮะดิษจาก ท่านอะนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า 

 

     “เมื่ออัลลอฮฺ ทรงประสงค์ให้เกิดความดีงามขึ้นแก่บ่าวของพระองค์แล้ว พระองค์ก็จะทรง รีบทดสอบเขาให้ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่พึงพอใจในโลกดุนยานี้

     และเมื่อพระองค์ทรงประสงค์ให้ ความเลวร้ายเกิดข้นกับบ่าวของพระองค์ พระองค์อัลลอฮฺ ก็จะทรงยืดเวลา การลงโทษที่เขาสมควรจะได้รับออกไป อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของเขา

     เพื่อที่เขา (บ่าวผู้นั้น) จะได้นำเอาความผิดของเขากลับไปด้วยในวันกิยามะฮฺอย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดยที่ไม่มีความผิดใดๆ ขาดหายไปเลยแม้แต่น้อย

 

     และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวอีกว่า

 

     “แท้จริง รางวัลตอบแทนที่มากมายนั้น มีมาพร้อมกับการทดสอบที่ยิ่งใหญ่ และแท้จริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อพระองค์ทรงรักใคร่ กลุ่มชนใด พระองค์ก็จะทรงทดสอบกลุ่มชนนั้น

     ดังนั้น ถ้าผู้ใดพึงพอใจ เขาก็จะได้รับความพึงพอใจ (จากพระองค์อัลลอฮฺ) และถ้าผู้ใดโกรธ ไม่พึงพอใจ เขาก็จะได้รับความโกรธกริ้ว (จากอัลลอฮฺ)”

(ฮะดิษทั้งสองนี้ บันทึกโดย อิมาม อัตติรมิซีย์)

 

คำอธิบาย

 

         กิจการทั้งหลายทั้งปวงนั้น อยู่ที่พระหัตถ์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา และอยู่ที่ความประสงค์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา เพราะพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกล่าวถึงพระองค์เองว่า

ผู้ทรงกระทำอย่างเด็ดเดี่ยวตามที่พระองค์ทรงประสงค์

(ฮูด 11 : 107)

 

และพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวไว้ว่า

“...แท้จริง อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกระทำสิ่งที่พระองค์ ทรงประสงค์

(อัลฮัจญ์ 22 : 18)

 

          เพราะฉะนั้น กิจการทั้งหลายนั้น อยู่ที่พระหัตถ์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมนุษย์ทุกคนคงจะไม่มีใครที่จะปราศจากความผิดพลาด ปราศจากการฝ่าฝืน และปราศจากความบกพร่องในหน้าที่ไปได้อย่างแน่นอน 

 

          ดังนั้น เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงประสงค์ที่จะให้บ่าวของพระองค์ได้รับความ ดีงาม พระองค์ก็จะทรงทดสอบเขาด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่พึงพอใจแก่เขาในโลกดุนยานี้ ซึ่งบางทีเขาอาจะถูกทดสอบโดยทำให้ทรัพย์สินเงินทองต้องเสียหาย หรือทดสอบโดยต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว หรือตัวเองถูกทดสอบโดยมีโรคภัยไข้เจ็บมาประสบ หรือคนหนึ่งคนใดที่เขาติดต่อคบหากันต้องประสบกับการทดสอบกับสิ่งอันไม่พึงปรารถนาหรือต้องการ

 

          ที่สำคัญ การทดสอบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่พึงประสงค์ จะเกิดขึ้นกับเขาในโลกดุนยานี้โดยเร็ว เพราะการทดสอบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่พึงพอใจต่างๆ นั้น มันจะช่วยไถ่โทษความผิดอันมากมาย และเมื่อการทดสอบด้วยสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นโดยเร็วนั้น ย่อมหมายความว่า อัลลอฮฺได้ทรงไถ่โทษความผิดนั้น ด้วยการทดสอบให้เขาประสบกับสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่เขา เท่ากับว่าเขาได้ชดใช้หนี้แห่งความผิดของเขากับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจนหมดสิ้นแล้ว และเขาจะไม่มีความผิดหลงเหลืออยู่อีกแน่นอน เคราะห์กรรมต่างๆ และการทดสอบอันมากมายได้ชำระล้างความผิดของเขาให้สะอาดหมดจดแล้ว มิเช่นนั้น ความตายจะสร้างความรุนแรงอย่างที่สุดแก่ขา เนื่องจาก ความชั่วร้ายยังมีติดตัวเขาอยู่ และเพื่อที่เขาจะได้จากโลกนี้ไปอย่างบริสุทธิ์ ไร้ความผิดติดตัวไป

 

          นี่แหละคือ เนี๊ยะมะฮฺ (ความกรุณา ความโปรดปรานของอัลลอฮฺ) ที่ทรงมีแก่มนุษย์ เพราะการที่พระองค์อัลลอฮฺทรงลงโทษบ่าวของพระองค์ด้วยสิ่งซึ่งไม่เป็นที่พึงปรารถนาของมนุษย์ในโลกดุนยานี้ ย่อมเป็นการลงโทษที่เบากว่าการลงโทษในโลกอาคิเราะฮฺมากมายหลายเท่านัก

 

          แต่เมื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงประสงค์จะให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นกับบ่าวของพระองค์ พระองค์จะ ทรงปล่อยให้เขาเพลิดเพลิน ปล่อยให้เขาหลงในดุนยาทีละน้อยๆ และปล่อยให้ความสุข ความร่ำรวย มารุมล้อมเขา และจะทรงผลักดันการลงโทษให้ออกห่างเขาไปก่อน จนทำให้เขาหลงยินดีปรีดา ทำให้เขาดีอกดีใจ ซึ่งเป็นการดีใจที่ดูหมิ่นเนี๊ยะมะฮฺ (ความกรุณา ความโปรดปรานของอัลลอฮฺ) ที่อัลลอฮฺได้ประทานให้แก่เขา ครั้นเมื่อเขากลับไปพบกับพระผู้เป็นเจ้าของเขา เขาก็จะกลับไปในสภาพที่คลุกเคล้าปนเปไปด้วยความชั่วร้าย แล้วเขาก็จะถูกลงโทษในโลกอาคิเราะฮฺต่อความผิดที่ได้กระทำไว้ในโลกดุนยา (ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงให้เราได้รับความปลอดภัยจากการลงโทษนั้นด้วยเทอญ)

 

          เมื่อใดที่ท่านเห็นบุคคลใดก็ตามที่ท้าทายอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ด้วยการกระทำที่ฝ่าฝืน ดื้อรั้นกับพระองค์ แต่อัลลอฮฺ ยังทรงป้องกันการทดสอบ (บะล้าอฺ) ให้พ้นไปจากเขา และได้ทรงให้เนี๊ยะมะฮฺ (ความกรุณา ความโปรดปรานของอัลลอฮฺ) หมุนเวียนเข้ามาหาตัวเขาอยู่เสมอ เมื่อนั้นแหละ พึงทราบไว้เถิดว่า อัลลอฮฺทรงต้องการความเลวร้ายให้เกิดขึ้นกับเขา เพราะฉะนั้น อัลลอฮฺจึงได้ทรงยืดเวลาการลงโทษออกไปก็เพื่อที่เขาจะได้นำเอาความผิดต่างๆ ที่รอลงอาญากลับไปในวันอาคิเราะฮฺอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

 

และยังได้มีระบุไว้ในฮะดิษนี้อีกว่า

 

แท้จริง รางวัลตอบแทนอันมากมายนั้น มีมาพร้อมกับการทดสอบอันยิ่งใหญ่

 

          หมายความว่า ทุกครั้งที่มีการทดสอบในเรื่องที่สำคัญมา หรือหนักหน่วงมากๆ รางวัลตอบแทนที่จะได้รับก็มากมายก่ายกองเช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าการทดสอบที่ง่ายไม่รุนแรง ผู้ถูกทดสอบก็จะได้รับรางวัลตอบแทนน้อย และถ้าการทดสอบในเรื่องที่ร้ายแรง ผู้ถูกทดสอบก็จะได้รับรางวัลตอบแทนอย่างมากมายมหาศาล เพราะว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นผู้ทรงเมตตา ทรงปราณีต่อมนุษย์เสมอ และเมื่อพระองค์อัลลอฮฺทรงทดสอบพวกเขาด้วยเรื่องร้ายแรงแล้ว พระองค์อัลลอฮฺก็จะประทานรางวัลตอบแทนให้แก่พวกเขาอย่างมหาศาลต่อการที่พวกเขาถูกทดสอบในสิ่งที่ร้ายแรงเหล่านั้น และถ้าเคราะห์กรรมต่างๆ ยังเล็กๆ น้อยๆ แน่นอน รางวัลตอบแทนก็ย่อมไม่มากมายด้วยเช่นกัน

 

      “และแท้จริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อพระองค์ทรงรักใคร่กลุ่มชนใด พระองค์ก็จะทรงทดสอบกลุ่มชนนั้น ดังนั้น ถ้าผู้ใดพึงพอใจ เขาก็จะได้รับความพึงพอใจ (จากพระองค์อัลลอฮฺ) และถ้าผู้ใดโกรธไม่พึงพอใจ เขาก็จะได้รับความโกรธกริ้ว (จากอัลลอฮฺ)”

 

          และนี่คือ ข่าวดี สำหรับมุอฺมิน ผู้ศรัทธา เมื่อเขาถูกทดสอบด้วยการประสบกับเคราะห์กรรม เขาจะไม่คิดไปในทางที่ไม่ดีว่า อัลลอฮฺทรงโกรธกริ้วเขา แต่เขากลับคิดว่า บางทีเคราะห์กรรมนี้อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อบ่าวของพระองค์ ฉะนั้น พระองค์จึงได้ทดสอบเขาด้วยกับเคราะห์กรรมต่างๆ เหล่านั้น 

 

          เมื่อเขาพึงพอใจต่อเคราะห์กรรมที่มาประสบพร้อมกับมีความอดทน และหวังในรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แน่นอน เขาจะได้รับความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และถ้าหากว่าเขาไม่พึงพอใจแสดงอาการโกรธออกมาเขาก็จะได้รับความโกรธกริ้วจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั่นเอง

 

          เพราะฉะนั้น ในฮะดิษนี้ ได้ส่งเสริมให้มนุษย์อดทนต่อเคราะห์กรรมต่างๆ ที่มาประสบกับพวกเขา เพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะได้ทรงกำหนดความพึงพอใจของพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ให้แก่เขานั่นเอง

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 17 มกราคม 2552