ให้รักษาละหมาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาซุบฮิและอัศริ
  จำนวนคนเข้าชม  15066


ให้รักษาละหมาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาซุบฮิและอัศริ

 

โดย อบู อาบิดีน

 

           ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย ชาวนรกจะถูกถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ต้องเข้านรก พวกเขาตอบว่า

 

เรานั้นมิได้อยู่ในหมู่ผู้ที่ละหมาด

(อัลมุดดัซซิร 74 : 43)

 

           พี่น้องทั้งหลาย ผู้ที่รักษาละหมาด หมายถึง ผู้ที่ละหมาดตรงตามเวลา ตามที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกำหนดไว้พร้อมกับญะมาอะฮฺที่มัสยิดซึ่งถูกสร้างมาเพื่อการละหมาดนี้และการละหมาดนั้นจะต้องเป็นที่คล้องจอง ถูกต้องตามบัญญัติศาสนาที่อัลลอฮฺ ทรงกำหนดไว้ทั้งชะรัฎ รุก่น และวาญิบต่างๆ

 

           ดังนั้น ผู้ใดที่กระทำการใดๆ ค้านกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ก็เท่ากับว่าเขามิได้ ดำรงรักษาการละหมาดของเขา ดังเช่นที่ต้องการให้ผู้เป็นมุสลิม ให้ความสำคัญต่อการละหมาดทั้งห้าเวลา ดังนั้น การเพิกเฉยการละหมาดในบางเวลาก็เท่ากับเป็นการเพิกเฉยการละหมาดทั้งหมดทุกเวลา

 

          ในปัจจุบันบางคนถูกทดสอบด้วยกับการเพิกเฉยในละหมาดสองเวลา คือละหมาดอัศริกับละหมาดซุบฮิ ข้าราชการ พนักงานบางคน เพิกเฉยละเลยกับการละหมาดอัศริ ด้วยสาเหตุต่างๆ กัน เช่น อยู่ในระหว่างเดินทางกลับบ้าน หรือบางคนนอนหลับหลังละหมาดดุฮฺริ หลังเลิกงาน จนไม่ทันละหมาดอัศริเป็นญะมาอะฮฺที่มัสยิด ฯลฯ หรือบางทีตื่นหลังหมดเวลาอัศริไปแล้วก็มี

           การละหมาดอัศรินั้น ถือได้ว่าเป็นเวลาสำคัญเพราะเป็นเวลากึ่งกลาง ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ทรงกำชับให้รักษาเวลาละหมาด ดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะยิ่งกว่าเวลาทั้งหลายทั่วๆ ไป ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า

 

พวกเจ้าทั้งหลายจงรักษาละหมาด(ทั้ง 5 เวลา)เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งละหมาดที่อยู่กึ่งกลาง

และจงยืนขึ้นละหมาดเพื่ออัลลอฮฺ ด้วยความนอบน้อม

(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 238)

 

          นักวิชาการส่วนมากอธิบายว่า การละหมาดที่อยู่กึ่งกลาง คือ ละหมาดอัศริ เพราะมีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่า ให้เน้นย้ำถึงละหมาดอัศริ และยังมีการสำทับคาดโทษอย่างรุนแรงแก่ผู้ที่ทำเป็นเพิกเฉยละหมาด อัศริ ดังปรากฏในฮะดิษ ที่ว่า

มีรายงานจาก ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

 

ผู้ใดที่ทิ้งละหมาด อัศริ การงานของเขาก็สูญเปล่าไร้คุณค่า

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ อันนะซาอีย์ และอิบนิมาญะฮฺ)

 

มีรายงานจาก ท่านอิบนุ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

 

ผู้ที่ให้เวลาละหมาด อัศริ ผ่านพ้นหมดไปโดยไม่ได้ละหมาด

ก็เสมือนกับว่าครอบครัวของเขา และทรัพย์สมบัติของเขาพินาศฉิบหายวายวอด

(บันทึกโดย อิมาม มาลิก อิมาม บุคอรีย์และมุสลิม)

     อิมาม มาลิก ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ อธิบายว่า หมายถึง ปล่อยเวลาอัศริให้ล่วงเลยจนหมดไป

 

          เมื่อการสำทับคาดโทษดังกล่าว สำหรับผู้ที่ปล่อยเวลาอัศริให้ล่วงเลยผ่นไปโดยมิได้ละหมาดอัศริเพียงครั้งเดียว ยังถูกสำทับคาดโทษรุนแรงถึงขนาดนี้ แล้วการที่คนละทิ้งละหมาดอัศริเป็นประจำสม่ำเสมอ ด้วยการนอนจนตื่นไม่ทันละหมาดอัศริเล่า จะเป็นเช่นใด? และจะได้รับโทษรุนแรงขนาดไหน?

 

          พี่น้องทั้งหลาย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺเถิด จงกลับเนื้อกลับตัวยังอัลลอฮฺเถิด และจงละหมาดอัศริให้ตรงตามเวลา และเป็นญะมาอะฮฺกันเถิด ดังที่อัลลอฮฺ ได้ทรงมีบัญชาใช้พวกท่านและอย่าให้ชัยฏอนนำพาพวกท่านไปสู่หนทางที่หลงผิด และมันจะชี้นำพวกท่านไปสู่ธรรมเนียมปฏิบัติที่เลวๆ ที่เข้ามาปะปนอยู่ในศาสนาของพวกท่าน อันจะนำพาให้พวกท่านตกอยู่ในความกริ้วโกรธของอัลลอฮฺ และจะทำให้ถูกลงโทษอย่างเจ็บแสบ

 

          ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย จงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ตนเองและผู้อื่นอย่าได้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีเลย สำหรับละหมาดฟัจรินั้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวถึง แล้วทรงแจ้งให้ทราบว่ามลาอิกะตุลกิรอมผู้ทรงเกียรติก็จะลงมาในเวลาดังกล่าว ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า

 

และกุรอานยามรุ่งอรุณ (ละหมาดฟัจริ) แท้จริง กุรอานยามรุ่งอรุณนั้นเป็นพยานยืนยัน

(อัลอิสร็ออฺ 17 : 78)

 

          จุดมุ่งหมายของกุรอานยามรุ่งอรุณ ก็คือ ละหมาดฟัจริ หรือละหมาดซุบฮินั่นเอง ที่เรียกเช่นนี้ ก็เพราะในการละหมาดซุบฮินั้น มีการอ่านกุรอานยาวๆ นานๆ

คำว่า มัซฮูดา หมายถึง มลาอิกะฮฺกลางคืน และมลาอิกะฮฺกลางวันลงมาเป็นพยาน

มีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

        “บรรดามลาอิกะฮฺกลางคืนและมลาอิกะฮฺกลางวันจะทยอยกันลงมาและรวมกัน ในเวลาละหมาดซุบฮิและเวลาละหมาดอัศริ และนำเสนอรายงานที่มีอยู่กับพวกเจ้า แล้วพระเจ้าของเขาก็ถามถึงพวกเขาทั้งๆ ที่พระองค์ทรงรู้ดียิ่งกว่าพวกเขา โดยตรัสว่า 

พวกเจ้าทิ้งบ่าวของข้าไว้ในสภาพเช่นใด

       บรรดามลาอิกะฮฺ ก็ตอบว่า ข้าพระองค์มาจากพวกเขา มาขณะที่พวกเขากำลังละหมาดอยู่ และข้าพระองค์ทิ้งจากพวกเขามา ขณะที่พวกเขากำลังละหมาดอยู่

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)

 

มีรายงานจากอบี มาลิก อัลอัชญะฮีย์ จากบิดาของเขา แจ้งว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

 

ผู้ใดที่ละหมาดซุบฮิ เขาก็ได้อยู่ในความดูแลคุ้มครองของอัลลอฮฺ และการคิดบัญชีของเขาก็ขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ

(บันทึกโดย อัฏฏ็อบรอนีย์)

 

           นี่คือความประเสริฐอันยิ่งใหญ่ของการละหมาดซุบฮิ และการสำทับคาดโทษอย่างรุนแรงแก่ผู้ที่ทำเป็นเพิกเฉย ปล่อยปะ ละเลยต่อการละหมาดซุบฮิ เพราะมีบางคนไม่ใส่ใจในการละหมาดซุบฮิ นอนดึก อดหลับอดนอนกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น ดูหนัง ดูทีวี ดูบอลดึกๆ จนกระทั่งตื่นไม่ทันละหมาดซุบฮิ พร้อมกับญะมาอะฮฺ หรือไม่ก็ตื่นเมื่อตะวันโด่ง หมดเวลาซุบฮิไปแล้ว ดังกล่าวนี้ เท่ากับกระทำความผิดใหญ่ๆ สองกระทง กระทงแรก คือ ละทิ้งญะมาอะฮฺ กระทงที่สอง คือ ละหมาดช้ากว่าเวลาที่กำหนด และยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ อดนอนเพื่อดูหนังต้องห้าม นับเป็นการก่ออาชญากรรมอีกประการหนึ่ง ดังนั้น ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺเถิด อย่าเป็นเช่นผู้ที่อัลลอฮฺ กล่าวถึงเอาไว้เลยว่า

 

     “แล้วต่อมาภายหลังจากพวกเขา (บรรดาผู้ยำเกรง) ชนอีกรุ่นหนึ่ง ก็ได้สืบช่วงต่อมา พวกเขาได้ ละทิ้งละหมาด และกระทำตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ ดังนั้น พวกเขาก็จะพบกับความหายนะ

(มัรยัม 19 : 59)

 

          จากอารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการละทิ้งละหมาดก็คือการนอนดึก อดตาหลับ ขับตานอนเฝ้าดูโทรทัศน์ดึกๆ ดื่นๆ สนุกสนานเพลิดเพลิน ติดอกติดใจกับรายการโทรทัศน์ตอนดึกๆ แล้วจึงเข้านอน ทำให้ตื่นสายไม่ทันละหมาดซุบฮิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในค่ำวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่ประเสริฐสุดกว่าวันทั้งหลาย เพราะการอดนอนและการนอนดึกในคืนวันศุกร์นั้นจะมีมากกว่าค่ำคืนอื่นๆ

 

          ดังนั้น ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺเถิด จะคิดบัญชีของพวกท่านให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการละหมาด จงนอนแต่หัวค่ำ เพื่อจะได้ตื่นแต่เช้ามืด เพื่อจะได้ทันละหมาดซุบฮิ และพึงทราบเถิดว่า ทุกสิ่งที่ทำให้เรายุ่งจนไม่มีเวลาที่จะไปละหมาด หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้ไปละหมาดไม่ทันตามกำหนดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ การขาย การนอนหรือการงานใดๆ ก็ตาม ก็จะเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม) ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสความว่า

 

     “โอ้ บรรดาผู้ที่ศรัทธาแล้วทั้งหลาย อย่าให้ทรัพย์สมบัติของพวกเจ้าและลูกหลายของพวกเจ้า หันเหพวกเจ้าไปจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ (การละหมาด) และหากใครทำเช่นนั้น ชนเหล่านี้แหละ คือพวกที่ขาดทุน

(อัลมุนาฟิกูน 63 : 9)

 

     “โอ้ บรรดาผู้ที่ศรัทธาแล้วทั้งหลาย เมื่อมีเสียงอะซาน เรียกให้ไปละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปละหมาด (การรำลึกถึงอัลลอฮฺ) เถิด และจงละทิ้งการค้าเสีย นั้นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่าหากพวกเจ้าจะรู้ได้

(อัลญุมุอะฮฺ 62 : 9)

 

       ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เห็นชนกลุ่มหนึ่งเมื่อครั้งเหตุการณ์อิสร็ออฺ และมิอฺร็อจญ์ เอาก้อนหินทุบศีรษะของตนเอง ทุกครั้งที่ศีรษะแตก มันก็กลับคืนสภาพดีดังเดิม และเขาก็เอาก้อนหินทุบใหม่ เป็นเช่นนี้ครั้งแล้ว ครั้งเล่า 

ท่านนบีได้ถามท่านญิบรีลว่า พวกเหล่านี้เป็นใครกัน

       ท่านญิบรีลก็ตอบว่า พวกเหล่านี้คือพวกที่ศีรษะของพวกเขาหนักจนกระทั่งไม่ได้ลุกขึ้นมาละหมาดฟัรฎูที่ได้ถูกกำหนดไว้

 

           พี่น้องทั้งหลายจงเกรงกลัวอัลลอฮฺเถิด จงละหมาดตามเวลาที่ถูกกำหนดเอาไว้ทุกเวลา ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงมีบัญชาใช้พวกท่าน

 

     “ในบรรดาบ้าน (มัสยิด) ทั้งหลายนั้น อัลลอฮฺทรงอนุญาตให้เทิดพระเกียรติ และให้พระนามของอัลลอฮฺถูกรำลึกอยู่เสมอ เพื่อที่จะแซ่ซ้องสรรเสริญสดุดี พระองค์ในมัสยิดเหล่านั้น ทั้งในยามเช้า และในยามพลบค่ำ

     บรรดาผู้ชายที่การค้าขาย มิได้ทำให้พวกเขาเหินห่างออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ การดำรงละหมาด และการจ่ายซะกาต เพราะพวกเขากลัววันหนึ่งที่บรรดาหัวใจและสายตาทั้งหลายจะเหลือกลานในวันนั้น

(อันนู๊ร 24 : 36-37)

 

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร ประจำปี 2552