สิทธิ หน้าที่ของสามีและภรรยา
  จำนวนคนเข้าชม  11125


สิทธิ หน้าที่ของสามีและภรรยา

 

โดย อาจารย์อามีน สมันเลาะ

 

         พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย ! เมื่อเราจะพูดถึงสิทธิต่างๆ ของสตรีก็จำเป็นจะต้องพูดถึงสิทธิต่างๆ ของสามี เมื่อเวลาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแต่ละฝ่ายก็จะต้องมีสิทธิต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติ และให้การเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะให้การมีชีวิตคู่นั้นมีความสุขและมีความราบรื่นตลอดไป

 

          แน่นอน การแต่งงาน (นิกะฮฺ) นั้นเป็นเครื่องผูกมัดที่มั่นคงระหว่างคนสองคนด้วยกัน ที่จะต้องมีความผูกพันกันอย่างยาวนาน อิสลามได้ให้แต่ละคน (สามี-ภรรยา) มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ กัน

 

          ♥ ด้านสิทธิของสตรี (ภรรยา) ที่จะต้องได้รับจากสามี (ฝ่ายชาย) นั่นก็คือ อันดับแรก ฝ่ายชายจะต้องจ่ายสินสมรส (มะฮัร) และจะต้องเลี้ยงดูนางเป็นอย่างดี โดยให้อาหารและที่อยู่อาศัยกับนางอย่างเหมาะสม และดูแลเมื่อเวลานางเจ็บป่วย 

 

ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สอนไว้ว่า

พวกเจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ในเรื่องของสตรีเถิด แท้จริงพวกนางนั้นเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือพวกท่าน 

พวกท่านได้นางมาก็ด้วยอะมานะฮฺ ที่ได้รับมาจากอัลลอฮฺ 

สิ่งสงวนของพวกนางเป็นที่อนุมัติ แก่พวกท่านแล้ว ก็ด้วยคำดำรัสของอัลลอฮฺ 

และเป็นสิ่งที่จำเป็นแก่พวกท่านที่จะต้องให้ปัจจัยแก่พวกนาง (อาหาร-การกิน) และเครื่องนุ่งห่มอย่างดี (เหมาะสม)”

 

      และจากสิทธิของสตรีอีกเช่นกันคือ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คำว่า มีความสุข ก็คือ ต้องมีความอ่อนโยนให้กับนาง ทั้งคำพูดและการปฏิบัติ เพื่อให้นางรู้สึกว่ามีความสุขใจ มีความอบอุ่น

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ไม่อนุมัติแก่พวกเจ้า การที่พวกเจ้าจะเอาบรรดาหญิงเป็นมรดกด้วยการบังคับ 

     และไม่อนุมัติเช่นเดียวกัน การที่พวกเจ้าจะขัดขวางบรรดานาง เพื่อพวกเจ้าจะเอาบางส่วนของสิ่งที่พวกเจ้าได้ให้แก่พวกนางด้วยดี 

      หากพวกเจ้าเกลียดพวกนาง ก็อาจเป็นไปได้ว่าการที่พวกเจ้าเกลียดสิ่งหนึ่งขณะเดียวกัน อัลลอฮฺก็ทรงให้มีในสิ่งนั้น ซึ่งความดีอันมากมาย

(อันนิซาอฺ4: 19)

 

         หมายความว่า : เอาบรรดาภรรยาของญาติที่ตามมาเป็นมรดก ในฐานะเป็นภรรยาของตนด้วยการบังคับนาง กล่าวคือ ในสมัยญาฮิลียะฮฺนั้น มีการรับมรดกภรรยาของญาติที่ตายไป ในการนี้ถ้าปรารถนานางก็จงสมรสกับนาง โดยปราศจากสินตอบแทน (มะฮัร) ใดๆ หรือไม่ก็ให้สมรสกับชายอื่น แล้วรับสินตอบแทนเป็นของตน โดยไม่คำนึงว่านางจะพอใจหรือไม่ ครั้นเมื่ออิสลามมา จึงได้ประกาศยกเลิก ไม่เป็นที่อนุมัติ

 

        เช่นเดียวกับในการที่พวกเจ้าไม่ชอบภรรยาของพวกเจ้า แล้วไม่ยอมหย่า ทั้งๆ ที่พวกเจ้าก็ไม่ปรารถนาในตัวนาง ทั้งนี้ เพื่อขัดขวางทาง มิให้แต่งงานกับชายอื่น เป็นการทรมานนาง เพื่อให้นางไถ่ตัวนางด้วยบางส่วนของมะฮัรที่พวกเจ้าได้ให้แก่นาง ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่กระทำกันในสมัยญาฮิลียะฮฺแล้ว อิสลามก็ไม่อนุมัติให้กระทำ

 

        จากสิทธิของนางอีกเช่นกัน ผู้ชาย (สามี) จะต้องรักษาเกียรติยศ ชื่อเสียงและ ไม่ทำร้ายนางด้วยการด่าว่า หรือดูถูกและก็อย่าได้ประจานความลับระหว่างเขาทั้งสอง (สามี-ภรรยา) ต่อหน้าผู้คน เขาจะต้องอดทนและสุภาพกับนาง ไม่โมโหง่าย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ สิทธิของสตรีที่จะได้รับจากผู้ชาย (สามี)

 


        ส่วนสิทธิของสามี ที่ภรรยาจะต้องปฏิบัติต่อสามีก็คือ การเชื่อฟังไม่มีการฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่ง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “บรรดาชายนั้นคือ ผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาหญิง เนื่องด้วยการที่อัลลอฮฺได้ทรงให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคน และด้วยการที่เขาได้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขา 

     บรรดากุลสตรีนั้นคือ ผู้จงรักภักดี ผู้รักษาในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ลับหลังสามี เนื่องด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักษาไว้

     และบรรดาหญิงที่พวกเจ้าหวั่นเกรงในความดื้อดึงของนางนั้น ก็จงกล่าวตักเตือนนางและทอดทิ้งนางไว้แต่ลำพังในที่นอน และจงเฆี่ยนนาง แต่ถ้านางเชื่อฟังพวกเจ้าแล้ว ก็จงอย่าหาทางเอาเรื่องแก่นาง แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้สูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกร

(อัน-นิซาอฺ 4 : 34)

 

         หมายความว่า ผู้ชายมีร่างกายกำยำ แข็งแรง มีความกล้าหาญเหนือกว่าผู้หญิง จึงเป็นผู้มีหน้าที่ทำการปกครองเลี้ยงดูบรรดาผู้หญิงให้ที่อยู่และอาหารการกิน

 

        จากสิทธิของสามีอีกเช่นกันก็คือ นางจะต้องรักษาเนื้อ รักษาตัวให้อยู่ในความบริสุทธิ์ และดูแลทรัพย์สินของสามีในช่วงเวลาที่เขาไม่อยู่ พร้อมทั้งรักษาความลับของเขาด้วย และห้ามอนุญาตให้ผู้อื่นเข้าบ้านของสามีเวลาที่สามีไม่อยู่ นอกจากสามีอนุญาตเท่านั้น และนางก็อย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และห้ามสวมใส่เสื้อผ้าที่ดูแล้วมันไม่ปกปิดเอาเราะฮของนาง และห้ามออกจากบ้านของนางนอกจากสามีอนุญาตเท่านั้น

 

        อิสลามนั้นมีเป้าหมายที่จะให้สามีภรรยานั้น ได้อยู่กันอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้การอบรมเลี้ยงดูบรรดาลูกของเขาทั้งสอง มีความสมบูรณ์มั่นคง ครอบครัวของเขาทั้งสองก็จะเติบโตขึ้นและอยู่ในระบบที่สมบูรณ์

 

          คำว่าครอบครัวนั้น ในอิสลามแล้วไม่เพียงคำว่า พ่อ แม่ ลูก เท่านั้น แต่ในอิสลามแล้วรวมไปถึง ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ลุง และญาติพี่น้องทั้งหมด

 

        แน่นอน อิสลามได้ให้แต่ละคนนั้น มีสิทธิและหน้าที่ที่แตกต่างกัน อิสลามได้ให้ระดับของสิทธิของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับความห่าง และความใกล้ชิดตามแต่ละสิทธิและหน้าที่ของแต่ละบุคคลเหมือนดังที่ให้สิทธิแก่ลูกๆ ต้องปฏิบัติต่อบิดามารดา ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้น และจงทำดีต่อบิดามารดา

(อัลอิสรออฺ 17 : 23)

 

        นักตัฟซีร กล่าวว่า การที่พระองค์ทรงกล่าวใช้ให้ทำดีต่อบิดามารดา หลังจากใช้ให้เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺเพียงองค์เดียว เป็นการแสดงให้เห็นถึงหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตร เพราะทั้งสองเป็นต้นเหตุแห่งการเกิด และการมีชีวิตอยู่ของเขา

 

        ดังที่กล่าวมานี้ เราจะพบว่าแต่ละคนที่เป็นสมาชิกของครอบครัวนั้นมีสิทธิและหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อให้สังคมมีความสงบสุข และชีวิตของเขาก็จะมีระบบระเบียบที่ดี ดังนั้น แต่ละคนก็จะได้รับความเมตตาด้วยการมีจิตใจที่สงบสุข และความรักใคร่ซึ่งกันและกัน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์ คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้า จากตัวของพวกเจ้าเอง

     เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนางและทรงให้มีความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า

     แท้จริงในการนี้ แน่นอนย่อมเป็นสัญญาณแก่หมู่ชนผู้ใคร่ครวญ

(อัรรูม 30 : 21)

 

        หมายความว่า คือ จากมนุษย์ด้วยกันเป็นเพศหญิง มิใช่จากจำพวกญินหรือสัตว์ มิฉะนั้นแล้วอาจจะเกิดความไม่เข้าใจ และความบาดหมางระหว่างกัน นับได้ว่าเป็นมหากรุณาธิคุณ และเป็นความเมตตาจากพระองค์ที่ทำให้สามีภรรยามีความรักใคร่และสงสารต่อมัน

 

        คำว่าครอบครัวในอิสลามมีความสำคัญอย่างมาก เพราะอิสลามถือว่าครอบครัวนั้นเป็นบันไดขั้นแรกที่จะทำให้สังคมมีแต่ความผาสุก ความสงบ และเมื่อครอบครัวดี ประชาชาติทั้งหมดก็ย่อมจะดีไปด้วย และเมื่อครอบครัวเสื่อมเสีย ประชาชาติทั้งหมดก็เสื่อมเสียไปด้วย เพราะเหตุนี้อิสลามจึงมีความต้องการให้มีการดูแลเอาใจใส่ ต่อบันไดขั้นนี้ เพื่อให้ความดีและความสุขสบายกลับมาสู่ครอบครัวและสังคม

 

        ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พ่อ แม่ ต้องให้ความเป็นธรรม ความรักต่อลูกๆ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ลำเอียง ไม่รักคนโต เกลียดคนเล็กหรือรักคนเล็ก เกลียดคนโต

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 18 ธันวาคม 2553