จงรำลึกถึงอัลลอฮ์ ทุกเวลา ทุกสถานที่
  จำนวนคนเข้าชม  14287


จงรำลึกถึงอัลลอฮ์ ทุกเวลา ทุกสถานที่

 

โดย อาจารย์ซัยนุ้ลอาบีดีน หวังภักดี

 

قال تعالى : { يَاأَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا اذْكُرُوا اللهَ ذِكْرًا كَثِيْرًا وَسَبِّحُوْهُ بُكْرَةً وَأَصِيْلاً }

 

     " บรรดาผู้ซึ่งที่อีหม่าน ศรัทธาแล้วทั้งหลาย สูเจ้าทั้งหลาย จงกล่าวสดุดี กล่าวซิเกรต่ออัลเลาะห์ตาอาลาให้มาก และจงกล่าวสดุดี สรรเสริญพระองค์ทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น "

 

พี่น้องที่เคารพรัก

 

           การซิเกร الذِّكْرُ คือการกระตุ้นลิ้น กระตุ้นจิตใจให้เกิดขึ้น ในการระลึกนึกถึงอัลเลาะห์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การกล่าวตักบีร تَكْبِيْرٌ คือคำว่า อัลลอฮุอักบัร ให้กล่าวตัสเบียะห์  تَسْبِيْحٌ คือคำว่า ซุบฮานั้ลลอฮิ ให้กล่าวซะนาอ์  ثَنَاءٌ  คือคำว่า อัลฮัมดุลิ้ลลาฮ์ ต่ออัลเลาะห์

          การกล่าวซิเกรตามเจตนารมณ์ของศาสนา ก็คือการทำให้จิตใจเกิดการระลึกนึกถึงอัลเลาะห์ องค์อภิบาลของเรา สำหรับการกล่าว การเปล่งเสียงออกมานั้น เป็นวิธีการที่จะนำไปสู่การระลึก เพราะฉะนั้น การเปล่งเสียงกล่าวอยู่เสมอ จึงทำให้จิตใจที่มีสมาธิ ได้ระลึกนึกถึงพระเจ้าอยู่เสมอ

 

          บุคคลที่ระลึกนึกถึงพระเจ้าอยู่เสมอนั้น ย่อมจะไม่กระทำการณ์อันเป็นบาป เป็นภัย เพราะจิตใจของเขานั้นอยู่กับพระเจ้า พระเจ้าใช้ก็ทำ พระเจ้าห้ามก็ย่อมไม่ทำ เพราะฉะนั้น ผลดีในการกล่าวซิเกร กล่าวซิกรุ้ลเลาะห์ ด้วยคำว่า อัลลอฮุอักบัร ซุบฮานั้ลลอฮ์ และอัลฮัมดุลิ้ลลาฮ์ จึงมีผลดีมาก มากเกินกว่าจะนำมากล่าว ที่นี้ได้ เพราะคนเรานั้น ถ้าชีวิต จิตใจอยู่กับพระเจ้า นึกถึงพระเจ้า แล้วเราจะต้องการอะไรอีก ? สวรรค์หรือครับ ได้อยู่แน่ (อินซาอัลเลาะห์) ทรัพย์สมบัติ เงินตราหรือ ย่อมไม่สำคัญ ขอให้มีจับจ่ายใช้สอย มีให้ครอบครัว ในฐานะผู้นำ ผู้รับผิดชอบ ก็เป็นการเพียงพอแล้ว เพราะโลกนี้เป็นเพียงทางผ่าน สถานพักพิงอันถาวรของเราก็คือ โลกหน้าอาคีเราะห์

 

          ส่วนความตาย ผู้มีซิเกรในหัวใจ ย่อมจะไม่กลัว เขาพร้อมเสมอ พร้อมที่จะกลับไปหาอัลเลาะห์ กลับไปสู่ชีวิตที่เป็นนิรันด์ ผิดกับเราท่าน ทุกครั้งที่เราละหมาด หรือในช่วงปกติธรรมดา เราจะขอต่อพระเจ้าว่า

اَللهُمَّ بَارِكْ لَنَا فِىْ أَعْمَارِنَا "โอ้พระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ได้ให้อายุขัยของข้าพระองค์ยืดยาว"

          นั่นเพราะอะไร ? ก็เพราะว่าเรายังไม่พร้อมที่จะตาย ความดียังมีน้อย ความโลภ ความหลง ความต้องการในทุกๆด้านยังมีมาก ยังชอบสนุก ยังชอบที่จะเห็นโลกในแง่มุมต่างๆ ซึ่งมันก็ดีที่เราขอให้มีอายุยืนยาว เพราะอย่างน้อย เรายังได้มีโอกาสแก้ตัว กลับตัวในยามที่เราแก่ชรา ในยามที่สังขารไม่อำนวยที่จะออกไปเผชิญกับโลก หันกลับมาสู่มัสยิด กลับมาสู่อ้อมอกอ้อมใจของศาสนา เรียกว่าขออยู่อีกสักนิด เพื่อการสักการะ เพื่อน้อมรับในสัจธรรม คำสั่งสอนของพระองค์  นั่นเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดของผู้สูงอายุ

 

         สำหรับเด็กหนุ่ม หรือชายฉกรรจ์ ที่เลือดกำลังข้นนั้น แน่นอนที่สุด ชีวิตยังต้องดิ้นรนต่อสู้ อยู่ในโลกอันกว้างใหญ่อีกมาก โอกาสในการสั่งสมความดี ก็มีมาก ช่องทางทำชั่ว ทำผิด ก็มีไม่น้อย เผลอไผลสภาพเหตุการณ์ย่อมพาไป ดีบ้าง ชั่วบ้าง ย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น และถือเป็นความเคยชิน แต่จะอย่างไรก็ตาม พยายามทำดี ทำสิ่งที่ถูกต้องให้มากกว่าทำชั่ว ก็แล้วกัน จะเป็นทางที่ดีที่สุด อันไหนผิด อันไหนไม่ถูก อันไหนดี อันไหนไม่ดี พยายามยังยั้งช่างใจเอาไว้ อายุมากขึ้น เลือดจางลง แก่ตัวมากขึ้น ก็จะเข้าทางได้เอง

          มนุษย์เรานั้น โดยธรรมชาติแล้ว ก็น่าเห็นใจ เพราะถูกสร้างขึ้นมา โดยถูกสอดใส่ ถูกบรรจุความโลภ ความหลง ความอยาก ความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความอิจฉาริษยา และความต้องการเข้าไปด้วย ก็ย่อมเป็นการยากที่จะทำดีได้ทุกอย่าง ดีหมดย่อมไม่ใช่มนุษย์ ชั่วหมดก็ย่อมไม่ใช่มนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์เราต้องมีทั้งดีและชั่ว แต่ถ้าดีมากกว่าชั่ว ย่อมเป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้ว

อัลเลาะห์ตาอาลาทรงกล่าวไว้ว่า

 

 { إِنَّ النَّفْسَ لأَمَّارَةٌ بِالسُّوْءِ

 

" อันชีวิต จิตวิญญาณของมนุษย์นั้น ถูกกระตุ้น ถูกรบเร้าให้ทำความชั่ว "

 

          เพราะฉะนั้น โดยพื้นฐาน คนเราจะดีหมดย่อมเป็นไปไม่ได้ ย่อมมีผิด มีพลาดบ้าง เป็นธรรมดา อิสลามรู้พื้นฐานของมนุษย์ จึงได้แนะนำ กำหนดกฎเกณฑ์ วางแนวทางและการชี้นำให้มนุษย์อย่างเราท่าน ได้ประคับประคองชีวิต การเป็นอยู่ในโลกให้ตลอดรอดฝั่งด้วยดี

          แต่จะอย่างไรก็ตาม เราท่านจะแก่หรือหนุ่มไม่สำคัญ ถ้าชีวิตจิตใจของเราอยู่กับอัลเลาะห์ อยู่ในการซิเกรต่ออัลเลาะห์ โอกาสที่จะผิดพลาดนั้นย่อมมีน้อย ดังนั้น อัลเลาะห์จึงให้เราได้กล่าว ซิเกร ให้มาก เพื่อชีวิตของเราจะได้อยู่กับพระองค์ ช่วงหนึ่งของอายะห์อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า 

 

{ فَاذْكُرُوْنِيْ أَذْكُرْكُمْ

 

      "ดังนั้นสูเจ้าจงระลึกนึกถึงเรา (โดยการตอบรับโองการของพระองค์)

     เราจะระลึกนึกถึงพวกเจ้า (โดยจะให้พวกเจ้าได้รับเนียะอ์มะห์ของเรา)"

 

      จงระลึกนึกถึงเราด้วยความกลัวเกรง เราจะระลึกนึกถึงพวกเขา ด้วยการให้พวกเขาอยู่ในความปลอดภัย 

อีกอายะห์หนึ่ง กล่าวชี้นำให้เห็นผลของการซิเกรว่า

 

{ اَلَّذِيْنَ آمَنُوْا وَتَطْمَئِنُّ قُلُوْبُهُمْ بِذِكْرِ اللهِ أَلاَ بِذِكْرِ اللهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوْبُ }

 

     " บรรดาผู้ซึ่งมีอีหม่านศรัทธา และจิตของเรามีสมาธิด้วยการกล่าวสดุดี กล่าวระลึกนึกถึงอัลเลาะห์ ก็ขอให้ทราบเถิดว่า การสดุดีระลึกนึกถึงอัลเลาะห์นั้น ย่อมก่อเกิดจิตใจที่สงบนิ่งและมีสมาธิ "

 

     ท่านอิบนุอับบาส  กล่าวไว้ในเรื่องการซิเกรว่า

 

( جَعَلَ اللهُ تَعَالَى لِجَمِيْعِ الْعِبَادَاتِ أَوْقَاتًا مُحَدَّدَةً وَلَمْ يَرْضَ مِنَ الذِّكْرِ إِلاَّ بِكَثِيْرٍ مِنْ غَيْرِ تَحْدِيْدٍ ، فَقَالَ عَزَّ شَأْنُهُ اُذْكُرُوا اللهَ ذِكْرًا كَثِيْرًا )

 

     “อัลเลาะห์ได้ให้การทำอิบาดะห์ทั้งหมด มีเวลาที่จำกัด แต่ไม่ยินยอมให้จำกัดเวลาในการกล่าวสดุดี คือให้กล่าวได้ทุกเวลา กล่าวให้มาก

 

          ดังคำดำรัสของอัลเลาะห์ตาอาลาที่ว่า ท่านทั้งหลายจงกล่าวสดุดี ซิเกร ต่ออัลเลาะห์ให้มากๆ 

 

          ครับท่านที่รัก ... การกล่าวซิเกรนั้น ทำให้จิตใจสะอาด ไม่คิดมาก เป็นคำกล่าวที่ไม่หนักลิ้น หนักปาก แต่มีผลบุญมาก เป็นคำกล่าวที่มีผลไปในทางการนอบน้อมต่อพระเจ้า เป็นคำที่ประเสริฐสุด ดุจดังความประเสริฐของอัลเลาะห์ต่อทุกสรรพสิ่งในโลก ท่านร่อซู้ล ได้กล่าวเปรียบเทียบในการกล่าวซิเกรไว้ว่า

 

( مَثَلُ الَّذِيْ يَذْكُرُ اللهَ وَالَّذِيْ لاَ يَذْْكُرُ اللهَ كَمَثَلِ الْحَيِّ وَالْمَيِّتِ )

 

     "คนที่กล่าวสดุดี กล่าวระลึกนึกถึงอัลเลาะห์ กับคนที่ไม่ได้กล่าวสดุดี ไม่กล่าวถึงการระลึกนึกถึงอัลเลาะห์ เทียบกันแล้ว อุปมาอุปมัยคล้ายกับคนเป็นกับคนตาย" 

 

     จากมารดาของท่านอะนัส เธอเล่าว่า เธอได้ถามท่านร่อซู้ลว่า

 

( يَا رَسُوْلَ اللهِ أَوْصِنِيْ قَالَ : اُهْجُرِي الْمَعَاصِيْ فَإِنَّهَا أَفْضَلُ الْهِجْرَةِ وَحَافِظِيْ عَلَى الْفَرَائِضِ فَإِنَّهَا أَفْضَلُ الْجِهَادِ وَاَكْثِرِيْ مِنْ ذِكْرِ اللهِ فَإِنَّكَ لاَ تَأْتِيْنَ اللهَ بِشَيْءٍ أَحَبَّ إِلَيْهِ مِنْ ذِكْرِهِ )

 

     โอ้ท่านร่อซู้ลุ้ลเลาะห์ โปรดแนะนำฉัน สั่งสอนฉัน

     ท่านจึงแนะนำว่า เธอจงละทิ้ง และออกห่างไกลจากความชั่ว เพราะนั่นเป็นทางที่ดีที่สุดในการโยกย้าย ปรับสภาพและฐานะความเป็นอยู่

     และเธอจงระวังรักษาตัวให้ดี ต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็น เพราะนั่นเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดของการดิ้นรนต่อสู้ ในวิถีทางของอัลเลาะห์

     และจงพึงระลึกถึงอัลเลาะห์ให้มาก 

 

          และโดยที่การกล่าวซิเกร เป็นคำกล่าวสดุดี สรรเสริญต่อหน้าองค์อัลเลาะห์ การกล่าวจึงควรกล่าวให้สมบูรณ์ ถูกต้อง กล่าวให้เหมือนกับอยู่ต่อหน้าพระองค์จริงๆ ดังอายะห์ที่ว่า

 

{ أَلَمْ يَأْنِ الَّذِيْنَ آمَنُوْا أَنْ تَخْشَعْ قُلُوْبُهُمْ لِذِكْرِ اللهِ }

 

     " แด่บรรดาผู้มีอีหม่านศรัทธา ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือ ที่จิตใจของเขาจักต้องมีความนอบน้อม เพื่อการกล่าวซิเกรต่ออัลเลาะห์ (กล่าวสดุดี สรรเสริญต่อพระองค์)

 

          การกล่าวซิเกรที่ถูกต้องก็คือ จะต้องเข้าใจความหมายของการซิเกร เพราะว่าผลบุญที่เรากล่าวจะมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการเข้าใจความหมาย จะต้องกล่าวให้สมบูรณ์ที่สุด มีจังหวะการหยุดและการเริ่ม ไม่ใช่กล่าวเหมือนกับการที่เราท่านกล่าวกันทุกวัน โดยเฉพาะหลังละหมาด เห็นกล่าวกันมั่วไปหมด เร็วจนฟังไม่รู้เรื่อง มันคลาดเคลื่อนทั้งอักขระ ตัวอักษรและสำเนียง อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง ควรจะปรับปรุงกันเสียใหม่ ต่อหน้าพระพักต์ของพระเจ้า ท่านกล่าวกันอย่างนั้นสมควรหรือ ? อ่านดุอา อ่านยาซีน อ่านอะไรก็แล้วแต่ ให้ชัดถ้อยชัดคำ ให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ ไม่ใช่ได้ปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ

 

          จะอย่างไรก็ตาม การกล่าวซิเกร เป็นอิบาดะห์รูปแบบหนึ่งที่ไม่จำกัดลักษณะท่าทางการกล่าว จะยืน จะนั่ง จะนอน ก็ย่อมทำได้ อัลเลาะห์ทรงกล่าวไว้ว่า

 

{ اَلَّذِيْنَ يَذْكُرُوْنَ اللهَ قِيَامًا وَقُعُوْدًا وَعَلَى جُنُوْبِهِمْ وَيَتَفَكَّرُوْنَ فِيْ خَلْقِ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ رَبَّنَا مَا خَلَقْتَ هذَا بَاطِلاً سُبْحَانَكَ فَقِنَا عَذَابَ النَّارِ }

 

     " บรรดาผู้ซึ่งที่ได้กล่าวซิเกร กล่าวสดุดี สรรเสริญอัลเลาะห์ จะในลักษณะยืน นั่ง นอนตะแคง (และในทุกสถานที่) แล้วก็พินิจพิจารณาไตร่ตรองในการสร้างฟ้า สร้างแผ่นดินของพระองค์ ก็จะพูดว่า

     โอ้พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ท่านไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเป็นการสูญเปล่า (หรือเบี่ยงเบนไปในทางเสียหาย นอกจะชี้ถึงความประณีตในอำนาจการสร้างของท่าน)

     พระองค์เท่านั้นทรงอำนาจ ซึ่งสมควรแล้วที่จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ขอพระองค์ได้ปกป้องรักษาข้าพระองค์ ให้พ้นจากการถูกลงทัณฑ์ในขุมนรก "

 

ในอัลหะดีษอัลกุดซีย์ บทหนึ่งกล่าวว่า

 

( مَنْ شَغَلَهُ ذِكْرِيْ عَنْ مَسْأَلَتِيْ أَعْطَيْتُهُ أَفْضَلُ مِمَّا أُعْطِيَ السَّائِلِيْنَ )

 

     "ผู้ใดฝักใฝ่อยู่กับการระลึกนึกถึงเรา สดุดี สรรเสริญเรา จนลืมที่จะทำตนเป็นผู้ร้องขอต่อเรา เราจะให้ผู้นั้นมากกว่าและดีกว่าสิ่งที่เราให้แก่ผู้ร้องขอ (แม้ว่าเขาผู้นั้นจะไม่ร้องขออะไรจากเราเลย)"

 

 

โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์ (บ้านดอน)