เด็กกำพร้า
  จำนวนคนเข้าชม  24596


เ ด็ ก กำ พ ร้ า

 

โดย อาจารย์อามีน สมันเลาะ

 

          พี่น้องที่รักทั้งหลาย เมื่อเราพูดถึงเรื่องเด็กกำพร้านั้น เป็นเรื่องสำคัญมากในศาสนาอิสลาม ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ใช้ให้เราเอาใจใส่ในเรื่องนี้ให้มาก และท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ส่งเสริมไว้อย่างมากมายเช่นเดียวกัน

 

หัวข้อที่เราจะพูดถึงมีมาก เช่น

* เด็กกำพร้าในหลักการของอิสลามคืออะไร?

* การช่วยเหลือเด็กกำพร้าเป็นหน้าที่ของใคร?

* บทบาทของแม่ต่อการเลี้ยงดูเด็กกำพร้า

* ความประเสริฐของการอุปการะเด็กกำพร้า

* เราจะจัดการกับทรัพย์สินของเด็กกำพร้าอย่างไร?

 

เด็กกำพร้าในหลักการของอิสลาม คืออะไร

 

          คำว่ากำพร้าในอิสลาม หมายถึง บุคคลที่พ่อของเขาเสียชีวิตขณะที่เขายังไม่บรรลุศาสนภาวะ ไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้จ่ายทรัพย์สิน แต่ถ้าโตพอที่จะแยกแยะได้ว่า อะไรคือความชั่วหรือความดี และรู้จักการใช้จ่ายทรัพย์สินได้อย่างเหมาะสม ตามทัศนะที่ถูกต้อง อิสลามไม่นับว่าเขาเป็นเด็กกำพร้า 

           หรือบางทีคำว่ากำพร้าอาจหมายถึง บุคคลที่พ่อแม่เสียชีวิต ทั้งคู่ ซึ่งจะมีผลทางจิตใจมากกว่า คือ ขาดบิดาผู้เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และขาดมารดาผู้เป็นกำลังใจ และขาดความอบอุ่น ทำให้เขาต้องอยู่ในความดูแลของผู้เป็นย่า ยาย หรือญาติคนอื่นๆ บางคนอาจมี ความเป็นอยู่ที่ยากจนข้นแค้น ชีวิตมีความทุกข์ยาก ขาดอาหารที่มีประโยชน์ ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดสภาพแวดล้อมที่ดี ที่จะหล่อหลอมให้เขาเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ แต่เด็กกำพร้าบางคนก็มีฐานะดี

 

การช่วยเหลือเด็กกำพร้าเป็นหน้าที่ของใคร

 

           อิสลามมุ่งเน้นให้มุสลิมสนใจต่อเด็กกำพร้า เพราะพวกเขาเหล่านั้น กำลังรอคอยการช่วยเหลือ ความเอ็นดูเมตตาของผู้ที่เป็นพี่น้องมุสลิม ผู้ที่จำเป็นต้องช่วยเหลือ คือ ผู้ที่ใกล้ชิดเขาที่สุด หากไม่สามารถ ก็คนถัดมา หากยังไม่สามารถหรือไม่มี ก็คือผู้ที่รู้ข่าวคราวจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนและสังคมเดียวกัน

          การช่วยเหลือเด็กกำพร้า หมายถึง การเลี้ยงดูให้อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม การมอบความรัก ความอบอุ่น การช่วยเหลือในเรื่องความจำเป็นของชีวิต การศึกษา ศาสนา วิชาชีพ การหล่อหลอม ขัดเกลาชีวิตของเขาให้อยู่ในครรลองของศาสนา รวมไปถึงการดูแลทรัพย์สินของเด็กกำพร้า และการหาคู่ชีวิตที่เหมาะสม

 

บทบาทของแม่ต่อการเลี้ยงดูเด็กกำพร้า 

 

          เมื่อครอบครัวใดก็ตามที่ขาดพ่อ ก็เท่ากับขาดเสาหลักของครอบครัวไป ภาระหน้าที่จึงตกมาเป็นของผู้เป็นแม่ ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวเหล่านี้ มักประสบกับปัญหามากมาย เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านจริยธรรมและด้านสังคม ซึ่งขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของผู้เป็นแม่ โดยที่ลูกจะเป็นผู้มีมารยาทดี มีสัมมาคารวะ หรือเป็นผู้ก้าวร้าว ก็ขึ้นอยู่กับแม่เป็นหลัก 

           เมื่อแม่เป็นบุคคลที่สำคัญกับลูกมาก แม่จึงต้องตระหนักถึงหน้าที่ และมีความพร้อมต่างๆ คือ ต้องยอมรับและอดทนต่อบททดสอบของอัลลอฮฺ เมื่อยอมรับและอดทน ก็ทำให้เกิดกำลังใจ มีกำลังที่จะต่อสู้กับชีวิต โดยไม่ย่อท้อและหมดหวัง และต้องให้ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมระหว่างลูกๆ ต้องไม่แสดงออกอย่างชัดเจน เพราะจะทำให้มีปัญหาระหว่างกัน

 

ความประเสริฐของการอุปการะเด็กกำพร้า 

 

           เด็กกำพร้านั้น ได้ถูกกล่าว่ไว้ในฮะดิษและอัลกุรอานมากมาย ดังเช่นในฮะดิษของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

          รายงานจาก ซะฮลฺ บุตร ซะอฺด กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “ฉันและผู้อุปการะเด็กกำพร้าจะได้อยู่ในสวรรค์เช่นนี้ แล้วท่านร่อซูลได้ชูนิ้วชี้และนิ้วกลางขึ้น แล้วแยกออกจากกันเล็กน้อย

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ อบูดาวูด และอัตติรมิซีย์)

 

          จากท่าน อบีฮุรอยเราะฮฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “ผู้ให้การสงเคราะห์ต่อเด็กกำพร้า ไม่ว่าจะเป็นญาติใกล้ชิดหรือคนอื่นๆ ที่มิใช่ญาติสนิทก็ตาม ฉันกับเขาจะอยู่ใกล้ชิดกันในสวรรค์เช่นเดียวกับสองนิ้วนี้ และท่านได้ยกนิ้วชี้กับกลางขึ้น

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

 

           จาก อิบนุ อับบาส ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “ผู้ใดก็ตามที่นำเด็กกำพร้าที่ขาดพ่อแม่ไปเลี้ยงอาหารและน้ำ อัลลอฮฺจะให้เขาได้เข้าสวรรค์อย่างแน่นอน ยกเว้นเขาผู้นั้นจะทำความผิด ที่ไม่ได้รับการอภัยโทษ

(บันทึกโดย อิมาม อัตติรมิซีย์ และท่านกล่าวว่า เป็นฮะดิษซอเฮี๊ยะฮฺ)

 

           จาก อบีฮุรอยเราะฮฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “บ้านที่ดีที่สุดของบรรดามุสลิม คือ บ้านที่มีเด็กกำพร้า และเขาได้ทำดีต่อเด็กกำพร้า

     และบ้านที่เลวร้ายที่สุดของบรรดามุสลิม คือ บ้านที่มีเด็กกำพร้านั้น ถูกทำร้าย ถูกอธรรม

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

           จากอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “ผู้ใดที่ครอบครัวของเขามีเด็กกำพร้า 3 คน ประหนึ่งเขาจะต้องทำงานในตอนกลางคืน และถือ ศีลอดในตอนกลางวัน และออกไปแสวงหา (ริสกี) ในหนทางของอัลลอฮฺ

(บันทึกโดย อิบนิ มาญะฮฺ)

 

           จากฮะดิษทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ชี้ให้เห็นว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลเด็กกำพร้านั้น เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน และในคัมภีร์อัลกุรอานยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับลูกกำพร้าไว้หลายประการ เช่น การทำดีต่อเด็กกำพร้าเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ที่เป็นคำบัญชาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังอายะฮฺที่ว่า

 

     “จงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่าให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์ และจงทำดีต่อ ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง และต่อผู้เป็นญาติใกล้ชิด เด็กกำพร้า ผู้ขัดสนและเพื่อนบ้านใกล้เคียง และเพื่อนบ้านที่ห่างไกล และเพื่อนบ้านที่อยู่เคียงข้าง และผู้เดินทาง และผู้ที่มือขวาของพวกเจ้าครอบครอง แท้จริง อัลลอฮฺ ไม่ทรงชอบผู้ยโส ผู้โอ้อวด

(อันนิซาอฺ 4 : 36)

 

          การมีเมตตาต่อเด็กกำพร้าเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ศรัทธา ส่วนผู้ที่ขับไล่เป็นผู้ปฏิเสธต่อวันแห่งการตัดสิน ดังอายะฮฺที่ว่า

 

เจ้าเห็นแล้วมิใช่หรือ ผู้ที่ปฏิเสธการตอบแทนในอาคิเราะฮฺนั้นคือผู้ที่ขับไล่เด็กกำพร้า

(อัลมาอูน 107 : 1-2)

 

          การให้การอุปการะเด็กกำพร้า เป็นผลบุญอันยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะทรงทำให้ ผู้อุปการะรอดพ้นจากไฟนรก และได้เข้าสวรรค์ ดังอายะฮฺที่ว่า

 

     “และพวกเขาให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เรามิได้หวังการ ตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด

     แท้จริง เรากลัวต่อพระเจ้าของเรา ซึ่งเป็นวันแห่ง การหน้านิ่วคิ้วขมวดอันแสนสาหัส

     ดังนั้น อัลลอฮฺจะทรงปกป้องพวกเขาให้พ้นจากความชั่วร้ายของวันนั้น และจะทรงให้พวกเขาพบกับความสดชื่นและความปิติ

(อัลอินซาน 76 : 8 – 11)

 

เราจะจัดการกับทรัพย์สินของเด็กกำพร้าอย่างไร

 

           อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงรักษาสิทธิต่างๆ ของเด็กกำพร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิทางด้านทรัพย์สิน โดยห้ามละเมิด ซึ่งมีหลักฐานจากอัลกุรอานมากมาย เช่น ผู้ที่ดูแลหรือรับผิดชอบเด็กกำพร้านั้น จะต้องรักษาผลประโยชน์ของเด็กกำพร้า เกี่ยวกับทรัพย์สินของเขาให้ได้มากที่สุด ดังอายะฮฺที่ว่า

 

และจงอย่ากินทรัพย์สินนั้นโดยฟุ่มเฟือย

(อันนิซาอฺ 4 : 6)

 

          อนุญาตให้ทำการค้าด้วยทรัพย์สินนั้น หรือเป็นหุ้นส่วนในกรณีที่เห็นว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กกำพร้า ดังอายะฮฺที่ว่า

 

     “และพวกเขาถามเจ้าเกี่ยวกับบรรดาเด็กกำพร้า (มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า การปรับปรุงแก้ไขใดๆ ให้แก่พวกเขานั้นเป็นสิ่งที่ดี

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 220)

 

           การแก้ไขในที่นี้ หมายถึง การปรับปรุงฟื้นฟูด้านทรัพย์สินด้วยการทำการค้า หรือการร่วมลงทุน เพื่อให้ทรัพย์สินงอกเงยเป็นประโยชน์

          อนุญาตให้ผู้เลี้ยงดูเด็กกำพร้า ใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว ด้วยทรัพย์สินเด็กกำพร้าได้ด้วยคุณธรรม คือ ไม่เกินพอดีตามความจำเป็นของชีวิต หากผู้เลี้ยงดูนั้นเป็นผู้ยากจน ดังอายะฮฺที่ว่า

 

     “และอย่ากินทรัพย์สินนั้นโดยฟุ่มเฟือย และรีบเร่งก่อนที่พวกเขาจะเติบโต และผู้ใดที่มั่งมีก็จงงดเว้นเสีย และผู้ใดที่ยากจนก็จงกินโดยชอบธรรม

(อันนิซาอฺ 4 : 6)

 

ห้ามกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้า หมายถึง ห้ามเอาทรัพย์สินของเด็กกำพร้าไม่ว่าจะเป็นการกิน หรือใช้จ่ายโดยไม่เป็นธรรม ดังอายะฮฺที่ว่า

 

     “แท้จริง ผู้ที่กินทรัพย์สินของเด็กกำพร้าด้วยความอธรรมนั้น แท้จริง พวกเขากินไฟเข้าไปในท้องของพวกเขาต่างหาก และพวกเขาก็จะเข้าสู่เปลวไฟ

(อันนิซาอฺ 4 : 10)

 

ห้ามสับเปลี่ยนทรัพย์ และปนทรัพย์ของเขากับทรัพย์สินของเด็กกำพร้า ดังโองการที่ว่า

 

     “และจงให้แก่บรรดาเด็กกำพร้า ซึ่งทรัพย์สมบัติของพวกเขา และอย่าเปลี่ยนเอาของเลวด้วยของดี และจงอย่ากินทรัพย์ของพวกเขาร่วมกับทรัพย์ของพวกเจ้า แท้จริง มันเป็นบาปอันยิ่งใหญ่

(อันนิซาอฺ 4 : 2)

 

     “และพวกเจ้าอย่าเข้าใกล้ทรัพย์สินของเด็กกำพร้า เว้นแต่ โดยวิธีที่ดียิ่ง จนกว่าเขาจะบรรลุนิติภาวะ และจงให้ครบตามสัญญา แท้จริงสัญญานั้นจะถูกสอบสวน

(อัลอิสรออฺ 17 : 34)

 

          สิ่งที่กล่าวมานี้ ทำให้เรารู้ว่า อัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ให้ความสำคัญต่อการอุปถัมภ์ และการให้ความสนใจต่อเด็กกำพร้าอย่างมากทีเดียว เสมือนดังอิสลามให้กำหนดกฎเกณฑ์ต่อประชาคมมุสลิม ให้เรารักษาสิทธิของเด็กกำพร้า การให้ความเอ็นดูเมตตาต่อเด็กกำพร้าจะได้รับผลบุญมากมาย แม้เพียงการเอาใจใส่ต่อความเดือดร้อนของพวกเขา การยิ้มแย้มต่อพวกเขาและแม้การลูบศีรษะของพวกเขา ให้เขาคิดว่า ถึงแม้เขาจะขาดพ่อไป แต่ยังมีพี่น้องมุสลิมอีกมากมายที่เปรียบเสมือนพ่อของเขา คอยดูแลเมตตา ให้เขามีความอบอุ่น เพื่อเขาจะได้ไม่รู้สึกเป็นปมด้อย หรือเป็นปัญหาให้กับสังคม

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 16 มกราคม 2559