การใช้ถ้อยคำสุภาพต่อลูก
  จำนวนคนเข้าชม  3870


การใช้ถ้อยคำสุภาพต่อลูก

 

อับดุลวาเอด สุคนธา

 

          ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่เน้นหนักในเรื่องการมีมารยาทที่ดีงามในทุก ด้าน เช่น ว่าด้วยเรื่องครอบครัว การให้เกียรติผู้ใหญ่ ว่าด้วยเรื่องระหว่างสามีภรรยา เป็นต้น การมีมารยาทที่ดีและมีสัมมาคารวะ ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคุณธรรมที่ดีของคนทั่วโลกและ ทุกๆศาสนา การมีมารยาทที่ดีจะเป็นการสื่อสารหนึ่งในการเผยแพร่ศาสนาให้คนต่างศาสนิกได้เห็นว่า อิสลามนั้นเน้นหนักในเรื่องของการมีมารยาทว่ามีความสำคัญอย่างไร 

 

          หลายโองการในคำภีร์อัลกรุอ่าน ได้พูดถึงเรื่องมารยาท ในภาคสังคมในการใช้ชีวิตในด้านต่างๆที่หลากหลาย เช่น การใช้คำพูดที่ดี สุภาพ อ่อนโยน อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า

 

وَإِذَا خَاطَبَهُمُ الْجَاهِلُونَ قَالُوا سَلَامًا ﴿٦٣ الفرقان﴾

 

และเมื่อพวกเขาโง่เขลากล่าวทักทายพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า ศานติ หรือสลาม

 

لَا يَسْمَعُونَ فِيهَا لَغْوًا إِلَّا سَلَامًا ﴿٦٢ مريم﴾

 

พวกเขาจะไม่ได้ยินสิ่งไร้สาระในนั้น นอกจากคำทักทายที่เป็นศานติ

 

إِذْ دَخَلُوا عَلَيْهِ فَقَالُوا سَلَامًا قَالَ سَلَامٌ قَوْمٌ مُنْكَرُونَ ﴿٢٥ الذاريات﴾

 

เมื่อพวกเขาได้เข้ามาหาเขา (อิบรอฮีม) พวกเขากล่าวว่า ศานติ 

เขากล่าวว่า(ตอบ) ว่าศานติ (พวกท่านเป็น)หมู่ชนผู้แปลกหน้า

 

فَقُولَا لَهُ قَوْلًا لَّيِّنًا لَّعَلَّهُ يَتَذَكَّرُ أَوْ يَخْشَىٰ طه 44

 

แล้วเจ้าทั้งสองจงพูดกับเขาด้วยคำพูดที่อ่อนโยน บางทีเขาอาจจะรำลึกขึ้นมา หรือเกิดความยำเกรงขึ้น

 

           ขนาดคนโอหังอย่างฟาโรห์ อัลลอฮทรงสั่งกำชับให้ท่านนบีมูซา อะลัยฮิสลาม พูดจาอ่อนโยน มีสุภาพ เพราะการพูดจาดี จะสามารถดึงใจคนฟัง ให้รับฟังในสิ่งที่เราพูดได้ดี แม้ว่าเขานั้นจะเป็นคู่อริกับเราก็ตาม

       คำพูดของท่านนบี ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้มีความว่า

 

إنما بعثت لأتمم مكارم الأخلاق

 “แท้จริงแล้ว ฉันถูกส่งมาเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับมารยาทที่ดี” 

(รายงานโดยอะหฺมัด)

لَيْسَ مِنَّا مَنْ لَمْ يُوَقِّرْ كَبِيرَنَا ، وَيَرْحَمْ صَغِيرَنَا ،

ไม่ใช่พวกเรา ผู้ที่ไม่เมตตาและเอ็นดูเด็กๆ และผู้ที่ไม่ให้เกียรติผู้ใหญ่” 

(รายงานโดย อัต-ติรมิซีย์)

 

          สุภาพ คือ เรียบร้อย อ่อนโยน ละมุนละม่อม มีกิริยามารยาทที่ดีงาม มีสัมมาคารวะ ผู้ที่มีความสุภาพ คือ ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ ไม่ก้าวร้าว รุนแรง วางอำนาจข่มผู้อื่น

 

รายงานจากท่านญาบีร กล่าวว่า ท่านนบีกล่าวว่า

«مَنْ يُحْرَمِ الرِّفْقَ يُحْرَمِ الْخيْرَ» 

ใครไม่มีความเมตตา อ่อนโยนแล้ว แน่นอน เขานั้นเป็นคนที่ไม่มีความดีอยู่เลย

( บันทึก มุสลิม)

 

          หนึ่งในหน้าที่สำคัญของพ่อแม่นั้นคือการอบรมเลี้ยงดูลูกน้อยให้เจริญเติบโตด้วยกับการมีมารยาทและคุณธรรมของศาสนาอิสลาม สอนให้ลูกมีมารยาทที่ดีและให้เกียรติพ่อแม่และคนอื่นๆ บางคนคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว รอให้ลูกโตก่อนค่อยสอน แต่ที่จริงแล้ว เราสามารถสอนเขาได้ตั้งแต่เยาว์วัย บางครั้งอาจจะไม่ได้สอนด้วยคำพูด ปากเปล่า แต่ เราสอนด้วยกับความเข้าใจ คือพ่อแม่สามารถปฏิบัติให้ลูกเห็นก่อน ด้วยการเคารพสิทธิและคำพูดของลูก ไม่ก้าวกร้าวในการใช้คำพูด ตะคอกใส่ลูก หรือพูดเสียงดังกับคนอื่นต่อหน้าลูก

 

          หน้าที่ลำดับแรกของ พ่อแม่จะต้องพูดจาที่ดี ถ้อยคำที่สุภาพต่อบรรดาลูก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ผู้ทรงเมตตาและ อ่อนโยนกับบรรดาเด็ก 

 

      รายงานจาก ท่านหญิงอาอิชะฮ์ มารดาของบรรดาผู้ศรัทธาปรากฏว่าครั้งเมื่อทารกน้อยถูกนำมาให้ท่านนบี ท่านก็ขอให้มีความศิริมงคล และทำการเปิดปาก ต่อจากนั้นก็ขอดุอาอฺให้

( บันทึก บุคอรีย์)

 

      รายงานจากท่าน อะนัส กล่าวว่าเวลาท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไปเยี่ยมเยียนชาวอันศอรฺ ท่านจะกล่าวทักทายบรรดาเด็กๆด้วยสลาม แล้ว ลูบศรีษะของเด็กๆเหล่านั้น” 

(บันทึกโดย นาซาอีย์)

 

♦ บ่อยครั้งที่ท่านนบีนั้นจะหอม จูบ ท่านฮะซันและฮูเซนและละเล่นกับเด็กทั้งสอง

♦ ท่านนบีเคยอุ้มเด็กผู้หญิงนามหนึ่งชื่อว่า ฮุมามะฮฺในขณะที่ท่านนั้นละหมาด

     ฉะนั้นผู้เป็นบิดามารดาสมควรอย่างยิ่งที่จะอบรมสั่งสอนด้วยมารยาทที่ดี ควรเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อที่จะให้ลูกๆนั้นปฏิบัติตาม

 

          เรามาดูแบบอย่างของเหล่าบรรดานบีก่อนหน้านี้ ซึ่งพวกเขานั้นใช้ถ้อยคำที่สุภาพกับบรรดาลูกๆของพวกเขาอย่างไร ?

 

ท่านนบีนูหฺ พูดกับลูก

 

          ท่านนบีนูหฺก็เรียกศรัทธาชนให้ขึ้นบนเรือ แต่ในขณะนั้นลูกของตัวเองกลับปฏิเสธไม่ยอมขึ้นเรือ และไม่ยอมเชื่อในสิ่งที่พ่อบอก และยังดื้อดึง โดยท่านกล่าวกับลูกรักว่า

 

يَا بُنَيَّ ارْكَب مَّعَنَا وَلَا تَكُن مَّعَ الْكَافِرِينَ

 

โอ้ลูกของฉันเอ๋ย ! จงมาโดยสารเรือกับเราเถิด และเจ้าอย่าอยู่ร่วมกับผู้ปฏิเสธศรัทธาเลย

[ฮูด:43]

ต่อให้ลูกชายดื้อดึง แค่ใหน ผู้เป็นพ่อยังใช้ถ้อยคำที่สุภาพ อ่อนโยนกับลูก

 

ท่านนบี อิบรอฮีม อะลัยฮิ สลาม พูดกับลูก

 

فَلَمَّا بَلَغَ مَعَهُ السَّعْيَ قَالَ يَا بُنَيَّ إِنِّي أَرَىٰ فِي الْمَنَامِ أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانظُرْ مَاذَا تَرَىٰ ۚ قَالَ يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ ۖ سَتَجِدُنِي إِن شَاءَ اللَّـهُ مِنَ الصَّابِرِينَ سورة الصافات 102

 

     “ครั้นเมื่อเขา (อิสมาอีล) เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขา(อิบรอฮีม)ได้แล้ว 

     อิบรอฮีมได้กล่าวขึ้นว่าโอ้ลูกเอ๋ย ! แท้จริงพ่อได้เห็นในขณะฝันว่า พ่อได้เชือดเจ้า จงคิดดูซิว่าเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร? “

     เขากล่าวว่าโอ่พ่อจ๋า ! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่า ฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน

 

          เรื่องราวของนบีอิบรอฮีมกับลูกของท่านที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอยู่ในซูเราะฮฺมัรยัม เราได้เห็นตัวอย่างของลูกที่พูดดีกับพ่อ เตือนพ่ออย่างสุภาพในสิ่งที่เป็นสัจธรรมเป็นความดี แต่ลูกบางคนพูดว่าดูสิ พ่อฉันไม่ยุติธรรมเลย ซื้อรถให้ลูกทุกคน แต่ฉันยังไม่ได้ ฉันต้องไปเตือนพ่อว่าทำแบบนี้เป็นผู้อธรรมนะ ระวังจะเข้านรกนะสมควรหรือที่จะตักเตือนเรื่องรถ แต่เรื่องที่เป็นสัจธรรม เช่น พ่ออาจจะไม่ละหมาด ลูกกลับไม่สนใจ ไม่สนว่าพ่อจะเข้านรก แต่ถ้าพ่อไม่ให้รถเอาตายเลย แบบนี้ไม่เรียกว่าข้อตักเตือน การตักเตือนนั้นต้องพูดในสิ่งที่เป็นสัจธรรม เป็นความดีกับบิดาของเขา นี่คือสิ่งที่ศาสนาสนับสนุน ท่าน นบีอิบรอฮีมก็พูดกับบิดาของท่านอย่างดี อัลลอฮฺจึงโปรดให้นบีอิบรอฮีมมีลูกที่พูดจาดีกับท่านเช่นกัน

 

ท่านนบี ยะกู๊บ อะลัยฮิสลาม พูดกับลูกๆ

 

قَالَ يَا بُنَيَّ لاَ تَقْصُصْ رُؤْيَاكَ عَلَى إِخْوَتِكَ فَيَكِيدُواْ لَكَ كَيْدًا إِنَّ الشَّيْطَانَ لِلإِنسَانِ عَدُوٌّ مُّبِينٌ يوسف 5

 

     เขา(ยะอฺกูบ) กล่าวว่าโอ้ลูกรักเอ๋ย ! เจ้าอย่าเล่าความฝันของเจ้าแก่พี่น้องของเจ้า เพราะพวกเขาจะวางอุบายแก่เจ้าอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม แท้จริงชัยฏอนนั้นเป็นศัตรูที่ชัดแจ้งกับมนุษย์"

 

ท่านลุกมานสอนลูก

 

         มาถึงคำสั่งสอนที่ท่านลุกมานกล่าวกับบุตร เป็นอุทาหรณ์ที่มีคุณค่ามากในประวัติศาสตร์ของบรรดาผู้ศรัทธา อัลลอฮฺ ตรัสในอัลกุรอานว่า

 

وَإِذْ قَالَ لُقْمَانُ لِابْنِهِ وَهُوَ يَعِظُهُ يَا بُنَيَّ لَا تُشْرِكْ بِاللَّـهِ ۖ إِنَّ الشِّرْكَ لَظُلْمٌ عَظِيمٌ ﴿ لقمان١٣﴾

 

     “และจงรำลึก เมื่อลุกมานได้กล่าวแก่บุตรของเขา โดยสั่งสอนเขาว่า โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีใดๆต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นความผิดอย่างมหันต์โดยแน่นอน

 

        ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง เรามีหน้าที่ดูแลลูกหลานของเรา ซึ่งอาจมีข้อบกพร่อง ก็ต้องมีการตักเตือนกัน ดังมีตัวอย่างจากอัลกุรอานที่ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ได้ตักเตือนบิดาของท่านให้ละทิ้งการทำชิริก ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ต้องไม่ปฏิเสธว่าทุกคนย่อมมีข้อบกพร่อง แม้กระทั่งผู้รู้ก็ต้องยอมรับข้อตักเตือน 

 

        ตัวอย่างเรื่องของท่านนบีอิบรอฮีมเป็นการยืนยันว่าแม้เป็นผู้ใหญ่ก็มีโอกาสผิดพลาด แต่เมื่อพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขศาสนาก็ไม่เอาโทษ เป็นตัวอย่างของบรรดาผู้ศรัทธาที่หยิบยกมาจากกุรอาน เพื่อเป็นบทเรียนเกี่ยวกับวิธีการตักเตือนลูกหลาน ซึ่งมีคุณประโยชน์และความรู้สำหรับผู้ใหญ่และลูกหลานด้วย