ท่าทีอะฮลุ้ซซุนนะฮ์ต่อดำรัสของพระเจ้า
  จำนวนคนเข้าชม  1790


ท่าทีอะฮลุ้ซซุนนะฮ์ต่อดำรัสของพระเจ้า

 

อาบีดีณ   โยธาสมุทร เรียบเรียง

 

          สำหรับอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺ ซึ่งได้แก่บรรดาศ่อฮาบะฮฺและตาบิอีนตลอดจนผู้ที่ดำเนินตามพวกท่านอย่างดีนั้น พวกเขาจะให้การเชื่อถือ และเชื่อมั่นในทุกๆข้อมูลที่ อัลลอฮฺ ตะอาลาและร่อซู้ลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้แจ้งเอาไว้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่จัดอยู่ในหมวด ฆอยบีย้าต  (เรื่องที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ปกติของคนในดุนยาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งของอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา เอง

 

           ซึ่งการเชื่อถือตรงนี้ หมายถึง การมั่นใจว่าทุกๆคำที่ถูกถ่ายทอดไว้ในข้อมูลดังกล่าว เป็นคำที่เหมาะสมและคู่ควรแล้วที่จะเอามาใช้บอกเล่าถึงข้อมูลพวกนี้  อีกทั้งถ้อยคำดังกล่าวยังเป็นถ้อยคำที่บ่งบอกให้พวกเราเข้าใจถึงข้อเท็จจริงของเรื่องที่พระองค์ทรงประสงค์จะแจ้งให้ทราบอย่างชัดเจนและกระจ่างที่สุดอีกด้วย

 

          และด้วยเหตุนี้เอง อะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺ ซึ่งหมายถึง บรรดาซะลัฟศอและฮฺ ตลอดจนบรรดาบุคคลที่ยึดมั่นอยู่ในแนวทางและความเข้าใจในเรื่องศาสนาของพวกท่าน จึงมีความเชื่อมั่นในความเป็นจริงของข้อมูลดังกล่าวอย่างที่สุด และมั่นใจในความถูกต้องและปลอดภัยของเนื้อหาที่ข้อความของข้อมูลเหล่านี้ได้ระบุและถ่ายทอดเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยมอีกด้วย

 

         สิ่งนี้ทำให้อะลุ้ซซุนนะฮฺวั้ลญะมาอะฮฺผู้ดำรงศาสนาอยู่บนความเข้าใจของบรรดาซะลัฟศอและฮฺ เป็นกลุ่มชนที่รักษาเกียรติของข้อมูลจากพระเจ้าไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

 

          พวกเขาไม่คิดว่าข้อความของพระเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้  เป็นข้อความที่ใช้คำที่ไม่เหมาะสม  หรือใช้คำที่ชวนให้เข้าใจผิด ใช้ข้อความที่ชวนให้หลงออกจากทาง  ยังไม่ต้องว่าไปถึงการคิดว่า มันเป็นข้อความที่เป็นเท็จ... แบบนั้นไม่มีอยู่ในเสี้ยวความคิดของพวกเขาแน่นอน

 

          ด้วยเหตุนี้ เมื่อ อะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺ ได้รับฟังข้อมูลจากพระเจ้า หรือได้อ่านคำพูดของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้าเอง ท่าทีของพวกเขาต่อข้อมูลนี้ จึงได้แก่การเชื่อถืออย่างเต็มเปี่ยมในความเป็นจริงและความปลอดภัยของข้อมูลดังกล่าวที่ได้รับแจ้งผ่านมาทางข้อความที่พระเจ้าได้ตรัสเล่าไว้ให้รับทราบ หรือที่ท่านร่อซู้ลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้บอกกล่าวไว้ให้ได้รับฟัง โดยไม่ทำการบิดความหมาย  ไม่อ้างว่าความหมายของข้อความที่ใช้มันไม่เหมาะสมให้ยกเลิกความหมายนั้นเสีย อย่าไปเชื่อหรือเข้าใจตามนั้น แล้วคงไว้เพียงรูปคำเป็นพอ ไม่ขยายความลงรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมเกินไปกว่าที่ได้มีการแจ้งไว้ และเชื่อว่าข้อมูลจากพระเจ้าข้อมูลนี้ย่อมไม่มีทางสวนทางกันกับข้อมูลอื่นๆในเรื่องเดียวกันที่พระองค์ทรงตรัสแจ้งเอาไว้อย่างแน่นอน

 

          การที่อะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺมีท่าทีเช่นนี้ต่อข้อมูลจากพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้าเองนั้น เป็นเพราะพวกเขาเชื่อถือและรู้จักฐานะของผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลๆพวกนี้ดีว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดของทุกๆเรื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่เกี่ยวกับเจ้าของข้อมูลเหล่านี้เอง

 

          เนื่องจากเจ้าของข้อมูลพวกนี้คือ พระเจ้าของทุกสิ่ง ผู้ทรงสมบูรณ์ในทุกด้าน พระองค์ทรงมีความรู้ที่สุด  ทรงพูดจริงที่สุด  ทรงมีความสามารถในการสื่อสารและเลือกข้อความในการสื่อสารได้เหมาะสมและกระจ่างที่สุด  และยังทรงมีจุดมุ่งหมายที่ดีและสะอาดที่สุดในการแจ้งข้อมูลต่างๆเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์เองแก่ปวงบ่าวของพระองค์อีกด้วย

 

          ดังนั้น การที่อะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺฯ  ทำการหยุดอยู่เท่าที่ข้อความของพระดำรัสของพระเจ้าและคำพูดของร่อซู้ลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้แจ้งเอาไว้ และไม่ก้าวล้ำออกไปจนกว่าจะมีข้อมูลอื่นๆจากพระองค์และร่อซู้ลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม เข้ามาขยายและบอกให้ก้าวตามถัดไปได้เท่านั้นถึงจะก้าวต่อ จึงเป็นท่าทีที่คู่ควรต่อการยกย่อง มิใช่ท่าทีที่คู่ควรต่อการเหยียดหยามและกล่าวหาว่า เป็นการพูดออกมาแบบทื่อๆแต่อย่างใด กลับกัน การแหลม แล้วเข้ามาขยายความในเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า เกินไปกว่าที่พระเจ้าเองได้แจ้งไว้ให้ทราบต่างหากที่เป็นท่าทีที่คู่ควรต่อการตำหนิและตักเตือนให้ออกห่าง

 

قُلْ إِنَّمَا حَرَّمَ رَبِّيَ الْفَوَاحِشَ مَا ظَهَرَ مِنْهَا وَمَا بَطَنَ وَالْإِثْمَ وَالْبَغْيَ بِغَيْرِ الْحَقِّ وَأَنْ تُشْرِكُوا بِاللَّهِ مَا لَمْ يُنَزِّلْ بِهِ سُلْطَانًا وَأَنْ تَقُولُوا عَلَى اللَّهِ مَا لَا تَعْلَمُونَ

    ، الأعراف : 33

 

     “จงกล่าวว่า ที่จริงแล้วพระเจ้าของฉันได้สั่งห้ามเรื่องบัดสีทั้งแบบเปิดเผยและแบกปกปิด เรื่องบาป การละเมิดอย่างไม่มีสิทธ์

     และการที่พวกท่านตั้งเอาสิ่งที่พระองค์ไม่ได้ทรงประทานหลักฐานใดๆลงมายืนยันความคู่ควรไว้เลยขึ้นมาเป็นภาคีกับอัลลอฮฺ

     และการพูดใส่ความอัลลอฮฺในสิ่งที่พวกเจ้าไม่มีความรู้

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تُقَدِّمُوا بَيْنَ يَدَيِ اللَّهِ وَرَسُولِهِ وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ سَمِيعٌ عَلِيمٌ

   الحجرات : 1

 

     “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ล้ำหน้าอัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ และพวกเจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺกันเถิด แน่นอนว่าอัลลอฮฺคือผู้ทรงได้ยินและผู้ทรงรอบรู้

 

وَمَنْ يُشَاقِقِ الرَّسُولَ مِنْ بَعْدِ مَا تَبَيَّنَ لَهُ الْهُدَى وَيَتَّبِعْ غَيْرَ سَبِيلِ الْمُؤْمِنِينَ نُوَلِّهِ مَا تَوَلَّى وَنُصْلِهِ جَهَنَّمَ وَسَاءَتْ مَصِيرًا

    النساء: 115

 

     “และใครก็ตามที่แยกทางออกจากท่านร่อซู้ล ภายหลังจากที่ทางที่ถูกต้องได้ประจักเป็นที่ชัดเจนแก่เขาแล้ว และหันไปดำเนินตามทางอื่นที่ไม่ใช่ทางของบรรดาผู้ศรัทธาเหล่านี้ละก็ เราจะให้เขาหันไปตามที่เขาได้หันไป และจะให้เขาเข้าสู่ญะฮันนัมซึ่งมันเป็นที่กลับที่เลวร้ายยิ่ง

 

فَإِنْ آمَنُوا بِمِثْلِ مَا آمَنْتُمْ بِهِ فَقَدِ اهْتَدَوْا وَإِنْ تَوَلَّوْا فَإِنَّمَا هُمْ فِي شِقَاقٍ ...

   البقرة : 137

 

     “ดังนั้นถ้าหากพวกเขาเชื่อตรงกันกับสิ่งที่พวกเจ้าเชื่อ แน่นอนว่าพวกเขาก็ได้อยู่บนทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าพวกเขาผินออกไป จริงๆแล้วพวกเขาก็เพียงแค่กำลังอยู่ในการแยกตนออกจากทางเท่านั้นเอง

 

ท่าน อิบนุมัซอู้ด ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุ  (.. 32) กล่าวไว้ว่า 

اتَّبِعُوا وَلَا تَبْتَدِعُوا فَقَدْ كُفِيتُمْ

( شرح أصول اعتقاد أهل السنة لـ اللالكائي، رقم 104)

     “พวกท่านจงเดินตามและจงอย่าอุตริ เพราะแน่นอนว่าพวกท่านถูกทำให้อยู่ในสภาพที่ไม่ต้องเข้ามาทำอะไรเพิ่มเติมกันอีกแล้ว

 

ท่าน อิหม่ามอะฮฺหมัดร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ (.. 241)กล่าวไว้ว่า

: " لا يُوصف الله إلا بما وصف به نفسه، أو بما وصفه به رسوله صلى الله عليه وسلم لا يتجاوز القرآن والحديث "

(الفتوى الحموية الكبرى،1،265) 

     “พระองค์อัลลอฮฺนั้นไม่ทรงถูกกำหนดพระลักษณะใดๆทั้งสิ้นให้แก่พระองค์ นอกจากพระลักษณะที่พระองค์เองได้ทรงให้ไว้เกี่ยวกับพระองค์เองหรือพระลักษณะที่ร่อซู้ลของพระองค์ได้ให้ไว้เกี่ยวกับพระองค์เท่านั้น จะไม่ขยับล้ำอั้ลกุ้รอ่านและอั้ซซุนนะฮฺ

 

ท่านอุมัรบินอับดุลอะซี้ซ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ (.. 101)กล่าวว่า

 

" أَمَّا بَعْدُ، أُوصِيكَ بِتَقْوَى اللَّهِ، وَالِاقْتِصَادِ فِي أَمْرِهِ، وَاتِّبَاعِ سُنَّةِ نَبِيِّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، وَتَرْكِ مَا أَحْدَثَ الْمُحْدِثُونَ بَعْدَ مَا جَرَتْ بِهِ سُنَّتُهُ، وَكُفُوا مُؤْنَتَهُ، فَعَلَيْكَ بِلُزُومِ السُّنَّةِ فَإِنَّهَا لَكَ - بِإِذْنِ اللَّهِ - عِصْمَةٌ، ثُمَّ اعْلَمْ أَنَّهُ لَمْ يَبْتَدِعِ النَّاسُ بِدْعَةً إِلَّا قَدْ مَضَى قَبْلَهَا مَا هُوَ دَلِيلٌ عَلَيْهَا أَوْ عِبْرَةٌ فِيهَا، فَإِنَّ السُّنَّةَ إِنَّمَا سَنَّهَا مَنْ قَدْ عَلِمَ مَا فِي خِلَافِهَا مِنْ الْخَطَإِ وَالزَّلَلِ وَالْحُمْقِ وَالتَّعَمُّقِ، فَارْضَ لِنَفْسِكَ مَا رَضِيَ بِهِ الْقَوْمُ لِأَنْفُسِهِمْ، فَإِنَّهُمْ عَلَى عِلْمٍ وَقَفُوا، وَبِبَصَرٍ نَافِذٍ كَفُّوا، وَهُمْ عَلَى كَشْفِ الْأُمُورِ كَانُوا أَقْوَى، وَبِفَضْلِ مَا كَانُوا فِيهِ أَوْلَى، فَإِنْ كَانَ الْهُدَى مَا أَنْتُمْ عَلَيْهِ لَقَدْ سَبَقْتُمُوهُمْ إِلَيْهِ وَلَئِنْ قُلْتُمْ إِنَّمَا حَدَثَ بَعْدَهُمْ مَا أَحْدَثَهُ إِلَّا مَنِ اتَّبَعَ غَيْرَ سَبِيلِهِمْ وَرَغِبَ بِنَفْسِهِ عَنْهُمْ، فَإِنَّهُمْ هُمُ السَّابِقُونَ، فَقَدْ تَكَلَّمُوا فِيهِ بِمَا يَكْفِي، وَوَصَفُوا مِنْهُ مَا يَشْفِي، فَمَا دُونَهُمْ مِنْ مَقْصَرٍ، وَمَا فَوْقَهُمْ مِنْ مَحْسَرٍ، وَقَدْ قَصَّرَ قَوْمٌ دُونَهُمْ فَجَفَوْا، وَطَمَحَ عَنْهُمْ أَقْوَامٌ فَغَلَوْا، وَإِنَّهُمْ بَيْنَ ذَلِكَ لَعَلَى هُدًى مُسْتَقِيمٍ "

(سنن أبي داود، ح 4612)

 

          “ผมขอสั่งเสียให้คุณมีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ มีความจริงจังต่อคำสั่งของพระองค์ ดำเนินตามแนวทางของท่านนบีของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม และละทิ้งสิ่งที่พวกอุตริได้พาก็ประดิษฐ์กันขึ้นมาใหม่ภายหลังจากที่ซุนนะฮฺของท่านได้วางแนวทางในเรื่องพวกนั้นเอาไว้เรียบร้อยแล้วและได้ทำให้พวกเขาอยู่ในสภาพที่ไม่ต้องไปขวนขวายหาอะไรมาเพิ่มเติมในเรื่องนี้อีกแล้ว 

          ดังนั้น คุณจงยึดมั่นอั้ซซุนนะฮฺเอาไว้อย่างจริงจัง เพราะอั้ซซุนนะฮฺจะเป็นเกราะคุ้มกันให้กับคุณ ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ถัดจากนั้น ก็จงรู้เถอะครับว่า จริงๆแล้วผู้คนไม่ได้ทำการอุตริต่อเติมเรื่องใดสักเรื่องหนึ่งขึ้นมาเลย นอกจากเรื่องๆนั้นจะมีเรื่องที่เป็นหลักฐานหรือเป็นข้อเตือนสติเกี่ยวกับเรื่องๆนั้นอยู่ก่อนหน้าไว้อยู่แล้วทั้งสิ้น นั่นเป็นเพราะว่า อั้ซซุนนะฮฺนั้น คนที่วางแนวทางๆนี้ จริงๆแล้วเขาเป็นคนที่รู้จักกับความคลาดเคลื่อน ความเขลาและความตัดจริตที่มีอยู่ในเรื่องที่มันขัดกับอั้ซซุนนะฮฺนี้ดี 

          ดังนั้น คุณเองก็จงพอใจที่จะให้ตัวเองได้รับเหมือนกับที่คนกลุ่มนั้นเขาพอใจที่จะให้ตัวของพวกเขาได้รับเถอะครับ  เพราะพวกท่านเหล่านั้นหยุดกันเพราะรู้ ระงับเพราะมองออกอย่างกระจ่าง และในการที่จะเข้ามาทำการแถลงไขเจาะลึกเกี่ยวกับประเด็นพวกนี้ พวกท่านเองก็มีความพร้อมและมีกำลังที่จะทำสิ่งนั้นได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด อีกทั้งพวกท่านยังเป็นพวกที่คู่ควรมากกว่าต่อผลประโยชน์และคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาพากันง่วนกับมันกันอยู่อีกด้วย 

          ดังนั้น ถ้าหากว่าทางที่ถูกต้องมันคือสิ่งที่พวกคุณเป็นกันอยู่จริง นั่นก็หมายความว่าพวกคุณได้แซงหน้าพวกท่านเหล่านั้นไปหาทางที่ความถูกต้องแล้วล่ะสิ  แต่ถ้าหากพวกคุณแย้งขึ้นมาว่า ประเด็นพวกนี้มันเพิ่งมาเกิดขึ้นหลังจากยุคของพวกท่านเหล่านั้นนี่  ก็ให้รู้ไว้ว่าไม่มีใครเขาเข้ามาอุตริและก่อเรื่องพวกนี้ขึ้นมานอกจากคนที่เดินแตกแถวออกไปตามทางสายอื่นที่ไม่ใช่ทางของพวกท่าน และไม่ได้สนใจใยดีอะไรกับพวกท่านเหล่านั้นเลยเท่านั้น

          แต่เปล่าเลยครับจริงๆ พวกท่านเหล่านั้นต่างหากที่เป็นพวกที่แซงรุดหน้านำไปก่อนแล้ว แน่นอนเหลือเกินว่า พวกท่านได้ทำการชี้แจงประเด็นพวกนี้ไว้จนโล่งหมดแล้ว และได้พูดอธิบายเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างสมบูรณ์พออยู่แล้ว  ดังนั้น มันจึงไม่เหลือที่ๆถัดลงมาจากพวกท่านไว้ให้หย่อนยาน และไม่เหลือที่ๆเหนือกว่าพวกท่านไว้ให้เกินเลยอีกแล้ว 

มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่บกพร่องลงไปจากพวกท่าน พวกเขาก็เลยกลายเป็นพวกที่หย่อนยานไปเสีย 

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็พากันพยศข้ามพวกท่านขึ้นไป พวกเขาก็เลยกลายเป็นพวกสุดโต่งไปเสีย 

ส่วนพวกท่านเหล่านั้นเองนั้น อยู่ระหว่างขั้วสองขั้วที่ว่าไว้  อยู่บนทางที่เที่ยงตรงอย่างมั่นคง

 

ท่านอั้ลเอาซาอีย์  ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ  (.. 157 )กล่าวไว้ว่า

 

كُنَّا وَالتَّابِعُونَ مُتَوَافِرُونَ

 نَقُولُ: إِنَّ اللَّهَ تَعَالَى ذِكْرُهُ فَوْقَ عَرْشِهِ، وَنُؤْمِنُ بِمَا وَرَدَتِ السُّنَّةُ بِهِ مِنْ صِفَاتِهِ جَلَّ وَعَلَا 

( الأسماء والصفات للبيهقي ،رقم 865)

 

     “สมัยตอนที่บรรดาตาบิอีนยังอยู่กันครบ พวกเรากล่าวกันไว้ว่า แน่นอนว่าอัลลอฮฺ ตะอาลาซิ้กรุฮฺ ทรงอยู่บนบัลลังก์ของพระองค์ และพวกเราก็ต่างศรัทธากันตามข้อมูลที่อั้ซซุนนะฮฺได้ระบุเอาไว้เกี่ยวกับบรรดาพระลักษณะของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งอีกด้วย

 

และท่านยังได้กล่าวไว้อีกว่า

 

اصْبِرْ نَفْسَكَ عَلَى السُّنَّةِ , وَقِفْ حَيْثُ وَقَفَ الْقَوْمُ , وَقُلْ بِمَا قَالُوا , وَكُفَّ عَمَّا كَفُّوا عَنْهُ , وَاسْلُكْ سَبِيلَ سَلَفِكَ الصَّالِحِ , فَإِنَّهُ يَسَعُكَ مَا وَسِعَهُمْ

( شرح أصول اعتقاد أهل السنة لـ اللالكائي، رقم 315)

 

     “จงข่มใจของคุณให้ตั้งมั่นอยู่บนอั้ซซุนนะฮฺ และจงหยุดอยู่ตรงจุดที่ชนกลุ่มนั้นเขาหยุด จงพูดในสิ่งที่พวกท่านเหล่านั้นเขาพูดกันไว้ จงงดจากสิ่งที่พวกท่านงดและยุติกัน และจงเดินตามทางของซะลัฟของคุณที่เป็นคนที่ดีๆ เพราะแน่นอนว่า อะไรที่มันอยู่ในวิสัยของคุณที่คุณสามารถจะทำมันได้ในตอนนี้ มันก็เคยเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยของพวกท่านเหล่านั้นมาก่อนหน้านี้แล้วเหมือนกัน

 

ท่านกล่าวไว้อีกว่า

 

عَلَيْك بِآثَارِ مَنْ سَلَفَ، وَإِنْ رَفَضَكَ النَّاسُ، وَإِيَّاكَ وَآرَاءَ الرِّجَالِ، وَإِنْ زَخْرَفُوهُ لَكَ بِالقَوْلِ، فَإِنَّ الأَمْرَ يَنجَلِي، وَأَنْتَ عَلَى طَرِيْقٍ مُسْتَقِيْمٍ. (سير أعلام النبلاء،جـ 7، ص120)

 

     “คุณจงยึดมั่นในข้อมูลที่ซะลัฟได้ส่งต่อไว้ให้เอาไว้อย่างเต็มที่ที่สุด ถึงแม้ผู้คนจะพากันต่อต้านคุณก็ตาม  ในขณะเดียวกันก็จงระวังความเห็นของคนเอาไว้ให้ดีด้วย ถึงแม้พวกเขาจะเข้ามาใช้คำพูดประดับประดามันให้คุณจนดูว่ามันดูดีและน่าเชื่อถือก็ตาม  แน่นอนว่าเรื่องๆนี้มันสว่างชัดมากมาอยู่แล้ว และในเรื่องๆนี้คุณเองก็กำลังมั่นคงอยู่บนทางที่เที่ยงตรงอยู่แล้วด้วย

 

และกล่าวไว้อีกว่า 

 

نَدُورُ مَعَ السُّنَّةِ حَيْثُ دَارَتْ ( شرح أصول اعتقاد أهل السنة لـ اللالكائي، رقم 47)

 

     “เราจะโคจรไปกับอั้ซซุนนะฮฺ ตามที่อั้ซซุนนะฮ พาเราไป

 

ท่านยังกล่าวไว้อีกด้วยว่า

 

العِلْمُ مَا جَاءَ عَنْ أَصْحَابِ مُحَمَّدٍ -صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ- وَمَا لَمْ يَجِئْ عَنْهُم، فَلَيْسَ بِعِلْمٍ. (سير أعلام النبلاء،جـ 7، ص120)

 

     “ความรู้(ในศาสนา) คือ สิ่งที่มาจากบรรดาสหายของท่านมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ส่วนอะไรที่ไม่ได้มาจากพวกท่านเหล่านั้น นั่นไม่ใช่ความรู้ศาสนา

 

 



وصلى الله على محمد وعلى آله وصحبه أجمعين