แนวทางการอบรมลูกให้รักษาละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  2606


แนวทางการอบรมลูกให้รักษาละหมาด

 

เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม 

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 

          การละหมาดเป็นหนึ่งในรุกุนอิสลามที่มีความสำคัญหลังจากการกล่าวคำปฏิญาณทั้งสอง และเป็นสิ่งแรกที่จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ  การละหมาดแม้จะใช้เวลาละหมาดแต่ละเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่มันยังเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์  มีตัวบทมากมายที่ชี้ถึงความสำคัญของการละหมาด

 

عن ابن عمر رضي الله عنهما؛ أن النبي صلى الله عليه وسلم قال: ((بُني الإسلامُ على خمس: شهادة أن لا إله إلا الله وأن محمدًا رسول الله، وإقام الصلاة، وإيتاء الزكاة، والحج، وصوم رمضان))[1].

 

     มีรายงาน อิบนูฮุมัร รอฎิยัลลอฮูอันฮูมา แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

     “อิสลามได้ถูกสร้างบนพื้นฐาน บนรากฐาน การกล่าวคำปฏิญาณ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ถูกเคารพนอกจากอัลลอฮฺ และแท้จริงมูฮัมหมัด คือรอซูลของอัลลอฮฺ และการดำรงไว้ซึงการละหมาด การจ่ายซากาต การประกอบพิธีฮัจญ์และการถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน

 

﴿ وَأَقِمِ الصَّلاةَ إِنَّ الصَّلاةَ تَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ [العنكبوت: 45].

 

และเจ้าจงดำรงไว้ซึงการละหมาด แท้จริงการละหมาดจะมาหักห้ามสิ่งที่ลามกและสิ่งที่เป็นความชั่ว

  

          การละหมาดคือ อิบาดะห์ที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอวันหนึ่ง 5 เวลา และแน่นอนทุกการทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ที่อัลลอฮฺได้มีบทบัญญัติแก่ปวงบ่าวของพระองค์  ไม่มีอะไรที่ลำบากเกินความสามารถที่บ่าวของพระองค์จะทำได้ แต่ส่วนมากที่ผู้คนไม่สามารถทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ บางครั้งเพราะขาดความรู้และขาดความเข้าใจ จึงทำให้พวกเขาไม่เห็นความสำคัญของการละหมาด บางครั้งเป็นเพราะเกียจคร้าน 

 

          หากเรามาทบทวนดูในวันหนึ่งมีทุกมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมง แต่การจัดเวลาของคนเรานั้นมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บางคนใช้เวลาของตัวเองในวันหนึ่งๆ ให้หมดไปกับการประกอบการงานที่จะให้ได้มาซึ่งปัจจัยทางโลก โดยที่เมื่อมาเทียบเวลาที่เราใช้ในการละหมาด 5 เวลา รวมๆกันแล้วประมาณแค่ 1 ชั่วโมงก็เป็นการเพียงพอ  แต่ถึงกระนั้นยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนจำนวนมากในการรักษาการละหมาดวันละห้าเวลา   

 

          หากเรามาดูแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ในเรื่องการปลูกฝังแก่บรรดามุสลิมให้สามารถรักษาการละหมาดได้  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้ส่งเสริมในเรื่องการละหมาดตั้งแต่วัยเด็ก 

 

عن عبدالله بن عمرو بن العاص رضي الله عنهما: أن النبي صلى الله عليه وسلم قال: ((مُرُوا أولادكم بالصلاة وهم أبناء سبع سنين، واضربوهم عليها وهم أبناء عَشْر، وفرقوا بينهم في المضاجع))؛ رواه أحمد وأبو داود، وهو صحيح[1].

 

     มีรายงานจากอับดิลลอฮฺ บิน อัมรุบบุลอาศ รอฎิยัลลอฮูอันฮูมา แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัมได้กล่าวว่า 

     “พวกเจ้าจงใช้บรรดาลูกๆของพวกเจ้าให้ละหมาด เมื่อพวกเขาอายุ 7 ขวบ

     และจงตีพวกเขาเนื่องจากการละหมาด(หากไม่ละหมาด) เมื่อพวกเขาอายุ 10 ขวบ

     และพวกเจ้าจงแยกห้องนอนระหว่างพวกเขา

(บันทึกโดยอะหมัด อาบูดาวุด เป็นหะดีษที่ถูกต้อง )

 

          ประโยชน์ที่ได้รับจากหะดีษนี้ ให้เราใช้ลูกให้ทำการละหมาดเมื่ออายุ 7 ขวบ การใช้ให้ละหมาดก็คือการสอนให้เขาละหมาดให้ถูกต้องและกำชับให้พวกเขาละหมาดตลอดระยะเวลา 7 -10 ขวบ โดยไม่มีการตีหากพวกเขาไม่ละหมาด แต่หากพวกเขาครบ 10 ขวบ พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญในการละหมาดก็ให้ทำการตีพวกเขาได้  แต่การตีในที่นี่แม้จะเป็นคำสั่งใช้ แต่มันก็ไม่ได้เป็นวาญิบ เป็นแค่การตีเพื่อการอบรมสั่งสอนให้พวกเขารักษาการละหมาด ไม่ใช่เป็นการตีที่ลงโทษแบบรุนแรง   

 

          ดังนั้นเราต้องมาทบทวนว่า เมื่อเรามีลูกอายุ 7 ขวบเราเคยเอาใจใส่ในการสอนพวกเขาให้ละหมาดให้ถูกต้อง  หรือเราสนใจด้านอื่นๆให้แก่พวกเขา ดังนั้นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถรักษาการละหมาดไว้ได้ ก็เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ปลูกฝังลูกๆให้เคยชินกับการละหมาด  บางคนอาจจะภาคภูมิใจที่ลูกๆสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยเสียใจที่ลูกๆไม่สามารถละหมาดที่เป็นการเคารพภักดีต่อพระเจ้าที่สร้างเขามา  

 

          การละหมาดคือสิ่งที่เป็นตัวชี้อะไรได้หลายๆอย่างในตัวของมุสลิมคนหนึ่ง ไม่ว่าด้านหลักความเชื่อที่เขามีต่อพระเจ้า ด้านมารยาท ด้านความอดทน ด้านสังคม การละหมาดคือการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺที่นำประโยชน์มาสู่ตัวบุคคล ทั้งการดำเนินชีวิตในโลกนี้และโลกหน้า 

 

          ผู้รักษาไว้ซึ่งการละหมาดเขาจะได้ทางนำที่ถูกต้องและสามารถดำเนินชีวิตด้วยความสงบสุข และไปในโลกหน้าหากการละหมาดของเขาถูกตอบรับก็จะส่งผลให้การงานอื่นๆของเขาถูกตอบรับไปด้วย  

 

ขอวิงวอนจากอัลลอฮฺให้เราเป็นผู้หนึ่งที่รักษาการละหมาด อามีน