มีไว้เพื่ออะไร?
  จำนวนคนเข้าชม  2349


มีไว้เพื่ออะไร?

โดย อิบนุ อิสมาอีล

 

           มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงบังเกิด นั่นก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และแน่นอนเมื่อมีผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงบังเกิด ก็จะหนีไม่พ้น นั่นก็คือ ผู้ถูกสร้าง และผู้ถูกสร้างก็มิใช่อะไรอื่น ก็คือมนุษย์ เมื่อเอ่ยถึงคำคำนี้แล้วผู้อ่านน่าจะดีใจที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์อะไร? คำตอบคือมนุษย์ที่ประเสริฐ ปัจจุบันนี้มนุษย์เรากำลังหลงลืม หลงลืมอะไร? คือหลงลืมว่ามีหน้าที่อะไร?

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวว่า

 

และข้า (อัลลอฮฺ) ไม่ได้ทรงสร้างญิน และมนุษย์มาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเคารพภักดีต่อพระองค์

(อัซซาริย๊าต 51 : 56)

 

           มนุษย์ที่มีสติปัญญาอันดีงาม น่าจะพิจารณาได้ หน้าที่ของมนุษย์มีมากมาย แต่ที่จะเอา จุดตรงนี้ คือ หน้าที่ ที่ต้องเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้าง เมื่ออัลลอฮฺทรงสร้างมนุษย์มา แน่นอนมนุษย์เมื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ต้องมีหน้าที่ในการทำอิบาดะฮฺ และหน้าที่ในการทำงาน หากฟังดูมันก็ไม่เป็นอะไร อะไรประมาณนั้น คือ ทำงานและก็อิบาดะฮฺ แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจความหมายของอายะฮฺข้างต้นที่ กล่าวมา มันสำคัญ 

 

          ตัวอย่างง่ายๆ และคนที่สติปัญญาของเขาไม่บอด ไม่อื้อ เขาย่อมเข้าใจดีคือ เด็กที่แบเบาะ หน้าที่ในขณะนั้นของเขาก็คือกิน และดื่มเพื่อให้เจริญเติบโตขึ้น ส่วนหน้าที่ของพ่อและแม่ ในขณะนั้นคือ เลี้ยงดูลูกน้อยพร้อมควบคู่กับการทำอิบาดะฮฺ และสอดส่องดูแลลูกน้อยอันน่ารักเปรียบเสมือผ้าขาวอันบริสุทธิ์นั้นเอง และเพื่อให้ลูกน้อยนั้นเติบโตมาอยู่ในแนวทางของอัลลอฮฺ 

 

          เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้นมา หน้าที่ของลูกก็คือ ศึกษาหาความรู้ และเพื่อให้รู้ ที่นี้ก็คือรู้แนวทางอันถูกต้อง อ่านออกเขียนได้ และรู้ว่าอันใดสมควรทำ อันใดไม่สมควรทำ อันใดขัดกับหลักการของศาสนา ในขณะนั้นคือ เลี้ยงดูลูกน้อยพร้อมควบคู่กับการทำอิบาดะฮฺ และสอดส่องดูแลลูกน้อยอันน่ารักเปรียบเสมือนผ้าขาวอันบริสุทธิ์นั่นเองและเพื่อให้ ลูกน้อยนั้นเติบมาอยู่ในแนวทางของอัลลอฮฺ เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้นมา หน้าที่ของลูกก็คือ ศึกษาหาความรู้ และเพื่อให้รู้ ที่นี้ก็คือรู้แนวทางอันถูกต้อง อ่านออกเขียนได้ และรู้ว่าอันใดสมควรทำ อันใดไม่สมควรทำ อันใดขัดกับหลักการของศาสนา 

 

          ในขณะที่เราเริ่มเรียนรู้และเติบโต หน้าที่ของพ่อและแม่ ก็หนีไม่พ้น การส่งเสียค่าเล่าเรียนให้กับลูก ให้ลูกนั้นได้รับความรู้เมื่อจบจากการศึกษา ลูกจะได้มีงานทำ จะได้อยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ หน้าที่ของลูกก็คือ เมื่อถึงเวลาที่ลูกจะต้องเลี้ยงดูท่านทั้งสอง คือ เมื่อท่านทั้งสองแก่ชราลง เราอย่าลืมว่า หากไม่มีท่านทั้งสองเลี้ยงเราในตอนที่เราเยาว์วัยแล้วใครเล่าจะเลี้ยงดูเรา ท่านทั้งสองยอมอด เพื่อให้เราอิ่ม เพื่อให้เราสบาย ให้เราอยู่อย่างดีเท่าที่ท่านทั้งสองจะทำได้จำเป็นที่เราต้องเป็นลูกที่ดีรู้คุณ และอย่าได้พูดจาไม่ดีต่อท่าน ซึ่งปัจจุบันนี้ จะเห็นได้มากเลยทีเดียว ที่ลูกมักพูดจาหยาบคาย และดุด่าท่าน ทั้งสองพูดอะไรไป น้อยมากที่ลูกจะเชื่อฟังท่าน บอกกล่าวตักเตือนลูก ลูกก็ทำเหมือนหูทวนลม ทำสีหน้า ไม่พอใจ

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

และพระผู้อภิบาลของเจ้ากำหนดว่า พวกเจ้าจงอย่าเคารพภักดีผู้ใดอื่น นอกจากพระองค์เท่านั้น และจงทำดีต่อบิดามารดา 

เมื่อผู้ใดในทั้งสอง บรรลุเข้าสู่ในวัยชรา ขณะที่อยู่กับเจ้า เจ้าจงอย่ากล่าวแก่ท่านทั้งสองว่าอุฟ” 

และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง แต่จงพูดแก่ท่านด้วยถ้อยคำที่สุภาพ

และจงนอบน้อมถ่อมตนต่อท่านทั้งสองด้วยความเมตตา และจงกล่าวว่า 

โอ้ พระผู้อภิบาลของฉันได้โปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสอง เช่นที่ท่านทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย ด้วยเถิด

พระเจ้าของพวกเจ้าทรงรู้ดียิ่ง ถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของพวกเจ้า หากพวกเจ้าเป็นคนดี 

ดังนั้น พระองค์เป็นผู้ทรงอภัยแก่บรรดาผู้กลับเนื้อกลับตัวอย่างแน่นอน

(อัลอิสรออฺ 17 : 23 – 25)

 

          การที่พระองค์ทรงใช้ให้กระทำความดีต่อบิดามารดาหลังจากให้เคารพภักดีต่อพระองค์นั้นเป็น การแสดงให้เห็นถึงหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตร เพราะท่านทั้งสองเป็นต้นเหตุของการเกิด และการมีชีวิตของเรา แต่ท่านทั้งสองมิใช่ผู้ให้ชีวิตของเรา ผู้ที่ให้ชีวิตของเรานั้น คือ อัลลอฮฺ คำว่าอุฟเป็นคำที่แสดงออกถึงความไม่พอใจ ไม่พอใจแบบไหนล่ะ? ไม่พอใจด้วยการแสดงใบหน้า ทำสีหน้า หรือคล้ายกับไม่อยากทำ ดังนั้นจงขอพรให้กับท่านทั้งสองอยู่เสมอ โดยขอให้อัลลอฮฺทรงอภัยโทษ และประทานความโปรดปราน ความเมตตาให้แก่ท่าน ซึ่งอายะฮฺอัลกุรอานได้กล่าวอย่างชัดเจนแล้ว ส่วนเรื่องของการแสวงหาความรู้นั้น ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สอนเอาไว้ว่า

 

การแสวงหาวิชาความรู้นั้นจำเป็นแก่บรรดามุสลิม

(บันทึกโดย อัฎฎ็อบรอนีย์)

 

          จำเป็นอย่างไร? หากเราไม่แสวงหาความรู้ แล้วความรู้มันจะเดินมาหาเราได้ไง อย่าลืมว่าความรู้มันไม่มีขาที่จะเดินมาอย่างมนุษย์เรา หากเราไม่เรียน เราก็ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ อาจจะมีบางคนกล่าวว่าไม่จริงหรอก ไม่ต้องไปเรียนเราก็พูดได้ แต่ถามหน่อยว่า พูดได้แต่เขียนไม่เป็น และมันจะทำให้เราโดนหลอกง่ายด้วย แม้แต่ท่านนบีเองก็เริ่มด้วยกับการอ่านนี่แหละ ตรงนี้แหละ คำคำนี้ที่เราต้องมาศึกษาหาความรู้ เราจะอ่านได้ เราต้องศึกษา อย่าลืมอีกว่า ความรู้มิใช่สายลม เวลาพัดเข้ามาโดนปั๊บแล้วมันก็จะเข้าไปอยู่ในสมองคนเราโดยอัตโนมัติ และที่สำคัญ เมื่อบ่าวของอัลลอฮฺคือ ลูกหลานท่านนบีอาดัมอย่างพวกเรานี่แหละได้เสียชีวิตลง การงานในโลกดุนยาของเขาก็จะถูกตัดขาดลง ยกเว้น 3 ประการ ที่เขาจะได้ คือ การบริจาคทานที่ถาวร ความรู้ที่คงประโยชน์ ลูกที่ดีขอดุอาอฺให้กับเขา 

 

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

     “เมื่อบ่าวของอัลลอฮฺสิ้นใจลง การงานของเขาก็จะถูกตัดขาด ยกเว้น 3 ประการ 1. การบริจาคทานที่ถาวร 2. ความรู้ที่คงประโยชน์ 3. ลูกที่ดีขอดุอาอฺให้กับเขา

 

          หากเราติดตามข่าวสาร ไม่ว่าตามหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ จะสังเกตเห็นได้ว่า สังคมเรามีแต่ความวุ่นวาย ความไม่เข้าใจกัน ความเอารัดเอาเปรียบ ความแตกแยก ความเห็นแก่ตัว ความอยากได้เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่งผลทำให้สังคมของเรามีแต่ความอ่อนแอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องมีความรักและความสามัคคี หากจะแตกต่างกันบ้างในด้านความคิด แต่จะต้องไม่นำไปสู่ความแตกแยก คงไม่ต้องเอ่ยหรอกว่า อะไรที่ทำให้สังคมเราแตกแยกซึ่งมันก็มีให้เราเห็นอยู่ในขณะนี้ จำเป็นที่เราต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อปรับปรุงแก้ไข และหาทางออกที่ดี เพราะว่าอิสลามไม่อนุญาตให้เกิดความแตกแยก

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า

 

     “และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮฺโดยพร้อมเพรียงกันทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน

     และจงรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกเจ้า ขณะพวกเจ้าเป็นศัตรูกัน

     และพระองค์ทรงให้สนิทสนมกัน ระหว่างหัวใจของพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็กลายเป็นพี่น้องกัน ด้วยความเมตตาของพระองค์

     แล้วพวกเจ้าเคยปรากฏบนปากหลุมแห่งไฟนรก แล้วพระองค์ก็ทรงช่วยพวกเจ้าให้พ้นจากปากเหวแห่งนรกนั้น

     ในทำนองนั้นแหล่ะ อัลลอฮฺจะทรงแจกแจงพวกเจ้าซึ่งบรรดาโองการของพระองค์เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับแนวทางอันถูกต้อง

(อะลาอิมรอน 3 : 103)

 

          จากอายะฮฺอัลกุรอานข้างต้น ท่านอิมาม อิบนุ กะษีร ได้อธิบายว่า อัลลอฮฺทรงรับสั่งให้มีความสามัคคีกันในหมู่คณะ และทรงห้ามความแตกแยก แล้วอายะฮฺนี้ได้กล่าวถึงเผ่าอาวส์ และค็อซร๊อจญ์แห่งนครมะดีนะฮฺซึ่งเป็นการเตือนสติว่าในสมัยญาฮิลิยะฮฺ ทั้งสองเผ่าเป็นศัตรูกัน มีการฆ่าฟันอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการใช้ชีวิตของพวกเขา เป็นการใช้ชีวิตตามความใคร่อย่างไม่มีขอบเขต และมีการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ เสมือนหนึ่งว่าพวกเขากำลังอยู่บนปากเหวแห่งไฟนรก เกือบจะตกลงไปอยู่แล้ว แต่ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ พระองค์ได้ประทานอิสลามและการศรัทธามายังพวกเขา ทำให้พวกเขารอดพ้นจากการตกลงไปในนรก อีกทั้งพวกเขาก็กลายเป็นพี่น้องกัน มีความรัก ความสามัคคีต่อกัน และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และคำว่าจงยึดสายเชือกในที่นี้ก็คือ ศาสนาของอัลลอฮฺนั่นก็คือ ศาสนาอิสลาม 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

แท้จริง ศาสนา ที่อัลลอฮฺคือ ศาสนาอิสลาม

(อะลาอิมรอน 3 : 19)

 

          อายะฮฺอัลกุรอานได้ชี้แจงอย่างชัดเจน แจ่มแจ้งเลยทีเดียวว่าศาสนา ที่อัลลอฮฺ คือ ศาสนาอิสลาม

          และก็เช่นเดียวกัน การสร้างความสามัคคีในสังคมนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องร่วมมือร่วมใจกันทำให้ให้ประชาชาติอิสลามอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มิใช่มาแตกแยกกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกกันอย่างเช่นที่เป็นอยู่กันทุกวันนี้ ที่ประเทศชาติต้องวุ่นวาย มิใช่อะไรเลย สาเหตุมาจากการแตกแยก การแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

แท้จริง นี่คือ ประชาชาติของพวกเจ้า เป็นประชาชาติเดียวกัน และข้าคือพระเจ้าของพวกเจ้า ฉะนั้น พวกเจ้าจงยำเกรงต่อข้าเถิด

(อัลมุอฺมินูน 23 : 52)

 

          ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ สิ่งก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นตึก อาคาร บ้าน แม้กระทั่งกระท่อม ฯลฯ มันจะต้องยึดเหนี่ยวกันและกัน ในทุกๆ ด้าน ยึดเหนี่ยวกันเพื่ออะไร? เพื่อให้เกิดความแข็งแรงมั่นคง เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตในสังคมของบรรดามุอฺมินก็ต้องจับมือประสานกัน เพื่อมิให้เกิดความแตกแยก แตกร้าวกันนั่นเอง สมาชิกในสังคมก็เช่นกัน จะต้องคอยสอดส่องดูแลซึ่งกันและกันอย่าให้บุคคลที่ 3 หรือบุคคลที่ไม่หวังดีสามารถเข้ามายุแยงให้เราเกิดความแตกแยกกันอย่างที่มีให้เห็นกันอยู่

 

ความสัมพันธ์ระหว่างมุอฺมินนั้น เปรียบเสมือนกับสิ่งก่อสร้างที่ส่วนหนึ่งจะต้องประสานกับอีกส่วนหนึ่ง และท่านนบีก็ได้ประสานนิ้วมือทั้งสองข้าง

 

          สรุปง่ายๆ เราลองเอานิ้วมือมาประสานกัน เวลาจะดึงออกมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะการประสานกันอย่างหนาแน่นนั่นเอง และที่สำคัญสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกแยกนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดมาจากการไม่ระวังคำพูด เพราะเหตุใด ทำไมต้องระวังคำพูด คือ คำพูดของมนุษย์นั้นสามารถกลิ้งไปกลิ้งมาเหมือนลูกแก้ว เวลาที่เราโยนลูกแก้วไปตามพื้นปูน มันก็จะกลิ้งไปมาไม่ยอมหยุด นอกจากว่ามันจะชน หรือสะดุดกับเศษหินและเศษไม้ มันก็หยุด

 

มุสลิม คือ ผู้ที่บรรดามุสลิมได้รับความปลอดภัยจากลิ้นของเขาและมือของเขา

 

          คุณลักษณะของมุสลิม ตามฮะดิษนี้ก็คือ เป็นบุคคลที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ ส่วนมากในปัจจุบันนี้มักใช้คำพูดที่เหน็บแนมกันและกัน อันนี้ก็รวมอยู่ในฮะดิษด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น บุคคลใดที่มีความประพฤติเช่นที่กล่าวมา ยังไม่สายที่จะหันกลับมาเริ่มต้นใหม่ อย่าลืมว่า สายน้ำยังหวนกลับมาได้ นับประสาอะไรกับมนุษย์ที่มีความคิด มีสติปัญญา และมีความประเสริฐ

          จะไม่หันกลับมาเริ่มต้นใหม่ ขนาดหินที่ว่าแข็งมันยังโดนน้ำเซาะจนกร่อนได้ ส่วนมนุษย์เรานั้นมีการตักเตือนอยู่ทุกๆ วัน จะไม่ทำให้จิตใจอ่อนลงมาบ้างเลยกระนั้นหรือ?

 

ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ ดังนั้น เขาจงพูดจาในสิ่งที่ดี หรือไม่ก็นิ่งเสีย

 

          เมื่อใดก็ตามที่ท่านจะพูด ก็จงคิดไตร่ตรองให้ดีหรือไม่ก็ทบทวนเรียบเรียงว่าคำพูดที่เราจะพูดออกมานั้นมันจะไปมีพิษมีภัยกับตัวเราและคนรอบข้างหรือไม่? แต่เมื่อสติปัญญาอันน้อยๆ ของเราคิดว่า พูดออกมาแล้ว มันก่อให้เกิดความเสียหายก็ให้เรานิ่งเสียดีกว่า แต่ทว่าบางทีหากเราไม่แสดงความคิดเห็นอะไรบ้างเลย ไม่ใช่ว่ามันจะดีเสมอไป ความคิดเห็นบางอย่าง ก็สมควรแสดงสิทธิ์ออกมาบ้าง เพื่อจะได้เอามาใช้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้อะไรมันดีขึ้นมา ความคิดบางอย่างหากเราคิดคนเดียว มันอาจจะไม่ดีเสมอไป เสมือนคำที่ว่าหัวเดียวกระเทียมลีบหากหลายหัวก็หลายความคิดเห็น และมันจะเป็นประสบการณ์ในการอยู่ร่วมกัน คำพูดที่เป็นสาเหตุของความแตกแยกนั้นมีมากมายในโลกดุนยานี้

 

โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีกลุ่มชนที่ถูกเยาะเย้ยนั้นจะดีกว่ากลุ่มชนที่เยาะเย้ย

และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีกลุ่มสตรีที่ถูกเยาะเย้ย อาจจะดีกว่ากลุ่มที่ถูกเยาะเย้ย

และพวกเจ้าอย่าได้ใส่ร้ายตัวเอง อย่างตำหนิตัวของพวกเจ้าเอง และอย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่ไม่ชอบ 

ช่างเลวทรามจริงที่บรรดาผู้ศรัทธาเรียกว่าเป็นผู้ที่ฝ่าฝืน ภายหลังจากที่ได้มีการศรัทธาแล้ว

และผู้ใดสำนึกผิด ชนเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม

 

โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริง การสงสัยบางนั้นเป็นบาป 

และพวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน 

คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน 

และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริง อัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ

(อัลฮุญุร็อต 49 : 11 – 12)

 

          การดูถูกเหยียดหยามกันนั้น บางทีผู้ถูกเหยียดหยามอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะปัจจุบันนี้ พวกปากว่า ตาขยิบ มันมีมาก มีมากจนไม่สามารถมองเห็นชนกลุ่มดีเลย หรือมีบ้างกับชนกลุ่มเพียงน้อยนิดเท่านั้น และการตั้งฉายานามกัน หรือชื่อสร้อยกันนั้น มันช่างเป็นการอธรรมยิ่งนัก ถึงแม้ว่าคนที่ถูกเรียกฉายานาม หรือชื่อสร้อยเขาจะพอใจก็ตาม เป็นการไม่ดีสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา และยังไม่สายเกินไปที่เราจะหันมาเพื่อกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี

 

          บรรดาผู้ที่ชอบสงสัยมาก สงสัยอะไร? คือสงสัยถ้าโลกนี้พังทลายแล้วจะเหลืออะไร? พื้นดินจะเป็นอย่างไร? หรือสงสัยในพระหัตถ์ของอัลลอฮฺเหมือนกับมนุษย์เราไหม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ มันเป็นการสงสัยที่จะทำให้ตัวของเราเองเกิดมีบาปขึ้น หากเราศรัทธาต่ออัลลอฮฺแล้ว เราต้องตัดขาดเรื่องแบบนี้ เมื่อถึงวันอาคิเราะฮฺ เราก็จะได้พบเห็นเอง อินชาอัลลอฮฺ ขอเอกองค์อัลลอฮฺทรงเปิดหัวใจให้กับชนเหล่านั้นด้วยเถิด อามีน

 

           ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นการทำดีต่อบิดามารดา การเล่าเรียน การไม่ไปดูถูกเหยียดหยาม การไม่เยาะเย้ยกัน การสามัคคีกัน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ มีไว้เพื่ออะไร!

มีไว้เพื่อประดับประดา มีไว้เพื่อให้ผู้คนเยินยอ

มีไว้เพื่อความรักสังคม มีไว้เพื่อความสามัคคีในหมู่คณะ

มีไว้เพื่อความถูกต้อง มีไว้เพื่อตามแบบอย่างที่ชนรุ่นก่อนทำมา

มีไว้เพื่อตามตัวบทกุรอาน

          บางท่านอาจจะมีไว้เพื่อเคารพภักดีต่อผู้ทรงสร้าง ไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็ตาม เมื่ออัลลอฮฺทรงชี้แจงมาว่า สิ่งที่ท่านทำอยู่ถูกต้อง ไม่ไปขัดกับอัลกุรอานและอัลฮะดิษ แน่นอน นั่นคือ สิ่งที่อัลลอฮฺทรงรัก

 

          สรุปง่ายๆ ทั้งหมดที่มีมาคือมีไว้เพื่อให้อัลลอฮฺทรงรักและหวังว่าทุกท่านจะเป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงรัก อามีน...

          ที่สำคัญอย่าลืมว่า โลกดุนยานี้เป็นแค่ทางผ่านที่เราผ่านมาพักแค่ชั่วคราว คือ พักทำความดี และเอาความดีที่ทำไว้ไปเป็นเสบียงในโลกที่ยั่งยืน คือ โลกอาคิเราะฮฺ และท้ายที่สุดก็เพื่อให้ได้รับสวนสวรรค์เป็นการตอบแทนจากผู้ทรงสร้างเรามานั่นเอง

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 28 มกราคม 2555