คำอธิบายดุอาอฺ ขอให้มีความยำเกรง ความภักดี และความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่
  จำนวนคนเข้าชม  9602


คำอธิบายดุอาอฺ ขอให้มีความยำเกรง ความภักดี และความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่

 

อุมมุ อุ้ลยา แปลและเรียบเรียง

 

اللَّهُمَّ اقْسِمْ لَنَا مِنْ خَشْيَتِكَ مَا تَحُولُ بِهِ بَيْنَنَا وَبَيْنَ مَعَاصِيكَ، وَمِنْ طَاعَتِكَ مَا تُبَلِّغُنَا 

بِهِ جَنَّتَكَ، وَمِنَ الْيَقِينِ مَا تُهَوِّنُ بِهِ عَلَيْنَا مَصَائِبَ الدُّنْيَا، اللَّهُمَّ مَتِّعْنَا بِأَسْمَاعِنَا، وَأَبْصَارِنَا، وَقُوَّاتِنَا مَا أَحْيَيْتَنَا، وَاجْعَلْهُ الْوَارِثَ مِنَّا، وَاجْعَلْ ثَأْرَنَا عَلَى مَنْ ظَلَمَنَا، وَانْصُرْنَا عَلَى مَنْ عَادَانَا، وَلَا تَجْعَلْ مُصِيبَتَنَا فِي دِينِنَا، وَلَا تَجْعَلِ الدُّنْيَا أَكْبَرَ هَمِّنَا، وَلَا مَبْلَغَ عِلْمِنَا، وَلَا تُسَلِّطْ عَلَيْنَا مَنْ لَا يَرْحَمُنَا) .

 

     ข้าแต่อัลลอฮฺ ขอพระองค์โปรดประทานความยำเกรงในพระองค์ให้แก่เหล่าข้าพระองค์อันเป็นสิ่งปิดกั้นปกป้องเหล่าข้าพระองค์ให้ห่างไกลจากการฝ่าฝืนพระองค์  

      ขอพระองค์ประทานการภักดีเชื่อฟังพระองค์ อันเป็นสิ่งที่ทำให้เหล่าข้าพระองค์บรรลุถึงสรวงสวรรค์ของพระองค์  

      ขอพระองค์ประทานความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ในพระองค์ อันเป็นสิ่งที่จะบรรเทาบททดสอบต่างๆ ในดุนยาที่เหล่าข้าพระองค์ประสบ 

      ข้าแต่อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้การได้ยิน การมองเห็น และพลกำลังของเหล่าข้าพระองค์มีความสุขสมบูรณ์ตราบเท่าที่เหล่าข้าพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ และขอพระองค์ทรงให้เป็นที่สืบทอดแก่เหล่าข้าพระองค์ตลอดอายุขัย

      ขอพระองค์ทรงให้การชำระแค้นจงมีแด่ผู้ที่ละเมิด อธรรมต่อเหล่าข้าพระองค์ 

     โปรดทรงให้เหล่าข้าพระองค์มีชัยเหนือศัตรู 

     โปรดอย่าได้ทรงให้บททดสอบของเหล่าข้าพระองค์เกี่ยวพันกับการดำรงอยู่ในศาสนาของเหล่าข้าพระองค์ 

     โปรดอย่าได้ทรงให้ดุนยานี้เป็นที่มุ่งมั่นทุ่มเทให้ความสำคัญ และอย่าได้ให้ดุนยาเป็นที่สุดแห่งความรู้ของเหล่าข้าพระองค์ (รู้แต่เรื่องดุนยา

     และขอพระองค์โปรดอย่าได้ทรงทำให้ผู้ที่ไม่เอ็นดูเมตตาเหล่าข้าพระองค์มีอำนาจเหนือเหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด

(บันทึกโดยอิมามอัตติรมีซีย์ อันนะซาอีย์ และอัลฮากิม )

 

      ดุอาอฺบทนนี้ เป็นดุอาอฺที่ประมวลไว้ซึ่งแนวทางแห่งความดีงามและความผาสุกทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ เพราะในดุอาอฺบทนี้ได้รวบรวมเป้าหมายและความปรารถนาอันสูงส่งต่างๆ ที่ผู้เป็นบ่าวหมายปองทั้งในเรื่องศาสนา เรื่องดุนยา และในเรื่องอาคิเราะฮฺ ด้วยเหตุนี้ จึงนับว่าน้อยครั้งมากที่ท่านบี عليه الصلاة والسلام จะลุกออกจากที่ชุมนุมใดโดยที่ไม่ได้กล่าวถ้อยคำเหล่านี้ 

 

     ท่านอิบนิอุมรอนกล่าวว่าน้อยมากที่ร่อซูลุ้ลลอฮฺ صلى الله عليه وسلم   จะลุกออกจากที่ชุมนุมไปก่อน จนกว่าท่านจะขอพรด้วยบทขอพรเหล่านี้ให้แก่ศ่อฮาบะฮฺของท่าน”  

(บันทึกโดย อิมามอัตติรมีซีย์)

 

      จึงสมควรอย่างยิ่งที่ผู้เป็นบ่าวจะศึกษาความหมายของดุอาอฺบทนี้ ปฏิบัติตาม และนำมาใช้ขอให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ชุมนุม เพื่อเป็นการเจริญรอยตามแบบอย่างจากท่านร่อซู้ล صلى الله عليه وسلم  

 

 อธิบาย 

 

((اللَّهم اقسم لنا من خشيتك ما تحول به بيننا وبين معاصيك))

 

      หมายถึง โอ้อัลลอฮฺ โปรดทรงประทานความหวาดกลัวในพระองค์ที่ควบคู่ไปกับการยอมรับในความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพระองค์ ให้แก่เหล่าข้าพระองค์ อันเป็นสิ่งที่ขัดขวางปิดกั้นเหล่าข้าพระองค์จากการทำผิดฝ่าฝืนต่างๆ นานา 

      ณ ที่นี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า การเกรงกลัวอัลลอฮฺนั้น ถือเป็นเกราะคุ้มกันมนุษย์ให้รอดพ้นจากการทำผิดที่แข็งแกร่งที่สุด ด้วยเหตุนี้ อุละมาอฺ (ผู้รู้) จึงนับเป็นบุคคลที่เกรงกลัวอัลลอฮฺ ตะอาลา มากที่สุด เนื่องเพราะพวกเขารู้จักพระองค์มากที่สุด 

ดังที่พระองค์ตรัสว่า

(إِنَّمَا يَخْشَى اللَّه مِنْ عِبَادِهِ الْعُلَمَاءُ)

 

แท้จริงแล้ว ผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งจากบรรดาปวงบ่าวของอัลลอฮฺนั้น คือ บรรดาผู้มีความรู้เท่านั้น

(อัลฟาฏิร/ ๒๘)

      ยิ่งบ่าวรู้จักอัลลอฮฺมากเท่าใด ไม่ว่าจากพระนามอันไพจิตรของพระองค์ก็ดี หรือจากคุณลักษณะอันสูงส่งของพระองค์ก็ดี หัวใจจะเปี่ยมล้นด้วยความยำเกรง และร่างกายจะระงับยับยั้งจากการก้าวล่วงสู่การทำผิดฝ่าฝืน

 

 ((ومن طاعتك ما تبلغنا به جنتك))

 

      หมายถึง ขอพระองค์โปรดทรงทำให้การฏออัตต่อพระอง์ เป็นที่สะดวกง่ายดายแก่ข้าพระองค์ อันเป็นเหตุให้ข้าพระองค์ได้รับความพอพระทัยจากพระองค์ ได้รับสรวงสวรรค์อันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ที่พระองค์ได้ทรงตระเตรียมไว้สำหรับปวงบ่าวผู้ยำเกรง

 

 ((ومن اليقين ما تهون به علينا مصائب الدنيا))

 

      หมายถึง  ขอพระองค์โปรดจัดสรรความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ อันเป็นการศรัทธาขั้นสูงสุดและสมบูรณ์ที่สุดให้แก่เหล่าข้าพระองค์ 

    ดังที่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่าการมีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ต่ออัลลอฮฺนั้น นับเป็นการศรัทธาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด

      หมายถึง ศรัทธาที่ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใดๆ  ไม่สับสนลังเล เรื่องเร้นลับสำหรับเขาเสมือนเรื่องที่ประจักษ์ชัด 

ท่านซุฟยาน อัซเซารีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า 

لو أن اليقين وقع في القلب، لطار اشتياقاً إلى الجنة وهروباً من النار

     “หากว่าความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ บรรจุอยู่ในหัวใจแล้วละก็ หัวใจจะโบยบินถวิลหาแต่สรวงสวรรค์และจะหลีกหนีห่างไกลจากไฟนรกเป็นแน่

      ด้วยเหตุนี้ เราจึงวอนขอความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ต่อพระองค์ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้บททดสอบต่างๆ ที่มาประสบกับเราผ่อนปรนคลี่คลาย และยิ่งมนุษย์มีความเชื่อมั่นแน่นแฟ้นมากเท่าใด มนุษย์ก็จะมีความอดทนต่อบททดสอบมากยิ่งขึ้นเท่านั้น  เนื่องเพราะทราบดีว่า ทุกสิ่งที่มาประสบกับเขานั้นล้วนมาจากอัลลอฮฺทั้งสิ้น เขาจึงยินดียอมรับ ยอมจำนน หัวใจเขาจึงสงบ เยือกเย็น

 

 ((ومتعنا بأسماعنا وأبصارنا))

 

      หมายถึง โปรดทรงทำให้การได้ยิน การมองเห็นตลอดจนพลกำลังทั้งหลายที่มีคงอยู่ตลอดชีวิตของข้าพระองค์ เพราะสิ่งเหล่านี้ คือ เครื่องมือที่นำพาไปสู่การรู้จักพระองค์ และการให้เอกภาพแด่พระองค์  

 

 ((وأجعله الوارث منا))  

 

      หมายถึง ขอพระองค์ทรงทำให้เรามีความสุขสำราญกับประสาทสัมผัสที่ครบถ้วน และสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ปลอดภัยจนกว่าเราจะจบชีวิตลง

 

 ((وقواتنا ما أحييتنا))

 

      หมายถึง ขอพระองค์ทรงทำเราให้มีความสุข มีความสบายใจกับสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งภายนอกและภายในตลอดอายุขัย เพราะความอ่อนแอและพลกำลังที่ถดถอยในวัยชรานั้นย่อมส่งผลเสียทั้งในเรื่องศาสนาและในเรื่องของดุนยาอย่างเลี่ยงไม่ได้  

 

((واجعل ثأرنا على من ظلمنا))

 

      หมายถึง โปรดทรงอำนวยให้เราได้ชำระแค้นกับผู้ที่ข่มเหงรังแกเรา โดยที่เราไม่ต้องตั้งตนเป็นศัตรู ได้เอาคืนโดยไม่ได้เป็นผู้อธรรมต่อผู้ใด 

 

 ((وانصرنا على من عادانا))

 

     หมายถึง โปรดทรงกำหนดให้เรามีชัยเหนือผู้ที่ละเมิดเราโดยไม่เป็นธรรม 

 

  ((ولا تجعل مصيبتنا في ديننا))

 

      หมายถึง โปรดอย่าได้ทรงทดสอบเราในสิ่งที่ทำให้ศาสนาของเราบกพร่องลง ไม่ว่าจะมาจากความเชื่อที่ผิด การฏออัตที่บกพร่อง หรือการทำในสิ่งต้องห้าม เพราะบททดสอบในเรื่องศาสนานั้น นับเป็นบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ไม่มีอะไรทดแทนได้ซึ่งแตกต่างจากบททดสอบในเรื่องของดุนยา

 

 ((ولا تجعل الدنيا أكبر همنا))

 

      หมายถึง โปรดอย่าได้ทรงทำให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของเรา ตลอดจนความโศกเศร้าเสียใจของเราอยู่แต่กับเรื่องดุนยา เพราะคนที่หมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องดุนยาเขาย่อมถูกทอดทิ้งให้ห่างไกลจากอาคิเราะฮฺ 

 

((ومبلغ علمنا))

 

      หมายถึง ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำให้ความรู้และความนึกคิดของเราอยู่แต่กับเรื่องดุนยา เฉกเช่นผู้ปฏิเสธศรัทธา 

ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า :

يَعْلَمُونَ ظَاهِرًا مِنَ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَهُمْ عَنِ الْآخِرَةِ هُمْ غَافِلُونَ

 

พวกเขารู้แต่เพียงผิวเผินจากเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ในดุนยา

และสำหรับเรื่องอาคิเราะฮฺนั้นพวกเขากลับหลงลืม เพิกเฉย

 

 ((ولا تسلّط علينا من لا يرحمنا))

 

      หมายถึง โปรดอย่าได้ทรงทำให้เราพ่ายแพ้ต่อพวกกุฟฟ้าร พวกก่ออธรรม และพวกคนชั่วช้า ด้วยการที่พวกเขาจะมีอำนาจปกครองควบคุมเรา อันเป็นเหตุให้เราต้องถูกทำร้าย รังแก ทั้งในเรื่องศาสนาและในเรื่องดุนยา หรืออาจให้ความหมายเช่นเดียวกันได้ว่า หมายถึง มลาอิกะฮฺที่ทำหน้าที่ลงทัณฑ์ในหลุมฝังศพ หรือในนรก อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงทราบดีที่สุด  ผู้ขอดุอาอฺจึงสมควรนึกถึงทุกๆ ความหมายในเวลาที่ขอดุอาอฺ

          อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ในหลายๆ อายะฮฺด้วยกัน ถึงการวอนขอของบรรดานบีและบรรดาผู้ศรัทธาให้ได้รับความปลอดภัยจากบรรดาผู้ก่ออธรรมและบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

 

ดังที่ท่านนบี มูซา อลัยฮิสสลาม กล่าวว่า

رَبِّ نَجِّنِي مِنَ الْقَوْمِ الظَّالِمِينَ

พระเจ้าของข้าพระองค์ โปรดทรงทำให้ข้าพระองค์รอดพ้นจากกลุ่มชนผู้อธรรมด้วยเถิด

 

ท่านนบีอิบรอฮีม และผู้ที่อยู่ร่วมกับท่าน กล่าวว่า

رَبَّنَا لَا تَجْعَلْنَا فِتْنَةً لِلَّذِينَ كَفَرُوا

โอ้พระเจ้าของเหล่าข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดอย่าได้ทรงให้เหล่าข้าพระองค์

เป็นที่ทดสอบของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเลย

 

และท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวขอว่า

رَبِّ فَلَا تَجْعَلْنِي فِي الْقَوْمِ الظَّالِمِينَ

โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำให้ข้าพระองค์ ร่วมอยู่ในหมู่ผู้อธรรมเลย

 

 

ที่มา : https://kalemtayeb.com/safahat/item/3120?fbclid