ร ะ วั ง...รี วิ ว !
  จำนวนคนเข้าชม  3233


วั ...รี วิ !

 

อุมมุ  อุ้ลยา

 

          รีวิว (review)   คำคุ้นหูที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ แปลเป็นไทย คือ การทบทวนหรือการวิจารณ์  คนส่วนมากใช้คำๆ นี้ ในการบรรยายความรู้สึกตลอดจนความคิดเห็นเมื่อตนได้ทดลอง หรือ มีประสบการณ์กับสินค้าหรือการบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง การรีวิวจึงเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นส่วนประกอบหนึ่งในกระบวนการการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ตนอ่อนประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเลือกซื้ออาหาร เครื่องใช้ไม้สอย หรือแม้แต่เลือกสถานที่ เช่น  ร้านอาหาร โรงเรียน ตลอดจนที่พักอาศัย ฯลฯ 

ใช้ดีมากเลยค่ะ คุ้มค่าคุ้มราคา”    ,   “ของไม่สมราคา คุณภาพแย่มาก

ไม่เคยเจอของดีอย่างนี้มาก่อนเลย”    ,   “ร้านอึดอัด สกปรก บริการใช้ไม่ได้

           ตัวอย่างคำรีวิวพื้นฐานทั้งในแง่บวกและลบ ที่หลายคนคงเคยผ่านตา และอีกหลายคนคงเคยใช้มันผ่านแป้นพิมพ์ของตัวเอง ประโยคธรรมดาเพียงไม่กี่ตัวอักษร ที่สามารถเพิ่มหรือลดความดีในตาชั่งได้อย่างเท่าทวีคูณ เป็นไปได้หรือ? ทำไม? อย่างไร?

 

เป็นไปได้หรือ

           เมื่อตัวอักษรที่ปรากฏบนหน้าจอสามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้เหมือนถ้อยคำที่พูดผ่านลิ้น ดังนั้น ทุกคำที่พิมพ์ ทุกสีหน้าที่แสดงอารมณ์ ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหวอยู่บนหน้าจอสี่เหลี่ยม ล้วนเข้าอยู่ในกรอบแห่งดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า 

 

( مَا يَلْفِظُ مِنْ قَوْلٍ إِلَّا لَدَيْهِ رَقِيبٌ عَتِيدٌ ) 

 

ไม่มีถ้อยคำใดที่เปล่งออกมา นอกจาก ที่เขานั้นมีผู้คอยเฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อมที่จะบันทึก

(ก็อฟ /18)

ฉะนั้น แต่ละประโยคที่สื่อสาร หากไม่เสมอตัวก็ย่อมหมายถึงบาปหรือบุญที่กำลังเพิ่มขึ้นนั่นเอง !

 

ทำไมอย่างไร?

          แน่นอนว่า หากการรีวิวสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นการสื่อสารถึงข้อเท็จจริงจากประสบการณ์จริงของผู้บริโภค นั่นคือการพูดจริง แต่หากเป็นคำพูดที่อุปโลกน์ขึ้น ไม่เคยใช้ ไม่เคยทดลอง ไม่เคยไปแล้วมารีวิว นั่นคือการโกหกหรืออาจถึงขั้นเป็นพยานเท็จซึ่งเป็นบาปใหญ่  จึงพึงระวัง !

           ภายใต้การพูดจริงนี้ยังมีรายละเอียดที่น่าฉุกคิดอีกว่า เป็นการพูดจริงในแง่บวกหรือในแง่ลบ ? หากเป็นการพูดจริงในแง่บวก เช่น ชื่นชมผลิตภัณฑ์  ชื่นชมรสชาติอาหาร บอกเล่าความพอใจในสิ่งที่ได้รับ นั่นคือ การพูดจริงที่อนุญาต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระวัง การชมเชยอย่างเลยเถิด มากจนเกินพอดี เพราะอาจเข้าข่ายการโกหกและเป็นพยานเท็จโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากชื่นชมจนเกินความเป็นจริง ให้เครดิตเกินข้อเท็จจริง จึงพึงระวัง !

           ในทางกลับกัน การพูดจริงในแง่ลบนั้น เป็นสิ่งที่ต้องพิถีพิถันและละเอียดรอบคอบยิ่งกว่า อันดับแรกที่ต้องตระหนักก่อนตัดสินใจสื่อสารข้อความใดๆ ในโลกออนไลน์ก็คือ

"كل المسلم على المسلم حرام دمه وماله وعرضه".

 

สิทธิของมุสลิมต่อมุสลิมนั้นเป็นเรื่องต้องห้าม ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติยศชื่อเสียงของเขา” 

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

           ดังนั้น ไม่ใช่ทุกข้อตำหนิ ทุกข้อผิดพลาด จะสามารถเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ได้ แม้นสิ่งนั้นจะเป็นข้อเท็จจริง ไม่ถือเป็นความชอบธรรมหรือการมีสิทธิ์เสรีในการแสดงความคิดเห็นติติง แม้นจะเป็นความคิดเห็นส่วนตัว หรือ ประสบการณ์ส่วนตัว ความหวังดีของการรีวิวที่สื่อสารอาจเคลือบความหวังร้ายที่สร้างความเสื่อมเสียทั้งในเกียรติและทรัพย์สินของผู้อื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว จึงพึงระวัง ! 

 

            อิสลามมอบแนวทางในการตักเตือน เมื่อเห็นสิ่งขัดหูขัดตาเราไม่ต่อว่าต่อหน้าธารกำนัล หากผู้เตือนมีเจตนาบริสุทธิ์แล้วย่อมปรารถนาให้ผู้ได้รับการตักเตือนนำไปปรับปรุงแก้ไข การตักเตือนเพื่อต่อว่าให้อับอาย ติติงเพื่อประจานให้เสียหาย วิธีการเหล่านี้หาใช่มารยาทของผู้มีศรัทธา

 

          ท่านอบูอัดดัรด๊าอฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ใครที่ตักเตือนคนอื่นต่อหน้าผู้คน นั่นคือการประจานเขา และใครที่ตักเตือนคนอื่นอย่างลับๆ นั่นคือการเสริมเติมแต่งเขาให้งดงาม

 

           การติเพื่อก่อเป็นสิ่งดี แต่จะดียิ่งหากถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา ฉันใดก็ฉันนั้น การรีวิวในด้านลบไม่ใช่เรื่องเสียหายเสมอไป หากสิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เช่น สินค้าใหญ่ไปไม่สะดวกพกพา หรือ ห้องพักมีเสียงรบกวนเพราะตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน เป็นต้น แต่หากเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถให้คำชี้แนะ แก้ไข เปลี่ยนแปลงได้ไม่ยาก แน่นอนว่าย่อมดียิ่งกว่าหากได้วิจารณ์ให้ข้อเสนอแนะกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือผู้ประกอบการโดยตรงเพื่อการแก้ไขที่ตรงจุด ไม่ใช่การโพสต์ข้อความต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์ลับหลังในทางเสียๆ หายๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบกับผู้อื่นแล้วยังเท่ากับเป็นการนินทาให้ร้ายที่อิสลามเน้นกำชับเป็นอย่างยิ่งให้ระมัดระวัง และหลีกห่าง เพราะถือเป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์ที่จำเป็นต้องรักษาห้ามละเมิดซึ่งกันและกัน

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า : 

﴿ وَلَا يَغۡتَب بَّعۡضُكُم بَعۡضًاۚ أَيُحِبُّ أَحَدُكُمۡ أَن يَأۡكُلَ لَحۡمَ أَخِيهِ مَيۡتٗا فَكَرِهۡتُمُوهُۚ

 

และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้น

ชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของตนที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ? พวกเจ้าย่อมรังเกียจมันเป็นแน่

(อัลหุญุรอต /12)

 

     ท่านร่อซู้ล  กล่าวว่า :  “พวกท่านรู้หรือไม่ว่าฆีบะฮฺนั้นคืออะไร?”

     บรรดาศ่อฮาบะฮฺกล่าวว่าตอบว่า : “อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์เท่านั้นที่ทราบดียิ่ง” 

     ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  จึงกล่าวว่า “คือการที่ท่านพูดถึงพี่น้องของท่านในสิ่งที่เขาไม่ชอบ

     มีศ่อฮาบะฮฺถามขึ้นว่า : “ท่านเห็นเป็นอย่างไร หากเขาเป็นจริงดังที่ฉันพูด?”

     ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ตอบว่าหากเขาเป็นดังที่ท่านพูดจริง ก็เท่ากับว่าท่านได้นินทาเขาแล้ว และหากเขาไม่ได้เป็นดังที่ท่านพูด ก็เท่ากับว่าท่านได้ให้ร้ายเขาแล้ว 

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

ท่านร่อซู้ล  กล่าวว่า :

 

من رد عن عرض أخيه رد الله عنه وجهه النار يوم القيامة


"
ผู้ใดปกป้องเกียรติของพี่น้องของเขา ในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺจะทรงขจัดไฟนรก ออกจากใบหน้าของเขา"


(บันทึกโดย อิมามอะฮฺมัด)

 

      ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า

     “เมื่อก่อนนี้ ในเมืองมะดีนะฮฺเคยมีชนอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมที่น่าตำหนิ แต่พวกเขาไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ในข้อตำหนิของผู้อื่น  อัลลอฮฺ ตะอาลา จึงทรงทำให้ผู้คนทั้งหลายไม่เอ่ยถึงข้อตำหนิของพวกเขา แล้วพวกเขาก็ตายจากไป โดยไม่มีข้อตำหนิที่น่ารังเกียจเดียดฉันท์ใดๆ เกี่ยวกับพวกเขาอีกเลย 

     และในเมืองมะดีนะฮฺ ก็เคยมีชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่พวกเขามิได้มีข้อตำหนิใดๆ แต่พวกเขาชอบวิพากษ์วิจารณ์ความผิด ความบกพร่องของผู้อื่น อัลลอฮฺ ตะอาลา จึงทรงเปิดเผยข้อบกพร่องอันน่าตำหนิของพวกเขา และพวกเขาก็ยังคงเป็นที่รู้จักเนื่องเพราะข้อตำหนินั้น จนกระทั่งพวกเขาตายจากไป

 

      ท่านยังเคยกล่าวไว้อีกว่า : เราถูกกำชับห้ามไม่ให้นินทา และฟังคำนินทา และถูกกำชับห้ามไม่ให้ว่าร้ายคนนั้นคนนี้ และฟังคำว่าร้ายคนนี้คนนั้น

 

           อย่าปล่อยให้พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นความเคยชิน ที่นำพาเราไปสู่ความชินชาในสิ่งผิด จนทำให้เราถูกกลืนไปกับกระแสคลื่นของสังคม อย่าปล่อยตัวอักษรให้ลื่นไหลผ่านปลายนิ้วโดยไร้การยั้งคิดและไตร่ตรองเพียงเพราะไม่สบอารมณ์ ปริมาณผู้คนที่เห็นพ้องหาใช่บรรทัดฐานวัดความถูกต้องและชอบธรรมของพฤติกรรมหนึ่งพฤติกรรมใด หากแต่สิ่งที่พึงพิทักษ์รักษาไว้คือ เกียรติ ศักดิ์ศรี ของศรัทธาชน  จึงพึงระวัง!