ชีวิตที่ดีงาม
  จำนวนคนเข้าชม  2771


ชีวิตที่ดีงาม

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

           ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา และในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขณะนี้เรากำลังอยู่ในสภาพของผู้ถือศีลอดเดือนร่อมะฎอน อันนับเป็นความเมตตาอย่างยิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานให้แก่เรา เพราะนั่นแสดงว่า พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้เราได้ขวนขวายทำอะมัลศอลิหฺ ทำอิบาดะฮฺต่างๆ โดยที่ผลตอบแทนของมันนั้นมันทบเท่าทวีคูณยิ่งมากกว่าเดือนอื่นๆ ส่งผลให้เราได้รับผลบุญตอบแทนอย่างมากมาย โดยที่เราลงทุนเพียงนิดเดียว จึงเป็นเรื่องที่เราต้องขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้มากๆ โดยการทำให้การถือศีลอดของเราได้บรรลุถึงเป้าหมายที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงวางบทบัญญัติไว้

 

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะก่อเราะฮ อายะฮฺที่ 183 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ

 

     ”ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเป็นฟัรฎู(คือเป็นการบังคับ)แก่พวกเจ้า ดั่งเช่นที่ได้ถูกกำหนดแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง

 

           นั่นก็หมายความว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์ให้การถือศีลอดของเรานั้น لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ทำให้เราเป็นผู้ที่ยำเกรงต่อพระองค์ ...การที่เราเป็นผู้ที่ยำเกรงต่อพระองค์ก็หมายความว่า เราจะกลายเป็นผู้ที่ระมัดระวังตัวเรา ปกป้องตัวเราให้พ้นจากการถูกลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ และเราจะนำตัวเราเองไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในโลกอาคิเราะฮฺ.....ผลของการที่เราเป็นผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลานั้น จะได้รับกับตัวเราเอง เราเป็นผู้ได้รับเอง ไม่มีใครมารับแทนเรา มันเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง ประโยชน์ไม่ได้เป็นของใครอื่น แต่เป็นของตัวเราเอง สิ่งนี้คือความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงให้กับเรา

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ผลตอบแทนประการสำคัญประการหนึ่งของการที่เรามีอัตตักวา มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็คือ จะทำให้เราได้รับ หะยาตัน ฏ็อยยิบะฮฺ حَيَاةً طَيِّبَةً ก็คือ ได้รับชีวิตที่ดีงาม

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนะหฺลฺ อายะฮฺที่ 97 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

مَنْ عَمِلَ صَالِحاً مِّن ذَكَرٍ أَوْ أُنثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً وَلَنَجْزِيَنَّهُمْ أَجْرَهُم بِأَحْسَنِ مَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ

 

     “ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติความดีงาม (ก็คือปฏิบัติสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตอาลาทรงสั่งใช้อย่างสุดกำลังความสามารถ และในขณะเดียวกันก็ละเว้น และออกห่างจากสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้ามอย่างสิ้นเชิง อันทำให้เขาเป็นผู้ที่มีอัตตักวา ) ไม่ว่า(เขาผู้นั้น)จะเป็นชาย หรือไม่ว่า(เขาผู้นั้น)จะเป็นหญิง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา (ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ศรัทธาต่อบทบัญญัติของพระองค์) ...(ดังนั้น) แน่นอน فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً เราจะให้เขาได้รับชีวิตที่ดีงาม และเราจะตอบแทนผลบุญ สิ่งที่ดีงามต่างๆแก่พวกเขา ด้วยสิ่งที่ดีที่สุด (เป็นรางวัลตอบแทน)สำหรับสิ่งที่พวกเขาได้ประพฤติปฏิบัติไว้

 

         อายะฮฺนี้บอกว่า คนที่มีอีมาน มีความศรัทธา มีอัตตักวา มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง พวกเขาจะได้รับชีวิตที่ดีงาม

 

          ”ชีวิตที่ดีงามเป็นอย่างไร ?” เราเข้าใจความหมายของชีวิตที่ดีงามว่าอย่างไร ?...มีคนๆหนึ่งในยุคของเรานี่แหละ ได้มีคำถาม ไปถามชัยค์มุฮัมมัด บินศอลิหฺ อัลอุษัยมีน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ซึ่งเป็นอุละมาอ์คนสำคัญท่านหนึ่งของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ในยุคปัจจุบัน ยุคของเรา เขามีคำถามถามท่านชัยค์ ว่า อัลกุรอานอายะฮฺนี้ ที่บอกว่า คนที่มีอีมาน มีอัตตักวาจะได้รับชีวิตที่ดีงาม กับอัลหะดีษ(ศ่อหิหฺ)บทที่อยู่ในบันทึกของอิมามอัตติรมีซีย์ 

 

          รายงานจากท่านซะอฺดฺ บินอบีวักกอส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ท่านซะอฺดฺ ได้ถามท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า 

 

أَيُّ النَّاسِ أَشَدُّ بَلاءً أَشَدُّ หมายถึงรุนแรงที่สุด หรือหนักหน่วงที่สุด

 بَلاءً บะลาอ์ก็คือ บททดสอบ

أَيُّ النَّاسِ أَشَدُّ بَلاءً ก็คือมนุษย์ประเภทใดที่ถูกทดสอบรุนแรงที่สุด หรือถูกทดสอบหนักหน่วงที่สุด ?”

 

          ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า บะลาอ์ หมายถึง บททดสอบ ...เป็นคนละคำ คนละความหมายกับคำว่า อะซาบ ..เพราะ.อะซาบหมายถึง การถูกลงโทษ การถูกทรมานจากการทำผิดบทบัญญัติศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่ บะลาอ์ คือบททดสอบ เป็นบททดสอบเพื่อทดสอบผู้ศรัทธาว่า เมื่อเขาได้รับบททดสอบแล้ว พวกเขาจะกลับมาหาอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไหม ? นั่นก็หมายถึงว่า เมื่อผู้ศรัทธาได้รับการทดสอบแล้ว พวกเขาจะรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไหม ? จะขอบคุณพระองค์ไหม ? จะสรรเสริญพระองค์ไหม ? จะปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ไหม ? จะขอความช่วยเหลือจากพระองค์ไหม ? จะขออภัยโทษจากพระองค์ไหม ? จะมอบหมายต่อพระองค์ไหม ? จะอดทนไหม ? จะทำชิริกไหม ? จะทำบิดอะฮฺไหม ?

 

          ซึ่งบททดสอบทั้งหมดนั้นมันมีทั้งบททดสอบที่เป็นเรื่องดีและเรื่องไม่ดี ...บททดสอบที่มนุษย์คิดว่าเป็นเรื่องดีก็เช่น ได้รับความมั่งคั่งร่ำรวย มีสุขภาพดี แข็งแรง ได้รับความสุขสบายในชีวิต ...บททดสอบที่มนุษย์รู้สึกว่าไม่ดีก็เช่น ได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องต่างๆ มีฐานะยากจนขัดสน ยากแค้นลำเค็ญ เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ตลอดเวลา นั่นก็คือเรื่องของบททดสอบซึ่งมีทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี เป็นเรื่องที่ผู้ศรัทธาทุกคนต้องประสบ

 

          เมื่อมีศ่อฮาบะฮฺถามท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า มนุษย์ประเภทใดที่จะได้รับบะลาอ์หรือถูกทดสอบหนักหน่วงที่สุด ท่านนบีตอบว่าอย่างไร ?

 

قَالَ : الأَنْبِيَاءُ , ثُمَّ الأَمْثَلُ فَالأَمْثَلُ ,

 

“(บรรดามนุษย์ที่ถูกทดสอบหนักที่สุด)... ก็คือบรรดานบี

ถัดมาก็คือผู้ที่(มีความประเสริฐหรือมีสถานะ)ใกล้เคียงกัน และผู้ที่ใกล้เคียงกัน” 

 

ก็จะถูกทดสอบลดหลั่นลงมา

 

فَيُبْتَلَى الرَّجُلُ عَلَى حَسَبِ دِينِهِ ,

 

คนๆหนึ่งจะถูกบะลาอ์(หรือถูกทดสอบ)ตามความเคร่งครัดใน(บทบัญญัติ)ศาสนาของเขา

 

          หากเป็นคนที่เคร่งครัดต่อบทบัญญัติศาสนามากก็จะถูกทดสอบมาก หากเคร่งครัดน้อยก็จะถูกทดสอบน้อย ซึ่งการถูกทดสอบนี้จะเป็นการเพิ่มด่ะร่อยาต درجات เป็นการเพิ่มขั้นความดี เพิ่มขั้นในสวรรค์ให้กับเขา

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จากทั้งอัลกุรอานและอัลหะดีษที่ยกมาข้างต้นนั้น คนที่เขามีคำถาม เขาถามชัยค์อัลอุษัยมีนว่า อายะฮฺอัลกุรอานที่บอกว่า ผู้ที่มีอีมาน มีอัตตักวานั้นจะได้รับชีวิตที่ดีงาม กับอัลหะดีษที่บอกว่า ผู้ศรัทธา ผู้ที่มีอัตตักวาจะได้รับบะลาอ์ ได้รับบททดสอบนั้น จะบูรณาการได้อย่างไร ? จะรวมกันได้อย่างไร ?.. คือฟังแล้วเหมือนกับว่ามันจะขัดกัน ตามความเข้าใจของคนที่ถาม ก็คือผู้ศรัทธาจะได้รับชีวิตที่ดีงาม แต่กลับถูกบะลาอ์ ถูกบททดสอบ ..และยิ่งใครที่มีอีมาน มีความศรัทธาเข้มแข็งมากเท่าไร เขาก็จะยิ่งได้รับบททดสอบหนักหน่วงมากเท่านั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ?... คนที่ถามคำถามก็เลยอยากให้ชัยค์อัลอุษัยมีนอธิบายให้ฟังในเรื่องนี้

 

          ชัยค์อัลอุษัยมีนก็ได้ตอบคำถามของเขาว่า.... การได้รับชีวิตที่ดีงาม ไม่ได้หมายความอย่างที่บางคนเข้าใจ เพราะว่า บางคนไปเข้าใจว่า การได้รับชีวิตที่ดีงาม หมายถึงว่า คนๆนั้นจะไม่ได้รับความเดือดร้อนอะไรเลยในชีวิต ไม่ได้รับความยากจน ไม่ได้พบกับความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ได้พบกับสิ่งเลวร้ายอะไรเลย จะได้พบได้เจอแต่สิ่งที่ดีๆเท่านั้น ได้รับแต่ความสุขสบาย มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย มีสุขภาพร่างกายดี แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา...ซึ่งการได้รับชีวิตที่ดีงามไม่ได้หมายความอย่างนี้

          แต่การได้รับชีวิตที่ดีงาม หมายถึงว่า การที่เขามีหัวใจหรือมีจิตใจที่สงบนิ่ง เมื่อมีสิ่งใดมาประสบกับเขา เขาก็ยินดี ยอมรับ น้อมรับต่อกอฎอ-กอฎัรของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างเต็มใจ..หากเขาได้รับความสุขสบาย ได้รับริสกีมากมาย มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย มีโอกาสดีๆในชีวิต เขาก็ขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมุ่งมั่นดำรงการเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อยู่ตลอดเวลา...

          ในขณะเดียวกัน หากเขาได้รับความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ประสบกับสิ่งที่เขาไม่ชอบ มีฐานะไม่ดี ยากจนขัดสน เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคร้ายแรง ประสบกับภัยพิบัติต่างๆ เขาก็ยอมรับมัน ยอมรับในเรื่องนี้ พร้อมกันนั้น เขาก็อดทน ไม่โวยวาย ไม่ตัดพ้อต่อว่า และยังคงเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อยู่อย่างสม่ำเสมอ ..ซึ่งดังนี้ มันก็เป็นความดีสำหรับเขาเช่นกัน และนี่ก็คือ ความหมายของการได้รับชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมันเป็นความสงบสุขในจิตใจอย่างแท้จริง 

 

          ดังนั้น มันจึงไม่มีการขัดแย้งกันในอายะฮฺอัลกุรอานและอัลหะดีษดังกล่าวข้างต้นที่มีผู้ถามมา เพราะแท้จริงแล้ว ผู้ศรัทธาทุกคนจะต้องถูกทดสอบด้วยบททดสอบต่างๆ ถ้าหากว่า หัวใจของเขานิ่งสงบ ยอมรับต่อสิ่งที่มาประสบกับเขาในทุกเรื่องทั้งเรื่องที่ดีที่ชอบ และเรื่องที่ไม่ดีไม่ชอบ ยอมรับต่อการกำหนดของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา บะลาอ์หรือการทดสอบต่างๆก็จะไม่มีผลกระทบต่อตัวเขา ..บะลาอ์ไม่สามารถทำให้เขาหันห่างออกจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ บะลาอ์ไม่สามารถทำให้เขาละทิ้งบทบัญญัติศาสนาได้

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือ คำตอบของชัยค์อุษัยมีน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มุสลิมทุกคนสามารถได้รับชีวิตที่ดีงามได้ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าเขาจะมีฐานะอย่างไร จะยากจนขัดสน หรือจะมั่งคั่งร่ำรวย ....ไม่ว่าเขาจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ...จะแข็งแรงหรือจะเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ...... ทุกคนสามารถได้รับชีวิตที่ดีงามได้ทั้งสิ้น ตราบใดที่เขาดำรงรักษาการเป็นผู้มีอีมาน มีอัตตักวาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริงไว้ได้ ซึ่งในท้ายของอัลกุรอานอายะฮฺนี้บอกว่า ...อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงตอบแทนผลบุญ ประทานสิ่งที่ดีงามต่างๆแก่พวกเขา ด้วยสิ่งที่ดีที่สุด..(อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้สิ่งที่ดีที่สุด) เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนสำหรับสิ่งที่พวกเขาได้อีมาน ได้ศรัทธา ได้ประพฤติปฏิบัติไว้ ซึ่งพวกเขาจะได้รับมันทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ

 

          ดังนั้น ขอให้เรามีความตั้งใจที่จะให้การถือศีลอดของเรานำเราไปสู่การเป็นผู้ที่มีอัตตักวาที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก โดยเราต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของการถือศีลอด และพยายามรักษาข้อบังคับ รักษากฏข้อห้ามข้อใช้ของการถือศีลอดให้ดี และรักษามารยาทของการถือศีลอดเอาไว้ให้ได้ พร้อมกันนั้นก็เชื่อฟังและปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาให้สุดความสามารถของเรา

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดเมตตาเราให้เราได้มีชีวิตอยู่ และได้ทำอิบาดะฮฺต่างๆอย่างเข้มแข็งจนสิ้นสุดร่อมะฎอนในปีนี้ และขอให้ได้พบกับร่อมะฎอนในปีถัดไป อินชาอัลลอฮฺ ขอให้เราได้ปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮฺต่างๆด้วยความอิคลาศ มุ่งหวังตั้งใจเพื่อหวังรางวัลตอบแทนจากพระองค์เพียงองค์เดียว อันเป็นการตัดขาดจากการทำชิริก และเป็นอิบาดะฮฺที่ตรงตามรูปแบบของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อันเป็นการตัดขาดจากการทำบิดอะฮฺ ซึ่งจะทำให้อะมัลอิบาดะฮฺทั้งหมดที่เราลงทุนลงแรงทำไป ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นผลให้เราได้รับความปลอดภัยจากการถูกลงโทษในไฟนรก และได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในที่สุด

 

 

คุฏบะฮฺมัสยิดดารุ้ลอิห์ซาน