ชีวิตที่มั่นคง
  จำนวนคนเข้าชม  1902


ชีวิตที่มั่นคง

 

โดย... ทวิช อารียะกิจโกศล

 

           เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เราจำเป็นต้องมองกาลไกล ด้วยการออมเงินเอาไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า ยิ่งรู้จักการเก็บออมได้เร็วเท่าไรก็จะยิ่งทำให้ความสุขในบั้นปลายชีวิตของตัวเรามีมากขึ้น ซึ่งวิธีการเก็บออมเงินนั้นก็ต้องเลือกให้เข้ากับสไตล์การดำเนินชีวิตของตัวเราเองด้วย

          มีคำพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลฟุรกอน อายะฮฺที่ 67 ว่า

 

เมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาไม่สุรุ่ยสุร่าย พวกเขาไม่ตระหนี่ และก็ดำรงอยู่ตรงกลางระหว่างนั้น

(อัลฟุรกอน 25 : 67)

 

          บางคนทำมาหากินอย่างขยันขันแข็ง แต่ไม่ประหยัดเก็บออม หามาได้เท่าไรใช้หมด อย่างนี้คงจะ ไม่มีโอกาสรวย ลักษณะการประหยัดนั้น ไม่ใช่จะรัดเข็มขัดจนไม่ยอมซื้ออะไรกินเลย เราต้องประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความพอดีหรือเกินความต้องการ การใช้จ่ายควรพิจารณาว่าอะไร ควรซื้อ อะไรไม่ควรซื้อ ซื้อแต่สิ่งที่มีประโยชน์เท่านั้น ควรแบ่งส่วนในการใช้จ่ายให้ดี อะไรควรซื้อ อะไรควรเก็บ ส่วนที่ต้องซื้อก็ต้องซื้อ ส่วนที่ต้องเก็บก็ต้องเก็บ

 

          คนโบราณท่านสอนไว้ว่า อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา หมายความว่า เงินที่เราประหยัดหรือเก็บออมไว้นั้น แม้ไม่มากนักก็อย่าไปดูหมิ่นว่าเงินเพียงเล็กน้อย แม้เงินเก็บฝากเราจะมีจำนวนน้อย เก็บบ่อยๆ เก็บเป็นประจำ ก็จะมีมากเอง จะเปรียบเทียบก็เหมือนหยดน้ำที่ไหลลงตุ่ม แม้จะไหลทีละหยดมีจำนวนไม่มากนัก แต่เมื่อนานเข้าก็จะเต็มตุ่ม

 

          ที่สำคัญถ้าบุคคลแต่ละคนในสังคมเรา มีพฤติกรรมที่ประหยัดในการดำเนินชีวิตแล้ว จะเกิดผลดีต่อตนเองและต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม จะทำให้แต่ละคนไม่ต้องดำเนินชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์ เนื่องจากการเป็นหนี้และจะทำให้ประเทศชาติไม่ต้องตกอยู่ในภาระหนี้สิน ที่ต้องชดใช้ชั่วลูกหลานอย่างเช่นในปัจจุบันนี้

          ดังมีฮะดิษท่านนบีได้กล่าวเอาไว้ในเรื่องนี้มีความว่า

 

     “ผู้ใดประหยัด อัลลอฮฺ จะให้เขาร่ำรวย ผู้ใดฟุ่มเฟือย อัลลอฮฺ  จะให้เขาได้รับความยากจน บุคคลใดมีความนอบน้อมถ่อมตน อัลลอฮฺ จะยกย่องให้เกียรติเขา และบุคคลใดทะนงตน อัลลอฮฺ จะให้เขาได้รับความหายนะ

 

          พอเขียนเรื่องการประหยัดเก็บออม ขออนุญาตนำข้อเขียนของ .. (พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน เรื่องการเก็บออมหรือการประหยัดของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้อ่านหนังสือที่ชื่อ หยุดความเลวที่ไล่ล่าคุณ มานำเสนอต่อผู้อ่านตอนหนึ่งว่า

          “มีเรื่องหนึ่งที่จำได้แม่น สมเด็จย่าเล่าว่าตอนเรียนหนังสือที่สวิสเซอร์แลนด์ ในหลวงยังเล็กอยู่ เข้ามาบอกว่า อยากได้รถจักรยาน เพื่อนๆ เขามีจักรยานกัน แม่บอกว่าลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บสตางค์ที่แม่ให้ไปกินที่โรงเรียนไว้สิ เก็บมาหยอดกระปุกวันละเหรียญสองเหรียญ พอได้มากพอก็เอาไปซื้อจักรยาน

          พอถึงวันปีใหม่ สมเด็จย่าก็บอกว่า

          “ปีใหม่แล้ว เราไปซื้อจักรยานกัน เอ้า แคะกระปุกดูซิว่ามีเงินเท่าไร เสร็จแล้วสมเด็จย่าก็แถมให้อีกส่วนหนึ่ง ในส่วนที่แถมให้นั้นน่าจะมากกว่าเงินที่มีในกระปุก ท่านมีเมตตาให้เงินลูก ให้แล้วก็ไม่ได้ให้เปล่า สอนลูกให้ประหยัด ให้เก็บออมและสอนว่าอยากจะได้อะไร ก็จะต้องเริ่มจาตัวเราก่อน คำสอนนั้นติดตัวในหลวงมาตราบจนทุกวันนี้

 

         ประหยัดกิน ประหยัดใช้ ประหยัดเวลา ประหยัดกาย วาจา และประหยัดใจ ดังนั้น การประหยัดต่างๆ ที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นนั้น สังคมส่วนใหญ่ของพวกเราหรือพวกท่านไม่ค่อยจะได้ทำกัน หากทำได้ ยิ่งจะทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุขและมั่นคง

          ในขณะเดียวกันท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวเรื่องนี้เอาไว้มีความว่า

 

ผู้ที่ประหยัดหรือเก็บออมนั้นจะไม่ยากจน

 

          การเก็บหรือออมเงินและประหยัดค่าใช้จ่ายๆ เอาไว้ใช้ในเวลาแก่เฒ่า ซึ่งเป็นช่วงที่คนเรานั้นไม่มีทางที่จะสามารถทำมาหากินได้เหมือนตอนหนุ่มๆ ต้องคิดเอาไว้แต่เนิ่นๆ ว่าจะทำอย่างไร หลังวัยแก่ชราก็จะมีกินมีใช้ไม่เป็นภาระของบุคคลรอบข้าง

 

     มหาสมุทรไม่เต็มด้วยน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำในทิศทั้งสี่ฉันใด จิตใจมนุษย์ย่อมไม่เต็มด้วยตัณหาความอยาก ฉันนั้น

 

ท่านทั้งหลายจงพอเพียง แท้จริงการพอเพียงนั้น เป็นทรัพย์สินที่ใช้ไม่หมด

 

          โลกเรานี้มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับสนองความต้องการของมนุษย์ แต่ก็มีไม่เพียงพอสำหรับ ความโลภของมนุษย์

 

          โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงประทานทางนำ ความยำเกรง การสำรวมตน ความร่ำรวย และความพอเพียงแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

 

 

วารสารมุสลิม กทม.