อัลลออฮ์ทรงรับการงานจากผู้ที่มีตักวาต่อพระองค์เท่านั้น
  จำนวนคนเข้าชม  2773


อัลลออฮ์ทรงรับการงานจากผู้ที่มีตักวาต่อพระองค์เท่านั้น

 

 คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

           ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา และในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั่นก็คือไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

     ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อุละมาอ์ได้มีรายงานไว้ว่า ..

           บรรดาสะละฟุศศอลิหฺ หรือบรรดาคนดี ๆในยุค 300 ปีแรกของอิสลาม ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมให้การรับรองว่าพวกเขาเป็นประชาชาติที่ดีที่สุดนั้น เมื่อเดือนร่อมะฎอนผ่านไป พวกเขาจะใช้เวลาในช่วง 6 เดือนแรกในการเฝ้าวิงวอน ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้ทรงรับการทำอิบาดะฮฺที่พวกเขาลงทุนลงแรงทำไปทั้งหมดในเดือนร่อมะฎอน ...

           และใช้เวลาในช่วง 6 เดือนหลังในการเฝ้าวิงวอน ขอให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้พวกเขาได้มีชีวิตอยู่จนถึงเดือนร่อมะฎอนในปีต่อไป และขอให้ได้ใช้ชีวิตอยู่ตลอดเดือนร่อมะฎอน ...นั่นเพราะพวกเขาตระหนักถึงความสำคัญ ตระหนักถึงความประเสริฐของเดือนร่อมะฎอนที่มีอย่างล้นเหลือ ... 

          พวกเขาถือศีลอด พวกเขาละหมาดกิยามุลลัยน์ อ่านอัลกุรอาน บริจาค ทำอิบาดะฮฺทุกอย่างเพื่อปรารถนาให้พวกเขาได้ใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พวกเขาพยายามที่จะให้การงานของเขาสมบูรณ์มากที่สุด เพราะปรารถนาให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบรับการงานของพวกเขา พวกเขาเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งลักษณะของมุอ์มิน

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมุอ์มินูน อายะฮฺที่ 57 – 61 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

إِنَّ الَّذِينَ هُم مِّنْ خَشْيَةِ رَبِّهِم مُّشْفِقُونَ ( 57 )

 

      “แท้จริง(มุอ์มินคือ...) บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้ที่มีจิตใจหรือมีหัวใจที่หวั่นเกรง เกรงกลัวพระเจ้าของพวกเขา (อันเนื่องมาจาก)หัวใจที่มันเกรงกลัว(ต่ออัลลอฮฺ)”

 

          ไม่ใช่เกรงกลัวเพราะว่าไปไหนไม่รอดแล้ว ..แต่เกรงกลัวในสภาพที่หัวใจมันเกรงกลัว เกรงกลัวต่อการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เกรงกลัวเพราะรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ รู้ถึงเดชานุภาพของพระองค์ รู้ว่าริซกี ปัจจัยยังชีพทั้งหมดมาจากพระองค์ รู้ว่าพระองค์จะทรงทำอย่างไรกับเราก็ได้หากพระองค์ทรงประสงค์

 

وَالَّذِينَ هُم بِآيَاتِ رَبِّهِمْ يُؤْمِنُونَ ( 58 )

 

และ(มุอ์มินคือ..)บรรดาผู้ที่พวกเขาศรัทธาต่ออายะฮฺต่าง แห่งพระเจ้าของพวกเขา

 

          มุอ์มินจะเชื่อมั่นศรัทธาต่ออายะฮฺทั้งหมดของอัลกุรอาน ไม่เคลือบแคลงสงสัยใดๆเลย จะเชื่อมั่นศรัทธาต่อหลักฐานต่างๆ หรือสัญญาณต่างๆที่เกิดขึ้นในจักรวาลที่ชี้ให้เห็นถึงการมีอยู่จริงของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

وَالَّذِينَ هُم بِرَبِّهِمْ لَا يُشْرِكُونَ ( 59 )

 

และ(มุอ์มินคือ..)บรรดาผู้ที่พวกเขาไม่ทำชิริก(ก็คือไม่ตั้งภาคี)ต่อพระเจ้าของพวกเขา

 

          มุอ์มินจะไม่ทำชิริกเป็นอันขาด การทำชิริกหรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นกะบาอิร คือเป็นบาปใหญ่ขั้นร้ายแรงที่สุด ใครหลงไปทำบาปใหญ่นี้ ถ้าหากเขารู้สำนึกตัว เตาบะฮฺตัวก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาจะได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่ถ้าหากเขาเสียชีวิตไปในสภาพของผู้ที่ทำชิริก ในอาคิเราะฮฺเขาจะตกนรกตลอดกาล นี่คือหลักความเชื่อของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ .

 

     ...ความจริงแล้วคนทำชิริกต่างกับกาฟิรฺหรือคนที่ปฏิเสธศรัทธา เพราะคนที่ปฏิเสธศรัทธา คือคนที่เขาไม่เชื่อไม่ยอมรับในการมีอยู่จริงของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่คนที่ทำชิริก คือคนที่เชื่ออยู่แล้วถึงการมีอยู่จริงของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เชื่อว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเป็นพระเจ้า แต่กลับไปเอาสิ่งอื่นๆมาเทียบเคียงเสมอพระองค์ ไปนำสิ่งอื่นๆมาเคารพอิบาดะฮฺเสมออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สถานะของคนทำชิริกกับคนที่ปฏิเสธศรัทธาจึงเหมือนกัน คือเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ... นี่จึงเป็นเรื่องที่มุสลิมต้องระวังตัวเองอย่างยิ่ง เพราะมุสลิมเป็นผู้ที่เชื่อในการมีอยู่จริงของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงต้องระมัดระวังความคิดและการกระทำของตัวเอง อย่าให้มันมีชิริกอย่างเด็ดขาด

 

وَالَّذِينَ يُؤْتُونَ مَا آتَوا وَّقُلُوبُهُمْ وَجِلَةٌ أَنَّهُمْ إِلَىٰ رَبِّهِمْ رَاجِعُونَ ( 60 )

 

     “และ(มุอ์มินคือ...)บรรดาผู้ที่นำมาซึ่งสิ่งที่พวกเขาได้รับมา(จากอัลลอฮฺ) และหัวใจของพวกเขายังหวั่นเกรง ยังเกรงกลัว(อย่างยิ่ง)ต่อพระองค์ (เพราะรู้ว่า )แน่นอนเหลือเกิน พวกเขาจะต้องกลับไปยังพระเจ้าของพวกเขา

 

          นักมุฟัซซิรีนอธิบายอายะฮฺนี้ว่า บรรดาผู้ที่นำมาซึ่งสิ่งที่พวกเขาได้รับมา(จากอัลลอฮฺ)” นั้น หมายถึงว่า พวกเขาได้รับริซกี ได้รับปัจจัยยังชีพมา แล้วพวกเขาก็บริจาค จับจ่ายใช้สอยไปในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หรือวิชาการความรู้ต่างๆที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม แล้วพวกเขาก็นำมาปฏิบัติ แล้วนำมาเผยแผ่ต่อ นำมาสั่งสอนตักเตือน นำมาชี้แจง มาทำเป็นเยี่ยงอย่าง นี่แหละคือการที่พวกเขาได้ทำคุณงามความดีตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้แล้ว 

          แต่กระนั้นก็ดี ถึงแม้ว่าพวกเขาจะทำคุณงามความดีอย่างมากมายแล้ว แต่หัวใจของพวกเขาก็ยังหวั่นเกรงอยู่ ยังเกรงกลัวอยู่ เพราะอะไร ? ทำความดี ทำอิบาดะฮฺมาอย่างมากมายแต่หัวใจยังเกรงกลัวอยู่ พวกเขากลัวอะไร ? ...

     คำตอบคือ พวกเขากลัวว่า พวกเขายังทำอิบาดะฮฺ ทำความดีไม่ถึงที่สุด กลัวว่าจะทำน้อยไปบ้าง กลัวว่าจะทำยังไม่เต็มที่บ้าง กลัวว่ามันจะขาดตกบกพร่อง หากเป็นอย่างนี้แล้ว อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงตอบรับการงานที่พวกเขาทำ เพราะพระองค์ตรัสไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 27 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

«إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ»

 

แท้จริง อัลลอฮฺจะทรงรับการงานของผู้ที่มีอัตตักวา(มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺเท่านั้น)”

 

           ดังนั้น มุอ์มินจึงเป็นผู้ที่ทำความดี ทำอิบาดะฮฺอย่างมากมาย แต่มีความเกรงกลัวว่า ผลงานของตัวเองยังไม่ดีพอ ....พวกเขาเชื่อมั่นศรัทธาว่า พวกเขาต้องกลับไปพบกับการสอบสวนของอัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในวันกิยามะฮฺอย่างแน่นอน พวกเขาจึงเกรงกลัวการลงโทษของพระองค์ และมีความปรารถนาอยากจะได้เข้าสวรรค์ของพระองค์ พวกเขาจึงต้องการที่จะทำอิบาดะฮฺอย่างเต็มที่ ทำให้ได้อย่างดีที่สุด ทำเพื่อให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบรับการงานของพวกเขา

 

     อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด และอิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า

 

عن عائشة; أنها قالت : يا رسول الله ، ( والذين يؤتون ما آتوا وقلوبهم وجلة ) ، هو الذي يسرق ويزني ويشرب الخمر ، وهو يخاف الله عز وجل؟ قال : " لا يا بنت أبي بكر ، يا بنت الصديق ، ولكنه الذي يصلي ويصوم ويتصدق ، وهو يخاف الله عز وجل " . وهكذا رواه الترمذي وابن أبي حاتم ، من حديث مالك بن مغول ، به بنحوه . وقال : " لا يا بنت الصديق ، ولكنهم الذين يصلون ويصومون ويتصدقون ، وهم يخافون ألا يقبل منهم

 

    ท่านหญิงได้ถามท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า อายะฮฺนี้ที่บอกว่าพวกเขานำมาซึ่งสิ่งที่พวกเขาได้รับจากอัลลอฮฺ และหัวใจของพวกเขายังเกรงกลัวพระองค์อยู่นั้นหมายถึงคนที่ลักขโมย คนทำซินา คนดื่มเหล้าดื่มสุรา (ที่เมื่อพวกเขาทำความผิดไปแล้ว พวกเขาก็)เกรงกลัวอัลลอฮฺใช่ไหม ?

     ท่านนบีตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่คนเหล่านี้คือคนที่ละหมาด คนที่ถือศีลอด คนที่บริจาค แล้วเขาก็เกรงกลัวอัลลอฮฺ ..

 

     ในรายงานของอิมามอัตติรมีซีย์เพิ่มเติมว่า สิ่งที่พวกเขากลัวนั้นก็คือ กลัวว่าอัลลอฮฺจะไม่ทรงตอบรับการงานของพวกเขา

 

          ดังนั้น หันกลับมาดูตัวเรา ...เราบอกว่า เราละหมาดแล้ว เราถือศีลอดแล้ว เราบริจาคแล้วแล้วหัวใจของเราหวั่นกรงบ้างไหม เคยเกรงกลัวไหมว่ามันยังไม่ดีพอ ละหมาดยังไม่ดีพอ ถือศีลอดยังไม่ดีพอ เราเคยคิดไหมว่า เรายังทำไม่ดีพอ เคยกลัวไหมว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงตอบรับการงานของเรา

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านหะซัน อัลบัศรีย์ ร่อหิมะฮุลลอฮฺ (ตาบิอีนที่มีชื่อเสียง) ได้กล่าวไว้ว่า มุอ์มินนั้น เขาจะรวมเอาความดีกับความเกรงกลัว إحساناً وشفقة เอาไว้ด้วยกัน ก็คือ ตั้งใจมุ่งมั่นทำอย่างดีที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีความกลัวว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นจะทำไม่ได้อย่างดีที่สุด

 

          ในขณะที่ มุนาฟิก(คนหน้าไหว้หลังหลอก)นั้น เขาจะรวมเอาความชั่วและความมั่นคง إساءة وأمناً เอาไว้ด้วยกัน ก็หมายความว่าเขาจะทำทุกวิธี วิธีใดก็ได้ที่จะให้ได้ทรัพย์สมบัติ ให้ได้ความร่ำรวยมา ได้สิ่งนั้นมา ได้สิ่งนี้มา เพื่อให้มันเพิ่มพูนขึ้น ทำเพิ่มเข้าไว้ ให้ครอบครัวมั่นคง ให้ตัวเองร่ำรวย โดยไม่ได้มองเลยว่า วิธีนั้นมันผิดต่อบทบัญญัติศาสนาหรือเปล่า นี่คือมุนาฟิก...

 

          แต่มุอ์มิน ทำความดีตามที่ถูกสั่งใช้ ทำงานหาเงินมาได้ ได้น้อยไม่เป็นไรถ้าหากทำอยู่ในขอบเขตบทบัญญัติศาสนา แต่ถ้าได้มากแต่ผิดบทบัญญัติศาสนา อย่างนี้ก็ไม่เอา ..มุอ์มินสามารถใช้ชีวิตยืนหยัดอยู่ได้ตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ ได้มากได้น้อยไม่สำคัญ ที่สำคัญคือต้องไม่ออกนอกกรอบ ไม่ออกนอกบทบัญญัติศาสนา นี่คือมุอ์มิน พวกเขาจึงเป็นกลุ่มคนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า

 

أُولَٰئِكَ يُسَارِعُونَ فِي الْخَيْرَاتِ وَهُمْ لَهَا سَابِقُونَ ( 61 )

 

     “ชนเหล่านั้นแหละ พวกเขารีบเร่งฉกฉวยในการทำความดีอย่างมากมาย และพวกเขาเหมาะสมที่จะเป็นผู้ที่รุดหน้าไปก่อน

 

          มุอ์มินเป็นกลุ่มคนที่รุดหน้าไปก่อนแล้ว เป็นกลุ่มคนที่ได้ไปสวรรค์ก่อนใครๆ เพราะพวกเขาฉกฉวยทำความดีอย่างมากมาย แล้วเราล่ะ ร่อมะฎอนผ่านไปแล้ว เรายังเป็นผู้ที่รีบฉกฉวย รีบเร่งไปสู่การทำความดีอยู่หรือเปล่า ?

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย บรรดาสะละฟุศศอลิหฺก็คือกลุ่มคนที่เป็นมุอ์มิน เป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด พวกเขาได้ให้ความสำคัญกับอายะฮฺอัลกุรอานที่ว่า

 

 إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ 

 

อัลลอฮฺทรงตอบรับการงานของผู้ที่มีอัตตักวา(มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺเท่านั้น)” 

 

          พวกเขาจึงไม่เคยกระหยิ่มในผลงานของตัวเอง พวกเขาไม่หลงทะนงตัวว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงตอบรับการงานของพวกเขาอย่างแน่นอน พวกเขาจึงได้ทำอิบาดะฮฺอย่างมากมายและเฝ้าขอดุอาอ์อย่างมากมายเพื่อให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบรับการงานของพวกเขา .

 

          ดังนั้น เราอย่าได้อ่อนแรงในการทำอิบาดะฮฺ และอย่าปล่อยให้ความดี อย่าปล่อยให้อิบาดะฮฺที่เราทำนั้นมันหลุดลอยไปจากเรา โดยเราต้องหมั่นขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบรับอิบาดะฮฺที่เราลงทุนลงแรงทำไป ดังตัวอย่างที่บรรดาสะละฟุศศอลิหฺได้ทำกัน

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ก่อนจบคุฏบะฮฺในวันนี้ ขอเรียนให้ทราบว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นสำหรับการถือศีลอดเดือนเชาวาล 6 วัน อย่าลืมว่า เวลามันจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ระวังจะพลาดกันสำหรับคนที่ยังถือไม่ครบ หรือยังไม่ได้เริ่ม

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดทรงตอบรับอะมัลศอลิหฺ อิบาดะฮฺที่เราทำทั้งหมด และขอให้เราได้มีชีวิตอยู่จนถึงร่อมะฎอนปีหน้า อามีน

 


คุตบะฮ์ มัสญิดดารุ้ลอิห์ซาน