มุสลิมะห์วันนี้ (ตอนจบ)
  จำนวนคนเข้าชม  2616


มุสลิมะห์วันนี้ (ตอนจบ)

 

โดย ลาตีฟะห์ กิตติธรรมรัตน์


มุสลิมะห์ในฐานะผู้ประกอบอาชีพ

 

          การแสวงหาปัจจัยยังชีพเป็นสิ่งที่อิสลามส่งเสริมมุสลิมะห์สามารถประกอบอาชีพตามที่ตนถนัดได้ แต่ต้องใส่ใจในเรื่องความเหมาะสม งานที่ทำควรไม่ผิดหลักศาสนา สถานที่ทำงานควรมีสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย บทสนทนาระหว่างบุตรสาวของนบีซุอัยบ์กับนบีมูซาคือตัวอย่างการทำงานนอกบ้านของ มุสลิมะห์ในอดีต

 

     “และเมื่อเขามาพบบ่อน้ำแห่งมัดยัน เขาได้พบฝูงชนกลุ่มหนึ่งกำลังตักน้ำ และนอกจากพวกเขาเหล่านั้น เขายังได้พบหญิงสองคนคอยห้าม (ฝูงแกะ)

     เขา (มูซา) กล่าวถามว่า เรื่องราวของเธอทั้งสองเป็นมาอย่างไร

     นางทั้งสองกล่าวว่า เราไม่สามารถตักน้ำได้จนกว่าคนเลี้ยงแกะเหล่านั้นจะถอยออกไปและบิดาของเราก็เป็นคนแก่มากแล้ว

(อัลเกาะศ็อศ 28 : 23)

 

          เรื่องราวข้างต้นชี้ให้เห็นว่าสตรีมุสลิมะห์สามารถทำงานนอกบ้านได้ บุตรสาวของนบีซุอัยบ์ต้องอกกมาตักน้ำ เพื่อเลี้ยงฝูงแกะเพราะพ่อของเธอเป็นผู้ชราภาพและไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ ถึงกระนั้น เธอก็ยังคำนึงถึงความเหมาะสมและความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ เพราะนางเลือกที่จะไม่เข้าไปปะปน เบียดเสียดกับกลุ่มบุรุษที่กำลังตักน้ำให้ฝูงสัตว์ของพวกเขา แต่จะรอจนกว่าฝูงชนออกไปก่อน

 

          ในยุคของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็พบว่ามีซอฮาบียะห์หลายท่านมีอาชีพการงานและต้องทำงานนอกบ้าน เช่น อัสมาอ์ บุตรสาวของคอลีฟะห์อบูบักรฺ ที่ต้องดูแลและให้อาหารสัตว์ ทำโรตี และแบกอินทผลัมเป็นระยะทางมากกว่าหนึ่งกิโลเมตร แม้ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเหล่าซอฮาบะห์ เสนอให้นางขึ้นอูฐ นางก็ยังปฏิเสธเพราะเกรงว่าสามีจะไม่พอใจถ้าเห็นนางเดินทางอยู่กับผู้อื่น

 

         การทำงานนอกบ้านจึงไม่ใช่สิ่งที่อิสลามห้าม แต่ต้องพึงรำลึกว่า การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของมุสลิมะห์และการวางตัวให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ยิ่งถ้าต้องร่วมงานกับต่างศาสนิก การให้เกียรติ เข้าใจ และเข้าถึง จะทำให้หน้าที่การงานดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิผล มุสลิมะห์ควรมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน การทำงานนอกบ้านจึงจะส่งผลดีทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณ

 

          ความเข้าใจที่ว่าอิสลามห้ามผู้หญิงไม่ให้ทำงานนอกบ้าน จึงเป็นความเข้าใจผิดที่อาจมีที่มาจากวัฒนธรรมของกลุ่มชนบางกลุ่ม ถึงกระนั้น อิสลามก็ไม่ปฏิเสธว่า สตรีคือผู้ทรงพลังในบ้าน การดูแลสามีและบุตรย่อมเป็นอีกงานหนึ่งที่ไม่มีใครสามารถทำได้ดีไปกว่าเธอ ฉันใดที่แพทย์เท่านั้นคือผู้ที่สามารถรักษาคนไข้ได้ดีที่สุด สามีย่อมต้องการภรรยา บุตรย่อมต้องการมารดาฉันนั้น

          สตรีที่ออกมาเรียกร้องสิทธิต่างๆ จึงไม่ควรปฏิเสธหลักความจริงข้อนี้ อิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว เพราะครอบครัวคือรากฐานในการสร้างสังคมและประเทศชาติ อิสลามจึงเน้นให้สตรีทำหน้าที่ภายในบ้านให้ดีที่สุด แต่นั่นมิได้หมายถึง การรักกันให้เธออยู่แต่ในบ้าน อิสลามมีมุมมองในเรื่องของความอิสระที่เป็นเอกลักษณ์ ความอิสระเสรีในอิสลาม คือ ความอิสระที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ให้นิยามไว้ในวจนะของท่านว่า

 

     “อุปมาการเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ยืนหยัดบนขอบเขตแห่งอัลลอฮฺกับผู้ที่ล่วงเกิน อุปมัยดั่งคนกลุ่มหนึ่งซึ่งทั้งหมดอยู่ในเรือลำเดียวกัน บางคนได้อยู่ชั้นบน บางคนได้อยู่ชั้นล่าง

     สำหรับคนที่อยู่ชั้นล่างต้องเดินผ่านคนชั้นบนเมื่อต้องการตักน้ำมาใช้ ดังนั้น พวกเขาจึงกล่าวว่า ถ้าพวกเราเจาะรูที่ไหนสักแห่งใกล้ตัวเรา พวกเราคงไม่จำเป็นต้องไปรบกวนคนชั้นบน

     ฉะนั้น ถ้าพวกเขาละเลย และวางเฉยกระทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ห้ามปรามกัน พวกเขาทั้งหมดต้องเผชิญกับความหายนะ หากพวกเขาต่างห้ามปรามซึ่งกันและกัน พวกที่อยู่ชั้นล่าง และทุกคนจะปลอดภัย

(รายงานโดยบุคอรี)

 

          ด้วยเหตุนี้ อิสรภาพในอิสลาม คือ อิสรภาพภายใต้ขอบเขตและกฎเกณฑ์ อาจกล่าวได้ว่า เมื่อประเทศหนึ่งๆ ยังต้องมีกฎหมายไว้คอยควบคุมความประพฤติของคนในชาติ อิสรเสรีภาพที่ประชาชนได้รับย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย อิสรภาพของสตรีก็เช่นเดียวกัน ต้องอยู่ภายใต้กรอบและขอบเขตที่เหมาะสม จะฝ่าฝืนหรือกระทำสิ่งใดโดยอำเภอใจทั้งหมดมิได้

 

มุสลิมะห์ในฐานะภรรยาและมารดา

 

          อิสลามให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิสตรี ระบบครอบครัวในอิสลามจึงเป็นระบบลูกโซ่ที่จะต้องมีผู้รับผิดชอบสิทธิที่สตรีพึงได้รับอย่างต่อเนื่อง สตรีที่ยังโสด บิดารต้องรับผิดชอบสิทธิอันชอบธรรมของเธอทั้งหมด ครั้นเมื่อแต่งงานแล้ว สามีจะเป็นผู้ทำหน้าที่แทนบิดาของเธอ สิทธิขั้นพื้นฐานที่สามีต้องมอบให้ภรรยามีสองประการหลัก คือ สิทธิทางการเงินและสิทธิในการอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา

          ในอิสลาม แม้ว่าภรรยาจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะ สามีมีหน้าที่แสวงหาปัจจัยยังชีพให้แก่เธอ รับผิดชอบในเรื่องเสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายประจำวันตามกำลังความสามารถของเขา ในขณะเดียวกัน เธอมีสิทธิ์ได้รับการปรนนิบัติที่ดีจากสามี 

ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ให้ข้อคิดกับบรรดาสามีไว้ว่า

 

คนที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน คือ ผู้ที่ทำดีต่อครอบครัวของและฉันคือผู้ที่ทำดีต่อครอบครัวของฉัน

(รายงานโดยบุคอรี)

 

          อนึ่ง การปรนนิบัติที่ดีในที่นี้ หมายถึง การให้ความอ่อนโยน ดูแลเอาใจใส่ ให้เกียรติ ไม่ค้นหา ข้อตำหนิความบกพร่องและความผิดพลาดของภรรยา ช่วยเหลืองานบ้าน ไม่ล่วงเกินภรรยาแม้จะด้วยวาจา รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ที่ดีอื่นๆ ที่ภรรยาควรจะได้รับจากสามีของเธอ

          ประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นความเข้าใจผิด คือ การอนุญาตให้ตีภรรยาได้เมื่อเธอดื้อดึง ในความเป็นจริง อิสลามมีมาตรการสำหรับสามีในการอบรมภรรยาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม นั่นคือ ให้เริ่มต้นด้วยการตักเตือน ไม่ร่วมหลับนอน (ไม่มีเพศสัมพันธ์)และสุดท้าย อนุญาตให้ตีเบาๆ โดยมีเงื่อนไขว่าการตีนั้นให้ตีเหมือนกำลังอบรมสั่งสอนบุตร ต้องตีด้วยความรักเมตตา ต้องไม่ทำให้เกิดบาดแผล ไม่ทำให้กระดูกแตกหัก การตบตีภรรยาอย่างป่าเถื่อน การใช้คำพูดรุนแรงและพฤติกรรมอื่นๆ ที่โหดร้ายจึงเป็นสิ่งที่อิสลามห้ามกระทำโดยเด็ดขาด

          สำหรับภรรยา เธอมีหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อสามีเช่นเดียวกันนั่นคือ ต้องเชื่อฟังสามีในสิ่งที่ไม่ขัดกับอิสลาม ปกป้องเกียรติยศและรักษาชื่อเสียงของสามี ดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ แสดงความรักต่อสามี ไม่ออกนอกบ้านก่อนได้รับอนุญาต ไม่อนุญาตให้ชายอื่นเข้าบ้านในขณะที่สามีไม่อยู่ หลีกเลี่ยงการโต้เถียงสามี เป็นต้น

 

          อนึ่ง การประคับประคองชีวิตคู่ให้ยั่งยืนนั้นต้องอาศัยความอดทน มุสลิมะห์จึงควรเรียนรู้หน้าที่และหลักการที่อิสลามวางไว้อย่างลึกซึ้ง ศึกษาอัลกุรอานและฮะดิษที่กล่าวถึงการได้มาซึ่งครอบครัวเปี่ยมสุข และพึงรำลึกอยู่เสมอว่าการปรนนิบัติสามี คือ การทำอิบาดะห์เพื่ออัลลอฮฺ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เตือนภรรยาทุกคนว่า

 

     “เมื่อสตรีได้ทำการละหมาด 5 เวลา ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน รักษาอวัยวะเพศของนาง และ เชื่อฟังสามีของนาง นางก็จะถูกเชื้อเชิญว่า จงเข้าสวรรค์ทางประตูใดก็ได้ตามที่นางปรารถนา

(รายงานโดยอะห์หมัด)

 

          ในยุคปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยาในสังคมมุสลิมมีสาเหตุมาจากการไม่รู้สิทธิหน้าที่ ไม่นำอิสลามมาเป็นทางนำ ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ต้องแบกรับ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า การใช้ชีวิตคู่อย่างสะเพร่าและไม่เรียนรู้ศึกษาวิธีการ ล้วนนำมาซึ่งปัญหาครอบครัว สังคมและประเทศชาติ สังคมมุสลิมจึงควรจัดให้มี Marriage Course ซึ่งเป็นหลักสูตรสั้นๆ ที่สอนเกี่ยวกับการแต่งงานและชีวิตครอบครัวตามหลักการอิสลาม โดยทุกคนต้องได้รับประกาศนียบัตรจากหลักสูตรนี้ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติให้แต่งงานได้

 

          สำหรับมุสลิมะห์ที่กลายเป็นมารดาแล้วนั้น เธอต้องรำลึกอยู่เสมอว่า การดูแลและอบรมบุตรคือหน้าที่อันยิ่งใหญ่ เธอมีหน้าที่ปกป้องลูกๆ ของเธอให้รอดพ้นจากไฟนรก เธอควรมีการวางแผนการเลี้ยงดูบุตรที่ชัดเจน

     จากคำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) พบว่า ท่านสั่งให้พ่อแม่ เอาใจใส่ในเรื่องการละหมาดของลูก โดยต้องสั่งให้ลูกละหมาดตอนอายุ 7 ขวบ และทำโทษเมื่ออายุ 10 ขวบ

          หลายครอบครัวที่เพิกเฉยต่อคำสอนนี้ มักจะได้รับผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาเท่าใดนัก การกำชับให้ละหมาดจนติดเป็นนิสัยตั้งแต่เยาว์วัยนั้น เป็นยุทธวิธีการสร้างวินัยที่ทรงประสิทธิภาพ มุสลิมะห์จึงต้องกวดขันในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ช่วงอายุดังกล่าว เด็กสามารถจดจำและถูกออกแบบได้ตามที่พ่อแม่ปราถนา มารดาจึงไม่ควรให้ช่วงอายุดังกล่าวผ่านไปอย่างไร้ค่า

 

          ♥ อีกประการหนึ่ง คือ การให้ความรัก ความเมตตากับลูก พ่อแม่ทุกคนย่อมรักลูก แต่ความเมตตา คือ สิ่งที่ต้องกระทำเป็นพิเศษ บางครั้งอาจต้องใช้ความอดทนในการแสดงความเมตตานั้น เช่น กรณีที่ลูกก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง ไม่ว่าจะเป็นวัยใด ควรใช้ความอ่อนโยนและความเมตตาเข้าแก้ปัญหามากกว่าการใช้ความรุนแรง พ่อแม่บางคนใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมกับลูก ตำหนิ ด่าว่าอย่างเสียหาย สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ห้ามทั้งสิ้น

 

          ♥ บทเรียนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การจูบลูกด้วยความรัก การจูบเป็นสัมผัสทางกายที่แสดงถึงความรัก ความเมตตา ลูกจะมีจิตใจที่อ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง ถ้าเขาถูกมอบสัมผัสแห่งรักนี้อย่างต่อเนื่อง ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ส่งเสริมให้พ่อแม่จูบและให้เกียรติลูก ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นตัวอย่างของพ่อแม่ที่ไม่อาจหาได้ในยุคปัจจุบัน เพราะ เมื่อฟาติมะห์ บุตรสาวของท่านเข้ามาหา ท่านจะลุกขึ้นยืนต้อนรับเธอ จูบหรือหอมเธอและจัดหาที่นั่งให้กับเธอ นับเป็นภาพแห่งการให้เกียรติบุตรสาวที่หาได้ยากโดยแท้

 

          ♥ อีกประการหนึ่ง มารดาควรดูแลเอาใจใส่ในเรื่องเพื่อนของลูก หนังสือที่ลูกอ่านหรืองานอดิเรกที่ ลูกชอบ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของเขา จงอย่าลืมว่า เด็กทุกคนนั้นเกิดมาอย่างบริสุทธิ์ พฤติกรรมของลูกไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ย่อมต้องมีที่มาที่ไปและต้นแบบอย่างแน่นอน

 

          การเป็นมุสลิมะห์ที่สมบูรณ์แบบทั้งสามบทบาท ไม่ใช่สิ่งที่กระทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องสวมหมวกหลายใบในเวลาเดียวกัน ถึงกระนั้น คำพูดของ William Ross Wallace ที่ว่า

 

“The hand that rocks the cradle is the hand that rules the world”

มือที่ไกวเปล คือ มือที่ครองโลกนั้น ยังคงเป็นจริงเสมอ

 

 

วารสารมุสลิม กทม.