มารยาทในการทานอาหาร
  จำนวนคนเข้าชม  3778


มารยาทในการทานอาหาร

 

ทานอาหารด้วยสามนิ้ว เลียนิ้วหลังจากทานเสร็จ และเลียภาชนะ

 

          ตามหลักการของซุนนะฮฺ นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ให้รับประทานด้วยนิ้วมือสามนิ้ว คือ นิ้วกลาง นิ้วชี้และนิ้วโป้ง (นิ้วหัวแม่มือ) และเมื่อเสร็จสิ้นการรับประทานอาหาร ก็ให้เลียนิ้วก่อนจึงค่อยล้างมือให้สะอาด 

     มีรายงานจาก กะอ์บฺ บิน มาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านกล่าวว่า:

رَأَيْتُ رَسُوْلُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم يَأْكُلُ بِثَلَاثِ أصَابِعٍ ، فَإِذَافَرَغَ لَعِقَهَا

     " ฉันได้เห็นท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รับประทาน อาหารด้วยสามนิ้ว เสร็จแล้วท่านก็เลียมัน"

(บันทีกโดย มุสลิม เลขที่ 2033)

     เช่นเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้เลียภาชนะที่มีอาหารติดอยู่ เมื่อรับประทานเสร็จ 

     มีรายงานจากญาบิร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า "แท้จริง ท่านร่อซูลุลลอฮ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ใช้ให้เลียนิ้วมือและภาชนะ

     และท่านกล่าวว่า:

إِنَّكُمْ لَا تَدْرُونَ فِي أَيِّ طَعَامِكُمْ الْبَرَكَةُ

     "แท้จริง พวกท่านไม่สามารถทราบได้ว่าความจำเริญ(บะเราะกะฮฺ) อยู่ ส่วนใดในอาหารของพวกท่าน"

(บันทีกโดย มุสลิม เลขที่ 2034)

          หมายความว่า อาจเป็นไปได้ว่าความจำเริญ(บะเราะกะฮฺ) และประโยชน์ของอาหารอันมากมายนั้นจะอยู่ในอาหารส่วนที่ท่านได้เลียก็ได้ 

(อิบนุ อัลอุษัยมีน, ชัรฮฺ เศาะฮี๊ฮฺ มุสลิม เล่ม 7 หน้า 244)

 

กล่าวชื่นชมอาหารและเครื่องดื่มและไม่ตำหนิใดๆ

 

           ผู้ใดรู้สึกถูกใจกับอาหารหรือเครื่องดื่มใดๆ ก็ควรกล่าวคำชื่นชมสิ่งนั้น ดังที่มีรายงานจากการกระทำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากญาบิร ร่อฎยัลลลอฮุอัลฮุ แจ้งว่า 

     "ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ร้องขอสำรับอาหารจากครอบครัวของท่าน 

     พวกเขากล่าวว่า ที่บ้านเราไม่มีสิ่งใดๆนอกจากน้ำส้มสายชูเท่านั้น"

     ดังนั้น ท่านจึงขอให้นำน้ำส้มสายชูนั้นมา แล้วท่านก็รับประทานน้ำส้มสายชูดังกล่าว พลันก็กล่าวชื่นชมว่า:

نِعْمَ الإدامُ الخلُّ نِعمَ الإدامُ الخلُّ

 "อาหารที่ดีที่สุดคือน้ำส้มสายชู อาหารที่ดีที่สุดคือน้ำส้มสายชู” 

(บันทีกโดย มุสลิม เลขที่ 2052)

          เช่นเดียวกับผู้ที่กตัญญู(ชูโกร) ต่ออัลลอฮฺในความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมอบให้และการอำนวยความสะดวกของพระองค์สู่ความโปรดปรานดังกล่าว เขาก็ต้องไม่กล่าวตำหนิต่อความกรุณาใด หรืออาหารใดๆ ที่พระองค์ประทานแก่เขา แต่ทว่า หากถูกใจในรสชาติของอาหาร ก็ให้ทานไป และหากไม่ถูกใจในรสชาติของมันก็ไม่ต้องทาน (โดยไม่ต้องไปตำหนิ

     มีรายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺร่อฎิยัลลอฮุอัลฮุ ท่านกล่าวว่า:

مَا عَابَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ طَعَامًا قَطُّ , إِنِ اشْتَهَاهُ أَكَلَهُ , وَإِنْ كَرِهَهُ تَرَكَهُ.

     "ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยกล่าวตำหนิอาหารใดๆเลย หากท่านชอบ ท่านก็รับประทาน และหากไม่ชอบ ท่านก็ไม่รับประทาน"

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ เลขที่ 5409, มุสลิม เลขที่ 2064)

 

ทานแต่พอดีและไม่มูมมาม 

 

          ส่วนหนึ่งของมารยาทที่ดีงามในการรับประทานอาหาร คือ มุสลิมต้องหลีกห่างจากการรับประทานจนอิ่มเกิน เนื่องจากท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวแนะนำไว้ว่า

مَا مَلَأَ آدَمِيٌّ وِعَاءً شَرًّا مِنْ بَطْنٍ بِحَسْبِ ابْنِ آدَمَ أُكُلَاتٌ يُقِمْنَ صُلْبَهُ فَإِنْ كَانَ لَا مَحَالَةَ فَثُلُثٌ لِطَعَامِهِ وَثُلُثٌ لِشَرَابِهِ وَثُلُثٌ لِنَفَسِهِ

     " ไม่มีที่บรรจุใดในคนเราที่จะเลวร้ายยิ่งไปกว่าท้อง เพราะอาหารไม่กี่คำก็สามารถพยุงมนุษย์ให้มีแรงที่จะยืนตรงได้ ก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับพวกเขา

     และหากจำเป็นต้องทานมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้แบ่งกระเพาะออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับอาหาร อีกส่วนหนึ่งสำหรับเครื่องดื่มและอีกส่วนหนึ่งสำหรับใช้หายใจ"

 

(บันทึกโดย อัตติรมีซีย์ เลขที่ 2381 และท่านกล่าวว่า เป็นฮะดีษฮะซัน เศาะฮี๊ฮฺ และอัลฮากิม เล่ม 4 หน้า 121 และกล่าวว่า เศาะฮี๊ฮฺและอัซซะฮะบีย์ก็ยอมรับ)

 

     มีรายงานจากอิมาม อัชชาฟีอีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอัลฮุ ท่านกล่าวว่า : ความอิ่มทำให้หนักร่างกาย ทำให้หัวใจแข็งกระด้าง ทำลายความปราดเปรื่องทางปัญญา ทำให้เกียจคร้านในการทำอิบาดะฮฺ

(อัลเฆาะซาลีย์, อิฮฺยาอ์ อุลูมิดดีน เล่ม 1 หน้า 25)

 

คลายลมหายใจนอกภาชนะและไม่ดื่มจากปากภาชนะส่วนกลาง

 

          ส่วนหนึ่งจากมารยาทในการดื่ม คือ ให้คลายลมหายใจในขณะดื่มน้ำ อย่างน้อยสามครั้ง โดยให้เอาภาชนะที่ใช้ดื่มออกจากปาก แล้วคลายลมหายใจครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็ดื่มต่อ ดังที่มีรายงายจากษุมามะฮฺ บิน อับดิลลาฮ ท่านกล่าวว่า: ท่านอะนัส บิน มาลิก จะคลายลมหายใจในการดื่มจากภาชนะในการดื่ม จำนวนสองหรือสามครั้ง และได้กล่าวว่า

     "แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้คลายลมหายใจในการดื่มจากภาชนะจำนวนสามครั้ง"

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 5631 และมุสลิม เลขที่ 2028) 

     และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามไม่ให้คลายหรือปล่อยลมหายใจในขณะดื่มน้ำในภาชนะ โดยกล่าวเตือนว่า 

إِذَا شَرِبَ أَحَدُكُمْ فَلَا يَتَنَفَّسْ فِي الْإِنَاءِ

     “เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านดื่มน้ำ ก็จงอย่าคลายลมหายใจลงในภาชนะนั้น

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 5630 และมุสลิม เลขที่ 267 และสำนวนเป็นของอัลบุคอรีย์)

         เพราะจะสร้างความสกปรกแก่คนที่จะดื่มหลังจากนั้น และบางทีอาจจะมีบางสิ่งออกจากปากของเขา แล้วเกิดอันตรายต่อผู้อื่น

        ในทำนองเดียวกัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามมิให้ดื่มจากปากภาชนะตักน้ำหรือถังน้ำ มีรายงานจากอบีสะอีด ท่านกล่าวว่า

نَهَى رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ اخْتِنَاثِ الْأَسْقِيَةِ : أَنْ يَشْرِبَ مِنْ أَفْوَاهِهَا

     “ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามฉีกหรือตัดปากภาชนะบรรจุน้ำ แล้วดื่มกินจากปากภาชนะนั้น

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 5625 และมุสลิม เลขที่ 2023)

 

ทานอาหารด้วยเจตนาเพื่อให้มีพละกำลังในการภักดีต่ออัลลอฮฺ

 

          การตั้งเจตนาจะเกิดขึ้นกับทุกสิ่งที่เป็นที่อนุมัติรวมถึงกิจการทางโลกทั้งหลาย ดังนั้น ผู้ใดตั้งเจตนาในการงานทางโลกและกิจการปกติทั่วไปของเขาเพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนการทำหน้าที่ในสิทธิอันพึงปฏิบัติต่ออัลลอฮฺ การปฏิบัติสิ่งที่เป็นวาญิบ และสิ่งที่เป็นการส่งเสริมให้กระทำ และนำเจตนาอันดีงามดังกล่าวไปใช้ในการรับประทานอาหาร การดื่ม การนอน การพักผ่อน การประกอบอาชีพ ตลอดจนกิจกรรมทั่วไป การงานเหล่านั้นก็จะกลายเป็นการอิบาดะฮฺ และอัลลอฮฺจะประทานความบะเราะกะฮฺในการงานของเขา และจะเปิดประตูแห่งความดีงาม และปัจจัยยังชีพแก่เขาอย่างไม่สามารถคำนวณนับได้และคาดคิดมาก่อน

(อิบนุ สะอฺดีย์ บะฮฺญะฮฺ กุลูบ อัลอับร็อร หน้า 12)

 

สิ่งที่บัญญัติให้กระทำสำหรับผู้ที่ไปร่วมงานเลี้ยงในขณะที่ตัวเองถือศีลอด

 

         สำหรับผู้ถือศีลอดที่ได้รับเชิญให้ไปทานอาหาร ส่งเสริมให้เขาขอดุอาอฺให้กับเจ้าของอาหารให้ได้รับการอภัยโทษ และมีศิริมงคลในชีวิตและอื่นๆ ฯลฯ

(อันนะวะวีย์, ชัรฮฺเศาะฮี๊ฮฺ มุสลิม เล่ม 9 หน้า 236)

    ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า :

((إذَا دُعِيَ أَحَدُكُمْ فَلْيُجِبْ، فَإِنْ كَانَ صَائِماً فَلْيُصَلِّ، وَإنْ كَانَ مُفْطِراً فَلْيَطْعَمْ))

     “เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านได้รับเชิญให้ไปทานอาหาร ก็จงตอบรับการเชิญนั้น แต่ถ้าเขากำลังถือศีลอดอยู่ ก็จงดุอาอฺให้กับผู้เชิญคนนั้น และถ้าไม่ถือศีลอด ก็จงไปรับประทานอาหารตามคำเชิญ

(บันทึกโดย มุสลิม เลขที่ 1431)

 

 

จากหนังสือจริยธรรมสำหรับเยาวชน  อัลอิศลาหฺ สมาคม