การเยียวยารักษาผู้ป่วยโรคร้ายแรง
  จำนวนคนเข้าชม  2051


ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับโรคร้ายแรง(2) 

โดย นายแพทย์อะหมัด มุฮัมมัด กันอาน

แปลและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญะม้าล ไกรชิต

 

การเยียวยารักษาผู้ป่วยโรคร้ายแรง

 

          การเยียวยารักษา คือการให้ยาเพื่อรักษาหรือป้องกันอาการป่วย แน่นอน ในยุคปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลากหลายรูปแบบ เช่น การให้ทานยา การผ่าตัด จิตบำบัด กายภาพบำบัด และวิธีอื่นๆ ที่เป็นการรักษารูปแบบใหม่ๆ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นบางครั้ง ท่านก็รักษาด้วยตัวของท่านเอง บางทีท่านก็เรียกผู้เป็นแพทย์มารักษาท่าน และท่านเองเคยสั่งใช้ให้คนในครอบครัวและบรรดาสหายของท่านที่ป่วยหรือเป็นโรคให้ทำการรักษาเยียวยา ท่านกล่าวว่า

 

     “แท้จริง อัลลอฮฺประทานโรคภัยมาพร้อมกับยารักษา พระองค์ทรงทำให้ทุกโรคมียารักษา ดังนั้น พวกท่านจงรักษาเยียวยาเถิด และพวกท่านอย่าได้รักษาเยียวยาด้วยสิ่งต้องห้าม

(บันทึกโดย อิมามอบูดาวูด)

 

          จนนักวิชาการฟิกฮฺบางท่านมีทัศนะว่า หากผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายไม่ได้รับการรักษาเยียวยาแผลของเขา แล้วเสียชีวิตลงเพราะบาดแผลนั้น ค่าเสียหายนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ที่ทำร้ายร่างกายเขา เพราะในกรณีเช่นนี้ การเยียวยารักษาไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้ป่วย 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

     “ประชาชาติของฉัน 7 หมื่นคนจะได้เข้าสวนสวรรค์โดยมิต้องสอบสวนใดๆ คนเหล่านั้นคือผู้ที่ไม่ได้ขอให้ผู้ใดมาอ่านสิ่งใดให้เพื่อให้เขาหายป่วย ไม่เชื่อเรื่องโชคลาง ไม่นาบด้วยไฟ (เพื่อการรักษา) และมอบหมายกิจการของพวกเขาต่อพระเจ้าของพวกเขา

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

          ถึงแม้นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเยียวยารักษาอาการป่วย เพราะมีคำพูดของท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม ผู้เป็นบรรพบุรุษของบรรดานบีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

 

และเมื่อฉันป่วย พระองค์ (อัลลอฮฺ) คือผู้ที่ทำให้ฉันหายป่วย

(อัชุอะรออ์ 26 : 80)

 

          แต่ท่านอิมามอิบนิลก็อยยิม ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้ตอบโต้บรรดผู้ที่กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องรักษาอาการป่วย โดยอ้างเหตุผลว่า เราต้องมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยท่านกล่าวว่า

           “การเยียวยารักษาไม่ได้ค้านกับการมอบหมายต่ออัลลอฮฺแต่อย่างใด เช่นเดียวกับการระงับความหิวกระหาย หรือการป้องกันความร้อนหรือหนาว ในทางตรงกันข้าม ข้อเท็จจริงในการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺจะไม่สมบูรณ์ นอกจากจะต้องทำในสิ่งที่เป็นสาเหตุต่างๆ ที่อัลลอฮฺได้ประทานเอาไว้ให้ก่อน เพื่อให้เกิดผลตามมาดังที่พระองค์ได้ทรงกำหนดเอาไว้ และแท้จริง การปล่อยปะละเลยในสาเหตุต่างๆ ของเรื่องเหล่านั้นต่างหากที่ไม่ถูกต้องสำหรับการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ และยังแย้งกับเหตุผลและข้อเท็จจริงอีกด้วย

     การที่ผู้ปล่อยปะละเลยคิดว่าการกระทำของเขาเป็นการมอบหมายต่ออัลลอฮฺขั้นสูงสุดนั้น เป็นความคิดที่ผิด เพราะการไม่ทำในสิ่งต่างๆที่เป็นสาเหตุ แต่กลับหวังผลของมันนั้น เป็นความบกพร่องและเข้าใจผิด ค้านกับการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การมอบหมายต่ออัลลอฮฺคือการมีใจเชื่อมั่นต่อพระองค์ว่า พระองค์จะประทานสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่บ่าวของพระองค์ ทั้งในด้านศาสนาและทางโลกและจะต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นสาเหตุต่างๆ ของสิ่งเหล่านั้นด้วย มิเช่นนั้นแล้วเราก็จะเป็นผู้บกพร่องและละเลยต่อบทบัญญัติและข้อเท็จจริงของศาสนา

     ดังนั้น ผู้เป็นบ่าวไม่ควรถือเอาความอ่อนแอของตนว่าเป็นการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ และการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ก็มิใช่การไร้ความสามารถแต่อย่างใดๆ

 

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ บรรดานักวิชาการส่วนมากจึงมีความเห็นว่า ตามหลักศาสนาแล้ว การเยียวยารักษานั้นถือเป็นเรื่องจำเป็น ดังปรากฏทั้งในอัลกุรอานและแบบฉบับของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทั้งคำพูดและการกระทำ เพราะการเยียวยารักษา เป็นวิธีรักษาไว้ซึ่งชีวิตที่ถือว่าเป็นหนึ่งในหลักสำคัญในการวางบัญญัติศาสนา และสำหรับฮุก่มของการเยียวยารักษานั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ของแต่ละบุคคล

 

     ♥- การเยียวยารักษาอาการป่วย จะเป็นเรื่องจำเป็น หากปล่อยทิ้งเอาไว้อาจส่งผลเสียต่อตัวเขาเอง หรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดในร่างกาย หรืออาจทำให้พิการทุพลภาพ หรืออาการป่วยอาจส่งผลข้างเคียงกับร่างกาย เช่น โรคกระเพาะ เป็นต้น

 

     ♥- ส่งเสริม สนับสนุนให้เยียวยารักษา หากปล่อยเอาไว้แล้ว จะทำให้ร่างกายอ่อนแอ แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรงกับชีวิต หรือดังข้างต้นที่ได้กล่าวมา

 

     ♥- จะทำการรักษาเยียวยาก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ เมื่อการเจ็บป่วยนั้นไม่ก่อให้เกิดผลเสียดังข้างต้นได้กล่าวมา

 

     ♥- และถือว่าไม่ควรจะรักษาเยียวยา หากจะทำให้อาการป่วยนั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

     ด้วยสถานการณ์แต่ละบุคคล เราจึงขอรวบรวมหลักการปฏิบัติทั่วๆ ไป เกี่ยวกับการเยียวยารักษา โรคร้ายแรงต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

     1. ตามหลักศรัทธาของมุสลิมต้องเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่า การเจ็บป่วยและการหายป่วยนั้นขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ และการเยียวยารักษาคือวิธีที่อัลลอฮฺได้มอบเอาไว้ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ได้ค้านกับกำหนดกฎสภาวะของอัลลอฮฺแต่อย่างใด 

     ดังปรากฏในฮะดิษของอบีคุซัยมะฮ์ ได้รายงานว่า : บิดาของท่านได้เล่าว่า

     ฉันได้ถามท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าโอ้ ร่อซูลุลลอฮฺ ท่านเห็นหรือไม่? สำหรับสิ่งที่พวกเราอ่านเพื่อขอให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย ยารักษาโรคที่พวกเราใช้เยียวยา และสิ่งป้องกันที่เราใช้มันปกป้องเรา สิ่งเหล่านั้นเป็นการไม่ยอมรับกำหนดของอัลลอฮฺหรือไม่?”

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เป็นส่วนหนึ่งจากกำหนดของอัลลอฮฺ

(บันทึกโดย อิมามอะหมัด และอัตติรมิซีย์)

 

     2. ในกรณีที่ผลตรวจคือไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ จะต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษาและความเป็นไปได้ทางการแพทย์แต่ละที่ แต่ละยุคสมัยและตามสภาพของผู้ป่วยแต่ละคน

 

     3. ไม่อนุญาตให้หมดหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ แต่เราควรมีความหวังในการหายป่วยด้วยการอนุมัติจากอัลลอฮฺ แพทย์และญาติผู้ป่วยจะต้องให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย คอยดูแลและช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย โดยไม่ต้องสนใจว่าเขาจะหายป่วยหรือไม่ก็ตาม

 

     4. ไม่อนุญาตให้ทิ้งการรักษาเพราะหมดความหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ หรือตัดพ้อต่อโชคชะตาและกำหนดของพระองค์ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

แท้จริง ไม่มีผู้ใดสิ้นหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ นอกจากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

(ยูซุฟ 12 : 87)

     แต่หากทิ้งการเยียวยารักษาเพื่ออดทนและหวังการตอบแทนจากอัลลอฮฺ ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติและสามารถกระทำได้ แต่จะต้องมีเงื่อนไขว่า ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าสามารถเยียวยารักษาให้หายป่วยได้ เพราะการทิ้งการรักษาเป็นการ สุ่มเสี่ยงต่อการนำพาตัวเองสู่ความพินาศ ซึ่งจะคล้ายคลึงกับการฆ่าตัวตายนั่นเอง

 

     5. ไม่ว่าโรคที่ป่วยสามารถรักษาได้หรือไม่ก็ตามที แพทย์ผู้รักษาจำเป็นต้องปรึกษาหารือกับผู้ป่วยหรือครอบครัวของผู้ป่วย และได้รับอนุญาตให้ทำการรักษา แพทย์ไม่ควรตัดสินใจตามลำพัง นอกจากในกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต ไม่สามารถที่จะรอได้ จึงอนุญาตให้แพทย์สามารถดำเนินการรักษาได้ โดยไม่ต้องรอการอนุญาตจากผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้

 

     6. แม้ว่าการเยียวยารักษาโรคร้ายแรงไม่จำเป็นแล้วสำหรับผู้ป่วย แต่แพทย์ผู้รักษาควรจะเยียวยารักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องหากเขาไม่ขัดขืน ถึงแม้ว่าการรักษาอาจทำได้แค่ให้อาการทุเลาก็ตาม เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีกำลังใจเนื่องจากได้รับการดูแลและเอาใจใส่

 

     7. เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องใช้ทุกวิธีที่มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วย แม้ว่าโอกาสที่จะหายป่วยนั้นมีเพียงน้อยนิดก็ตาม ดังหลักฐานต่างๆ ทางศาสนาที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เยียวยารักษาเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย โดยหวังว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะให้เขาหายป่วย พร้อมกับเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การหายป่วยนั้นขึ้นอยู่กับกำหนดของอัลลอฮฺ

 

     8. ผู้ป่วยโรคร้ายแรง ต้องระลึกถึงความตายให้มากๆ และจะต้องเตรียมตัวเพื่อกลับไปหาอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สะสางภาระหน้าที่ในความรับผิดชอบตนและต่อผู้อื่น ควรที่จะอดทนไม่โอดครวญ ร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษใดๆ แต่จะต้องพึงพอใจในกำหนดของอัลลอฮฺ และวิงวอนขอต่อพระองค์ให้มีบั้นปลายชีวิตที่ดี

 

     9. แท้จริง รูปแบบการรักษาทางการแพทย์บางวิธี จนกว่าจะถึงขั้นตอนสุดท้ายของการรักษา ผลเสียของมันอาจมีมากกว่าผลดี เช่น โรคมะเร็ง โรคไตวาย และโรคอื่นๆ บางทีการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต และโอกาสหายป่วยก็มีน้อย เช่น การให้อาหารทางสายยาง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบย่อยอาหาร เกิดอาการท้องอืด อึดอัดในท้องหรือการให้อาหารทางหลอดเลือด ทำให้หัวใจและปอดต้องทำงานหนักขึ้น จึงเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนของโรคได้ บางที การหยุดการรักษาในสถานการณ์เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องเหมาะสมและดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายและผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการรักษาได้ และไม่ถือว่าเขากระทำผิดใดๆ ที่ปฏิเสธการรักษานั้นๆ

 

         ความเจ็บป่วยนั้นเป็นสัจธรรมของชีวิต และเป็นกำหนดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงทดสอบบรรดาบ่าวของพระองค์ ทั้งตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัวและผู้ที่คอยดูแล เราต้องอดทน หมั่นขอดุอาอฺและเข้าใกล้อัลลอฮฺให้มากๆ เพื่อหวังในผลบุญ การตอบแทนและพระเมตตาของพระองค์

 

          ท้ายสุดนี้ ข้าพเจ้าขอให้กำลังใจแก่ผู้ที่คอยดูแลผู้ป่วย ปรนนิบัติ ทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วย ตระเตรียมอาหาร หาหยูกยา ด้วยความรักและหวังดีต่อผู้ป่วย โดยไม่รู้สึกรังเกียจและเบื่อหน่ายแต่อย่างใด สิ่งที่พวกท่านกำลังทำอยู่นั้นคือการงานที่มีเกียรติยิ่ง และพวกท่านได้ถูกเลือกแล้วสำหรับงานอันประเสริฐนี้ ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้

 

        ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานการมีสุขภาพที่ดีแก่เราท่านทั้งหลาย และโปรดให้บรรดาพี่น้องมุสลิมที่กำลังทนทุกข์กับโรคร้ายได้บรรเทาความเจ็บปวดและหายจากการเจ็บป่วยด้วยเถิด

 

 

ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์