มารู้จัก คนมุนาฟิก (กลับกลอก)
  จำนวนคนเข้าชม  7296


มารู้จัก คนมุนาฟิก (กลับกลอก)

เรียบเรียงโดย อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

          มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุขความจำเริญ และความสันติ จงประสบแด่ท่านนบีมูฮำหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วาน และมิตรสหายของท่าน

 

          คำว่า มุนาฟิก (مُنَافِقٌ) เป็นคำนามเอกพจน์ มีรูปพหูพจน์ว่า (مُنَافِقُوْنَ) กริยาเดิมคือคำว่า นะฟ่าก้อ (نَفَقَ) หรือ นะฟิก้อ (نَفِقَ) หมายถึง มัน (หนูหริ่ง) ออกจากรูของมันหรือเข้ารูของมัน มีรูปกริยาอีกตัวหนึ่งว่า นาฟ่าก้อ (نافَق) ซึ่งมีความหมายเหมือนคำว่า นะฟ่าก้อ และมีรูปอาการนาม (مَصْدَر) ว่า มุนาฟ่ะเกาะฮฺ หรือ นิฟ๊าก (نَفاق)

          ในทางศาสนบัญญัติ คำว่า มุนาฟิก หมายถึง คำนามที่ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายในการเรียกขานบุคคลที่ แสดงออก (เสแสร้ง) ว่ามีศรัทธา และซ่อนเร้นอำพรางการปฏิเสธเอาไว้ภายใน

 

          ความสัมพันธ์ระหว่างศัพท์คำนี้ในความหมายตามรากศัพท์และความหมายตามศาสนบัญญัติ นั้นคือ การเป็นคนมุนาฟิก (นิฟ๊าก) หมายถึง การกระทำของคนที่เป็นมุนาฟิก (منافق) ซึ่งกระจายคำมาจาก นาฟิกออฺ (نافِقَاء) อันหมายถึง ห้องในรังของหนูหริ่ง (ยัรบูอฺ) เพราะหนูหริ่งจะทำห้องในรังของมันหลอกเอาไว้ ซ่อนเอาไว้ห้องหนึ่งและทำหลอกเอาไว้อีกห้องหนึ่ง คนที่เป็นมุนาฟิกก็เช่นกัน เขาจะซ่อนเร้นอำพรางการปฏิเสธเอาไว้ แล้วเสแสร้งการเป็นอิสลามเอาไว้ภายนอก กล่าวคือ ซ่อนเร้นอำพรางสิ่งที่ค้านกับการแสดงออกภายนอกนั่นเอง 

(อัลมุนญิด ฟิลลุเฆาะฮฺ วัลอะอฺลาม หน้า 828/ ตัฟซีร อัลมุนีร ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ เล่มที่ 1 หน้า 80)

 

          ในภาษาไทยเราเรียกหรือให้ ความหมายคำว่ามุนาฟิกว่าเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกหรือคนสับปลับ หรือคนกลับกลอก ในคัมภีร์อัลกุรอานได้เปิดโปงเรื่องราวของพวกมุนาฟิกเอาไว้หลายที่ด้วยกัน ส่วนหนึ่งคือการระบุถึงสภาพของพวกเขาเอาไว้ในตอนต้นบทอัลบะกอเราะฮฺ นับแต่อายะฮฺที่ 8 เรื่อยไปจำนวน 13 อายะฮฺด้วยกัน 

 

          โดยลักษณะแรกของพวกมุนาฟิกก็คือ การเปล่งวาจาว่ามีศรัทธาด้วยกับลิ้น แต่หัวใจนั้นเต็มไปด้วยการปฏิเสธและความหลงผิด อัลกุรอ่านเรียกการเป็นนิฟากของพวกเขาว่าโรคร้ายซึ่งหมายถึงความสงสัย ความคลางแคลง ความสับสน การปฏิเสธและการดื้อแพ่ง 

 

          พวกมุนาฟิกจะชอบโอ้อวด ดูแคลนผู้ศรัทธา สำคัญตนผิดและปฏิบัติศาสนกิจด้วยความเกียจคร้าน โดยเฉพาะการละหมาดซุบฮิและละ หมาดอิชาอฺ

 

          ในสมัยท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มีพวกมุนาฟิกเป็นจำนวนมากมีอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุบัยย์ อิบนิ สะลู้ล เป็นหัวหน้า ส่วนมากมาจากพวกยิวที่แสดงตนเข้ารับอิสลามแต่เพียงภายนอกแต่ชิงชังอิสลาม และมุสลิมในหัวใจเป็นพวกมุนาฟิกจึงเป็นกลุ่มชนที่เป็นภัยต่ออิสลามมากยิ่งกว่าพวกปฏิเสธที่แสดงตน อย่างชัดเจนเสียอีก 

 

          อายะฮฺอัลกุรอ่านหลายอายะฮฺได้บ่งชี้ว่า การโกหกมุสาเป็นเครื่องหมายของพวกมุนาฟิก ซึ่งเมื่อการโกหกมุสาเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของพวกเขา การพูดจาอย่างชัดเจนจริงใจ และการกระทำด้วยความกล้าหาญไม่ขลาดเขลาซึ่งตรงกับสิ่งที่เชื่อมั่นในหัวใจ จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของผู้ศรัทธาที่มีความซื่อสัตย์

 

การเป็นมุนาฟิก  (นิฟ๊ากมี  2  ชนิดคือ

 

     1. นิฟ๊าก อิอฺติกอดีย์ (نَفَاقٌ اعتقادِي) คือการเป็นมุนาฟิกในด้านการยึดมั่นศรัทธา นักวิชาการบางท่านเรียกว่า นิฟ๊ากใหญ่ (نفاق اكبر) มี 6 ชนิดด้วยกันคือ

     (1)  ไม่เชื่อท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมคือหาว่าท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเป็นผู้มุสา

     (2)  ไม่เชื่อในบางสิ่งที่ท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้นำมา

     (3)  ชิงชังโกรธเคืองต่อท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

     (4)  ชิงชังโกรธต่อบางสิ่งที่ท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้นำมา

     (5)  ชื่นชมยินดีต่อความตกต่ำในศาสนาของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และ

     (6) รังเกียจในการช่วยเหลือศาสนาของท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ผู้ที่มี 6 ประการนี้ ถือเป็นมุนาฟิกซึ่งต้องได้รับการลงทัณฑ์ด้วยขุมนรกชั้นล่างสุด

 

     2. นิฟ๊าก อะมะลีย์ (نِفَاقٌ عَمَلِيٌّ) หมายถึง การปฏิบัติที่เข้าข่ายเป็นมุนาฟิก นักวิชาการบางท่านเรียกว่า นิฟ๊ากเล็ก (نفاق أصغر) ถือเป็นบาปใหญ่ มีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิดคือ

(1)  เมื่อพูดจาก็มุสาวาจา

(2)  เมื่อสัญญาก็บิดพลิ้ว

(3)  เมื่อได้รับความไว้วางใจก็ทรยศ

(4)  เมื่อพิพาทขัดแย้งก็แฉด้วยความหยาบช้า

(5)  เมื่อมีข้อตกลงก็ไม่รักษาสิ่งที่ตกลงกันไว้