บาป...สิ่งปิดกั้นสวรรค์
  จำนวนคนเข้าชม  4130


บาป...สิ่งปิดกั้นสวรรค์

 

โดย... อาจารย์ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          จุดหมายปลายทางสุดท้ายในชีวิตที่เรามุ่งมาดปรารถนา ก็คือ การได้ไปพำนักอยู่ในสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตลอดกาล สวรรค์ซึ่งเป็นสถานที่ที่พิเศษมากจริงๆ พิเศษขนาดว่า พระองค์ทรงบอกว่า สายตาของมนุษย์ไม่เคยเห็นมันมาก่อนบนโลกดุนยา หูก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน หัวใจของมนุษย์ก็ไม่สามารถหยั่งได้ ไม่สามารถจินตนาการได้เลย 

 

          อัลฮะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ อิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

: يَقُولُ اللَّهُ تَعَالَى : أَعْدَدْتُ لِعِبَادِي الصَّالِحِينَ مَا لَا عَيْنٌ رَأَتْ وَلَا أُذُنٌ سَمِعَتْ وَلَا خَطَرَ عَلَى قَلْبِ بَشَرٍ

 

     “อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งได้ตรัสว่า...ข้าได้จัดเตรียมไว้ให้แก่บ่าวที่ศอลิหฺของข้า ในสิ่งที่ตา(ของเขา)ไม่เคยเห็นมาก่อน ..

     หู(ของเขา)ไม่เคยได้ยินมาก่อน..และ(สิ่งนั้น)ไม่เคยผ่านเข้าไปในหัวใจของมนุษย์คนใดเลย (ไม่สามารถจินตนาการได้เลย)...”

 

          แสดงว่า คฤหาสน์หรือปราสาทราชวังที่ว่าสวยที่สุด วิจิตรที่สุด ใหญ่โตที่สุด อลังการที่สุดบนโลกดุนยา ก็ยังไม่สามารถเทียบได้กับสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในโลกอาคิเราะฮฺ ดังนั้น คนที่จะมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในสถานที่พิเศษๆอย่างนี้ ต้องเป็นคนที่เจ้าของสวรรค์ทรงอนุมัติเท่านั้น ซึ่งคนๆนั้น ก็คือ คนที่บริสุทธิ์ปราศจากบาป บริสุทธิ์จากการทำความผิดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดไว้

 

          ด้วยเหตุนี้ บาปจึงเป็นตัวปิดกั้นเรา ไม่ให้เราได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังนั้น เราจึงควรมาทำความรู้จักบาปกันสักนิด เพื่อเราจะได้ระมัดระวังตัวของเราให้ออกห่างจากมัน และพยายามไม่ทำบาปเหล่านั้น

 

          อุละมาอ์ได้จำแนกบาปที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานและอัลฮะดีษ ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดไว้ มาจัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือบาปใหญ่กับบาปเล็ก

 

          บาปใหญ่ หมายถึงบาปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดบทลงโทษเอาไว้แล้ว ซึ่งบทลงโทษนั้นอาจจะได้รับตั้งแต่ในโลกดุนยานี้ ก็คือ เมื่อทำบาปนั้นแล้ว ก็จะถูกลงโทษตั้งแต่อยู่ในโลกดุนยา เช่น บาปที่เกิดจากการเนรคุณต่อพ่อแม่ 

     ♦ หรือ บทลงโทษนั้นอาจจะเป็นบทลงโทษที่ถูกสัญญาไว้ในโลกอาคิเราะฮฺ คืออาจจะไม่ได้ถูกลงโทษในดุนยานี้ แต่ในโลกอาคิเราะฮฺจะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน 

     ♦ หรือ บทลงโทษอาจจะคือการที่ทำให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโกรธกริ้ว ทรงสาปแช่ง ซึ่งการที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโกรธกริ้ว หรือทรงสาปแช่ง ไม่ใช่ถือเป็นโทษเบาๆ แต่ถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรง หนักหนาสาหัสสากรรจ์เช่นเดียวกัน

 

          บาปใหญ่ทุกบาปจะได้รับการลงโทษในไฟนรก เป็นการลงโทษอันเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน หนักหนาสาหัสสากรรจ์ บาปใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุด และเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังอย่างมากที่สุด ก็คือเรื่องของการทำชิริก หรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา บาปนี้ หากใครไปทำเข้า ทำชิริกแม้เพียงนิดเดียว ก็จะมีผลให้เขากลายเป็นกาฟิร กลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา 

          และหากเขาเสียชีวิตในสภาพที่ยังทำชิริกอยู่ โดยไม่ได้ทำการเตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในวันกิยามะฮฺ เขาก็จะไม่ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเลย มีผลให้เขาต้องตกนรกตลอดกาล

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 72 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

 إِنَّهُ مَن يُشْرِكْ بِاللَّهِ فَقَدْ حَرَّمَ اللَّهُ عَلَيْهِ الْجَنَّةَ وَمَأْوَاهُ النَّارُ وَمَا لِلظَّالِمِينَ مِنْ أَنصَارٍ

 

     “แท้จริง ผู้ใดให้มีชิริก(หรือทำการตั้งภาคี)แก่อัลลอฮฺ แน่นอน อัลลอฮฺจะทรงให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามแก่เขา (ก็คือเขาไม่มีสิทธิ ไม่มีโอกาสได้เข้าไปพำนักในสวรรค์เลย)

     แต่ที่พำนักของเขาก็คือนรก(เท่านั้น) และสำหรับบรรดาผู้อธรรม(ผู้ที่ทำชิริก)นั้น ย่อมไม่มีผู้ช่วยเหลือใดๆทั้งสิ้น(ที่จะทำให้เขาพ้นจากการถูกลงโทษนี้)” 

( อัลมาอิดะฮฺ 5:72 )

 

          นั่นก็คือ ในโลกดุนยา ใครที่ทำชิริก อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่เขาเลย จนกว่าเขาจะเตาบะฮฺตัว และละเลิก ออกห่างจากการทำชิริกนั้นเสียก่อน พระองค์จึงจะทรงอภัยโทษให้ แต่หากเขาเสียชีวิตไปในขณะที่ยังทำชิริกอยู่ เขาจะไม่ได้รับการอภัยโทษเลย และต้องกลายเป็นชาวนรกในวันกิยามะฮฺ ซึ่งต่างกับความผิดอื่นๆที่ไม่ใช่การทำชิริก 

          หากเขาเสียชีวิตลงไปในขณะที่ยังทำความผิดอื่นๆที่ไม่ใช่การทำชิริก และเขายังไม่ได้เตาบะฮฺตัว ยังไม่ได้ขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อถึงวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอาจจะทรงอภัยโทษให้แก่เขา โดยที่เขาไม่ต้องรับโทษก็ได้ หากพระองค์ทรงประสงค์ หรือพระองค์จะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่เขาก็ได้ หากพระองค์ทรงประสงค์ ซึ่งเขาก็ต้องไปรับโทษตามความผิดนั้นๆที่เขาได้กระทำไว้เสียก่อน เมื่อเขาได้รับการชำระโทษเรียบร้อยแล้ว เขาจึงจะได้ออกจากนรก แล้วจึงจะได้เข้าสวรรค์

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮที่ 48 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

إِنَّ اللَّهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَاءُ ۚ

 

     “แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่ผู้ที่ทำชิริก(คือผู้ที่นำสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือคนหนึ่งคนใดมาเป็นภาคี เป็นพระเจ้าร่วม)กับพระองค์ แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ในเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากเรื่องนี้ แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” 

(อันนิซาอ์ 4 : 48 )

 

          นั่นก็หมายความว่า ถ้าหากบาปใหญ่เป็นบาปที่ไม่เกี่ยวกับการทำชิริกหรือการตั้งภาคี เช่น การทำซินา การเล่นการพนัน การดื่มเหล้า อย่างนี้ ไม่ถือว่าผู้นั้นมีสภาพเป็นมุรตัด คือไม่ออกจากการเป็นมุสลิมกลายเป็นกาฟิร เพียงแต่ถือว่าบุคคลเหล่านั้นบกพร่องในเรื่องของอีมาน เรียกว่ามีอีมานไม่เต็มร้อย มีอีมานยังไม่สมบูรณ์

 

          สำหรับในส่วนของบาปเล็ก หมายถึงบาปที่นอกเหนือจากบาปใหญ่ เป็นบาปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ได้ทรงกำหนดบทลงโทษไว้ แต่เป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนา ทำแล้วถือว่ามีความผิด ซึ่งบาปเล็กนี้สามารถลบล้างได้ด้วยการทำความดีทดแทน หรือทำอิบาดะฮฺติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ต้องไม่ทำบาปใหญ่ด้วย

          เช่น การละหมาดฟัรฎูให้ครบทั้งห้าเวลาในแต่ละวัน ก็สามารถลบล้างความผิดจากการทำบาปเล็กได้ การทำอิบาดะฮฺจากวันศุกร์หนึ่งถึงอีกวันศุกร์หนึ่ง หรือจากรอมฏอนหนึ่งถึงอีกรอมฎอนหนึ่ง การทำอิบาดะฮฺติดต่อกันอย่างนี้ล้วนเป็นการลบล้างบาปเล็กที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ตราบใดที่เขาไม่ได้ทำบาปใหญ่ เงื่อนไขคือ ต้องไม่ทำบาปใหญ่ด้วย

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 31 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

إِن تَجْتَنِبُوا كَبَائِرَ مَا تُنْهَوْنَ عَنْهُ نُكَفِّرْ عَنكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَنُدْخِلْكُم مُّدْخَلًا كَرِيمًا

 

     “หากพวกเจ้าปลีกตัวออกจากบรรดาบาปใหญ่ ของสิ่งที่พวกเจ้าถูกห้ามให้ละเว้นมันแล้ว เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็กๆน้อยๆของพวกเจ้า ออกไปจากพวกเจ้า และเราจะให้พวกเจ้าเข้าอยู่ในสถานที่อันมีเกียรติ” 

( อันนิซาอ์ 4 : 31 )

 

           แต่ขอให้เราทราบว่า บาปเล็กที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ได้ทรงกำหนดบทลงโทษเอาไว้นั้น นักวิชาการบอกว่า มันสามารถจะเปลี่ยนเป็นบาปใหญ่ได้เหมือนกัน หากเราทำบาปเล็กนี้ใน 5 ลักษณะด้วยกัน .....ก็ให้เราได้พิจารณาตัวเรา อย่าให้เราได้เข้าข่ายอยู่ใน 5 ลักษณะนี้

 

     ลักษณะที่หนึ่ง الإصْرارُ คือการยืนหยัดในการทำบาปเล็กอยู่อย่างเหนียวแน่น ตั้งใจทำโดยไม่ยอมเตาบะฮฺตัวเลย ไม่ขออภัยโทษเลย มีความมั่นคงอยู่ในการทำบาปนั้น ไม่ยอมละเลิก

 

     ลักษณะที่สอง المُوَاظَبَةُ คือการทำบาปเล็กนั้นอยู่เป็นประจำทุกวันๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำจนเหมือนกับว่า การทำบาปเล็กนั้นมันเป็นกิจวัตรหนึ่งในชีวิตประจำวัน ...อย่างนี้ก็สามารถเปลี่ยนบาปเล็กให้กลายเป็นบาปใหญ่ได้

 

     ลักษณะที่สาม الفَرَحُ بِالذُّ نُوْ بِ คือมีความรู้สึกดีใจที่ได้ทำบาปเล็กนั้น แทนที่จะรู้สึกสำนึกผิด ก็ไม่รู้สึก ใครที่ทำบาปเล็กแล้ว ไม่รู้สึกสำนึกผิดในบาปที่ทำ ไม่รู้สึกรู้สาว่าทำบาป แต่บางทีกลับรู้สึกดีใจที่ได้ทำมัน แบบนี้แหละ บาปเล็กนั้นก็อาจจะกลายเป็นบาปใหญ่ได้

 

     ลักษณะที่สี่ الإفْتِخَارُ คือเมื่อทำบาปเล็กแล้วก็มีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำบาปนั้น หลงลำพองใจในความผิดที่ทำ บาปเล็กนั้นก็จะยกระดับกลายเป็นบาปใหญ่ได้

 

     ลักษณะที่ห้า المُجَاهِرَةُ ก็คือการที่เราทำบาปอย่างเปิดเผย คือทำมันต่อหน้าสาธารณะ หรืออาจจะทำมันในที่ลับ แต่ภายหลังก็เอามาบอกเล่า เอามาพูดในที่สาธารณะให้คนอื่นๆได้รู้ ...การทำบาปเล็กในลักษณะนี้สามารถยกระดับขั้นให้กลายเป็นบาปใหญ่ได้

 

          การทำบาปเล็กทั้งห้าลักษณะข้างต้นนี้ อุละมาอ์บอกว่า...การทำบาปอย่างเปิดเผย ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากที่สุด เป็นเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง นอกเสียจากว่า เรื่องที่เขาเอามาบอกเล่านั้น มันเป็นเรื่องที่เขาได้รับการซ่อเล็ม หรือถูกอธรรม ไม่ได้รับความยุติธรรม อย่างนี้ก็ถือเป็นข้อยกเว้นได้

 

          อัลฮะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านซาลิม บิน อับดุลลอฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

« كُلُّ أُمَّتِي مُعَافًى إِلَّا الْمُجَاهِرِينَ، وَإِنَّ مِنْ الْمُجَاهَرَةِ أَنْ يَعْمَلَ الرَّجُلُ بِاللَّيْلِ عَمَلًا ثُمَّ يُصْبِحَ وَقَدْ سَتَرَهُ اللَّهُ عَلَيْهِ فَيَقُولَ يَا فُلَانُ: عَمِلْتُ الْبَارِحَةَ كَذَا وَكَذَا،

 

     “ประชาชาติของฉันทั้งหมดจะได้รับการอภัย นอกจากบรรดาผู้ที่กระทำความผิดอย่างเปิดเผย ...และส่วนหนึ่งจากการกระทำความผิดอย่างเปิดเผยก็คือ

     การที่คนๆหนึ่งได้ประพฤติสิ่งที่ไม่ดีในยามค่ำคืน ซึ่งเมื่อถึงยามเช้า อัลลอฮฺได้ทรงปกปิดการกระทำของเขา (คือไม่มีใครรู้ใครเห็นในความชั่วที่เขาทำ )

     แต่เขานั่นแหละกลับป่าวประกาศให้คนอื่นๆรู้ว่านี่รู้ไหมว่า เมื่อวานฉันได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ (คือทำบาปอย่างนั่นอย่างนี้ .....”

 

          นั่นก็คือทำบาปแล้ว และก็ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น แต่ตัวเองกลับนำเอามาเล่า เอามาบอกคนอื่นให้รู้เสียเอง ดังนั้น เมื่อเวลาที่เราได้ทำอะไรผิดหรือไปทำบาปอะไร อย่าเที่ยวไปพูดไปบอกกับคนนั้นคนนี้ ..ท่านนบีสั่งห้าม สั่งไม่ให้พูด เพราะมันจะเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีให้คนอื่นทำตาม และมันก็จะเป็นสาเหตุแห่งการถูกลงโทษด้วย

 

          อัลฮะดีษในบันทึกของอิมามอัตติรมีซีย์ وصححه الألباني รายงานจากท่านอิมรอน บิน หุศ็อยนฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

« فِي هَذِهِ الأُمَّةِ خَسفٌ وَمَسخٌ وَقَذفٌ » فقال رجل من المسلمين: يا رسول اللَّه! متى ذاك؟ قال: « إِذَا ظَهَرَتِ القَينَاتُ، وَالمَعَازِفُ، وَشُرِبَتِ الخُمُورُ »

 

ในประชาชาติของฉันนี้ จะเกิดธรณีสูบ การถูกทำให้กลายร่าง และถูกหินถล่ม” 

มีชายคนหนึ่งถามท่านนบีว่าโอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ มันจะเกิดขึ้นเมื่อใดหรือครับ? ” 

ท่านนบีตอบว่าเมื่อมีการแพร่ระบาดของนักร้องหญิง ดนตรี และการดื่มสุรา

 

          จากอัลฮะดีษนี้ จะเห็นว่า การทำให้บาปอย่างเรื่องของการดูหนังฟังเพลง ร้องเพลง การละเล่นดนตรีต่างๆ สิ่งเหล่านี้หากถูกกระทำอย่างเปิดเผยและแพร่หลาย มันก็จะกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการลงโทษตั้งแต่ในโลกดุนยานี้

         แต่ไม่ได้หมายความว่า อนุญาตให้เราทำบาป หรือทำความชั่วอย่างปกปิด ไม่ได้หมายความอย่างนั้น ไม่ได้ให้มาทำบาปอย่างปกปิด ...แต่การทำบาปอย่างเปิดเผย หรือทำบาปในที่ลับ แล้วเอามาประกาศให้คนอื่นรู้ การทำบาปในลักษณะนี้ มันจะเป็นการทำบาปสองส่วน คือ การทำบาปโดยตัวของมันเอง และการเปิดเผยการทำบาป ซึ่งมันจะทำให้เกิดความผิดสองส่วนคือ บาปจากการทำบาป และบาปจากการเปิดเผยความผิด 

          เพราะการที่เราทำความผิดอย่างเปิดเผย หรือนำการทำบาปเหล่านั้นมาประกาศให้คนรู้ มันจะเป็นการแพร่กระจายการทำบาป เปิดช่องทาง เปิดโอกาสให้คนอื่นๆเอาอย่าง ทำตามอย่าง และมันยังเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ให้ความสำคัญกับบทบัญญัติศาสนา ไม่เอาใจใส่ในบทบัญญัติศาสนา ยอมปล่อยให้ตัวเองทำบาป จึงเป็นเรื่องที่เราต้องมีการห้ามปรามกัน ตักเตือนกัน เพราะมันก็จะมีบทลงโทษที่รุนแรง

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนูร อายะฮฺที่ 19 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ يُحِبُّونَ أَن تَشِيعَ ٱلۡفَٰحِشَةُ فِي ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَهُمۡ عَذَابٌ أَلِيمٞ فِي ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةِۚ ١٩ ﴾

 

     “แท้จริงบรรดาผู้ชอบที่จะให้ความชั่วความบาปแพร่กระจายไปในหมู่ผู้ศรัทธานั้น พวกเขาจะได้รับการลงโทษอย่างเจ็บแสบทั้งในโลกดุนยานี้และโลกอาคิเราะฮฺ” 

(อันนูร 42 : 19 )

 

          อายะฮฺนี้ ชี้ให้เราเห็นว่า تَشِيعَ ٱلۡفَٰحِشَةُ แม้แค่การทำให้ฟาฮิชะฮฺ เรื่องบาป เรื่องไม่ดีแพร่กระจายออกไป ไม่ได้ทำเองนะ ไม่ได้เป็นคนลงมือทำ แต่เป็นแค่คนเผยแพร่มัน ทำให้มันแพร่กระจายออกไป

 

          ถ้าเป็นสมัยก่อน ก็ไปพูดไปบอกกับคนนั้นคนนี้ พูดออกไป ปากต่อปาก ....แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ อยู่คนเดียวก็สามารถแพร่กระจายเรื่องไม่ดีไม่งามได้ แชร์โพสต์ เขียนไลน์ อะไรต่างๆเหล่านี้ ถ้ามันเป็นเรื่องไม่ดีไม่งามก็สามารถจัดอยู่ในเรื่องของ تَشِيعَ ٱلۡفَٰحِشَةُ ได้เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง เพราะชีวิตประจำวันของเราสมัยนี้ก็มักจะอยู่กับการแชร์โพสต์ อยู่กับเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ดังนั้น ต้องระมัดระวังตัวเรา อย่าทำให้ตัวเราเป็นต้นเหตุของการแพร่กระจายเรื่องไม่ดีไม่งาม

 

          อีกประการหนึ่งก็คือ อย่าไปเห็นดีเห็นงามให้คนอื่นทำบาป เพราะเรื่องต่างๆเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เราต้องได้รับการลงโทษอันเจ็บแสบทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ นี่ขนาดบทลงโทษเฉพาะการเผยแพร่ ทำให้ความไม่ดีแพร่กระจายออกไปเท่านั้น ไม่ได้ลงมือทำเอง ยังได้รับโทษขนาดนี้ แล้วนับประสาอะไรกับคนที่ทำบาปอย่างเปิดเผย หรือไปสนับสนุนให้คนทำบาป อย่างนี้ยิ่งจะต้องได้รับโทษหนักมากกว่า จึงเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังตัวเราอยู่ตลอดเวลา

 

          คนเราทุกคนมีโอกาสพลาดพลั้ง มีโอกาสทำบาป เพราะบาปที่เราทำนั้นมักจะเกิดจากการที่เราไปยอมตามอารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำของตัวเอง ยอมไปทำเรื่องที่มันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของศาสนา หรือบางครั้งก็เกิดจากการที่เราพ่ายแพ้ ยอมให้กับการล่อลวงของชัยฏอนมารร้าย ที่มันคอยทำหน้าที่ของมันอยู่ตลอดเวลา 

 

          เมื่อเราทุกคนพลาดพลั้ง หลงไปทำบาป อาจจะตั้งใจหรืออาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อเราทำบาปแล้ว ไม่ใช่ว่าให้เราอยู่เฉย ทำเป็นไม่รู้สึกรู้สาอะไร ทำบาปแล้วก็ปล่อยไป อย่างนี้ไม่ได้ แต่เมื่อทำบาปแล้วต้องรู้สึกตัวว่าเป็นความผิด แนวทางของท่านนบีที่แนะนำแก่เราก็คือ เราต้องอิสติฆฟาร ต้องขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ ขอเตาบะฮฺตัวต่อพระองค์โดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือช่องทางที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเปิดโอกาสให้เราได้ชำระตัวของเราให้สะอาด ปราศจากบาปต่างๆ ซึ่งมีผลทำให้เราได้เข้าสวรรค์ของพระองค์

 

           ในอัลฮะดีษอัลกุดซีย์ บันทึกของอิมามอัตติรมีซีย์ รายงานจากท่านอนัส อิบนุมาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่าฉันได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า อัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา ตรัสว่า

 

يَا ابْنَ آدَمَ لَوْ بَلَغَتْ ذُنُوبُكَ عَنَانَ السَّمَاءِ ثُمَّ اسْتَغْفَرْتَنِي غَفَرْتُ لَكَ وَلَا أُبَالِي

 

     “โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย แม้นว่าบาปของเจ้าจะมากมายจนล้นฟ้า หากเจ้าวอนขออภัยโทษต่อข้า ข้าก็จะอภัยโทษให้แก่เจ้า โดยไม่สนใจเลย(ว่าความผิดเหล่านั้นของเจ้า มันจะมากมายเพียงใด)”

 

          ด้วยเหตุนี้ เราอย่าปล่อยให้บาปมันพอกพูนอยู่ในตัวเรา โดยเราไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะไม่อย่างนั้น ความหายนะ ความพินาศจากการถูกลงโทษก็จะมาประสบกับตัวเราในวันกิยามะฮฺ

ดังนั้น จงอิสติฆฟาร และทำการเตาบะฮฺตัวอยู่เสมอ

 

«أَسْتَغْفِرُ اللهَ وَأَتُوْبُ إِلَيْهِ»

 

ข้าพระองค์ขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ และขอกลับตัวสู่พระองค์

 

 

 

( จากเอกสารอัลอิศลาหฺ โดยอัลอิศลาหฺ สมาคม อันดับที่ 457 - 459 มกราคมมีนาคม 2561 )