หลักพื้นฐานสำคัญในการดำรงตนเป็นมุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  4645


หลักพื้นฐานสำคัญในการดำรงตนเป็นมุสลิม

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในการดำรงตนเป็นมุสลิมของเรานั้น อุละมาอ์บอกว่า เราจำเป็นต้องมีหลักพื้นฐานสำคัญในสี่ประเด็น นั่นก็คือ

 

ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องของอิลมุน เรื่องของความรู้ 

          อันเป็นความรู้ที่นำไปสู่การรู้จักพระเจ้าของเรา รู้จักศาสนาของเรา และรู้จักท่านนบีของเรา มุสลิมต้องรู้จักพระเจ้าของเราว่าคืออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราต้องมีความรู้ในเรื่องราวของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นความรู้ตามที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอาน และอัลหะดีษที่มีหลักฐานที่ถูกต้องเชื่อถือได้เท่านั้น ไม่ใช่ความรู้ตามที่คิดกันเอาเอง 

 

          ซึ่งการรู้จักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างดีและถูกต้องนั้น จะทำให้เราทราบว่า ..สิ่งสำคัญที่สุดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ให้เราปฏิบัติ ก็คือ อัตเตาฮีด นั่นก็คือ ให้เรานั้นมอบเอกภาพ หรือมอบความเป็นพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้นแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทั้งในด้านรุบูบียะฮฺ ด้านอุลูฮียะฮฺ และด้านอัลอัสมาวัศศิฟาต

 

          และในขณะเดียวกัน ความรู้นั้นก็จะทำให้เราทราบว่า เรื่องใหญ่ที่สุดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้าม ก็คือ เรื่องของอัลชิรกฺ ห้ามตั้งภาคีต่อพระองค์อย่างเด็ดขาด

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อรู้จักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว ก็ต้องรู้จักศาสนาของพระองค์ที่เรานำมานับถือ นั่นก็คือ อัลอิสลาม อันเป็นศาสนาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดปราน และคัดสรรให้กับมนุษย์ทุกคน นอกจากอัลอิสลามแล้ว อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงรับศาสนาอื่นใดทั้งสิ้น ซึ่งถ้าใครยอมรับอัลอิสลามมาเคารพนับถือ มายึดมั่น เขาก็เป็นมุสลิม ส่วนใครไม่ยอมรับ เขาก็เป็นกาฟิร ผู้ปฏิเสธศรัทธา

 

          ในส่วนของอัลอิสลามนั้น เราต้องรู้ว่า อัลอิสลามจะประกอบไปด้วยสามส่วน คือหลักปฏิบัติ หลักอีมาน และหลักอิหฺซาน

 

ส่วนที่หนึ่ง คือหลักอิสลาม หรือหลักการปฏิบัติ ห้าประการ

หนึ่ง ปฏิญาณตนด้วยกะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺทั้งสอง

สอง ดำรงรักษาการละหมาดฟัรฎูทั้งห้าเวลา

สาม จ่ายซะกาต

สี่ ถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน

ห้า ประกอบพิธีฮัจญ์ นครมักกะฮฺ

 

       ส่วนที่สอง คือหลักอีมาน หรือหลักการศรัทธา อันเป็นการศรัทธาด้วยหัวใจ แล้วกล่าวยอมรับด้วยคำพูด และพร้อมปฏิบัติด้วยอวัยวะร่างกาย ต้องเป็นการศรัทธาที่พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ...หลักนี้มีหกประการ

หนึ่ง ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

สอง ศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮฺทั้งหมด

สาม ศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ต่างๆที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานแก่บรรดานบีของพระองค์

สี่ ศรัทธาต่อบรรดาเราะซูลของพระองค์

ห้า ศรัทธาต่อวันกิยามะฮฺ

หก ศรัทธาต่ออัลเกาะฎอ อัลเกาะฎัร

 

       ส่วนที่สาม เป็นเรื่องของอัลอิหฺซาน หรือการทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยอิคลาศ นั่นก็คือ การที่เราทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หรือดำเนินชีวิตประจำวันเสมือนหนึ่งว่าเราเห็นพระองค์ หรือเราอยู่ต่อหน้าพระองค์ และแน่นอน แม้ว่าเราจะไม่เห็นพระองค์ แต่แท้ที่จริงแล้ว พระองค์ทรงเห็นเราอยู่ตลอดเวลา

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อรู้จักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว รู้จักศาสนาอิสลามที่เรานำมานับถือแล้ว เรายังต้องรู้จักท่านนบีของเราด้วย คือท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านเป็นนบีและเราะซูลของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่พระองค์ทรงส่งท่านมายังมนุษย์ทุกคน เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญอันเป็นเป้าหมายสูงสุดก็คือ เชิญชวนเรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนละทิ้งการทำชิริก พร้อมทั้งมอบเตาฮีดแด่พระองค์

 

          ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเป็นนบีและเราะซูลท่านสุดท้าย จะไม่มีนบีและเราะซูลอีกแล้วหลังจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอย่างเด็ดขาด ท่านนบีเป็นบุคคลที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ความสำคัญขนาดที่ว่า พระองค์ทรงให้การเชื่อฟังและปฏิบัติตามท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่ากับการเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระองค์ 

 

          ดังนั้น ท่านนบีจึงเป็นมนุษย์คนแรกที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก สำคัญก่อนพ่อแม่ เพราะว่าพ่อแม่เป็นบุคคลที่เราต้องให้ความสำคัญที่สุด แต่ก็สำคัญรองลงมาจากท่านนบี ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงทรงให้ท่านนบีเป็นแบบฉบับที่ดีที่สุดที่ให้เราปฏิบัติตาม ให้เราได้เลียนแบบ และได้ทรงสั่งใช้ให้การเจริญรอยตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่า เขาผู้นั้นรักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือ เรื่องของความรู้ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานสำคัญประเด็นแรกของการดำรงตนเป็นมุสลิม ซึ่งมุสลิมจำเป็นต้องมี เป็นความรู้ในเรื่องราวของหลักการหรือบทบัญญัติศาสนา เป็นความรู้ที่เราต้องแสวงหา ต้องศึกษา เป็นความรู้ที่จะมีรายละเอียดอยู่มากมาย  มากมายขนาดที่นักวิชาการกล่าวว่า ให้เรียนกันจนตาย ก็ไม่สามารถเรียนรู้กันได้ทั้งหมด

 

          ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราแต่ละคนที่ต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา จากแหล่งความรู้ต่างๆที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ เพื่อต่อยอดความรู้ของตัวเอง และเพื่อป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากสิ่งที่จะทำให้เราไขว้เขว้ออกจากสิ่งที่ถูกต้อง ....ขอให้เราทราบว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงอนุญาตอย่างเด็ดขาดที่จะให้เราเคารพอิบาดะฮฺพระองค์โดยที่ไม่มีความรู้ดังกล่าวข้างต้น เพราะการเคารพอิบาดะฮฺอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยไม่มีความรู้นั้น มันจะนำไปสู่การหลงผิด ดังเช่นที่พวกนะศอรอเคยหลงผิดมาแล้ว ..... ในขณะที่การแสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนานั้น จะนำทางเราไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแน่นอน

 

ประเด็นที่สองการดำรงตนเป็นมุสลิม 

          เมื่อมุสลิมได้แสวงหาความรู้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว หลักพื้นฐานสำคัญประเด็นที่สองของการดำรงตนเป็นมุสลิม ก็คือ เรื่องของการปฏิบัติ เมื่อเรามีความรู้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ให้นำความรู้นั้นมาสู่การลงมือปฏิบัติไปตามความรู้ที่ถูกต้องนั้น ...ใครก็ตามที่มีความรู้แล้ว แต่ไม่ลงมือปฏิบัติ เขาก็จะมีสภาพดั่งเช่นพวกยะฮูดีย์ที่รู้แล้ว แต่ไม่ยอมทำ ไม่ยอมปฏิบัติ หรือไม่ก็ ลงมือทำหรือลงมือปฏิบัติเหมือนกัน แต่เลือกปฏิบัติ เลือกปฏิบัติตามแต่ที่ตัวเองต้องการ อยากทำเรื่องนี้ก็ทำ ไม่อยากทำเรื่องนั้นก็ไม่ทำ นี่คือ ลักษณะของพวกยะฮูดีย์หรือพวกยิว 

 

          แต่สำหรับมุสลิมแล้ว ต้องยืนหยัดปฏิบัติตามความรู้ที่ถูกต้องเท่านั้น โดยทำให้เต็มความสามารถของเรา ยืนหยัดต่อบทบัญญัติศาสนาในทุกเรื่อง ถึงแม้ว่า บางเรื่องจะไม่ถูกใจ แต่เมื่อเป็นบทบัญญัติก็ยอมปฏิบัติ หรือบางเรื่องเราชอบ อยากจะทำเหลือเกิน แต่เมื่อทราบว่ามันผิดบทบัญญัติ เราก็ไม่ทำ ...ดังนี้แหละ เป็นการยืนหยัดอย่างมั่นคงต่อบทบัญญัติศาสนา ...

          และเราอย่าหลีกเลี่ยงที่จะแสวงหาความรู้ เพราะคิดเอาเองว่า เมื่อไม่รู้ จะได้ไม่ต้องลงมือปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติจะได้ไม่มีโทษ จะได้ไม่ต้องรับโทษ..ความคิดอย่างนี้ผิด เป็นความคิดที่มาจากการล่อลวงของชัยฏอน ซึ่งเป็นเหตุให้เราทำความผิดสองกระทง กระทงแรกคือ ไม่แสวงหาความรู้ กระทงที่สองคือ ไม่ได้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นบทบัญญัติศาสนา

 

ประเด็นที่สามการเรียกร้องเชิญชวน 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย หลักพื้นฐานสำคัญประเด็นที่สามของการดำรงตนเป็นมุสลิม ก็คือ การเรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นสู่ความรู้ดังกล่าวข้างต้น

          เมื่อเราแสวงหาความรู้ มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว แล้วนำความรู้นั้นมาปฏิบัติแล้ว ก็ให้เรานำความรู้เหล่านั้น มาถ่ายทอด มาเชิญชวนผู้คนรอบ ตัวเรา เช่น เราเป็นพ่อเป็นแม่ เราก็นำความรู้เหล่านั้นมาสอนลูกสอนหลาน เป็นพี่เป็นน้องก็เชิญชวนกัน หรือเชิญชวนผู้คนในสังคมของเราให้มีความรู้ความเข้าใจดังกล่าวด้วย ทำตามสถานภาพของเรา ทำตามความสามารถของเรา 

 

          ในฐานะที่เราเป็นคนเอาวาม คนธรรมดา ไม่ได้เป็นอุละมาอ์ ไม่ได้เป็นผู้รู้ เราก็บอกกล่าวเชิญชวนผู้คนตามที่เรามีความรู้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่าบอกอย่าสอนในสิ่งที่เราไม่มีความรู้ หรือตอบปัญหาในเรื่องของบทบัญญัติศาสนาโดยที่เราไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่ให้ทำเท่าที่เรารู้เราสามารถ

 

          สำหรับในส่วนของคนที่เป็นอุละมาอ์ เป็นนักวิชาการ ก็ต้องทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนผู้คนไปสู่ความรู้ ไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้อง มีหน้าที่ที่ต้องนำความรู้ที่ถูกต้องนี้ไปเผยแผ่แก่คนที่ยังไม่รู้ หรือรู้แล้วแต่อาจลืมเลือนไปบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ การเรียกร้องเชิญชวนผู้คนไปสู่ความดี ไปสู่การปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา และห้ามปรามผู้คนไม่ให้ทำในเรื่องที่ไม่มีในบทบัญญัติศาสนา หรือเรื่องที่ผิดบทบัญญัติศาสนา เป็นเรื่องของการตักเตือนกัน

 

ประเด็นที่สี่การอดทนต่ออุปสรรค 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย หลักพื้นฐานสำคัญประเด็นที่สี่ของการดำรงตนเป็นมุสลิม ก็คือ การอดทนต่ออุปสรรค ทุกสิ่งทุกอย่างที่มุ่งไปสู่การทำตามบทบัญญัติศาสนานั้น ล้วนมีอุปสรรคขัดขวางอย่างแน่นอน ทั้งอุปสรรคที่มาจากการล่อลวงของชัยฏอน แล้วก็ยังมีอุปสรรคที่เกิดจากนัฟซู ชะฮฺวะฮฺ อารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำที่มันแผงอยู่ในตัวเรา เป็นอุปสรรคที่เราต้องฝ่าฟันมันไปให้ได้ ด้วยการใช้ความอดทน

 

          เราต้องอดทนต่ออุปสรรคในการที่จะแสวงหาเรียนรู้ เราต้องอดทนต่ออุปสรรคที่จะปฏิบัติในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา อดทนที่จะลุกจากที่นอนเพื่อไปละหมาด อดทนที่จะอ่านอัลกุรอานให้ได้ทุกวัน อย่างน้อยวันละหนึ่งหน้า หรือแม้แต่หนึ่งบรรทัดก็ยังดี อดทนที่จะไม่ตระหนี่ เพื่อที่จะได้บริจาค

 

          เราต้องอดทนต่ออุปสรรคในการที่จะเชิญชวนผู้อื่นไปสู่ความรู้และปฏิบัติในเรื่องราวของศาสนา ซึ่งมันก็คือการอดทนในการตักเตือนกัน นับวันเรื่องนี้จะหายไปจากสังคม เพราะเรื่องของการตักเตือนกันถือเป็นเรื่องยากที่จะทำ เพราะคนที่ถูกเตือนก็ไม่ชอบที่จะให้ใครมาเตือน ส่วนคนที่เป็นผู้ที่เตือนเองก็กลัวว่าการเตือนของเราจะทำให้คนที่ถูกเตือนไม่ชอบเรา 

 

          โดยเฉพาะในสังคมมุสลิมขณะนี้ที่มีการตักเตือนกันให้ปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้อง กลับกลายเป็นว่า ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้มาสร้างความแตกแยก ห้ามพูด ห้ามเตือนเพราะเดี๋ยวจะมีการทะเลาะกัน อย่างนี้ก็ถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ผู้ตักเตือนต้องเผชิญ แต่ก็ต้องอดทนต่อการถูกกล่าวหาดังกล่าว

 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ทั้งหมดที่พูดมาก็คือ หลักพื้นฐานสำคัญในการดำรงตนเป็นมุสลิมของเรา ซึ่งอุละมาอ์สรุปไว้สี่ประเด็น นั่นก็คือ เรื่องของความรู้ แล้วนำมาสู่การปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้ว ต้องเชิญชวนผู้อื่นให้เรียนรู้และปฏิบัติด้วยเช่นกัน และแน่นอนที่ต้องมีอุปสรรคมาขัดขวางเรา ไม่ให้อยากทำ ดังนั้น เราต้องมีความอดทนต่ออุปสรรคต่างๆเหล่านั้น ..ก็ให้เราพิจารณาตัวเรา ว่าเราจะจัดการกับตัวเราอย่างไร เพื่อให้มีหลักพื้นฐานสำคัญในการดำรงตนเป็นมุสลิมของเราตามที่อุละมาอ์ได้บอกไว้

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานเตาฟีกฮิดายะฮฺ อนุมัติความสำเร็จให้แก่เราในการปฏิบัติตนเพื่อให้มีหลักพื้นฐานสำคัญในการดำรงตนเป็นมุสลิมตลอดไป

 


มัสญิด ดารุ้ลอิห์ซาน บางกอกน้อย