ผู้ศรัทธาที่เข้มแข็ง
  จำนวนคนเข้าชม  3564


ผู้ศรัทธาที่เข้มแข็ง

 

อับดุลวาเฮด สุคนธา เรียบเรียง

 

ความหมายและความสำคัญ

 

          ผู้ศรัทธาที่ความเข้มแข็ง คือ บุคคลที่ต่อสู้กับอารมณ์ของตัวเอง อดทนต่อการทดสอบและรักษาความดีด้วยการเชื่อฟังปฏิบัติต่อคำสั่งของอัลลอฮ์ ตะอาลา

 

          การศรัทธา (อีมาน) นั้นมีทั้งหมดเจ็บสิบกว่าแขนง และลำดับขั้นสูงสุดของการอีหม่าน คือ คำว่า ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮฺ และที่ต่ำที่สุดคือ การขจัดภัยอันตรายต่างๆออกจากท้องถนน สภาพการอีหม่านของมุอฺมิน ก็จะแตกต่าง และไม่เท่าเทียมกัน การศรัทธานั้นจะมีมากหรือมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับการงานของพวกเขา ดังกล่าวนี้จึงเป็นหลักฐานที่จะชี้ให้เราได้เห็นว่าการศรัทธานั้นมีการเพิ่มและมีการลดลง

 

         ดังนั้นมุอฺมินคนใดก็ตามที่มีความตั้งใจ ที่จะปฏิบัติคุณงามความดี มุ่งมั่นและกล้าที่จะเผชิญกับอุปสรรค พร้อมที่จะต่อสู้กับความชั่วร้ายทุกรูปแบบ ทำทุกหนทางเพื่อเชิดชูศาสนาอิสลาม ชักชวนผู้อื่นให้ทำความดี หักห้ามผู้อื่นไม่ให้กระทำความชั่ว ด้วยความอดทน ดำเนินตนอยู่ในโลกดุนยาอย่างถูกต้อง บริโภคแต่สิ่งที่เป็นฮาลาลฺ และออกห่างจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง(ฮารอม) ผู้ใดที่ประพฤติปฏิบัติเช่นที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น ผู้นั้นแหละ คือ ผู้ศรัทธา(มุอฺมิน)ที่เข้มแข็ง

 

หลักการ

 

     มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะห์ แจ้งว่า ท่านรอซูล ซอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

 

اَلْمُؤْمِنُ الْقَوِيُّ خَيْرٌ وَأَحَبُّ اِلَى اللهِ مِنَ الْمُؤْمِنِ الضَّعِيْفِ

 

มุมิน (ผู้มีศรัทธา) ที่เข้มแข็ง (ดีกว่าและเป็นที่รักยิ่ง อัลลอฮ์ ตะอาลา กว่ามุมินที่อ่อนแอ

(บันทึกโดยมุสลิม)

     ท่านกุรฎุบีย์ กล่าวว่า ผู้ที่เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งยืนหยัดต่อหน้าที่ในการอิบาดะฮ์ต่างๆ เช่นการทำฮัจญ์ การถือศีลอด การสิ่งใช้ทำความดี ห้ามปรามต่อความชั่ว

 

การปฏิบัติ

 

- อดทนต่อการทำอิบาดะฮ์

- อดทนต่อบททดสอบที่มาประสบ

- อดทนต่อความชั่วที่จะต้องละทิ้งและออกห่าง

      - ให้ศรัทธาต่อกอฎอ กอดัร (กำหนดสภาวการณ์) และยอมรับยอมจำนนต่อสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดให้กับมนุษย์

 

ประโยชน์และคุณค่า

 

- การศรัทธาจะเข้มแข็งด้วยการปฏิบัติคุณงามความดี

- ให้เอาใจใส่ต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

- ให้ขอความช่วยเหลือจากอัลเลาะห์ในกิจการงานต่างๆ

- เมื่อรู้สึกย่อท้อ อ่อนแอ และเกียจคร้าน ให้ขอความคุ้มครองจากอัลเลาะห์

 

 

     เสมือนกับที่ท่านนบี ได้ขอความคุ้มครองจากอัลเลาะห์ ไว้ว่า :

 

اللَّهُمَّ إِنِّي أَعُوذُ بِكَ مِنْ الْعَجْزِ وَالْكَسَلِ

 

[อัลลอฮุมมะ อินนี อะอูซุบิกะ มินัลอัจฺซิ วัลกะซะลิ]


โอ้อัลเลาะห์ แท้จริงฉันขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากความอ่อนแอ และความเกียจคร้าน