ดำรงรักษาการละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  6128


ดำรงรักษาการละหมาด

 

อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งให้เราได้ปกป้องตัวของเราและครอบครัวของเราให้พ้นจากการถูกลงโทษในไฟนรก ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตตะหฺรีม อายะฮฺที่ 6 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا وَقُودُهَا ٱلنَّاسُ وَٱلۡحِجَارَةُ

 

     “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย... จงปกป้องคุ้มครองตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก.... เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน(ที่เป็นรูปปั้นรูปเจว็ดต่าง )”

 

          ใครก็ตามที่คิดว่า ตัวเองเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺว่าเป็นเรื่องจริงที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ศรัทธาต่อบทบัญญัติศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นต้องป้องกันตัวของเขาจากการถูกลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยการกำชับใช้ให้ตัวเองทำความดี ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยทำให้สุดกำลังความสามารถของเขา ในขณะเดียวกัน ต้องออกห่างจากความชั่ว ละเลิกไม่กระทำสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง

 

          เมื่อได้ปกป้องตัวเองดังกล่าวแล้ว ยังต้องปกป้องครอบครัวของเขา อันได้แก่บุคคลในครอบครัว เช่น ภรรยา บุตรหลาน บุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขาให้พ้นจากไฟนรกด้วย ไม่ใช่ให้ตัวเองรอดพ้นจากการถูกไฟนรกคนเดียว ไม่ใช่ให้ไปเข้าสวรรค์คนเดียว แต่ให้ชวนครอบครัวทำตัวให้พ้นจากการถูกลงโทษ ชักชวนครอบครัวให้ไปเข้าสวรรค์ด้วย 

          โดยการดูแล อบรมสั่งสอน และให้เขาปฏิบัติเช่นเดียวกันกับเรา ให้การศึกษา ให้การอบรม ตักเตือนให้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองของเรานั้น ปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสั่งใช้โดยให้ทำอย่างสุดกำลังความสามารถ ในขณะเดียวกันก็ต้องออกห่าง ไม่ทำสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง .....

          ซึ่งเรื่อง ๆหนึ่งที่เราต้องคอยดูแลให้ตัวเราปฏิบัติอย่างดี ก็คือเรื่องของการดำรงไว้ซึ่งการละหมาด ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันกะบูต อายะฮฺที่ 45 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ว่า

 

وَأَقِمِ ٱلصَّلَوٰةَۖ

 

จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด

 

          จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดนั้น ไม่ได้หมายถึงการละหมาดที่ทำให้เสร็จ ๆไปในวันหนึ่งห้าเวลา แล้วก็เป็นอันจบกันเท่านั้น แต่การดำรงไว้ซึ่งการละหมาดนั้นจะต้องประกอบไปด้วยลักษณะดังนี้

 

 ♦- ปฏิบัติละหมาดฟัรฎูให้ครบทั้งห้าเวลาในหนึ่งวัน จะขาดเวลาหนึ่งเวลาใดไม่ได้เลย

 

 ♦- ปฏิบัติละหมาดตามรูปแบบของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งท่านนบีได้รับรูปแบบมาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..ท่านนบีละหมาดอย่างไร เราก็ต้องละหมาดไปตามอย่างนั้นทุกประการ ..ละหมาดฟัรฎูแต่ละเวลา มีรูปแบบอย่างไรก็ละหมาดไปตามนั้น ..ละหมาดซุนนะฮฺแต่ละอย่างมีรูปแบบอย่างไรก็ทำไปตามที่ท่านนบีได้ทำแบบอย่างไว้

 

 ♦- เมื่อปฏิบัติละหมาดฟัรฎูได้ครบทั้งห้าเวลาแล้ว รักษารูปแบบของการละหมาดแล้ว ก็ต้องรักษาเวลาละหมาดด้วย ละหมาดให้มันอยู่ในเวลาที่ถูกต้อง ละหมาดซุบฮฺก็ต้องอยู่ในเวลาซุบฮฺ ..ละหมาดมัฆริบก็ต้องอยู่ในเวลามัฆริบ ไม่ใช่ละหมาดมัฆริบในเวลาอิชาอ์ ..เมื่อได้ละหมาดในเวลาที่ถูกต้องแล้ว ก็ต้องพยายามละหมาดให้อยู่ในช่วงต้นของเวลา เมื่อเข้าเวลาละหมาดใดแล้ว ก็ให้พยายามรีบไปละหมาด โดยไม่โอ้เอ้ ไม่ล่าช้า

 

 ♦- ในขณะที่กำลังละหมาดอยู่นั้น ต้องปฏิบัติละหมาดให้อยู่ในสภาพที่คอชิอีน คือมีความนอบน้อมถ่อมตนในการละหมาด ปฏิบัติทุก ๆอิริยาบถให้อยู่ในสภาพที่นิ่งสงบ ไม่ลุกลี้ลุกลน ไม่รีบด่วน ไม่ละหมาดแบบไก่จิกข้าว ไม่ยุกยิก แต่ให้ละหมาดโดยมีอิริยาบถที่นิ่งสงบ นอบน้อม ...หากเป็นมะอ์มูมก็ต้องไม่นำหน้าอิมามในการละหมาด แต่ก็ไม่ล่าช้าจากอิมาม เมื่ออิมามละหมาดในอิริยาบถใดแล้วก็ให้ตามหลังในอิริยาบถนั้นในทันที

 

 ♦- การละหมาดนั้นจะต้องระงับยับยั้งเราจากการทำความชั่ว เมื่อเราละหมาดแล้ว เราจะต้องไม่อยากที่จะทำสิ่งที่มันฝ่าฝืน สิ่งที่มันละเมิดต่อบทบัญญัติศาสนา

 

          ท่านอบู อัลอาลิยะฮฺ นักมุฟัซซิรีนท่านหนึ่งได้อธิบายเรื่องการละหมาดไว้ ( ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในตัฟซีรอิบนุกะษีร )ว่า

 

وقال أبو العالية: إن الصلاة فيها ثلاث خصال، فكل صلاة لا يكون فيها شيء من هذه الخلال، فليست بصلاة:

 

          การละหมาดนั้นมีประเด็นหลักสำคัญอยู่สามประการ ซึ่งหากการละหมาดนั้นไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสามประการนี้ นั่นไม่ใช่การละหมาด(ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ )

 

สามประการนั่นก็ได้แก่  الإخلاص، والخشية، وذكر الله

 

ประการแรก الإخلاص อัลอิคลาศ

 

          อัลอิคลาศ หมายถึง ความบริสุทธิ์ใจ ความจริงใจที่จะให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น โดยไม่ยอมให้มีชิริก ไม่ยอมให้มีการตั้งภาคีใด ๆต่อพระองค์เลยทั้งชิริกใหญ่และชิริกเล็ก ไม่มีการโอ้อวดใด ๆเลย...

          ซึ่งท่านอบู อัลอาลิยะฮฺได้อธิบายว่า  فالإخلاص يأمره بالمعروف، อัลอิคลาศนั้นจะเป็นตัวกระตุ้น เป็นตัวผลักดัน จะสั่งให้คนที่ละหมาดนั้นทำความดี ทำสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้

 

ประการที่สอง والخشية، อัลค็อชยะฮฺ

 

          อัลค็อชยะฮฺ ก็คือ ความนอบน้อมถ่อมตน ความยำเกรงต่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

          ซึ่งท่านอบู อัลอาลิยะฮฺอธิบายว่า والخشية تنهاه عن المنكر، อัลค็อชยะฮฺนั้นจะหยุดยั้งคนที่ละหมาด จะห้ามปรามคนที่ละหมาดจากการทำความชั่ว จะห้ามเขาจากการทำสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาลา จะห้ามเขา จะไม่ให้เขาทำสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้าม

 

ประการที่สาม وذكر الله อัซซิกรุลลอฮฺ

 

          อัซซิกรุลลอฮฺ ก็คือ การรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา รำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ รำลึกถึงเดชานุภาพของพระองค์ รำลึกถึงนิอฺมะฮฺ เราะหฺมะฮฺของพระองค์ที่ทรงมีต่อเรา 

          ซึ่งท่านอบู อัลอาลิยะฮฺได้อธิบายว่า ، وذكر القرآن يأمره وينهاه การรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา รำลึกถึงสิ่งที่เขาอ่านหรือฟังในอัลกุรอานนั้น จะทำให้เขาทำสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ และในขณะเดียวกันจะห้ามเขาจากสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้าม

 

          ดังนั้น ถ้าละหมาดแล้ว ยังตั้งใจทำความชั่วอยู่ ยังตั้งใจฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่ อุละมาอ์บอกว่า ไม่ใช่การละหมาดตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ ...

          มีคน ๆหนึ่งมาพูดกับท่านอิบนิมัสอู๊ด เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ (ปรากฏหลักฐานอยู่ในตัฟซีรอัลกุรฏุบีย์ )ว่า ..คน ๆหนึ่งละหมาดอย่างมากมาย ..

          แล้วท่านอิบนิ มัสอู๊ดก็บอกว่า : إنها لا تنفع إلا من أطاعها، ไม่มีประโยชน์ในการที่เขาละหมาดมาก นอกจากว่า การละหมาดของเขานั้นจะทำให้เขาเกิดการเฏาะอะฮฺ ก็คือเกิดการเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..

           ละหมาดแล้ว อีมานเพิ่มพูน ..ละหมาดแล้ว อัตตักวาเพิ่ม เกิดความยำเกรงขึ้นในหัวใจมากขึ้น กลัวการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ ..ละหมาดแล้วต้องไม่ทำชิริก ..ละหมาดแล้วไม่อยากทำบิดอะฮฺ ..ละหมาดแล้วไม่อยากเป็นมุนาฟิก ..ละหมาดแล้ว ไม่อยากโอ้อวดเรื่องใด ..ละหมาดแล้วไม่อยากทำมะอ์ศิยะฮฺ ไม่อยากฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนา ดังกล่าวนี้แหละ คือการละหมาดที่เขาได้ปกป้องตัวของเขาเองให้พ้นจากไฟนรก

          แต่ถ้าละหมาดแล้ว เขายังทำความชั่วอยู่ ตั้งใจฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนา เขาก็จะได้รับหายนะ แม้ว่าเขาจะละหมาดก็ตาม ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมาอูน อายะฮฺที่ 4 – 6 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

فَوَيۡلٞ لِّلۡمُصَلِّينَ 4

 

ดังนั้น ความหายนะจงมีแด่บรรดาผู้ทำละหมาด

 

ٱلَّذِينَ هُمۡ عَن صَلَاتِهِمۡ سَاهُونَ 5

 

บรรดาผู้ที่ละเลยการละหมาดของพวกเขา

 

ٱلَّذِينَ هُمۡ يُرَآءُونَ 6

 

บรรดาผู้ที่โอ้อวดกัน

 

          อายะฮฺข้างต้นนี้บอกว่า ความหายนะจงมีแด่บรรดาผู้ทำละหมาด ..เป็นไปได้อย่างไร ที่คนทำละหมาดจะได้รับหายนะ ...พวกเขาได้รับหายนะก็เพราะพวกเขา سَاهُونَ ซาฮูน พวกเขาละเลยต่อการละหมาดของพวกเขา ..ละเลยต่อการละหมาดก็คือ การละหมาดที่สักแต่ว่าทำให้เสร็จ ๆไป โดยไม่ได้คำนึงถึงรูปแบบอะไรทั้งสิ้น การละหมาดที่ไม่รักษาเวลาละหมาด ละหมาดดุหฺริในเวลาของอัสรฺอยู่เป็นประจำ การละหมาดที่ไม่ได้เป็นการละหมาดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ 

 

          การละหมาดที่ไม่ได้ยับยั้งคนละหมาดจากการทำความชั่ว อยากทำอะไรก็ทำ ทำตามอารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำของตัวเอง ไม่ได้สนใจบทบัญญัติศาสนา ละเมิดขอบเขตของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างตั้งใจ แล้วก็ทำละหมาดอย่างโอ้อวด หรือละหมาดแล้วก็ยังมีลักษณะของการชอบโอ้อวดในเรื่องต่าง ... ละหมาดในลักษณะนี้แหละที่ทำให้คนละหมาดได้รับหายนะ .. ความหายนะนั้นก็คือ เขาจะได้รับการถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ

 

          ดังนั้น สำรวจการละหมาดของตัวเราดูว่า เป็นคนที่ อะกิมิศเศาะลาฮฺ ดำรงรักษาการละหมาดหรือยัง ละหมาดฟัรฎูในแต่ละวันครบแล้วหรือยัง ละหมาดตามรูปแบบของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไหม ละหมาดอยู่ในเวลาของมันไหม ละหมาดแล้วยับยั้งตัวเราจากการทำความชั่วไหม เราต้องให้การละหมาดเป็นตัวกำกับหัวใจของเรา และแท้จริงแล้ว อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงรู้ทรงเห็นการละหมาดของเราที่เราแสดงออกไป และสิ่งที่อยู่ภายในหัวใจของเราในขณะที่เรากำลังละหมาดด้วย

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดช่วยเหลือเรา ให้เราเป็นผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาดอย่างเคร่งครัด และเป็นการละหมาดที่พระองค์ทรงสั่งใช้ เป็นการละหมาดที่นำเราออกห่างจากความหายนะ นำเราออกห่างจากการถูกลงโทษในไฟนรก และนำเราไปสู่การได้รับชีวิตที่ดีงามทั้งในโลกดุนยานี้ และในโลกอาคิเราะฮฺ

 

 


( นะศีหะห์ มัสญิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )