มุสลิมกับการดูเดือน
  จำนวนคนเข้าชม  13751


มุสลิมกับการดูเดือน

 

โดย : อ.อิลยาส วารีย์  

ตอนที่ 1 ปฏิทินอิสลามกับมุสลิม

 

          ในคำสอนของอิสลามจะมีการกำหนดวันสำคัญต่างๆ ทางศาสนาในรอบปี โดยใช้ระบบปฏิทินฮิจเราะห์ซึ่งเป็นปฏิทินแบบจันทรคติที่ยึดการเห็นดวงจันทร์ (ที่มักเรียกกันว่าการดูเดือน”) เป็นเกณฑ์กำหนดการเริ่มต้นของเดือนใหม่ โดยทุกค่ำวันที่ 29 ของแต่ละเดือน หากมีผู้ใดมองเห็นจันทร์เสี้ยวด้วยตาเปล่า วันต่อไปจะนับเป็นวันที่ 1 ของเดือนใหม่ แต่หากไม่มีผู้ใดเห็นจันทร์เสี้ยว (เห็นเดือน) ในค่ำดังกล่าว เดือนนั้นจะมี 30 วัน1 ซึ่งระบบปฏิทินฮิจเราะฮฺนี้ หนึ่งปีจะมีเพียง 354-355 วัน ซึ่งต่างจากระบบปฏิทินสากลแบบสุริยะคติที่ปีหนึ่งจะมี 365 - 366 วัน

 

          ตัวอย่างวันสำคัญทางศาสนาที่ต้องใช้ระบบปฏิทินอิสลามในการกำหนด เช่น วันที่ 1 เดือน 9 (เดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน) วันที่ 1 เดือน 10 (เดือนเชาวาล ซึ่งเป็นวันอีดแรกในรอบปี คือวันเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นหลังการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน) และวันที่ 10 เดือน 12 (เดือนซุ้ลฮิจจะฮฺ ซึ่งเป็นวันอีดที่สองในรอบปี เป็นวันที่มุสลิมจะเฉลิมฉลองโดยการเชือดสัตว์เพื่อนำเนื้อไปแจกจ่ายแก่ ญาติสนิท มิตรสหาย และคนยากไร้)

 

          เกณฑ์การดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันทำพิธีกรรมต่างๆ ในศาสนาอิสลามนี้ ได้มาจากคำสอนของท่านศาสนทูต (ท่านนบี มุฮัมมัดขออัลลอฮฺให้พร และความสันติแก่ท่าน) ที่กล่าวไว้ว่า

 

((صوموا لرؤيته وأفطروا لرؤيته فإن غم عليكم فأكملوا العدة ثلاثين)) رواه مسلم

 

     “พวกท่านจงเริ่มการถือศีลอดเมื่อเห็นดวงจันทร์ และจงหยุดการถือศีลอดเมื่อเห็นดวงจันทร์ แต่หากพวกท่านมองไม่เห็น (ดวงจันทร์) ก็จงถือศีลอดให้ครบ 30 วัน” 

(บันทึกโดยอิมาม มุสลิม)

 

ตอนที่ 2 ความเห็นต่างของนักวิชาการเรื่องการดูเดือนเพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา

 

          จากตัวบทดังกล่าว นักวิชาการโลกอิสลามมีความเห็นต่างกันว่า หากเมืองหนึ่งเมืองใดในโลกเห็นจันทร์เสี้ยวจะถือว่าเป็นเกณฑ์ใช้ได้ทั้งโลก หรือ ต้องให้แต่ละเมืองดูกันเอง เพราะตำแหน่งการขึ้นของจันทร์เสี้ยวในแต่ละพื้นที่ต่างกัน หรือ จะให้ยึดตามประเทศซาอุดิอารเบียเป็นหลัก ?

 

          ความเห็นต่างเรื่องการดูเดือนนี้ ถูกนำมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ยิ่งเมื่อใกล้ช่วงที่ต้องดูเดือนเพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา บางครั้งมีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงถึงขั้นสร้างความบาดหมางน้ำใจระหว่างมุสลิมด้วยกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานศาสนา ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้แก่ผู้ที่พบเจอ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความแปลกแยกในชุมชม เราจะพบได้ว่าบางมัสยิดอาจกำลังเตรียมตัวละหมาดวันอีด ในขณะที่มัสยิดที่อยู่ใกล้กันกำลังเตรียมทำอาหารละศีลอด บางท่านก็มองผู้ที่ต่างจากตนว่าเป็นผู้ที่ไม่ประพฤติตนตามแนวทางของศาสนา บ้างก็นำมาเป็นเรื่องเยาะเย้ย ดูถูกกัน !?

 

ตอนที่ 3 ทางออกของเรื่องนี้ 

 

          จริงๆ แล้ว ประเด็นการดูเดือน ไม่ใช่ประเด็นที่เพิ่งมามีความเห็นแตกต่างในยุคนี้ การเห็นต่างดังกล่าวมีมานานหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งแต่ละทัศนะต่างมีนักวิชาการอาวุโสระดับโลกสนับสนุนทั้งสิ้น และความจริงที่น้อยคนจะรู้ คือ ในหมู่นักวิชาการอาวุโสระดับโลกที่เห็นต่างกัน มีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 39 ท่าน ที่เห็นพ้องกันว่า

 

     “ไม่ว่าคุณจะยึดตามทัศนะใดก็ตามในเรื่องของการดูเดือน คุณต้องตามผู้นำ ตามองค์กรที่ทำหน้าที่นี้ หรือ ตามคนส่วนมากในพื้นที่ที่คุณอยู่ ไม่ใช่ยึดเพียงสิ่งที่คุณเชื่อมั่นแล้วทำให้เกิดความแตกแยก เพราะในเรื่องการดูเดือนการสร้างความแตกแยกนั้นเป็นเรื่องที่เลวร้ายยิ่งกว่า!!”

 

ตอนที่ 4 ตัวอย่างคำพูดของนักวิชาการอาวุโสระดับโลก (ขออัลลอฮฺเมตตาพวกท่านทุกคน) ที่ยืนยันความคิดนี้

 

     1. ท่านชัยคฺ อัลบานีย์ (ขออัลลอฮฺเมตตาท่าน) ท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่ยืนยันว่า หากเมืองใดเห็นเดือน ให้ถือว่าเมืองที่เหลือในโลกเห็นด้วยเช่นกัน ท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือ المنة تمام ว่า

     “และแน่นอน ฉันเห็นว่าสำหรับคนทุกคนในแต่ละพื้นที่ ต้องถือศีลอดตามพื้นที่ที่ตนอยู่ ต้องไม่กลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่งตามพื้นที่ของตน อีกฝ่ายตามพื้นที่อื่น เพราะการกระทำดังกล่าวจะนำไปสู่วงเวียนแห่งการขัดแย้งในชุมชนเดียวกัน เหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในแถบอาหรับ อัลลอฮุ้ลมุซตะอาน (โอ้ อัลลอฮฺ โปรดช่วยพวกเราด้วย)”

     และท่านยังกล่าวไว้ใน الصحيحة السلسلة ว่า

     “และเราเห็นว่าจำเป็นที่รัฐอิสลามต้องรวมคนให้ถือศีลอดในวันเดียวกัน ออกอีดในวันเดียวกัน เหมือนที่พวกเขาทำฮัจย์ในวันเดียวกัน เราเห็นว่าไม่ควรที่พลเมืองเดียวกันจะแตกแยกกันโดยที่ฝ่ายหนึ่งตามรัฐ อีกฝ่ายตามพื้นที่อื่น ทั้งนี้ตามกฎที่ว่า ให้เลี่ยงความเสียหายใหญ่ (ในที่นี้คือการสร้างความแตกแยก) โดยยอมทำความเสียหายเล็ก (ในที่นี้คือการยอมละทิ้งความเชื่อมั่นของตน) ซึ่งเป็นกฎที่นักอุศูล (ผู้เชี่ยวชาญหลักเกณฑ์อิสลาม) ยึดถือกัน

     หมายความว่าทั้งที่ ชัยค์อัลบานี มองว่า ทั้งโลกต้องตามกันในเรื่องของการดูเดือน แต่ท่านยืนยันว่า หากยึดทัศนะนี้แล้วทำให้ขัดกับคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่เราอยู่ ก็ให้ยอมละทัศนะนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก!!

 

     2. ท่านชัยคฺ บินบาซ (ขออัลลอฮฺเมตตาท่าน) ท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่ยืนยันว่า หากเมืองใดเห็นเดือน ให้ถือว่าเมืองที่เหลือในโลกเห็นด้วยเช่นกัน ได้กล่าวไว้ในหนังสือ فتاوى مجموع ที่มีคนถามท่านว่า

     คำถาม หากประเทศมุสลิมอย่างประเทศซาอุดิอารเบียประกาศการเข้าเดือนรอมฎอน แต่ประเทศที่ผมอยู่ประกาศว่ายังไม่เข้าเดือน ผมต้องทำอย่างไร? จะให้พวกเราถือศีลอดตามซาอุฯ หรือให้ถือพร้อมกับคนในพื้นที่ของเรา เช่นเดียวกันกับการออกอีด เราควรทำอย่างไรหากสองพื้นที่เห็นต่างกัน ขออัลลอฮฺตอบแทนท่านแทนพวกเราและแทนมุสลิมทั้งหลาย

     คำตอบ จำเป็นที่มุสลิมทุกคนต้องถือศีลอดตามพื้นที่ที่เขาอยู่ และออกอีดพร้อมกัน จากคำพูดที่ท่านนบีกล่าวว่าวันที่ถือศีลอด คือวันที่พวกท่านถือศีลอด วันที่ออกอีด คือวันที่พวกท่านออกอีด และวันเชือดกุรบาน คือวันที่พวกท่านเชือดกุรบานวะบิ้ลลาฮิตเตาฟีก (ความสำเร็จนั้นเกิดได้เพราะอัลลอฮฺ)

 

     3. ท่านชัยคฺ อัลอุษัยมีน (ขออัลลอฮฺเมตตาท่าน) ท่านเป็นผู้ที่ยึดตามทัศนะที่ว่า ให้แต่ละพื้นที่ดูเดือนกันเอง ท่านได้กล่าวไว้ใน المستقنع زاد على الممتع الشرح ว่า

     “และนี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำกัน นั้นคือ เมื่อผู้นำยืนยันสิ่งใด จำเป็นที่คนภายใต้การปกครองต้องทำตาม ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอด หรือการออกอีด ทั้งนี้เพื่อความเป็นหนึ่งในสังคม ซึ่งเป็นทัศนะที่แข็งแรง ซึ่งต่อให้เรายึดตามทัศนะที่ 2 ที่มองว่า แต่ละพื้นที่มีตำแหน่งดูเดือนที่ต่างกัน (คือให้แต่ละพื้นที่ดูกันเอง) แต่จำเป็นสำหรับผู้ที่ตามทัศนะนี้ที่จะต้องไม่ขัดกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำ

 

     4. ทัศนะของชัยคฺ อัศศอนอานี ในหนังสือ السلام سبل ท่านได้กล่าวไว้ว่า

     “... นี่คือหลักฐานที่ระบุว่า การยืนยันเรื่องวันอีด ให้ตามคนส่วนใหญ่ และแน่นอนสำหรับผู้ที่เห็นเดือนเพียงคนเดียว (แต่ไม่มีใครเชื่อ) จำเป็นที่เขาจะต้องตามคนส่วนใหญ่ ทั้งในเรื่องของการละหมาด การออกอีด และการเชือดกุรบาน

 

     5. ชัยคฺ อับดุลมุฮฺซิน อัลอุบบาด อัลบะดัร (ขออัลลอฮฺเมตตาท่าน) ได้กล่าวไว้ในการอธิบายซุนันอบูดาวุดที่ว่า

     “สิ่งที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ (การดูเดือน) คือหากมุสลิมสามารถรวมเป็นหนึ่ง (ทั้งโลก) ในการถือศีลอดได้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากทำไม่ได้ก็ควรให้แต่ละพื้นที่ ยึดตามที่ผู้รู้ของพวกเขาตัดสิน หากพวกเขาเห็นพ้องให้ยึดตามทั้งโลกก็ตามนั้น แต่หากพวกเขาเห็นว่าให้ดูพื้นที่ใครพื้นที่มัน ก็ให้ทำตามนั้น

 

     เช่นเดียวกับฟัตวาจาก สถาบันฟัตวา อัลลัจนะฮฺ ดาอิมะฮฺ ลิ้ลอิฟตาฮฺ ที่ได้ระบุไว้ว่า

     “จำเป็นที่มุสลิมจะต้องถือศีลอดพร้อมกับบรรดามุสลิมในประเทศอิสลามที่เขาอยู่ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนท้องที่ หรือคนที่เดินทางไป รวมทั้งต้องออกอีดพร้อมกับพวกเขาด้วย ไม่ว่าการประกาศผลดูเดือนจะมาจากรัฐ จากผู้ตัดสินศาสนาของรัฐ จากผู้พิพากษา เพราะท่านนบีได้กล่าวไว้ว่า 

 

     “วันที่ถือศีลอดคือวันที่พวกท่านถือศีลอด วันที่ออกอีดคือวันที่พวกท่านออกอีด และวันเชือดกุรบานคือวันที่พวกท่านเชือดกุรบาน” 

(บันทึกโดยอิมามอบูดาวุด อิมามอัตติรมิซี ด้วยสายรายงานฮะซัน)

 

          เพราะการที่มุสลิมถือศีลอดและออกอีดพร้อมกันในเมืองเดียวกันเป็นการรวมตัวกัน และออกห่างจากความแตกแยก และความขัดแย้ง

          ที่น่าสนใจคือ ทั้งที่นักวิชาการอาวุโสเหล่านี้ แต่ละท่านต่างมีทัศนะของตนที่ชัดเจนเรื่องการดูเดือน แต่ทุกท่านกลับให้ความสำคัญกับการรวมตัวเป็นจะมาอะฮฺ (รวมกันเป็นกลุ่ม) มากกว่าการยืนยันที่จะยึดทัศนะของตนจนทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่มุสลิมด้วยกัน

 

ตอนที่ 5 สรุป เรื่องการดูเดือน จะออมชอมกันได้ไหม?

 

          ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากทางออกของความขัดแย้งเรื่องการดูเดือนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำตอบที่ได้ เนื่องจากนักวิชาการบางท่านอาจมองว่าในเรื่องศาสนา ทุกเรื่อง ต้องชัดเจน ออมชอมกันไม่ได้เด็ดขาดในขณะที่นักวิชาการอีกส่วนหนึ่งมองว่าเรื่องการดูเดือนนี้ออมชอมกันได้ เพราะ

 

     ประการที่ 1 เรื่องการดูเดือน ไม่ใช่ประเด็นการศรัทธาหลัก (อะกีดะฮฺ) ที่อิสลามสั่งไว้ว่าต้องทำให้ชัดเจน หากจำเป็นต้องแตกก็ต้องแตกศาสนาของพวกท่านก็คือของพวกท่าน ศาสนาของฉันก็คือของฉันแต่เรื่องนี้เป็นประเด็นฟิกฮฺ (เรื่องทางศาสนกิจ) ที่เห็นต่างได้ หากยึดหลักฐานที่ถูกต้อง

 

     ประการที่ 2 ความเห็นต่างเรื่องการดูเดือนนี้ เป็นเรื่อง ฟิกฮฺอิจติฮาด (ประเด็นที่ต้องใช้การตีความ) ที่ต่างฝ่ายต่างยึดตัวบทเดียวกันที่สามารถตีความได้มากกว่าหนึ่ง โดยไม่มีการตีความใดที่เหนือกว่ากัน

     ซึ่งตามหลักของนักอุศูล (ผู้เชี่ยวชาญหลักเกณฑ์อิสลาม) ได้ระบุไว้ว่าหลักฐานใดที่สามารถตีความได้มากกว่าหนึ่งอย่างเท่าเทียมกัน หลักฐานนั้นไม่สามารถนำมาใช้ตัดสินชี้ขาดในประเด็นนั้นได้ (คือต้องหาหลักฐานอื่นมาทดแทน) ซึ่งหลักฐานอื่นที่ยกกันมาก็สามารถมองได้หลายมุมอย่างเท่าเทียมกันเช่นกัน

 

     ประการที่ 3 เรื่องปลีกย่อยทางศาสนาที่อนุญาตให้มองต่างกันได้นั้น หากทำให้เกิดการแตกแยกในหมู่มุสลิม การหาทางออกโดยการออมชอม หรือการทำให้มุสลิมรวมกันในทัศนะเดียว เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และเป็นรูปแบบที่ สะลัฟที่ดี (คนยุคก่อน นับแต่สมัยศอฮาบะฮฺ) ทำกันมาโดยตลอด

 

     ตัวอย่าง ดังที่อิมามอัศศอนอานี ได้อ้างถึงในหนังสือของท่านว่า ท่านหญิงอิชะฮฺได้พูดกับมัซรู้กที่ไม่ยอมถือศีลอดในวันอะร่อฟะฮฺเพราะกลัวจะไปถือศีลอดในวันอีด โดยท่านหญิงได้อธิบายว่า ในประเด็นนี้ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ความคิดเห็นของตัวเอง และจำเป็นที่เขาจะต้องตามกลุ่มของเขา และท่านหญิงได้ให้เหตุผลว่า

วันที่เชือด คือวันที่ผู้คนเชือดกัน วันออกอีดฟิฏรี คือวันที่ผู้คนออกอีดกัน

 

     นอกจากกรณีของท่านหญิงอาอิชะฮฺแล้ว ยังมีอีกหลายกรณีในสมัยศอฮาบะฮฺที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมการอ่านอัลกุรอานในรูปแบบเดียวกันในสมัยของท่านอุษมาน หรือ การละหมาดในทุ่งมีนาขณะทำฮัจย์ ที่ในสมัยท่านนบี ท่านได้นำศอฮาบะฮฺละหมาดย่อและรวม ซึ่งในยุคที่ท่านอุษมานเป็นผู้ปกครองนั้น ท่านอุษมานถือว่าตนเองไม่ใช่ผู้เดินทางจึงไม่สามารถใช้สิทธิย่อและรวมได้ ท่านจึงนำละหมาดเต็ม

     ซึ่งท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัซอู๊ด (หรือท่านอิบนุมัซอู๊ด) ไม่เห็นด้วย แต่ท่านได้กล่าวกับผู้ที่อยู่ด้วยว่าเมื่อฉันละหมาดตามนบี ฉันละหมาดเพียง 2 รอกอะฮฺ (คือ ละหมาดย่อ) ต่อมาฉันได้ตามท่านอบูบักร ฉันก็ละหมาด 2 รอกอะฮฺ ในยุคท่านอุมัรเราก็ละหมาด 2 รอกอะฮฺ แต่เมื่อมาถึงยุคของท่านอุษมาน ท่านนำละหมาด 4 รอกอะฮฺ ซึ่งเป็นเหตุให้พวกท่านขัดแย้งกัน (เพราะศอฮาบะฮฺบางส่วนตามท่านอุษมาน ในขณะที่บางส่วนไม่สบายใจที่จะตามท่านอุษมาน) ซึ่งฉันรักที่จะละหมาด 4 รอกอะฮฺ มากกว่าและท่านก็ได้ละหมาด 4 รอกอะฮฺ

     จึงมีผู้ทักท้วงท่านว่าท่านตำหนิที่ท่านอุษมานละหมาด 4 รอกอะฮฺ แต่ทำไมท่านถึงละหมาดตามเขา?”

     ท่านอิบนุมัซอู๊ดตอบว่าการแตกแยกนั้น เลวร้ายยิ่งกว่า

(บันทึกโดยอิมามอะฮฺมัด และอบูดาวุด)

 

     ที่กล่าวมา ไม่ได้หมายความว่า เรื่องประเด็นปลีกย่อยของศาสนานั้นห้ามการชี้แจง หรือการถกกัน เพราะท่าน อิบนุ มัซอู๊ด เองท่านได้ประกาศจุดยืนของตนอย่างชัดเจน เพียงแต่เมื่อผู้นำอย่างท่านอุษมานยืนกราน ท่านอิบนุมัซอู๊ดจึงยอมทำตาม

 

     ตอนนี้จึงเหลือคำถามเพียงว่า ในเมื่อนักวิชาการระดับโลกจากแต่ละทัศนะที่ไม่ต่ำกว่า 39 ท่านที่ต่างเชื่อมั่นในความถูกต้องของทัศนะที่ตนยึดในเรื่องของการดูเดือน ต่างเห็นพ้องกันว่า ในเรื่องการดูเดือนต้องเอาความเป็นเอกภาพในพื้นที่ของตนมาก่อนความเชื่อมั่นของตน แล้วปัญหาความแตกแยกที่เกิดในบ้านของเรา สมควรจะยุติลงได้แล้วหรือยัง?

 



     หมายเหตุ บทความนี้ผมต้องการเพียงนำเสนอสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในประเด็นการดูเดือน โดยหวังความเมตตาจากอัลลอฮฺว่ามันจะช่วยลดกระแสความขัดแย้งที่เกิดในปัจจุบันได้บ้าง และหากท่านใดจะนำไปเผยแผ่ต่อ ขอความกรุณาอย่านำไปเผยแผ่ต่อเพียงเพราะอยากจะโจมตีผู้ที่ต่างจากตน เพราะเรื่องการดูเดือนนี้เป็นประเด็นปลีกย่อยที่มุสลิมทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกในสิ่งที่ตนเชื่อมั่น แต่ไม่มีสิทธิที่จะต่อว่าผู้ที่เห็นต่างจากตน



 

วัลลอฮุอะอฺลัม (อัลลอฮฺคือผู้ที่รู้ดีที่สุด)