โรคปวดศรีษะ กับความเครียด
  จำนวนคนเข้าชม  6582

โรคปวดศรีษะ กับความเครียด

         ความเครียด (stress) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ต่อสิ่งเร้าหรือเรื่องเครียด (Stressor) ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตหรือสิ่งคุกคามอื่นๆ ทำให้เกิดการเสียสมดุลทางจิตใจอันมีผลกระต้นให้เกิดการปรับตัวเพื่อทำให้เกิดความสมดุลใหม่ในจิตใจ สิ่งกระตุ้นความเครียดเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องเครียดทางจิตใจ หรือสิ่งคุกคามทางกายภาพ เช่น ความเจ็บปวด ความหนาวเย็น ความหิว เป็นต้น

         ปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดขึ้นจะไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติและระบบประสาทส่วนกลาง ผ่าน hypothalamus ต่อมใต้สมองและผ่านไปยังต่อมหมวกไต ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ได้แก่ cortisol และสารอื่นๆมีผลต่อการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อทำให้ร่างกายของเรามีความทนทานและสามารถใช้พลังงานสะสมในร่างกายได้ง่ายขึ้น จากแนวคิดของ Richard Lazarus พบว่าการตอบสนองต่อความเครียดนี้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลตามมุมมองของการรับรู้ถึงระดับความรุนแรงหรือควมสำคัญของสิ่งกระตุ้น และความสามารถของตนเองในการรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้น ความเครียดในระดับสูง และยาวนานจะส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพทางกายภาพและทางจิตใจ

          เช่นเดียวกับการปวดศรีษะซึ่งสัมพันธ์กับความเครียดหลายรูปแบบ อาการปวดศรีษะอาจเป็นการแสดงของโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล โรค Panic disorder โรคซึมเศร้า เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายอาการปวดศรีษะเป็นอาการของโรคปวดศรีษะโดยตรง (primary headache) หรือเป็นภาวะที่พบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ นอกจากนี้ความเครียดอาจจะเป็นเหตุกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาปวดศรีษะ อาจทำให้โรคปวดศรีษะที่เป็นอยู่กำเริบ หรือเป็นเรื้อรังยาวนานมากขึ้น

         มีรายงานว่าความเครียดอาจจะไปกระตุ้นการปวดศรีษะระยะเฉียบพลันในผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรม หรือมีประวัติครอบครัวของโรคปวดศรีษะ หรือผู้ที่มีบุคคลิกภาพแบบ neuroticism ซึ่งจะเป็นคนวิตกกังวลง่าย มีอารมณ์อ่อนไหว ตอบสนองต่อสิ่งกดดันภายนอก ซึ่งจะรู้สึกเครียดได้ง่ายอยู่แล้ว นอกจากนี้ความเครียดยังมีผลต่อการดำเนินของของโรคปวดศรีษะโดยไปเพิ่มความรุนแรงและเรื้อรังมากขึ้น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการใช้ยาแก้ปวดเกินความจำเป็น

          ผู้ที่มีปัญหาการปวดศรีษะรุนแรงและเรื้อรัง ควรได้รับการประเมินว่ามีปัญหาทางจิตอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่นผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวล มีความคิดกังวลเรื่องราวชีวิตไปก่อนล่วงหน้า นอนไม่หลับ หายใจไม่อิ่ม ใจสั่นแน่นหน้าอกร่วมกับอาการปวดศรีษะ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีความรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีความรู้สึกผิด รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า และบางรายมีความคิดอยากตาย ซึ่งการรักษาควรให้ความสำคัญกับการรักษาทางจิตเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลทำให้อาการปวดศรีษะดีขึ้น

         การบำบัดโรคปวดศรีษะให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องให้การบำบัดด้วยยาเพื่อป้องกันการปวดศรีษะที่เกิดขึ้นบ่อย ร่วมกับการบำบัดทางจิตใจและสังคม โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในเรื่องความเครียด ควรให้ความสำคัญกับการจัดการความเครียด เช่น การลดภาระที่ทำให้เครียด การบริหารจัดการเวลาในชีวิตที่เหมาะสม จัดกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจตามถนัด หรือความชอบในยามว่าง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง พูดคุยหาที่ปรึกษาเวลามีปัญหากลุ้มใจ ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (relaxation training) ผึกการสงบจิตใจ รู้จักสำรวจความคิดของตนเองและปรับเปลี่ยนการมองโลก และการแก้ปัญหาให้ต่างไปจากวิธีเดิมๆ ที่เป็นอยู่ คิดในด้านบวกและมีมุมมองที่กว้างขึ้น ร่วมกับการปรับพฤติกรรมและปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาของผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยโรคปวดศรีษะมีความเครียดทางอารมณ์ลดลงและอาการปวดศรีษะดีขึ้นในที่สุด