ศาสนาอิสลาม คือ ศาสนาแห่งความสะดวกง่ายดาย
  จำนวนคนเข้าชม  5600


ศาสนาอิสลาม คือ ศาสนาแห่งความสะดวกง่ายดาย

 

.อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

          السَّمَاحَة หมายถึง ความราบรื่นและง่ายดาย อะลุ่มอล่วย หรือ การให้อภัย หรือ ความอดทนอดกลั้นต่อผู้อื่นในการติดต่อปฏิสัมพันธ์ต่างๆและนั่นคือการอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นในการอำนวยความสะดวกและการไม่กดขี่

 

           ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตาและเป็นศาสนาแห่งการให้อภัย และผ่อนปรนง่ายดายในการดำเนินชีวิตของมนุษย์บนโลกนี้ พระองค์ทรงทำให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ง่ายดาย จะทำให้การปฏิบัติศาสนกิจ เป็นไปอย่างง่ายดายด้วยศาสนบัญญัติที่ง่ายดายและผ่อนปรน ซึ่งเป็นศาสนบัญญัติสุดท้าย สำหรับประชาชาติสุดท้าย ด้วยเหตุนี้หลักชะรีอะฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) จึงมีบทบัญญัติที่ควบคู่ไปกับการผ่อนปรน ความง่าย และไม่มีการบังคับในสิ่งที่เกินความสามารถ และความง่ายดายนั้น ตรงข้ามกับความยากลำบาก และความคับแคบ 

 

          ตามกฎเกณฑ์นิติศาสตร์อิสลามกล่าวว่า   المشقة تجلب التيسير  "ความยากลำบากจะนำพามาซึ่งความง่ายดาย"  (หมายถึง หากว่าเราปฎิบัติสิ่งนั้นเเล้ว มันจะเกิดความยากลำบากมาก เราก็สามารถปฎิบัติของที่ง่ายกว่า)

 

          ตัวอย่างเช่น อนุญาตละหมาดรวม กรณี คนป่วย คนเดินทาง ฝนตกหนัก มีลมพายุ และคนป่วยสามารถใช้ฝุ่นแทนน้ำ หากการใช้น้ำนั้นเกรงจะเกิดอันตรายแก่ตัวเอง

 

           โองการจากอัลกุรอาน และหะดีษมากมาย ที่บ่งบอกถึงการง่ายดาย และผ่อนปรนของชะรีอะฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) ซึ่งจะขอกล่าวไว้บางส่วนดังนี้

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

﴿ مَا يُرِيدُ ٱللَّهُ لِيَجۡعَلَ عَلَيۡكُم مِّنۡ حَرَجٖ ﴾

 

อัลลอฮฺไม่ทรงประสงค์ให้พวกเจ้าทั้งหลายลำเค็ญ” 

(อัลมาอิดะฮฺ : 6)

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

﴿ وَمَا جَعَلَ عَلَيۡكُمۡ فِي ٱلدِّينِ مِنۡ حَرَجٖۚ ﴾

 

พระองค์ไม่ทรงทำให้พวกเจ้าลำเค็ญในเรื่องศาสนา” 

 

(อัลฮัจ: 78)

          เป็นที่ทราบกันดีว่าบทบัญญัติของอัลลอฮฺ นั้น มีเป้าหมายเพื่อให้มนุษย์ได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยเหตุนี้ บทบัญญัติจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อความง่ายดายและความสะดวกสบายแก่ปวงบ่าว

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

يُرِيدُ اللَّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَلَا يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ “

 

     “ อัลลอฮ์ทรงประสงค์แก่เจ้าทั้งหลายซึ่งความง่ายดาย และมิทรงประสงค์แก่เจ้าทั้งหลาย ซึ่งความยากลําบาก ” 

(อัล บะเกาะเราะฮ์ : 185)

ในอีกอายะฮ์อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

يُرِيدُ اللَّهُ أَن يُخَفِّفَ عَنكُمْ

อัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะผ่อนหนักเป็นเบาแก่เจ้าทั้งหลาย” 

(อัล นิซาอ์ : 28)

และปรากฏในหะดีษของท่านญาบีร บิน อับดุลลฮฺ กล่าวว่า นบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

" بُعِثْتُ بِالْحَنِيفِيَّةِ السَّمْحَةِ "

 

ฉันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตแห่งศาสนาอันบริสุทธิ์ที่ง่ายและอะลุ่มอล่วย"

(หะดีษนี้บันทึกโดยอิมาม อะหมัด หะดีษที่มีสายสืบฮะซัน)

 

และปรากฏในหะดีษของท่าน นบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

( إِنَّ الدِّينَ يُسْرٌ ، وَلَنْ يُشَادَّ الدِّينَ أَحَدٌ إِلاَّ غَلَبَهُ ، فَسَدِّدُوا وَقَارِبُوا وَأَبْشِرُوا ، وَاسْتَعِينُوا بِالْغَدْوَةِ وَالرَّوْحَةِ وَشَىْءٍ مِنَ الدُّلْجَةِ )

 

     “แท้จริงศาสนาอิสลามนั้นง่ายและไม่มีใครทำให้กิจการของศาสนานั้นเป็นเรื่องยาก เว้นแต่จะต้องยอมจำนนไม่เอาในที่สุด แต่พวกเจ้าจงปฏิบัติให้ถูกต้องและให้ใกล้เคียงกับความสมบูรณ์มากที่สุด จงฉวยโอกาสในช่วงเช้า ช่วงเย็นและช่วงรุ่งอรุณ

(บันทึกโดย อัล บุคอรีย์)

และในหะดีษของท่านอิบนุ อับบาส ท่านน นบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

إنَّ اللَّهَ شَرَعَ الدِّينَ فَجَعَلَهُ سَهْلًا سَمْحًا سَهْلاً وَاسِعًا وَلَمْ يَجْعَلْهُ ضَيِّقًا

 

     “ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงประทานแนวทางของศาสนานี้ ดังนั้นพระองค์ได้ทําให้ศาสนานี้ง่ายดายและมิทรงทําให้ศาสนานี้เป็นที่คับแคบ” 

(บันทึกโดยอัตต็อบรอนี)

รายงานจากท่าน อิบนุ อุมัร ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ أَنْ تُؤْتَى رُخَصُهُ كَمَا يَكْرَهُ أَنْ تُؤْتَى مَعْصِيَتُهُ

 

     “แท้จริงอัลลอฮฺทรงชอบที่จะให้สิ่งที่เป็นที่อนุมัติถือปฏิบัติกัน เสมือนกับที่พระองค์ทรงรังเกียจที่จะให้สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนเป็นที่ปฏิบัติกัน” 

(บันทึกโดย : อะหมัดและอิบนฺฮิบบาน)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

 

يسّروا ولا تعسّروا وبشّروا ولا تنفّروا

 

     “จงทำให้ง่าย และอย่าทำให้ยาก และจงแจ้งข่าวดี (ในการรับการงานต่าง ๆ และการขอลุกะโทษของบ่าวต่ออัลลอฮฺ) และจงอย่าขู่จนเกินขอบเขต (จนบ่าวหมดความหวังที่จะได้รับการอภัยจากการกระทำผิดของตน และหมดหวังที่จะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ์)

(บันทึกโดยบุคอรีย์)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

 

« رُفِعَ عن أُمَّتي الخطأَ والنِّسيانَ وما استُكْرِهوا عليهِ ».

 

"ถูกผ่อนปรนให้กับประชาชาติของฉันซึ่ง ความพลาดพลั้ง การหลงลืม และการถูกบังคับ” 

(บันทึกโดย :อิบนุมาญะอฺ)

 

 

ตัวอย่าง ความสะดวกง่ายดายในศาสนา

 

ด้านการปฏิบัติศาสนกิจตามความสามารถ

 

          เรามีตัวอย่างของการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง คือ ชีวิตของท่านเราะสูล และบรรดาเศาะหาบะฮ์ทั้งหลายที่เจริญรอยตามสุนนะฮ์ของท่าน อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งได้ตรัสไว้ในโองการอันชัดแจ้งว่า

 

فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ

 

ดังนั้น จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ

(อัตตะฆอบุน 15)

อัลลลอฮฺได้ตรัสว่า

 

﴿ لَا يُكَلِّفُ ٱللَّهُ نَفۡسًا إِلَّا وُسۡعَهَاۚ ﴾

 

อัลลอฮฺจะไม่ทรงบังคับใช้ชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น” 

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 286)

จากท่านอบีฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ฉันได้ยินท่านร่อซู้ลุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า

 

"مَا نَهَيْتُكُمْ عَنْهُ، فَاجْتَنِبُوهُ وَمَا أَمَرْتُكُمْ بِهِ فَافْعَلُوا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ"

 

     “สิ่งใดที่ฉันห้ามปรามพวกท่าน พวกท่านก็จงออกห่างจากมันเสีย และสิ่งใดที่ฉันสั่งใช้พวกท่าน พวกท่านก็จงกระทำมันตามความสามารถของพวกท่าน

(บุคอรีย์)

ท่านนบีเคยกล่าวว่า

 

والله إنِّي لأخْشاكُم للهِ وأتْقاكُم له ، لكِنِّي أصومُ وأفْطِرُ وأصلِّي وأرْقُدُ وأتَزَوَّجُ النِّساءَ ، فمَن رغِبَ عن سنَّتِي فلَيْسَ مِنِّي

 

     “ฉันขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ แท้จริงฉันเป็นผู้ที่เกรงกลัวพระองค์อัลลอฮ์มากที่สุด แต่ฉันถือศีลอดและฉันละศีลอด ฉันละหมาดกลางคืนและฉันนอนบ้าง และฉันแต่งงานกับผู้หญิง ดังนั้นผู้ใดที่ไม่ชอบสุนนะฮ์ของฉัน เขาไม่ใช่พวกฉัน

( บันทึกโดย บุคอรีย์)

มีหะดีษของท่านเราะสูล ได้อธิบายความหมายของอายะฮ์ที่กล่าวมาไว้ว่า

 

أنَّ النَّبِيَّ دخَلَ على عائشَةَ وعنْدَها امرَأةٌ قالَ : مَن هذِهِ ؟ قالَت : هذهِ فلانَة تذكُرُ مِن صلاتِها قالَ : مَهْ ، علَيْكمْ بِما تطِيقونَ ، فوَ اللهِ ، لا يمُلُّ اللهُ حتى تمُلُّوا وكان أحَبُّ الدِّينِ إليهِ ما دامَ صاحِبُه عليهِ

 

     “ท่านเราะสูล ได้เข้ามาหาท่านหญิงอาอิชะฮ์ในขณะที่นางมีเพื่อนคุยอยู่ ท่านถามว่า นางคือใคร ?

     ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ตอบว่า นางคือ อัล-เหาลาอ์ บินตีเตาบัต กำลังคุยเกี่ยวกับการละหมาดยามดึกตลอดของนาง 

     ท่านเราะสูล กล่าวว่า พอ พอ พวกเจ้าจงกระทำตามความสามารถ ข้าขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ พระองค์อัลลอฮ์จะไม่เบื่อจนกว่าพวกเจ้าจะเบื่อก่อน ศาสนาที่พระองค์รักมากที่สุดคือ การงานที่เจ้าตัวได้กระทำอย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลา

(บันทึกโดย บุคอรีย์และ มุสลิม)

 

ด้านการไม่สุดโต่งและไม่เลยเถิด

 

ท่านเราะสูล ได้สาปแช่งผู้ที่ไม่ยอมเข้าใจคำสอนที่ท่านได้สอนไว้โดยกล่าวว่า

 

هلَكَ المُتَنَطِّعونَ ، هلَكَ المُتَنَطِّعونَ ، هلَكَ المُتَنَطِّعونَ

 

ความเสียหายจงประสบ แด่ผู้ที่ปฏิบัติเกินขอบเขตในเรื่องศาสนา(ท่านได้กล่าว 3 ครั้ง)

( บันทึกโดย บุคอรีย์)

รายงานจากท่าน อุมัร บิน ค๊อตตอบ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

لا تُطرُوني كما أطْرَتِ النَّصارى عيسى بنَ مريمَ؛ فإنَّما أنا عبدُ اللهِ ورسولُه.

 

     “พวกท่านทั้งหลายอย่าได้ยกย่องเชิดชูฉันจนเกินขอบเขต เสมือนดังที่พวกนะซอรอได้ยกย่องเชิดชูจนเกินเลยขอบเขตต่อท่านนะบีอีซาบุตรพระนางมัรยัม 

     แท้จริง ฉันนี้เป็นบ่าวของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเป็นศาสนฑูตของพระองค์ ดังนั้น พวกเจ้าทั้งหลายจงกล่าวเถิดว่า(ฉันเป็น) บ่าวของอัลลอฮ์และเป็นศาสนทูตของพระองค์

(บันทึกโดย บุคอรีย์)

 

ในด้านเมื่อเกิดความคับขันในชีวิต

 

อัลลอฮ์ตรัสไว้ว่า :

 

فَمَنِ اضْطُرَّ غَيْرَ بَاغٍ وَلاَ عَادٍ فَلا إِثْمَ عَلَيْهِ إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَّحِيمٌ

 

     “แล้วผู้ใดได้รับความคับขัน โดยมิใช่ผู้เสาะแสวงหา และมิใช่เป็นผู้ละเมิดขอบเขตแล้วไซร้ ก็ไม่มีบาปใดๆแก่เขา แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ

( อัลบะเกาะเราะห์ 173)

          ตัวอย่างเช่น : อนุญาตให้รับประทานซากสัตว์สำหรับผู้ที่ไม่มีอาหาร และไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ ความจำเป็นที่อนุญาตให้กระทำในสิ่งต้องห้าม หากเขาจะต้องพบกับความหายนะหรือเสียชีวิตได้ ดังกล่าวนี้เองเราจะทราบว่าบทบัญญัติของ อัลลอฮ์นั้น ได้ผ่อนผันให้กับปวงบ่าวและอนุญาตให้กระทำในสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม โดยไม่มีโทษหรือความผิดใดๆ

 

ด้านการการสมรส

 

ท่านนบีมุหัมหมัด ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

خيرُ النِّكاحِ أيسرُه

 

การแต่งงานที่ดี นั้น คือการแต่งงานที่สะดวกเรียบง่าย

(รายงานโดยอิบนุหิบบาน และอัลอัลบานีย์ ได้ให้สถานะหะดิษนี้ว่าเป็นหะดิษเศาะเฮียะ ในเศาะเฮียะอัลญาเมียะ หะดิษ)

ท่านนบี ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า

 

أَعْظَمُ النِّسَاءِ بَرَكَةً أَيْسَرُهُنَّ مَئُونَةً

 

บรรดาสตรีที่มีบะเราะกัต(ความจำเริญ)ที่ยิ่งใหญ่ คือ ความเรียบง่ายของพวกนาง(ในการใช้จ่าย)”  

(รายงานโดยอะหมัด อัลหากิม ได้ให้สถานะมันว่าเป็นหะดิษเศาะเฮียะ)

 

ด้านลัทธินิยม

 

          ในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามนั้นมีหลักฐานบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า อิสลามให้การยอมรับต่อชาติพันธุ์ของมนุษย์ ว่าเป็นการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีความหลากหลาย และความแตกต่าง มนุษย์ก็มีที่มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน กล่าวคือมาจากอาดัมและฮาวาอฺ ซึ่งเป็นมนุษย์คู่แรกของโลก ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ว่า

 

يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَىٰ وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوبًا وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُو

 

     “โอ้ มวลมนุษยชาติ แน่แท้เราได้บังเกิดสูเจ้าทั้งหลายจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้บันดาลให้สูเจ้าทั้งหลายเป็นชาติพันธุ์ต่าง ๆ และเป็นก๊กเป็นเหล่า ทั้งนี้เพื่อที่สูเจ้าทั้งหลาย จักได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน

(อัลฮุญุรอต : 13)

รายงานจากท่าน ญุบีร บิน มัตอัม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

ليس منَّا مَن دعا إلى عصبيَّةٍ، وليس منَّا مَن قاتَل على عصبيَّةٍ، وليس منَّا مَن مات على عصبيَّةٍ.

 

     “หา ใช่ส่วนหนึ่งจากเราไม่ บุคคลใดก็ตามที่เรียกร้องเชิญชวนสู่ความนิยมคลั่งไคล้,

     และหาใช่ส่วนหนึ่งจากเราไม่ บุคคลใดก็ตามที่สู้รบบนความนิยมคลั่งไคล้,

     และหาใช่ส่วนหนึ่งจากเราไม่ บุคคลใดก็ตามที่สิ้นชีวิตลงบนความนิยมคลั่งไคล้” 

(รายงานโดยอบูดาวูด)

รายงานจากท่าน ญาบีร อับดิลลาอฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

لا فضلَ لعربيٍّ على عجميٍّ ، ولا لعجميٍّ على عربيٍّ ، ولا لأبيضَ على أسودَ ، ولا لأسودَ على أبيضَ إلَّا بالتَّقوَى ، النَّاسُ من آدمُ ، وآدمُ من ترابٍ

 

     “ไม่มีความประเสริฐสำหรับชาวอาหรับเหนือชนอื่นที่มิใช่ชาวอาหรับ และไม่มีความประเสริฐสำหรับชนอื่นที่มิใช่ชาวอาหรับเหนือชาวอาหรับ ,

     และย่อมไม่มีความประเสริฐสำหรับชนผิวขาวเหนือชนสีผิว, และย่อมไม่มีความประเสริฐสำหรับชนสีผิวเหนือชนผิวขาว นอกจากด้วยความยำเกรง (อัตตักวา) มนุษย์มาจากอาดัม และอาดัมมาจากดิน

(รายงานโดยอะฮฺหมัด)

นี้คือความเป็นประชาชาติสายกลาง ของ ศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง

 

{وَكَذَٰلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِّتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا}

 

     “และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อว่าเจ้าทั้งหลายจะได้เป็นสักขีพยานแก่มวลมนุษย์ และศาสนทูต(มูฮัมมัด) ก็จะเป็นสักขีพยานแก่พวกเจ้า

(อัลบะกอเราะห์ 143)

 

          นี้คือ ศาสนาแห่งทางสายกลาง อย่างไรก็ตาม การจะเข้าใจหลักทางสายกลางอย่างถ่องแท้ ก็ต้องเข้าใจในสามองค์ประกอบหลักของทางสายกลาง คือ :

อิสลามไม่สุดโต่งและไม่เลยเถิด

อิสลามไม่ละเลยและไม่หย่อนยาน

อิสลามเป็นศาสนาไปสู่หนทางที่เที่ยงตรง

 

          สรุป ศาสนาอิสลาม คือ ศาสนาแห่งความสะดวกง่ายดายและไม่ลำบาก หมายถึง ความสะดวกง่ายดายและความไม่ลำบากในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในรูปของคำพูดและการกระทำหรือทางด้านจิตใจในรูปของเชื่อความศรัทธาอัลลอฮ์ ที่ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

 

وَمَا جَعَلَ عَلَيْكُمْ فِي الدِّينِ مِنْ حَرَجٍ

 

และอัลลอฮ์มิได้ทรงทำให้เรื่องของศาสนาเป็นการลำบากแก่พวกเจ้า

(อัลอัจญ์ 78)

รายงานจากท่าน ญาบีร อับดิลลาอฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

إنَّ اللَّهَ لَمْ يَبْعَثْنِي مُعَنِّتًا، وَلَا مُتَعَنِّتًا، وَلَكِنْ بَعَثَنِي مُعَلِّمًا مُيَسِّرًا.

 

     “แท้จริง อัลลออฮ์ ไม่ได้แต่งตั้งฉันมาให้เป็นผู้สร้างความยากลำบากและเป็นผู้แสวงหาความยากลำบาก แต่ทว่า อัลลอฮฺทรงแต่งตั้งฉันมาให้เป็นครูผู้สอนที่สะดวกสบาย

( บันทึกโดย มุสลิม)