ความประเสริฐของการบริจาคทาน
  จำนวนคนเข้าชม  8425


ความประเสริฐของการบริจาคทาน

 

ยะห์ยา หัสการบัญชา

 

     อธิบายหะดีษว่าด้วยความประเสริฐของการบริจาคทาน,การให้อภัยและความนอบน้อมถ่อมตน

 

عنْ أبي هُريرةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ قالَ: قالَ رسولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: ((مَا نَقَصَتْ صَدَقَةٌ مِنْ مَالٍ، وَمَا زَادَ اللَّهُ عَبْدًا بِعَفْوٍ إِلَّا عِزًّا، وَمَا تَوَاضَعَ أَحَدٌ لِلَّهِ إِلَّا رَفَعَهُ)).رواه مسلمٌ.

 

     รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยท่านด้วยเถิด ท่านกล่าวว่า ท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า 

 

     "การบริจาคทานนั้นมิได้ทำให้ทรัพย์สินลดน้อยถอยลง และอัลลอฮฺจะมิทรงเพิ่มพูนสิ่งใดให้แก่บ่าวผู้หนึ่ง(คนๆหนึ่ง)ที่ให้อภัยไม่ถือสาเอาความกับผู้อื่น นอกจากเกียรติยศ และจะไม่มีคนหนึ่งคนใดก็ตามที่นอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮฺ เว้นแต่อัลลอฮฺจะทรงยก(ฐานะและตำแหน่งอันสูงส่งให้แก่)เขา

 

(บันทึกโดยอิมามมุสลิม)

 

คำอธิบายหะดีษ

 

     คำกล่าวของท่านนบีมุฮัมมัดที่ว่า "การบริจาคทานนั้นมิได้ทำให้ทรัพย์สินลดน้อยถอยลง"

 

     นักวิชาการหะดีษได้ชี้แจงว่าความหมายตรงนี้มีสองนัยด้วยกัน คือ

 

     ความหมายนัยที่หนึ่ง : เขาจะได้รับความจำเริญและได้รับการปกป้องให้รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ ดังนั้นแม้ว่าโดยภาพที่ปรากฏภายนอกจะดูเหมือนว่าทรัพย์สินของเขาลดน้อยลง แต่ทว่าเขาจะได้รับความจำเริญที่มาแบบแอบแฝงทดแทน ซึ่งสิ่งนี้สามารถรับรู้และสัมผัสได้จริงโดยทั่วไป

 

     ความหมายนัยที่สอง : ถึงแม้จะดูเหมือนว่าทรัพย์สินของเขาลดลงแต่ทว่าผลบุญของเขาจะเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลเป็นการทดแทนทรัพย์สินที่เขาบริจาคไป

 




     และคำกล่าวของท่านนบีมุฮัมมัดที่ว่า "และอัลลอฮฺจะมิทรงเพิ่มพูนสิ่งใดให้แก่บ่าวผู้หนึ่ง(คนๆหนึ่ง)ที่ให้อภัยไม่ถือสาเอาความกับผู้อื่น นอกจากเกียรติยศ"

 

     และนักวิชาการหะดีษชี้แจงว่าความหมายตรงนี้มีสองนัยด้วยกัน คือ

 

     ความหมายนัยที่หนึ่ง : เขาจะได้รับเกียรติตามที่ตัวบทหะดีษบอกไว้ ซึ่งผู้ที่เป็นที่รู้กันว่าชอบให้อภัยไม่ถือสาผู้อื่นนั้น เขาจะมีความยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้อื่น และเขาจะมีเกียรติยศอันสูงส่งและได้รับการให้เกียรติเพิ่มมากขึ้น

 

     ความหมายนัยที่สอง : เขาจะได้รับเกียรติยศอันสูงส่งและผลบุญตอบแทนในโลกหน้า



 

     และคำกล่าวของท่านนบีมุฮัมมัดที่ว่า "และจะไม่มีคนหนึ่งคนใดก็ตามที่นอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮฺ เว้นแต่อัลลอฮฺจะทรงยก(ฐานะและตำแหน่งอันสูงส่งให้แก่)เขา

 

 

     และนักวิชาการหะดีษชี้แจงว่าความหมายตรงนี้มีสองนัยด้วยกัน คือ

 

     ความหมายนัยที่หนึ่ง : อัลลอฮฺจะทรงยกเกียรติให้เขาในโลกนี้ และจะทรงทำให้เขามีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้คนทั้งหลายและจะทรงยกย่องเขาให้มีเกียรติยศอันสูงส่ง ณ ที่ผู้คนทั่วไป

 

     ความหมายนัยที่สอง : เขาจะได้รับผลบุญตอบแทนในโลกหน้าและอัลลอฮฺจะทรงยกฐานะและตำแหน่งของเขาให้สูงขึ้นในโลกนี้เนื่องจากความนอบน้อมถ่อมตนของเขา

 

     


     ปราชญ์ทั้งหลายได้กล่าวว่า "และความหมายทั้งสองนัยในแต่ละถ้อยคำข้างต้นนั้นเกิดขึ้นจริงดังที่สามารถพบเห็นและรับรู้ได้โดยปกติทั่วไป และก็เป็นไปได้ว่าเขา(ผู้ที่มีคุณลักษณะนอบน้อมถ่อมตน)นั้นจะได้รับรางวัลตอบแทนตามความหมายทั้งสองนัยในทุกๆถ้อยคำทั้งหมดข้างต้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

วัลลอฮฺ อะอฺลัม (และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ที่สุด)"



 

(อ้างอิงจากตำรา อัลมินฮาจ อธิบายศ่อเหียะหฺมุสลิม โดยท่านอิมามอันนะวะวีย์)