อิสลามกับการปั้นปัญญาสู่สังคม
  จำนวนคนเข้าชม  1314

 

อิสลามกับการปั้นปัญญาสู่สังคม

 

โดย... อาจารย์ทวี นภากร

 

          มนุษย์ตั้งแต่เกิดเป็นทารก - เด็กอนุบาล - รู้เดียงสา - บรรลุศาสนภาวะ - สู่ความเป็นคน เป็นวัยรุ่น เป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นปัญญาชน สู่การเลือกเรียน เลือกอาชีพ เลือกทางชีวิต - คนดี คนชั่ว

 

          มนุษย์หรือคนเป็นมัคลู๊กที่ประเสริฐ ที่อัลลอฮฺทรงสร้างมาในอัลกุรอาน ระบุว่า

 

เราได้บังเกิดมนุษย์มาในรูปลักษณ์ที่ดีเยี่ยม

(อัตตีน 95 : 4)

 

แท้จริง เราได้ให้เกียรติลูกหลานอาดัม

(อัลอิสรออฺ 14 : 70)

 

     ความประเสริฐอยู่ที่มนุษย์มีสติปัญญา สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ สามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยจนรับรู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว

     มนุษย์มีเส้นทางชีวิตที่อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้อย่างตายตัว นั่นก็คือการภักดีต่ออัลลอฮฺองค์เดียว

 

เราได้บังเกิดมนุษย์เพื่อให้พวกเขาภักดีต่ออัลลอฮฺเท่านั้น

(อัซซาริย๊าต 51 : 56)

 

     ... นี่คือ ภาพของมนุษย์โดยรวม นับตั้งแต่มนุษย์คนแรกมาจนทุกวันนี้... และจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงวันสิ้นโลก

 

          แต่ที่น่าสนใจก็คือ... เราจะได้ยินจากสื่อ และจากบุคคล จากวงการต่างๆ ว่ายุคมันเปลี่ยนไปคนจึงเปลี่ยนไปด้วยแล้วสังคมโดยทั่วไปก็ยอมรับตามคำพูดดังกล่าวข้างต้น

 

          คำพูดข้างต้นจะจริงเท็จแค่ไหน จะเอาอะไรมาวัด? จริง ๆ แล้ว หลักเกณฑ์ที่จะเอามาวัด ก็ต้องใช้พระบัญญัติของอัลลอฮฺ ตลอดจนพระวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น อัลกุรอานระบุว่า

 

อัลลอฮฺทรงนำสูเจ้าออกจากครรภ์มารดา โดยสูเจ้ายังยังไม่รู้สิ่งใดเลย

ต่อมาทรงบันดาลให้สูเจ้า รู้จักฟัง รู้จักดู รู้จักจำ

(อันนะฮฺล์ 16 : 78)

 

          ต่อมาก็ให้ผู้ปกครองฝึกฝน เรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ เมื่อเขารู้เดียงสา อัลฮะดิษ ระบุว่า

 

จงฝึกลูกๆ ของสูเจ้าให้รู้จักละหมาด เมื่อเขาเริ่มมีอายุได้เจ็ดขวบนั่นคือเริ่มรู้เดียงสานั่นเอง

(บันทึกโดย อิมาม อะฮฺมัด และอบูดาวู๊ด)

 

          เมื่อเด็กบรรลุศาสนะภาวะ จำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งศาสนา และสามัญควบคู่กันไป

 

การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน

(บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ)

 

          ต่อจากนั้น จะเรียนอะไรเพื่อออกไปประกอบอาชีพใดก็อยู่ที่ความถนัดของเขา หรือตามความตั้งใจของผู้ปกครอง หรือตามนโยบายของผู้บริหารการศึกษาของรัฐ ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความเป็นคนหรือที่เรียกกันว่ามนุษย์นั้น ยังคงสภาพเดิมตั้งแต่นบีอาดัมจนมาถึงปัจจุบัน และจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปจนถึงวันสิ้นโลก คือ มนุษย์มีรูปลักษณ์ดีที่สุด เดินสองขา มีสองแขน มีหู มีตา ไม่มีหาง ไม่มีเกล็ด ฯลฯ

 

          ส่วนที่เปลี่ยนไปนั้น คือ วิถีชีวิต ตั้งแต่โบราณ จะไปไหน ก็เดินเท้า หรือขี่พาหนะ ม้า ฬ่อ วัว ควาย นั่งเกวียน ต่อมามีจักรยานยนต์ มีรถยนต์ มีเครื่องบิน เดินทางไปไหนมาไหนอย่างสะดวกสบาย 

     มีกระท่อม กระต๊อบ บ้านเรือน กระทั่งคฤหาสน์ที่ทันสมัยเป็นที่อยู่อาศัย

     มีการเมือง การปกครอง ทั้งการปกครองท้องถิ่น และการปกครองระดับชาติที่ทันสมัยดีกว่าในอดีต

     มีการเรียนรู้เรื่อง การเมือง การปกครองแทบทุกระดับเรียนรู้เรื่องสิทธิ เสรีภาพ มีการเรียนรู้กฎหมาย รัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ที่จะเอามาเป็นกติกาของสังคมอย่างกว้างขวาง

     รู้จักวิจารณ์บุคคลสาธารณะ รู้จักการจับผิดคนอื่น รู้จักแฉ และประจานความผิดความเลวของคนอื่นอย่างสนุกสนาน และเมามัน จนเป็นที่มาของคำว่า คนปัจจุบัน ฉลาดกว่า เก่งกว่า รู้มากกว่าผู้ใหญ่ รู้มากกว่าครูบาอาจารย์ ผู้ใหญ่เป็นไดโนเสาร์ เต่าล้านปี พ่อแม่ ก็เป็นคนโบราณ ตกรุ่นไปแล้ว

 

          บทสรุปก็คือมนุษย์หรือคนในแง่ของมัคลู๊กสิ่งถูกสร้างนั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ วิถีชีวิต หรือพฤติกรรมที่แสดงออกมา ยิ่งในแง่ศีลธรรมนั้น คนปัจจุบันแย่กว่าคนยุคก่อน ๆ อย่างเทียบกันไม่ติด ดูถูก ดูหมิ่น ก่นด่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ อาจารย์ผู้มีพระคุณ แบบไม่ยั้ง ไม่คิดหน้าคิดหลัง

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงเปรียบเทียบพวกเหล่านี้ว่า

 

พวกเขาเปรียบดั่งสัตว์สี่เท้า ยิ่งกว่านั้น พวกเขาต่ำกว่าสัตว์สี่เท้าเสียอีก

(อัลอะอฺร็อฟ 6 : 179)

 

           ต้องให้ศาสนากลับมามีบทบาทในสังคมอย่างเดิม มันจะได้พูดกันรู้เรื่อง

 

 

อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 10 เมษายน 2564