ผลบุญไม่จบไม่สิ้น
  จำนวนคนเข้าชม  2710

ผลบุญไม่จบไม่สิ้น

 

 อับดุลสลาม เพชรทองคำ 

 

          ครั้งก่อนได้เล่าเรื่องของอัลอิสรออ์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดบนภาคพื้นดิน อันเป็นการเดินทางของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากบัยตุลลอฮฺ มัสญิดอัลหะรอม ที่มครมักกะฮฺ ซาอุดิอารเบียไปยังบัยตุลมุก็อดดิส มัสญิดอัลอักซอ ที่นครเยรูซาเล็ม ปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นระยะทางที่ยาวไกลกว่าหนึ่งพันกิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางไม่นาน ใช้เวลาเพียงเสื้ยวหนึ่งของค่ำคืนเท่านั้นเอง 

 

          ด้วยสัตว์พาหนะที่ชื่อ บุร็อก.. เป็นเหตุการณ์ที่ถือเป็นมัวอ์ญิซาตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นเรื่องราวมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจริง ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อแสดงให้เห็นถึงเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และยืนยันการเป็นนบีและเราะซูลของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย อีกทั้งยังเป็นบททดสอบด้วยว่า ใครบ้างที่จะเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง ...

 

          ใครที่เชื่อ ใครที่ศรัทธาต่อเรื่องนี้ เขาก็คือผู้ศรัทธา ..ส่วนใครที่ไม่เชื่อ ไม่ศรัทธาต่อเรื่องนี้ บรรดาอุละมาอ์กล่าวว่า เขาคือผู้ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างชัดเจน

 

          สำหรับครั้งนี้ เราก็จะมาเล่าเรื่องราวของอัลมิอ์รอจญ์ อันเป็นเหตุการณ์ที่ต่อจากอัลอิสรออ์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ำคืนเดียวกัน ....

 

อัลมิอ์รอจญ์ มาจากคำว่า อะรอญะ عَرَجَ แปลว่า ขึ้นที่สูง หรือ พาขึ้นไป 

คำว่า มิอ์รอจญ์ หมายถึงเดินทางจากพื้นดินขึ้นไปยังที่สูง 

 

          อัลมิอ์รอจญ์ ในเหตุการณ์นี้หมายถึง การที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เดินทางจากบัยตุลมุก็อดดิส (มัสญิดอัลอักซอ) ในนครเยรูซาเล็ม (ปาเลสไตน์) ขึ้นไปยังชั้นฟ้าต่าง ๆ และได้พบกับท่านนบีหลาย ๆท่าน และท้ายที่สุด ได้เข้าเฝ้าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วย เป็นการเดินทางโดยไม่ได้ใช้พาหนะใด ๆทั้งสิ้น และเป็นการเดินทางไปพร้อมกับท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลาม

 

          ในการเดินทางนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้พบเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆมากมาย ตามหลักฐานจากอัลหะดีษทั้งที่เป็นอัลหะดีษเศาะหิห์และอัลหะดีษหะซัน มีอยู่ในบันทึกของอิมามหลาย ๆท่าน ..สำหรับเหตุการณ์ที่จะนำมาเล่านี้จะอยู่ในรายงานในบันทึกของอิมามอัฏฏ็อบรอนีย์ และอิมามอัลบัซซาร ...

 

          เป็นเหตุการณ์ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เห็นเหตุการณ์ของการตอบแทนต่าง ๆที่เป็นทั้งการตอบแทนที่เป็นรางวัล และการตอบแทนที่เป็นการลงโทษที่จะเกิดขึ้นในโลกอาคิเราะฮฺ ..เป็นเหตุการณ์ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า

 

          เหตุการณ์แรกที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เห็นก็คือ .. คนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาได้ทำการเพาะปลูกพืชผลต่าง ๆ แล้วพวกเขาก็เก็บเกี่ยวผลของมันภายในวันเดียว แล้วพวกเขาก็เพาะปลูกใหม่ ปลูกเสร็จ พวกเขาก็เก็บเกี่ยวผลของมันอีก ...คราใดก็ตามที่พวกเขาเก็บเกี่ยวผลของมัน มันก็จะงอกเงยขึ้นมาอีก โดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด เป็นเช่นนี้เรื่อย ๆไป

          ท่านนบีจึงได้ถามท่านญิบรีลว่า คนกลุ่มนี้คือใครกันหรือ ?

          ท่านญิบรีลตอบว่า คนกลุ่มนี้ก็คือพวกมุญาฮิดีน บรรดาผู้ที่ทำญิฮาดต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ซึ่งความดีที่พวกเขาได้ทำลงไปนั้น ปรากฎผลว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบแทนรางวัลให้แก่พวกเขา ทรงเพิ่มพูนรางวัลให้แก่พวกเขา ความดีหนึ่งทรงเพิ่มเป็น 700 เท่า และสิ่งที่พวกเขาได้ใช้จ่ายไป(ในหนทางของอัลลอฮฺ)นั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบแทนให้แก่พวกเขาในฉับพลันทันที เพราะว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานอย่างดี

 

         นั่นก็คือ รางวัลตอบแทนของผู้ที่ทำญิฮาด ผู้ที่ต่อสู้และใช้จ่ายทรัพย์สินของพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺ จะได้รับในโลกอาคิเราะฮฺ ..ในอัลกุรอานซูเราะฮฺซะบะอ์ อายะฮฺที่ 39 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

قُلۡ إِنَّ رَبِّي يَبۡسُطُ ٱلرِّزۡقَ لِمَن يَشَآءُ مِنۡ عِبَادِهِۦ وَيَقۡدِرُ لَهُۥۚ وَمَآ أَنفَقۡتُم مِّن شَيۡءٖ فَهُوَ يُخۡلِفُهُۥۖ وَهُوَ خَيۡرُ ٱلرَّٰزِقِينَ

 

     “(มุฮัมมัด)จงประกาศออกไปเถิดว่า แท้จริง พระเจ้าของฉันนั้น ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์จากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงให้คับแคบแก่เขา

     ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่พวกเจ้าใช้จ่ายมันออกไป (ในหนทางของอัลลอฮฺ)นั้น พระองค์จะทรงตอบแทนให้แก่เขา จะทรงทดแทนให้แก่เขา ..และพระองค์คือผู้ประทานปัจจัยที่ดีที่สุด(ให้แก่พวกเขา)”

 

          เมื่อรางวัลตอบแทนของผู้ที่ญิฮาด ผู้ที่ต่อสู้ ผู้ที่ใช้จ่ายทรัพย์สินของพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺนั้น เป็นรางวัลที่ได้รับอย่างมากมายและต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด อีกทั้งยังเป็นรางวัลที่ได้รับการประทานจากผู้ประทานที่ดีที่สุด จึงย่อมเป็นที่ปรารถนาสำหรับเราที่อยากจะได้รับรางวัลตอบแทนเหล่านี้ ..

 

          แล้วเราต้องทำญิฮาดอย่างไร ต้องต่อสู้อย่างไร ต้องใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างไร เราจึงจะได้รับรางวัลเหล่านี้ ?

 

          เรามาทำความเข้าใจคำว่าญิฮาดก่อน ..บรรดาอุละมาอ์ได้แบ่งประเภทของการญิฮาด หรือการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ไว้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ก็คือ

1. การญิฮาดด้วยชีวิต

2. การญิฮาดด้วยทรัพย์สิน

 

          การญิฮาดด้วยชีวิต ถือเป็นที่สุด เป็นสุดยอดของการญิฮาด ถือเป็นที่สุดของการเสียสละ เพราะโดยปกติธรรมดาของคนเรามักจะหวงแหนชีวิตของตัวเอง ยอมเสียสละทรัพย์สินทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะรักษาชีวิตของตัวเองไว้ ..ดังนั้น การญิฮาดด้วยชีวิต ยอมเสียสละชีวิตของตัวเองไปในหนทางของอัลลอฮฺนั้น จึงถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า เขาผู้นั้นเป็นผู้ที่ยอมเสียสละที่สุดในหนทางของอัลลอฮฺ ดังนั้น ผลตอบแทนที่เขาจะได้รับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงไม่สามารถคำนวณนับได้ คือได้รับผลตอบแทนอย่างมากมายมหาศาลเหลือเกิน

           ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 169 อัลลออฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَلَا تَحۡسَبَنَّ ٱلَّذِينَ قُتِلُواْ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ أَمۡوَٰتَۢاۚ بَلۡ أَحۡيَآءٌ عِندَ رَبِّهِمۡ يُرۡزَقُونَ

 

     “และเจ้าอย่าได้คิดเป็นอันขาดว่า บรรดาผู้ที่ถูกฆ่าตายในหนทางของอัลลอฮฺนั้นเป็นที่เสียชีวิตไปแล้ว

     แต่ให้คิดว่า พวกเขายังมีชีวิตอยู่ ณ ที่พระเจ้าของพวกเขา โดยพวกเขาได้รับริสกี(จากอัลลอฮฺ)อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา

 

          สำหรับเรื่องของการญิฮาดด้วยชีวิต หรือการทำสงครามในหนทางของอัลลอฮฺนี้ จะมีความหมายแตกต่างกันกับคำว่า การก่อการร้าย ...ในยุคปัจจุบัน เราจะเห็นมุสลิมบางคนบางกลุ่มที่เขาก็อยากจะได้ผลบุญ หรือได้รับรางวัลตอบแทนในเรื่องนี้ เขาก็เลยใช้วิธีที่เราได้ยินมาโดยตลอดก็คือ ใช้เรื่องของการระเบิดพลีชีพ โดยคิดว่า มันเป็นการทำสงครามศาสนา ซึ่งความจริง บรรดาอุละมาอ์ของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺให้ความหมายที่แตกต่างกัน

 

          การญิฮาด คือการที่เรายอมเสียสละแรงกายแรงใจ หรือแม้กระทั่งชีวิตของเรา และทรัพย์สมบัติของเรา เพื่อให้ได้มาซึ่งความโปรดปรานหรือความพอพระทัยของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในขณะเดียวกันก็ต้องยับยั้งสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้ามปราม หรือสิ่งที่จะนำมาซึ่งความโกรธกริ้ว ความไม่พอพระทัยของพระองค์ ...การญิฮาดต้องมีเนียตหรือมีความตั้งใจที่จะเชิดชูบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ และคำนี้ก็มักจะถูกเอ่ยคู่กับคำว่าฟีสะบีลิลลาฮฺ فِي سَبِيلِ اللَّهِ “ ซึ่งแปลว่าในหนทางของอัลลอฮฺซึ่งก็จะมีรูปแบบหลายรูปแบบ มีระดับหลายระดับ 

 

          เฉพาะในเรื่องของการญิฮาดเพียงเรื่องเดียวก็มีรายละเอียดให้เราศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างมากมาย แม้แต่การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง หักห้ามใจตัวเองไม่ให้ไปทำอะไรที่นำไปสู่ความไม่ดีไม่งาม หรือการยับยั้งใจของตัวเองไม่ให้ไปทำสิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺต่างๆ นั่นก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการญิฮาด และนักวิชาการถือว่ามันเป็นพื้นฐานของการญิฮาดในรูปแบบอื่น ๆด้วย

 

          สำหรับในส่วนของการทำสงครามที่ในอัลกุรอานจะใช้คำว่า กิตาล ซึ่งหมายถึงการสู้รบ และคำว่า ญิฮาด บินนัฟซฺ การญิฮาดด้วยชีวิต คนก็มักจะนิยามคำว่าญิฮาดว่าหมายถึงการทำสงครามศาสนาหรือสงครามญิฮาด ซึ่งการทำสงครามนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการญิฮาดเท่านั้น และการที่จะทำสงครามในลักษณะนี้ได้จะต้องถูกประกาศโดยผู้นำการปกครองระดับสูงสุด ไม่ใช่เรื่องของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะคิดทำเองได้ 

 

          และต้องทำในดินแดนที่มีการประกาศสงคราม ซึ่งมันก็จะมีเงื่อนไข มีกฏเกณฑ์มากมาย และต้องมีหลักจริยธรรมอันสูงส่งที่ต้องทำตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ท่านนบีได้กำหนดไว้ เช่นว่า ไม่เป็นฝ่ายที่เริ่มรุกรานก่อน ไม่ทำร้ายหรือฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่เป็นเด็ก เป็นสตรี เป็นคนชรา เป็นทาส หรือเป็นนักบวช เป็นพระ เป็นผู้ทรงศีล ไม่ทำลายโฉมหน้าของศัตรูจนจำหน้าไม่ได้ ไม่ทำลายศพด้วยการตัดคอ ตัดแขนขา หรือหั่นศพ หรือฆ่าแล้วเผา ไม่ทิ้งศพไว้ในสนามรบเพื่อให้เป็นอาหารของสิงสาราสัตว์ ไม่ตัดหรือทำลาย หรือเผาผลหมากรากไม้ที่ให้ผล ไม่ฆ่าปศุสัตว์นอกจากเพื่อเป็นอาหาร ไม่ปล้นสะดมข้าวของ แต่ต้องปฏิบัติต่อเชลยสงครามด้วยดี มีความเมตตา ไม่ทารุณ

 

          การทำสงครามญิฮาดไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเสียหาย ความพินาศหรือความหายนะให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของใครๆ ไม่ใช่ทำเพื่อต้องการแก้แค้น ไม่ใช่ทำเพื่อก่อการร้าย ไม่ใช่การแสวงหาอำนาจบาตรใหญ่ หรือไม่ใช่การล่าอาณานิคม ไม่ใช่การแสวงหาดินแดนที่มั่งคั่ง ดินแดนที่เป็นแหล่งน้ำมัน ไม่ใช่แม้แต่การบังคับขู่เข็ญคนให้เปลี่ยนศาสนามารับนับถือศาสนาอิสลามด้วย

 

          ส่วนของคำว่า การก่อการร้าย” ก็หมายถึง การที่คนๆหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง หรือประเทศชาติหนึ่ง ๆ หรือหลาย ๆประเทศชาติก็ได้ ได้มีการทำร้าย มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ชีวิต ทรัพย์สินเงินทอง แม้กระทั่งการทำให้ผู้อื่นรู้สึกถึงความหวาดกลัว รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน ได้รับการถูกกดขี่ข่มเหง การถูกคุกคามต่างๆ ก่ออาชญากรรมในทุกรูปแบบเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ รวมถึงการสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สภาพแวดล้อม อาคารบ้านเรือน ทรัพย์สินสาธารณะต่างๆ (...ส่วนหนึ่งจากการนิยามคำศัพท์การก่อการร้ายขององค์กรสันนิบาตโลกอิสลาม ) สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างความเสียหายหรือสร้างความหายนะให้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน เป็นเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้าม

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลเกาะศ็อศ ส่วนท้ายของอายะฮฺที่ 77 พระองค์ตรัสว่า

 

وَلَا تَبْغِ الْفَسَادَ فِي الْأَرْضِ ۖ إِنَّ اللَّهَ لَا يُحِبُّ الْمُفْسِدِينَ 

 

และจงอย่าแสวงหาความเสียหายในแผ่นดิน แท้จริง อัลลอฮฺไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย ผู้สร้างความเสียหาย

 

          อิสลามห้ามการก่อการร้าย เพราะการก่อการร้ายนำมาซึ่งความเสียหาย นำมาซึ่งความหายนะ นำมาซึ่งความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น เป็นอัลฟะซาดะฟิลอัรฎิ الْفَسَادَ فِي الْأَرْضِ เป็นการก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องประเทศมุสลิมเท่านั้น ก็คือห้ามการก่อการร้ายทั้งในดินแดนของผู้ที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมด้วย 

 

          การก่อการร้ายเป็นการกระทำที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงโปรด อีกทั้งยังนำมาซึ่งความโกรธกริ้วของพระองค์อีกด้วย

 

          ดังนั้น การกระทำใด ๆก็ตามที่เป็นการทำลายชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ของเด็ก ของสตรี หรือการทำลายทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ ทำลายสถานที่ราชการ ทำลายสถานที่ที่เป็นสาธารณะประโยชน์ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน เหล่านี้ถือเป็นการก่อการร้าย ...การก่อการร้ายจึงสามารถจะทำได้ทั้งคนที่เป็นมุสลิมและคนที่ไม่ใช่มุสลิม ในขณะที่การทำสงครามญิฮาดนั้นสามารถทำได้เฉพาะมุสลิมผู้ศรัทธาที่ดำรงอยู่บนหลักการที่ถูกต้องเท่านั้น

 

          มันจึงเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะผลตอบแทนของการก่อการร้าย กับการญิฮาดนั้นไม่เหมือนกัน ..บรรดาอุละมาอ์กล่าวว่า ผลของการก่อการร้ายนำไปสู่นรก ส่วนผลของการญิฮาดนำไปสู่สวรรค์..ซึ่งการระเบิดพลีชีพถือเป็นส่วนหนึ่งของการก่อร้าย เพราะอย่างน้อย ๆก็เป็นการตั้งใจที่จะทำให้ตัวเองเสียชีวิต ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้าม

           ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 29 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَلَا تَقْتُلُوا أَنْفُسَكُمْ إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا

 

และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้า แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ

 

          ในอัลหะดีษก็มีระบุไว้เช่นกัน อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านซาบิต อิบนุ อัฎเฎาะหาก عَنْ ثَابِتِ بْنِ الضَّحَّاكِ الْأَنْصَارِيِّ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

وَمَنْ قَتَلَ نَفْسَهُ بِشَيْءٍ عَذَّبَهُ اللهُ بِهِ فِي نَارِ جَهَنَّمَ

 

"และผู้ใดฆ่าตัวตายด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด อัลลอฮฺจะทรงลงโทษเขาด้วยวิธีดังกล่าวในนรกญะฮันนัม"

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

" مَنْ قَتَلَ نَفْسَهُ بِحَدِيدَةٍ فَحَدِيدَتُهُ فِي يَدِهِ يَتَوَجَّأُ بِهَا فِي بَطْنِهِ فِي نَارِ جَهَنَّمَ خَالِدًا فِيهَا أَبَدًا، وَمَنْ شَرِبَ سَمًّا فَقَتَلَ نَفْسَهُ فَهُوَ يَتَحَسَّاهُ فِي نَارِ جَهَنَّمَ خَالِدًا مُخَلَّدًا فِيهَا أَبَدًا، وَمَنْ تَرَدَّى مِنْ جَبَلٍ فَقَتَلَ نَفْسَهُ فَهُوَ يَتَرَدَّى فِي نَارِ جَهَنَّمَ خَالِدًا مُخَلَّدًا فِيهَا أَبَدًا "

 

     “ใครฆ่าตัวตายด้วยเหล็ก ...(ในวันกิยามะฮฺ)เหล็กนั้นก็จะมาทิ่มแทงท้องของเขาด้วยมือของเขาเองในนรกอย่างตลอดกาล ...

     ใครฆ่าตัวตายด้วยยาพิษ ...(ในวันกิยามะฮฺ)เขาก็จะดื่มมันในนรกอย่างตลอดกาล ...

     ใครฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากภูเขา ...(ในวันกิยามะฮฺ)เขาก็จะกระโดดอยู่อย่างนั้นในนรกอย่างตลอดกาล

 

ดังนั้น ใครฆ่าตัวตายวิธีใด เขาก็จะได้รับอย่างนั้นในวันกิยามะฮฺอย่างตลอดกาล

..ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงปกป้องเราจากสิ่งเหล่านี้ด้วยเถิด

 

          ส่วนการญิฮาดอีกประเภทหนึ่งก็คือ การญิฮาดด้วยทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติ ถือเป็นการบริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ...บรรดาอุละมาอ์กล่าวว่า การญิฮาดประเภทนี้ต้องควบคู่ไปกับการญิฮาดด้วยชีวิต เพราะการญิฮาด หรือการต่อสู้ในสงครามนั้นต้องอาศัยทุนทรัพย์ด้วย ต้องซื้ออาหาร ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งการบริจาคทรัพย์สินต่าง ๆนี้ ก็เพื่อจะดำรงรักษาอัลอิสลามให้ดำรงอยู่ต่อไป รวมถึงเพื่อที่จะสืบสานในเรื่องราวของศาสนา หรือส่งเสริมให้ผู้คนได้เรียนรู้ในเรื่องราวของศาสนา หรือ ในทำนองนี้ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริจาค เป็นการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺด้วย ซึ่งผู้ที่บริจาคเขาก็จะได้รับผลตอบแทนทั้งในโลกดุนยานี้และโลกอาคิเราะฮฺด้วยเช่นกัน

           ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 262 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

 ٱلَّذِينَ يُنفِقُونَ أَمۡوَٰلَهُمۡ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ ثُمَّ لَا يُتۡبِعُونَ مَآ أَنفَقُواْ مَنّٗا وَلَآ أَذٗى لَّهُمۡ أَجۡرُهُمۡ عِندَ رَبِّهِمۡ وَلَا خَوۡفٌ عَلَيۡهِمۡ وَلَا هُمۡ يَحۡزَنُونَ

 

          บรรดาผู้บริจาคทรัพย์สินของพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺ ..โดยที่หลังจากนั้นพวกเขาไม่ได้ติดตามสิ่งที่พวกเขาบริจาคไป ซึ่งการลำเลิกและการก่อความเดือดร้อนใด ๆ นั้น ( ก็คือ บริจาคแล้วก็แล้วกัน ลืมไปแล้วว่าบริจาคให้ ไม่ได้จดจำ ไม่ได้เอาการบริจาคนั้นมาลำเลิก มาทวงบุญคุณอะไร แต่บริจาคด้วยอิคลาศ ด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น ) ..

          (ดังกล่าวนี้แหละที่)พวกเขาจะได้รับรางวัลตอบแทนจากพระเจ้าของพวกเขา โดยพวกเขาไม่ต้องหวาดกลัว และไม่ต้องเศร้าเสียใจใด ๆทั้งสิ้น...(บริจาคแล้วก็ไม่ได้กลัวว่าตัวเองจะยากจนลง ..บริจาคแล้วก็ไม่ได้เสียใจ เพราะรู้ว่า การบริจาคของเขานั้นจะต้องได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแน่นอน )

 

          ดังนั้น ผู้ที่ทำญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ ก็คือผู้ที่ยอมเสียสละชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาไปในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อดำรงรักษาบทบัญญัติของพระองค์ ดำรงไว้ซึ่งศาสนาของพระองค์ ..เพราะแท้จริงแล้ว ทั้งชีวิตของเรา ทรัพย์สินของเราล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้สิ่งเหล่านั้นไปในหนทางของพระองค์

           ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 111 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

إِنَّ ٱللَّهَ ٱشۡتَرَىٰ مِنَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ أَنفُسَهُمۡ وَأَمۡوَٰلَهُم بِأَنَّ لَهُمُ ٱلۡجَنَّةَۚ يُقَٰتِلُونَ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ فَيَقۡتُلُونَ وَيُقۡتَلُونَۖ وَعۡدًا عَلَيۡهِ حَقّٗا فِي ٱلتَّوۡرَىٰةِ وَٱلۡإِنجِيلِ وَٱلۡقُرۡءَا

نِۚ وَمَنۡ أَوۡفَىٰ بِعَهۡدِهِۦ مِنَ ٱللَّهِۚ فَٱسۡتَبۡشِرُواْ بِبَيۡعِكُمُ ٱلَّذِي بَايَعۡتُم بِهِۦۚ وَذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَوۡزُ ٱلۡعَظِيمُ

 

     “แท้จริง อัลลอฮฺ ได้ทรงซื้อไว้จากบรรดามุอ์มินแล้ว ซึ่งชีวิตของพวกเขาและทรัพย์สินของพวกเขา โดยพวกเขาจะได้รับสวรรค์(ของอัลลอฮฺ)เป็นการตอบแทน

     พวกเขาจะต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ฆ่าหรือจะเป็นผู้ถูกฆ่าก็ตาม ทั้งนี้ เป็นสัญญาอันสัจจริงของพระองค์ที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์เตารอต อินญีล และอัลกุรอาน...

     จะมีผู้ใดอีกเล่าที่จะปฏิบัติตามสัญญายิ่งไปกว่าพระองค์ ดังนั้น พวกเจ้าจงชื่นชมกับสินค้าของพวกเจ้าที่ขายมันไปเถิด เพราะนี่ มันคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่หลวง

 

          ดังกล่าวข้างต้นก็คือ เรื่องราวโดยสังเขปที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แรกในการมิอ์รอจญ์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งท่านนบีได้เดินทางจากพื้นดินขึ้นไปสู่ชั้นฟ้าต่าง ๆ โดยไม่ได้ใช้พาหนะใด ๆทั้งสิ้น และได้พบกับบรรดานบีหลาย ๆท่าน ..จนกระทั่งได้เข้าเฝ้าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..

 

          ซึ่งในระหว่างการเดินทางไปกับท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลามนี้ ท่านนบีได้พบกับเหตุการณ์ต่าง ๆหลาย ๆ เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลกอาคิเราะฮฺ อันเป็นเหตุการณ์ของการตอบแทนที่เป็นรางวัล และการตอบแทนที่เป็นการลงโทษ ซึ่งท่านนบีก็ได้นำเหตุการณ์เหล่านั้นมาเล่าให้เราทราบ เพื่อให้เราได้เตรียมตัวของเราว่า เราจะดำเนินชีวิตอย่างไรบนโลกดุนยานี้ ได้รับการตอบแทนเป็นรางวัลจะต้องทำอย่างไรบ้าง ..ได้รับการตอบแทนที่เป็นการลงโทษ ก็เพราะไปทำอะไรบ้าง ..เมื่อเราทราบแล้ว เราจะได้จัดการกับตัวเราได้ว่าเราจะเอาอย่างไร จะเลือกทำแบบไหน

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง และโปรดประทานให้เราเป็นผู้ที่ญิฮาด ผู้ที่ต่อสู้และใช้จ่ายทรัพย์สินของเราในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างน้อย ๆก็ในทางใดทางหนึ่ง

 

 

( นะศีหะหฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )