มาตรการทางจริยธรรมในการต่อต้านและป้องกันข่าวปลอม 
  จำนวนคนเข้าชม  1981

มาตรการทางจริยธรรมในการต่อต้านและป้องกันข่าวปลอม 

ศึกษาทางนำจากอัลกุรอานและอัลฮะดีษ 

 

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข

 

บทนำ

 

           โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารข้อมูลข่าวสารต่างๆที่ส่งผ่านทางวิทยุโทรทัศน์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หน้าจอมือถือมีทั้งข่าวจริงข่าวปลอมข่าวลือข่าวลวงข่าวเท็จและข่าวบิดเบือนเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เห็นหรือได้ยินเป็นข่าวจริงที่ถูกต้องหรือข่าวปลอม (Fake news) ที่มาในรูปแบบต่างๆที่ผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริง 

 

          ประเด็นการรู้เท่าทันสื่อและการรับมือกับข่าวปลอมจึงเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันที่มนุษย์ใช้สื่อสังคมออนไลน์สื่อสารระหว่างกัน ทำให้ผู้ใช้เป็นได้ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารในขณะเดียวกัน และทำให้สังคมโลกถูกย่อไว้ในจอมือถือเล็กๆเพียงจอเดียว 

 

          อย่างไรก็ตามสังคมมนุษย์มีความพยายามที่จะหามาตการต่างๆในการต่อต้านข่าวปลอมและในการคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แต่มาตรการเหล่านั้นมักไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมนุษย์ขาดความรับผิดชอบชั่วดีและขาดความสำนึกในบาปบุญคุณโทษที่จะได้รับ ศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรการต่างๆให้มนุษย์ปฏิบัติ โดยมีเรื่องศรัทธาและการตอบแทนเป็นส่วนเชื่อมโยงที่สำคัญ

 

          ในอิสลามจึงมีคำสอนมากมายที่เป็นมาตการทางจริยธรรมในการแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิเช่น การห้ามพูดเท็จ ห้ามอิจฉาริษยา ห้ามนินทา ห้ามใส่ร้าย ห้ามยุแหย่ ห้ามดูหมิ่นดูแคลน ห้ามการเรียกขานกันด้วยสร้อยหรือฉายาที่ไม่ชอบ ห้ามกล่าวหา(โดยไม่มีหลักฐาน) ห้ามมีอคติ และห้ามสร้างความแตกแยกเป็นต้น ข้อห้ามเหล่านี้มีปรากฎอยู่มากมายในคัมภีร์อัลกุรอาน และอัลฮะดีส 

 

          นอกเหนือจากนั้นยังมีคำสอนให้มุสลิมผู้ศรัทธารู้จักคัดกรองข่าว เพื่อสร้างความมั่นใจในความถูกต้องของข่าว และจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงและข่าวปลอม ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อบุคคลและสังคม และต่อไปนี้คือตัวอย่างจากทางนำของอัลกุรอานและอัลฮะดีษเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

 

ทางนำจากอัลกุรอาน

 

1. อัลลอฮฺตรัสว่า :

(( وَإِذَا جَاءَهُمْ أَمْرٌ مِنَ الْأَمْنِ أَوِ الْخَوْفِ أَذَاعُوا بِهِ ۖ وَلَوْ رَدُّوهُ إِلَى الرَّسُولِ وَإِلَىٰ أُولِي الْأَمْرِ مِنْهُمْ

 لَعَلِمَهُ الَّذِينَ يَسْتَنْبِطُونَهُ مِنْهُمْ ۗ وَلَوْلَا فَضْلُ اللَّهِ عَلَيْكُمْ وَرَحْمَتُهُ لَاتَّبَعْتُمُ الشَّيْطَانَ إِلَّا قَلِيلاً))

 (النساء آية 3)

     และเมื่อมีเรื่องหนึ่งเรื่องใดมายังพวกเขา จะเป็นความปลอดภัยก็ดี หรือความกลัวก็ดี พวกเขาก็จะแพร่มันออกไป (โดยไม่ไตร่ตรองถึงผลดีผลเสีย)และหากว่าพวกเขาให้มันกลับไปยังเราะซูลและยังผู้ปกครองในหมู่พวกเขา(หมายถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นโดยตรง)

     แน่นอนบรรดาผู้ที่วินิจฉัยมันในหมู่พวกเขาก็ย่อมรู้มันได้  และหากมิใช่ความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกเจ้าแล้ว แน่นอนพวกเจ้าก็คงปฏิบัติตตามชัยฏอน นอกจากเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น 

(ซูเราะห์อันนิสาอ์ อายะห์ที่83) 

          อัลกุรอานโองการนี้สอนให้มุสลิมมีความละเอียดรอบคอบในข่าวที่ได้รับ ไม่ควรรีบด่วนในการนำไปเผยแพร่จนกว่าจะแน่ใจในความถูกต้องของข่าวและในผลดีผลเสียของการเผยแพร่ข่าว

 

2. อัลลอฮฺตรัสว่า :

((وَإِذَا سَمِعُوا اللَّغْوَ أَعْرَضُوا عَنْهُ وَقَالُوا لَنَا أَعْمَالُنَا وَلَكُمْ أَعْمَالُكُمْ سَلَامٌ عَلَيْكُمْ لَا نَبْتَغِي الْجَاهِلِينَ))

( القصص آية 55 )

     และเมื่อพวกเขาได้ยินเรื่องไร้สาระพวกเขาก็ผินหลังออกห่างไปจากมัน(โดยไม่โต้ตอบใดๆ)และกล่าวว่า การงานของเราก็จะได้แก่เราและการงานของพวกท่านก็จะได้แก่พวกท่าน(ทางใครทางมัน) ศานติแด่พวกท่าน เราจะไม่ขอออยู่ร่วม(สังสรรค์)กับพวกงมงาย

 (ซูเราะห์อัลกอศ็อศ อายะห์ที่ 55) 

          อัลกุรอานโองการนี้สอนให้มุสลิมออกห่างไกลจากพวกงมงายไร้สาระ โดยให้หลีกเลี่ยงจากการสังสรรค์และการปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ในทุกรูปแบบ

 

3. อัลลอฮฺตรัสว่า :

((وَلَا تَقْفُ مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ ۚ إِنَّ السَّمْعَ وَالْبَصَرَ وَالْفُؤَادَ كُلُّ أُولَٰئِكَ كَانَ عَنْهُ مَسْئُولاً))

(الإسراء  آية 36)

 และอย่าติดตาม(ออกความเห็น)สิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริงหู ตา และหัวใจทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน 

(ซูเราะห์อัลอิสรออฺ อายะห์ที่36)

          ท่านเกาะตาดะห์กล่าวอธิบายว่า

อย่าพูดว่าฉันเห็นเมื่อท่านไม่เห็นกับตาเอง

อย่าพูดว่าฉันได้ยินเมื่อท่านไม่ได้ยินกับหูเอง

และอย่าพูดว่าฉันรู้ในเมื่อท่านไม่รู้

เพราะอัลลอฮฺจะทรงถามท่านในเรื่องนั้นทั้งหมด

(ดูตัฟซีรอิบนุกะษีรในการอธิบายอายะห์) 

 

4. อัลลอฮฺตรัสว่า :

((  لَوْلَا إِذْ سَمِعْتُمُوهُ ظَنَّ الْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بِأَنْفُسِهِمْ خَيْرًا وَقَالُوا هَٰذَا إِفْكٌ مُبِينٌ ))

 (النور آية 12)

     เมื่อพวกเจ้าได้ยินข่าวเท็จนี้(ข่าวการกล่าวหาและปรักปรำท่านหญิงอาอิชะห์รอฎิยั้ลลอฮุอันฮา) ทำไมบรรดามุอฺมินและมุอฺมินะห์จึงไม่คิดเปรียบเทียบกับตัวของพวกเขาเองในทางที่ดี และกล่าวว่านี่เป็นเรื่องโกหกอย่างชัดแจ้ง 

(ซูเราะห์อันนูร อายะห์ที่ 12)

          อัลกุรอานโองการนี้ประทานลงมาในกรณีข่าวเท็จเกี่ยวกับการปรักปรำท่านหญิงอาอิชะห์ โดยที่อัลลอฮฺได้เตือนสำทับมุอฺมินผู้ศรัทธาที่รับข่าวนี้ว่าพวกเขาไม่ควรรีบร้อนตัดสินใจเชื่อการกล่าวหาโดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกกล่าวหา(หมายถึงท่านหญิงอาอิชะห์)เป็นคนที่พวกเขารู้ดีว่านางเป็นคนดี เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน พวกเขาจึงควรคิดไปในทางที่ดีและจะต้องไม่เชื่อการกล่าวร้ายหรือการนินทาพี่น้องของเขา  (ดูตัฟซีรอิบนุกะษีรในการอธิบายอายะห์) 

 

5. อัลลอฮฺตรัสว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِنْ جَاءَكُمْ فَاسِقٌ بِنَبَإٍ فَتَبَيَّنُوا أَنْ تُصِيبُوا قَوْمًا بِجَهَالَةٍ فَتُصْبِحُوا عَلَىٰ مَا فَعَلْتُمْ نَادِمِينَ ( الحجرات آية 6)

     “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย หากคนชั่วนำข่าวใดๆมาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด หาไม่แล้วพวกเจ้าจะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป 

(ซูเราะห์อัลฮุญุรอต อายะห์ 6)

          อัลกุรอานโองการนี้เป็นคำสอนสำคัญที่สอนให้ผู้ศรัทธารู้จักคัดกรองข่าว หาความกระจ่างและความถูกต้องในเนื้อข่าว โดยมุ่งเน้นที่ผู้ให้ข่าวหรือแหล่งข่าวเป็นสำคัญว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร คำว่า คนชั่ว(ฟาซิก)ในอายะห์ซึ่งหมายถึงผู้ให้ข่าวหรือแหล่งข่าวที่ไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์และความยุติธรรมจึงเป็นคำที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

 

ทางนำจากอัลฮะดีษ

 

1. รายงานจากอัลมุฆีเราะห์ บุตรชั๊วะบะห์ เล่าว่า

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามการพูดแบบ "قِيلَ وقال" 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 6108และมุสลิม593)

          นักวิชาการฮะดีษได้อธิบายว่าหมายถึงการเล่าความหรือการรายงานข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน หรือไม่ทราบว่าข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมีความถูกต้องหรือไม่อย่างไร ประเภทว่ามีคนพูดมาก็พูดกันต่อๆไป ผู้พูดไม่สามารถยืนยันได้ว่าเอามาจากใครหรือจากแหล่งข่าวใด พฤติกรรมการพูดในลักษณะนี้เป็นที่ต้องห้ามตามฮะดีสข้างต้น เนื่องจากไม่สามารถยืนยันอะไรได้

 

2. จากท่านอบีฮุรอยเราะห์ เล่าว่าท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

(( كفى بالمرء كذبًا أن يحدِّث بكلِّ ما سمع))

 การที่คนหนึ่งพูดทุกสิ่งที่ได้ยินมา ถือเป็นการโกหกที่เพียงพอแล้วสำหรับเขา

ในบางรายงานใช้สำนวนว่าถือเป็นบาปที่เพียงพอแล้วสำหรับเขา  

(ฮะดีสศอเฮียะห์ บันทึกโดยอบูดาวู๊ด4992และมุสลิม 5 )

          ฮะดีสบทนี้บ่งบอกถึงความเป็นจริงข้อหนึ่งว่า เมื่อบุคคลหนึ่งสามารถพูดทุกสิ่งที่ได้ยินมา แน่นอนสิ่งที่พูดย่อมมีทั้งสิ่งที่เป็นความจริงและสิ่งที่เป็นความเท็จ และแน่นอน ผู้ที่ได้ถ่ายทอดจากเขาไป ย่อมถ่ายทอดทั้งสิ่งที่เป็นความจริงและสิ่งที่เป็นความเท็จเช่นเดียวกัน ดังนี้เขาจึงกลายเป็นคนโกหกทั้งที่อาจไม่มีเจตนา ผู้บริโภคสื่อจึงจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณและใช้สติทุกครั้งก่อนการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลข่าวสาร มิเช่นนั้นเขาจะกลายเป็นคนโกหกเพราะได้มีส่วนสนับสนุนการเผยแพร่ข่าวที่โกหก

 

3. จากท่านอบูฮุรอยเราะห์เล่าว่าท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

(( إياكم والظنَّ، فإنَّ الظنَّ أكذبُ الحديث  ))

 ท่านทั้งหลายจงระวังการมีอคติ เพราะการมีอคติเป็นคำพูดที่โกหกยิ่ง 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 5143)

          ฮะดีสบทนี้สอนให้มุสลิมระมัดระวังการมีอคติ หรือการคาดคะเนในทางที่ไม่ดี เพราะมันเป็นความเท็จอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่การแพร่หลายของข่าวปลอม

 

4. จากท่านอบูฮุรอยเราะห์เล่าว่าท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

(( ومن ستر مسلمًا ستره الله يوم القيامة ))

และบุคคลใดปกปิด(ความชั่ว/ความละอาย) ของมุสลิม อัลลอฮฺจะปกปิด(ความชั่ว/ความละอาย) ของเขาในวันกิยามะห์ 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์2442และมุสลิม2564)

          ฮะดีสบทนี้สอนให้มุสลิมปกปิดความชั่วและความละอายของพี่น้องของเขา กล่าวคือไม่นำเอาความชั่วและความอับอายของพี่น้องของเขาไปแพร่หลายและเปิดโปงในที่สาธารณะ แต่ควรหาทางตักเตือนและแนะนำให้เขาได้เตาบะห์สารภาพผิดต่ออัลลอฮฺและทำความดี

 

5. จากท่านอับดุลลอฮฺอิบนุมัสอู๊ด เล่าว่าท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า: 

(( نضَّر الله امرأً سَمِع مقالتي فوَعَاها وحَفِظها وبَلَّغها )) 

     ขออัลลอฮฺได้ทรงประทานความสุขสดชื่นและความสวยงาม แด่บุคคลหนึ่งที่เขาได้ยินคำพูดของฉัน เขามีความเข้าใจและจดจำ และเขานำไปบอกต่อยังผู้อื่น

 (บันทึกโดยอัตติรมีซีย์2658)

 

     ฮะดีสบทนี้ถือเป็นหลักสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบต่อข่าวและการรายงานข่าว โดยที่ท่านนบีได้ระบุถึง 3 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ 

1.การฟังข่าวหรือการรับข่าวอย่างมีสติและตั้งใจ 

2.การจดจำข่าวหรือการรักษาข่าวโดยไม่มีการรบิดเบือนด้วยการตัดทอนหรือต่อเติมให้เสียความหมาย 

3.การบอกข่าวหรือการรายงานข่าวยังผู้อื่นตามที่ได้รับมา 

     ประชาชาติมุสลิมในยุคแรกได้ประสบความสำเร็จในการใช้กระบวนการทั้ง 3 นี้ถ่ายทอดและรักษาหลักธรรมคำสอนของอิสลามมาจนถึงปัจจุบัน

 

บทส่งท้าย

 

          อัลกุรอานและอัลฮะดีษที่กล่าวมาข้างต้นเป็นทางนำสำหรับมวลมนุษยชาติในการนำมาเป็นมาตรการทางจริยธรรมเพื่อต่อต้านและป้องกันข่าวปลอม ข่าวลวง และข่าวเท็จ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของผู้รับข่าวหรือผู้ให้ข่าว ผู้บริโภคข่าวหรือผู้สื่อข่าว ผู้รายงานหรือผู้ให้รายงาน

          มุสลิมไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ควรเป็นตัวอย่างของการมีความรับผิดชอบต่อข่าว รู้เท่าทันข่าว ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงและข่าวปลอม ที่สำคัญคือเป็นผู้ที่สามารถอธิบายหรือชี้แจงข้อเท็จจริงของข่าวลวงและข่าวปลอมเกี่ยวกับมุสลิมและศาสนาอิสลามได้ และนี่คือภารกิจที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของมุสลิมในฐานะประชาชาติที่ดีที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าได้มอบภารกิจแก่เขาในหน้าแผ่นดิน

 

ขออัลลอฮประทานความสำเร็จและทางนำที่ดีแก่ผู้อ่านทุกคน อามีน