การซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ท
  จำนวนคนเข้าชม  1581

การซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ท

อิสหาก พงษ์มณี...เรียบเรียง

          ลักษณะการซื้อขายประเภทนี้ หากพิจาณาสภาพของผู้ซื้อผู้ขายและสภาพของสินค้า ก็พอจะสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้คือ

กรณีของสินค้า

 

     1-สินค้าไม่มีอยู่จริง ณ ขณะทำการซื้อขายกัน (ในตลาดก็ไม่ปรากฏว่ามีขายหากจะซื้อขายสินค้าลักษณะนี้ ศาสนาก็อนุญาตกระทำได้ผ่านสองช่องทางคือ

  (1) ซื้อขายแบบ "อัสสะลัม"

  (2) แบบ "อัลอิสติสนาอฺ"

 

     2-สินค้ามีอยู่จริง (มีอยู่ในตลาด) แต่ผู้ขายยังมิได้เป็นเจ้าของและยังมิได้ครอบครองสินค้านั่นๆ สินค้าลักษณะนี้ ผู้ขายไม่อาจขายได้จนกว่าผู้ขายจะซื้อหามาไว้ครอบครองและเป็นเจ้าของเสียก่อน

 

     3-สินค้ามีอยู่จริงและเป็นของผู้ขายเพียงแต่ผู้ขายยังมิได้ครอบครองสินค้านั้น สินค้าลักษณะนี้ อาจจะเป็นเพราะผู้ขายซื้อสินค้าแล้วแต่ยังมิได้รับมอบมาครอบครอง หรือเพราะสินค้าติดจำนองโดยอยู่ในการครอบครองของเจ้าหนี้ หรือจะด้วยเหตุใดๆ ก็แล้วแต่ หากผู้ขายประสงค์จะขายสินค้านั้น ต้องดำเนินการให้ได้ครอบครองสินค้านั้นโดยสมบูรณ์เสียก่อนจึงจะขายได้

 

     4-สินค้ามีอยู่จริง และสินค้าก็เป็นของผู้ขายและผู้ขายครอบครองสิ้นค้านั้นอยู่ กรณีที่สี่นี้ ผู้ขายสามารถขายสินค้าของตนได้แม้จะเป็นการขายผ่านทางอินเตอร์เน็ทโดยผ่านขั้นตอนลักษณะคล้ายการซื้อขาย"อัสสะลัม"

 

     1)-แจ้งคุณสมบัติของสินค้าให้ครบถ้วน(ประเภท ชนิด ประมาณ และคุณภาพ) ซึ่งยุคนนี้สะดวกมากด้วยการใช้แคตตาล๊อกที่มีการระบุรูปประพันสันฐานของสินค้าไว้ครบถ้วนชัดเจน

     2)-ต้องระบุวันเวลาส่งมอบให้ชัดเจน

     3)-ผู้ซื้อต้องจ่ายราคาสินค้าทันทีเมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว ผ่านช่องทางการโอนเงินซึ่งมีหลายวิธีตามที่ทราบกัน การเสนอซื้อหรือขายอาจผ่านทางการเขียนตอบโต้(แช็ต)กัน หรือออนคอลด้วยเสียงสนทนากัน เมื่อจบการสนทนากันก็ถือว่าสิ้นสุด "มัจลิซุ้ลอักด์"

     4)-ผู้ขายต้องให้สิทธิ์แก่ผู้ซื้อ สิทธิ์นั้นชื่อว่า "คิยารุ๊รรุอฺยะห์" คือเมื่อเห็นสินค้าแล้วไม่ตรงตามแคตตาล๊อกหรือไม่ตรงตามรายละเอียดที่โฆษณาไว้ ผู้ซื้อสามารถยกเลิกการซื้อขายได้และผู้ขายต้องคืนราคาสินค้าแก่ผู้ซื้อครบตามจำนวน

     5)-ลักษณะสินค้าในข้อที่สี่นี้จะต่างไปจากสินค้าในการซื้อขายลักษณะ "อัสสะลัม" เพราะสินค้าของ "อัสสะลัม" ต้องไม่ใช่สินค้าที่เฉพาะเจาะจง แต่สินค้าในข้อสี่ไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขดังกล่าว สินค้าในรูปแบบอัสสะลัมถูกเรียกว่า "อัลเมาซูฟ ฟิซซิมมะห์" ส่วนสินค้าในข้อสี่นี้เรียกว่า "อัลอัยน์ อัลฆออิบะห์"

 

          กรณีที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้คือผู้ขายเป็นพ่อค้าแม้ค้าเอง มิใช่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าใคร กรณีของตัวแทนหรือนายหน้าจะได้นำเสนอต่อไป อินชาอัลลอฮ์

 

เปิดบิลล์ คืออะไร

 

     เท่าที่สอบถามมาจากหลายคนหลายท่าน ต่างให้คำตอบว่าหมายถึงการซื้อ นี่คือข้อเท็จจริงแรกที่ฟังได้

     ข้อเท็จจริงที่สองคือ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมิได้พบปะกันโดยตรง แต่ติดต่อซื้อขายผ่านทางออนไลน์ ดังนั้นมัจลิซุ้ลอักด์คือการพบกันทางออนไลน์

     ข้อเท็จจริงที่สามคือ ไม่เห็นสินค้าจริงแต่เห็นตัวอย่างสินค้า (รูปสินค้า) และรายละเอียด ผ่านทางหน้าเพจ ดังนั้นการซื้อขายลักษณะนี้ไม่ใช่การซื้อขายสดโดยทั่วไป แต่เข้าข่ายการซื้อขายลักษณะ "สะลัม" คือซื้อขายสินค้าล่วงหน้าและต้องจ่ายราคาสินค้าทั้งหมด ณ ขณะทำการซื้อขายกัน

     ข้อเท็จจริงที่สี่ สินค้ามิใช่สิ่งที่หาได้โดยทั่วไปแต่เป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจง เหตุเพราะมีขายอยู่แค่แหล่งเดียวคือบริษัทที่ขายเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นสินค้ายังมีแบรนด์เฉพาะที่ไม่มีขายโดยทั่วไป

     ข้อเท็จริงที่ห้า คือผู้ซื้อจะรับสินค้าทันทีไม่ได้ ถ้าจะรับก็ต้องรอให้ทางบริษัทส่งมาให้ภายหลัง แต่ส่วนใหญ่ผู้ซื้อจะไม่กำหนดวันเวลาแน่นอนเพื่อรับมอบสินค้า แต่จะรอขายสินค้านั้นต่อไป โดยทางบริษัทอาสาดูแลและเก็บไว้ในโกดังของบริษัทให้

ผมขอยึดเอาข้อมูลเบื้องต้นแค่นี้ก่อน จริงๆ แล้วเรื่องนี้ยังมีเรื่องราวซับซ้อนกว่านี้อีกมาก

 

สรุปตามข้อเท็จจริงนี้ คือ

     1-การซื้อขายนี้เข้าลักษณะ "สะลัม"

 

     2-การซื้อผู้ขายลักษณะ "สะลัม" ต้องกำหนดวันส่งมอบสินค้าให่แน่นอน ณ ขณะทำการซื้อขายกัน ดังนั้นตามข้อเท็จจริงที่ทำกันคือมิได้ระบุวันเวลาส่งมอบ นี่คือขาดเงื่อนไขหลักของการซื้อขายลักษณะ "สะลัม" การขายนี้จึงมิชอบด้วยหลักการ เพราะท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมบอกว่า "อิลาอะญะลินมะอ์ลูม" แปลว่าต้องระบุเวลาส่งมอบให้ชัดเจน

 

     3-เงื่อนไขหลักอีกประการหนึ่งคือ สินค้านั้นจะต้องไม่เป็นสิ่งเฉพาะเจาะจงและต้องเป็นสิ่งหาได้โดยทั่วไป แต่ที่ทำกันมันคือสินค้าที่เฉพาะเจาะจง เช่นแหล่งผลิด และตัวของสินค้าเองที่มีเบรนด์เฉพาะ นี่ก็ผิดเงื่อนไขการซื้อขายลักษณะสะลัมอีกข้อหนึ่ง ดังนั้นการซื้อขายแบบนี้จึงมิชอบด้วยหลักการ เพราะท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิให้ระบุว่าอินทผลัมที่นำมาขายลักษณะสะลัมต้องมาจากสวนนั้นสวนนี้

 

     4-สินค้าที่ซื้อแล้ว หากผู้ขายยังมิได้ส่งมอบ สินค้านั้นจึงตกเป็นหนี้สินลักษณะภาระผูกพันที่จะต้องชดใช้ให้ผู้ซื้อในอนาคต หากผู้ซื้อนำสินค้าไปขายต่อถือว่าผิดหลักการอีกข้อหนึ่งเช่นกัน เพราะนั่นคือการเอาหนี้ไปขายต่อ แม้มีปราชญ์บางส่วนเช่นอิหม่ามมาลิกและอิบนุตัยมียะห์ จะผ่อนปรนให้ขายได้แต่ก็มีข้อแม้ว่าให้ขายตามราคาที่ซื้อมาหรือต่ำกว่าราคาที่ซื้อมา คือห้ามขายเกินทุน นี่ก็นับว่าเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่ง

 

          นี่คือที่สรุปได้จากการรับฟังข้อเท็จจริงมาจากหลายทาง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ คงต้องสืบค้นความจริงกันต่อไป 

          หากจะมีผู้รู้ท่านใดเห็นเป็นอื่นผมก็ยินดีรับฟังครับ แต่สำหรับผมๆ ถือว่าธุรกรรมข้างต้นผิดหลักการซื้อขายลักษณะสะลัมหลายประการตามที่กล่าวแล้ว หรือจะเรียกแท้งก่อนคลอดก็ได้ ส่วนใครจะดึงดันทำต่อไป ก็ตัวใครตัวมันครับ สำหรับผมถือว่าทำหน้าที่แล้ว....วัสลาม