ทรัพย์สินที่ทำให้เกิด“ริบา-ดอกเบี้ย”
  จำนวนคนเข้าชม  2968

ทรัพย์สินที่ทำให้เกิดริบา-ดอกเบี้ย”3

 

( อับดุลสลาม เพชรทองคำ )

 

         สำหรับในเรื่องของริบานั้น เราต้องทราบก่อนว่า นักนิติศาสตร์อิสลามได้จัดประเภททรัพย์สินทั้งหมดในโลกนี้ออกเป็น 2 ประเภทคือ ทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบา กับทรัพย์สินที่ไม่เป็นเหตุให้เกิดริบา

 

          คำว่า ทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบา มีความหมายว่า เมื่อเรานำเอาทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบามาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน มันจะมีช่องทางที่ทำให้เกิดริบาได้ ซึ่งทำให้เราต้องระมัดระวังในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินเหล่านี้ โดยเราต้องทำให้ถูกต้องตามที่บทบัญญัติศาสนาได้กำหนดไว้ มันจึงจะไม่เกิดริบา ...

 

          ซึ่งในการจัดประเภททรัพย์สินว่าอะไรบ้างที่เป็นเหตุให้เกิดริบาได้ นักนิติศาสตร์อิสลามท่านก็สรุปมาจากอัลหะดีษทั้งหมดที่กล่าวถึงเรื่องริบาไว้ ยกตัวอย่างเช่น

 

          อัลหะดีษ مرفوعاً: ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม และท่านอื่น ๆซึ่งรายงานมาจากท่านอุมัร อิบนุล ค๊อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัมลัมได้กล่าวว่า

 

- الذَّهَبُ بالذَّهَبِ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ، والبُرُّ بالبُرِّ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ، والشَّعِيرُ بالشَّعِيرِ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ والتَّمْرُ بالتَّمْرِ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ،.

 

ทองคำแลกทองคำเป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป...

ข้าวสาลีแลกข้าวสาลีเป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป ...

ข้าวบาร์เลย์แลกข้าวบาร์เลย์เป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป ...

อินทผลัมแห้งแลกอินทผลัมแห้งเป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป

 

          อัลหะดีษอีกบทหนึ่ง ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«الذَّهَبُ بِالذَّهَبِ، وَالفِضَّةُ بِالفِضَّةِ، وَالبُرُّ بِالبُرِّ، وَالشَّعِيرُ بِالشَّعِيرِ، وَالتَّمْرُ بِالتَّمْرِ، وَالمِلْـحُ بِالمِلْـحِ، مِثْلاً بِمِثْلٍ، سَوَاءً بِسَوَاءٍ، يَداً بِيَدٍ،

فَإذَا اخْتَلَفَتْ هَذِهِ الأَصْنَافُ فَبِيعُوا كَيْفَ شِئْتُـمْ إذَا كَانَ يَداً بِيَدٍ».

 

ทองคำแลกทองคำ เงินแลกเงิน ข้าวสาลีแลกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์แลกข้าวบาร์เลย์

ผลอินทผลัมแลกผลอินทผลัม และเกลือแลกเกลือ ต้องเท่ากัน ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ ..

ดังนั้นหากสิ่งเหล่านี้ต่างประเภทกัน พวกท่านจงซื้อขายได้ตามต้องการตราบใดที่มีการส่งมอบทันทีมือต่อมือ

 

          ดังนั้น จากอัลหะดีษทั้งหมดที่กล่าวถึงเรื่องริบานี้ทำให้ทราบว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่เป็นเหตุให้เกิดริบานั้นจะมี 6 ประเภทด้วยกัน ก็คือ 1.ทองคำ 2.แร่เงิน 3.ข้าวสาลี 4.ข้าวบาร์เลย์ 5. อินทผลัมแห้ง และ 6.เกลือ

 

         และจากทรัพย์สินทั้ง 6 ประเภทที่เป็นเหตุให้เกิดริบานั้น นักนิติศาสตร์อิสลามท่านก็ได้จัดทรัพย์สินทั้ง 6 ประเภทนี้ออกเป็น 2 กลุ่มคือ ทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบากลุ่มที่มีค่า ใช้เป็นเงินตราในการซื้อขายแลกเปลี่ยน กับทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบากลุ่มที่เป็นอาหารหลัก ที่คนเรานำมาใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน

 

          ดังนั้น นอกเหนือจากทรัพย์สินทั้ง 6 ประเภทนี้ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบา ยกตัวอย่างเช่น เพชร มรกต ทับทิม พลอยต่าง ๆ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ มือถือ ไอแพด ไอโฟน เหล่านี้ไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบา และสิ่งที่ส่วนใหญ่ไม่ได้แป็นอาหารหลักของคนเรา เช่น ขนมต่าง ๆ ก็ไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาเช่นกัน...

 

          ด้วยเหตุนี้การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่ไม่เป็นเหตุให้เกิดริบาเหล่านี้ จึงไม่ถือเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ทำให้เกิดริบา ดังนั้น เราจึงสามารถทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ตามความพอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องของการค้าขาย ที่บทบัญญัติศาสนาอนุญาตให้ทำได้

 

          สำหรับทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบากลุ่มที่มีค่าเป็นเงินตรา ได้แก่ ทองคำกับแร่เงิน ...อันเนื่องจากว่าในสมัยก่อนหรือในสมัยท่านนบียังไม่มีธนบัตร ไม่มีเหรียญกษาปณ์ใช้กัน เขาก็จะใช้ทองคำกับแร่เงินเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ...แต่พอมาในยุคปัจจุบัน เรามีการผลิตเหรียญกษาปณ์ต่าง ๆ มีการพิมพ์แบงค์ พิมพ์ธนบัตรมาใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ นักนิติศาสาตร์อิสลามจึงให้ถือว่า เงินตราสกุลต่าง ๆในปัจจุบันทั้งธนบัตร ทั้งเหรียญกษาปณ์ต่าง ๆเป็นทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาด้วยเหมือนกัน โดยได้ทำการกิยาส ทำการเทียบเคียงให้เหรียญเงิน เหรียญทองคำ ไม่ว่าจะมีการขึ้นรูปเป็นเหรียญกษาปน์หรือไม่ หรืออยู่ในรูปของเครื่องประดับ เช่น ทองรูปพรรณต่าง ๆ หรืออยู่ในรูปอะไรก็ตาม รวมถึงเงินสกุลต่าง ๆที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็จะอยู่ในความหมายของเงินตราที่เป็นเหตุให้เกิดริบาเช่นกัน แม้ว่ามันจะเป็นธนบัตรที่ทำจากกระดาษ หรือแม้ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ไม่ได้ทำมาจากทองคำและแร่เงินแล้วก็ตาม ..ทั้งนี้ก็เพราะ เงินสกุลต่าง ๆก่อนที่จะทำการผลิตขึ้นมานั้นจะต้องมีทุนสำรองที่เป็นทองคำเก็บรักษาไว้ ดังนั้น เงินทองที่หมุนเวียนอยู่ในท้องตลาดที่เราใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนจึงเป็นตัวแทนของทองคำที่เป็นทุนสำรองที่ถูกเก็บรักษาไว้นั่นเอง และการทำธุรกิจโดยใช้เงินตราสกุลต่าง ๆเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้จึงเท่ากับเป็นการทำธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยทองคำและเงินดังเช่นในสมัยท่านนบีนั่นเอง

 

          ส่วนสำหรับทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาในกลุ่มที่เป็นอาหาร 4 ประเภทที่คนเราใช้รับประทานเป็นส่วนใหญ่ที่ได้แก่ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ อินทผลัมแห้ง และเกลือนั้น นักนิติศาสตร์อิสลามก็ได้มีการวินิจฉัย มีการกิยาส เทียบเคียงอาหารต่าง ๆที่เราใช้รับประทานกันในปัจจุบันให้เข้ากับอาหารทั้งสี่ชนิดดังกล่าวด้วย ตัวอย่างเช่น ข้าวสารต่าง ๆ ข้าวโพด ก็จะเทียบเคียงกับข้าวสาลี หรือข้าวบาร์เลย์ หรืออย่างเช่น องุ่นแห้ง มะเดื่อแห้ง ก็จะเทียบเคียงกับอินทผลัมแห้ง เป็นต้น

          อาหารอะไรจะเทียบเคียงกับอาหารอะไรทั้งสี่ประเภท ก็จะมีรายละเอียด ซึ่งสามารถไปศึกษาดูได้ว่ามีอะไรบ้าง เราก็จะพูดแต่หลัก ๆให้พอเข้าใจแนวทางของบทบัญญัติศาสนา

 

         เมื่อเราทราบแล้วว่าทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบานั้นมีอยู่ 6 ประเภทแบ่งเป็น 2 กลุ่ม..เราจะมาดูว่า ทรัพย์สินทั้ง 6 ประเภทที่แบ่งเป็น 2 กลุ่มนี้ ทำให้เกิดริบาได้อย่างไร ?

 

     ลำดับแรก ถ้าหากเราซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาประเภทเดียวกัน ...

          คำที่ว่า ทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาประเภทเดียวกันก็คือ ทรัพย์สินที่เหมือนกัน เช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำกับทองคำ หรือเงินกับเงิน หรือข้าวสาลีกับข้าวสาลี ....การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาเหมือนกัน โดยมีการเกินเลยกันอยู่ฝ่ายหนึ่ง ก็คือแลกเปลี่ยนด้วยจำนวนที่ไม่เท่ากัน การเกินเลยอันนี้เกิดเป็นริบาเรียกว่า ริบาอัลฟัฏล์ (رِبَاالْفَضْلِ) ...

 

          ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำแท่งจำนวนน้ำหนักหนึ่งบาท กับทองคำแท่งจำนวนน้ำหนักสองบาท หรือมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น อย่างนี้เรียกว่า มีการเกินเลยกันอยู่ฝ่ายหนึ่ง เพราะมันไม่เท่ากัน จึงเกิดเป็นริบาอัลฟัฏล์ ...หรือตัวอย่างเช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนข้าวสาลีจำนวนหนึ่งลิตรกับข้าวสาลีจำนวนสองลิตร อย่างนี้ก็เรียกว่า มีการเกินเลยกันอยู่ฝ่ายหนึ่ง เกิดเป็นริบาอัลฟัฏล์ เป็นริบาที่เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งการซื้อขายแลกเปลี่ยนในกรณีอย่างนี้ทำไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะปรากฏข้อห้ามอย่างชัดเจน

 

         อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบีสะอี๊ด อัลคุฎรีย์ เราะฎยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า

 

جَاءَ بِلالٌ إلى النَّبيِّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ بتَمْرٍ بَرْنِيٍّ، فَقَالَ له النَّبيُّ صَلَّى اللهُ يْنِ بصَاعٍ؛ قَالَ بِلالٌ: كانَ عِنْدَنَا تَمْرٌ رَدِيٌّ، فَبِعْتُ منه صَاعَعليه وسلَّمَ: مِن أيْنَ هذا؟ لِنُطْعِمَ النَّبيَّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ، فَقَالَ النَّبيُّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ عِنْدَ ذلكَ: أوَّهْ أوَّهْ! عَيْنُ الرِّبَا، عَيْنُ الرِّبَا، لا تَفْعَلْ،

 

     ท่านบิลาล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุได้นำอินทผลัมบุรนีย์(ซึ่งเป็นอินทผลัมอย่างดี)ไปมอบให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...

     ท่านนบีจึงได้ถามท่านบิลาลว่า ได้อินทผลัมชนิดดีนี้มาจากไหน ?...

     ท่านบิลาลกล่าวว่า เรามีอินทผลัมเกรดไม่ค่อยดี เราจึงนำอินทผลัมเกรดไม่ดีนี้จำนวน 2 ศออ์ เอาไปแลกกับอินทผลัมชนิดดีจำนวนหนึ่งศออ์ เพื่อนำมามอบให้ท่านนบีรับประทาน

     (เมื่อท่านนบีได้ยินเช่นนั้นจึง)กล่าวว่า อา..อา..นั่นคือริบา นั่นคือริบา ท่านอย่าได้กระทำมัน....”

 

          อัลหะดีษอีกบทหนึ่งในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«الذَّهَبُ بِالذَّهَبِ، وَالفِضَّةُ بِالفِضَّةِ، وَالبُرُّ بِالبُرِّ، وَالشَّعِيرُ بِالشَّعِيرِ، وَالتَّمْرُ بِالتَّمْرِ، وَالمِلْـحُ بِالمِلْـحِ، مِثْلاً بِمِثْلٍ، سَوَاءً بِسَوَاءٍ، يَداً بِيَدٍ،

 

     ทองคำแลกทองคำ เงินแลกเงิน ข้าวสาลีแลกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์แลกข้าวบาร์เลย์ ผลอินทผลัมแลกผลอินทผลัม และเกลือแลกเกลือ ต้องเท่ากัน ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ

 

         ในกรณีทรัพย์สินที่มีเหตุให้เกิดริบาเดียวกันประเภทอื่น ๆก็เช่นเดียวกัน หากเป็นทรัพย์สินที่เหมือนกัน ห้ามมีการเกินเลยกันแต่จะต้องเท่ากันเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วยว่าดีหรือไม่ดี ..บทบัญญัติศาสนาจะไม่นำเรื่องคุณภาพมาพิจารณา ..และไม่คำนึงด้วยว่ามีการแปรรูปแล้วหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการนำทองคำแท่งน้ำหนักสองบาทไปซื้อขายแลกเปลี่ยนให้เป็นทองคำรูปพรรณ กรณีอย่างนี้ ทองคำรูปพรรณนั้น ๆ(หลังจากแปรรูปแล้ว)ก็จะต้องมีน้ำหนักสองบาทด้วยเช่นกัน จะต้องมีน้ำหนักเท่ากัน จะมากกว่าก็ไม่ได้ จะน้อยกว่าก็ไม่ได้ ถึงแม้ว่าทองคำรูปพรรณได้ถูกแปรรูปไปแล้วก็ตาม ซึ่งโดยปกติทองคำรูปพรรณมักจะมีน้ำหนักลดลงเมื่อมันถูกแปรรูป นอกจากนี้ยังไม่คำนึงถึงคุณภาพของทองคำด้วยว่าจะมีคุณภาพดีหรือไม่ดี ดังกล่าวคือ อาจจะเป็นทองคำ 99 %แลกกับทองคำ 95% อย่างนี้เป็นต้น ถือว่าใช้ได้ แต่น้ำหนักต้องเท่ากัน

 

          เราต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาประเภทเดียวกันสามารถทำได้โดยไม่เกิดริบา ...นักนิติศาสตร์อิสลามท่านก็ได้ศึกษาอัลหะดีษในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับริบาทั้งหมด และนำมาสู่ข้อสรุปได้ 3 ประการที่จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เหมือนกันนั้นไม่เกิดริบา

 

ประการที่หนึ่ง ทรัพย์สินที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนนั้นจะต้องเท่ากัน

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอะบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

لا تَبِيعُوا الذَّهَبَ بالذَّهَبِ إلَّا مِثْلًا بمِثْلٍ، ولا تُشِفُّوا بَعْضَها علَى بَعْضٍ، ولا تَبِيعُوا الوَرِقَ بالوَرِقِ إلَّا مِثْلًا بمِثْلٍ، ولا تُشِفُّوا بَعْضَها علَى بَعْضٍ،

 

     ท่านทั้งหลายอย่าซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำกับทองคำ นอกจากจะต้องเท่ากัน และท่านทั้งหลายอย่าให้บางส่วนเกินกว่าอีกบางส่วน(ก็คืออย่าให้มีการเกินเลยกัน อย่าให้มันไม่เท่ากัน )....และท่านทั้งหลายอย่าซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินกับเงิน นอกจากจะต้องเท่ากัน และท่านทั้งหลายอย่าให้บางส่วนเกินกว่าอีกบางส่วน(ก็คืออย่าให้มีการเกินเลยกัน อย่าให้มันไม่เท่ากัน )....”

 

           อัลหะดีษนี้บอกว่า  إلَّا مِثْلًا بمِثْلٍ  นอกจากจะต้องเท่ากัน  ولا تُشِفُّوا بَعْضَها علَى بَعْضٍ، และท่านทั้งหลายอย่าให้บางส่วนเกินกว่าอีกบางส่วน..นั่นหมายถึงว่า อย่าให้มันไม่เท่ากัน เพราะส่วนที่มันเกินเลยนั้นมันคือริบา ซึ่งหลักในการพิจารณาการเท่ากันก็คือ ใช้การตวงในสิ่งที่ต้องตวง เมื่อตวงแล้วต้องเท่ากัน แม้หากว่าเมื่อนำไปชั่งแล้วน้ำหนักจะแตกต่างกันก็ตาม...หรือใช้การชั่งในสิ่งที่ต้องชั่ง เมื่อชั่งแล้วต้องเท่ากัน แม้เมื่อนำไปตวงแล้วจะมีผลแตกต่างกันก็ตาม...

 

          ในเรื่องนี้ก็จะมีรายละเอียดมากเหมือนกัน แต่ขอไม่นำมากล่าว ณ ที่นี้ เพราะจะใช้เวลามากเกินไป ขอพูดพอเป็นในแนวทางเท่านั้น เอาเป็นว่า ความเท่ากันนี้ต้องเท่ากันอย่างแท้จริง ต้องไม่ใช่การคาดการณ์และไม่ใช่การคาดเดา เช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนข้าวสาลีกองหนึ่งกับข้าวสาลีอีกกองหนึ่งแบบเหมากองโดยไม่มีการตวงหรือไม่มีการชั่ง แต่ใช้วิธีการคาดเดาเอาเองว่าข้าวสาลีสองกองนี้เท่ากัน วิธีการอย่างนี้ไม่ได้ ....หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนเกลือจำนวน 100 ถังกับเกลือกองหนึ่ง โดยคาดการณ์ว่ามันเท่ากัน อย่างนี้ก็ไม่ได้เช่นกัน เป็นวิธีการที่ท่านนบีห้ามไว้ เพราะการทำเช่นนี้อาจทำให้เกิดการเกินเลยกันหรือเกิดการเหลื่อมล้ำกันได้ อันก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

          ดังนั้น ความเท่ากันนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างแท้จริงและเกิดขึ้นอย่างมั่นใจในขณะทำการตกลงซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โดยถ้าใช้การตวง เช่น เป็นถัง ก็ต้องถังต่อถัง หรือเป็นลิตร ก็ต้องลิตรต่อลิตร สองลิตรต่อสองลิตร เป็นต้น ...ส่วนในกรณีที่ใช้การชั่ง ก็ต้องชั่งทรัพย์สินทั้งสองก่อนที่จะทำการตกลงกัน เช่น ชั่งเป็นกิโลกรัม ก็ต้องเป็นกิโลกรัมต่อกิโลกรัม หรือห้ากรัมต่อห้ากรัม เป็นต้น ...หรือโดยการนับปริมาณของทรัพย์สินทั้งสองนั้นโดยเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วระหว่างคู่ตกลง ก็เช่น ใช้นับจำนวนเป็นจำนวนสิบชิ้นต่อสิบชิ้น อย่างนี้เป็นต้น

 

ประการที่สอง ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ

          ที่จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาประเภทเดียวกันสามารถทำได้โดยไม่เกิดริบา คือ ต้องเป็นข้อตกลงที่มีการชำระทันที โดยต้องไม่มีการระบุในข้อตกลงว่า จะมีการค้างชำระไม่ว่าจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ว่าจะมีการค้างชำระในระยะสั้นเพียงใดก็ตามก็ไม่อนุญาตให้มีการค้างชำระ แต่จะต้องมีการชำระกันในทันทีในขณะนั้น ในขณะที่กำลังซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเรียกว่า يَداً بِيَدٍ ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ ...แต่ถ้าหากมีการค้างชำระกันในขณะนั้น ก็จะเกิดเป็นริบา เรียกว่าริบาอันนะซีอะฮฺ (رِبَااﻟﻨﺴﻴﺌﺔ)

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

 «الذَّهَبُ بِالذَّهَبِ، وَالفِضَّةُ بِالفِضَّةِ، وَالبُرُّ بِالبُرِّ، وَالشَّعِيرُ بِالشَّعِيرِ، وَالتَّمْرُ بِالتَّمْرِ، وَالمِلْـحُ بِالمِلْـحِ، مِثْلاً بِمِثْلٍ، سَوَاءً بِسَوَاءٍ، يَداً بِيَدٍ،

 

     ทองคำแลกทองคำ เงินแลกเงิน ข้าวสาลีแลกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์แลกข้าวบาร์เลย์ ผลอินทผลัมแลกผลอินทผลัม และเกลือแลกเกลือ ต้องเท่ากัน ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ

 

         คำว่า يَداً بِيَدٍ ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ หมายถึง ต่างฝ่ายต่างชำระค่าทรัพย์สินที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในทันที ในสถานที่ที่ตกลงกัน ...แต่ถ้ามีการตั้งเงื่อนไขไว้ในข้อตกลงว่า จะยังไม่ชำระค่าทรัพย์สินจนกว่าจะถึงกำหนดเวลานั้นเวลานี้ แสดงว่า การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินนั้นเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่มีริบา

 

ประการที่สาม ทรัพย์สินที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนในทันทีในสถานที่ที่ได้ทำการตกลงกัน ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะแยกจากกันไป

         ที่จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาประเภทเดียวกันสามารถทำได้โดยไม่เกิดริบา ก็คือ ต่างฝ่ายต่างต้องรับกันไป คือทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้รับทรัพย์สินที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนในทันทีในสถานที่ที่ได้ทำการตกลงกัน ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะแยกจากกันไป ...แต่ถ้าหากไม่มีการรับทรัพย์สินกันในทันทีในสถานที่ที่ได้ทำการตกลงกัน ก็จะเกิดเป็นริบา เรียกว่าริบาอัลยัด (رِبَاالْيَدِ)

 

          อัลหะดีษ مرفوعاً: ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม และท่านอื่น ๆซึ่งรายงานมาจากท่านอุมัร อิบนุล ค๊อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัมลัมได้กล่าวว่า

 

- الذَّهَبُ بالذَّهَبِ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ، والبُرُّ بالبُرِّ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ، والشَّعِيرُ بالشَّعِيرِ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ والتَّمْرُ بالتَّمْرِ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ،.

 

     ทองคำแลกทองคำเป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป...ข้าวสาลีแลกข้าวสาลีเป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป ...ข้าวบาร์เลย์แลกข้าวบาร์เลย์เป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป ...อินทผลัมแห้งแลกอินทผลัมแห้งเป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป

 

          คำว่า وَهَاءَ هَاءَ ต่างฝ่ายต่างรับกันไป หมายถึง แต่ละฝ่ายต่างได้รับทรัพย์สินส่วนของตนเองในขณะนั้น ณ สถานที่ทำการตกลงซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ...แต่ถ้าแต่ละฝ่ายหรือทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับทรัพย์สินในส่วนของตนเองในขณะนั้น แสดงว่า การซื้อขายแลกเปลี่ยนนั้นเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ทำให้เกิดริบา

 

          นั่นก็คือ เงื่อนไขสามประการที่จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาประเภทเดียวกันสามารถทำได้โดยไม่เกิดริบา ขอย้ำว่า เงื่อนไขทั้งสามประการนี้ได้มาจากอัลหะดีษ ได้มาจากคำพูดของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมทั้งสิ้น นักนิติศาสตร์อิสลามไม่ได้คิดขึ้นเอง.. ดูได้จากตัวอย่างอัลหะดีษที่เราได้ยกตัวอย่างข้างต้นที่ว่า مِثْلًا بمِثْلٍ ต้องเท่ากัน ...และในคำว่า يَداً بِيَدٍ ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ ...และคำว่า وَهَاءَ هَاءَ ต่างฝ่ายต่างรับกันไป

 

         ดังนั้น ต้องครบเงื่อนไขทั้งสามประการ จะขาดข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้ ...ซึ่งนักนิติศาสตร์อิสลามกล่าวว่า หากขาดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ไม่มีผลใด ๆเกิดขึ้นเหมือนกับว่าไม่มีข้อตกลงนี้เกิดขึ้น เพราะมันเป็นข้อตกลงที่ทำให้เกิดริบา ด้วยเหตุนี้ ผู้ทำการตกลงทั้งสองฝ่ายจะต้องคืนทรัพย์สินที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน และแต่ละฝ่ายต้องขอคืนทรัพย์สินที่ตนได้มอบให้อีกฝ่ายหนึ่งไป หลังจากนั้นให้ทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงกันใหม่ให้ครบเงื่อนไขทั้งสามประการ ข้อตกลงนั้นจึงจะไม่เกิดริบา ...แต่ถ้าไม่ทำให้ครบเงื่อนไขทั้งสามประการแล้วยังไม่ยอมยกเลิกข้อตกลง ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีบาป และต้องได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และสิ่งที่พวกเขาได้มาจากข้อตกลงเช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่หะรอมสำหรับพวกเขาด้วย

 

       ลำดับที่สอง การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาเดียวกันแต่ต่างประเภทกัน

 

          ความหมายของทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาเดียวกันแต่ต่างประเภทกันหมายถึง เป็นทรัพย์สินที่มีค่าเป็นเงินตราเหมือนกัน แต่คนละอย่างกัน กับ ทรัพย์สินที่มีค่าเป็นอาหารเหมือนกัน แต่คนละอย่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำกับเงิน หรือ ซื้อขายแลกเปลี่ยนข้าวสาลีกับข้าวบาร์เลย์ หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนข้าวบาร์เลย์กับอินทผลัม เป็นต้น

          ซึ่งการซื้อขายแลกเปลี่ยนในกรณีอย่างนี้จะมีเงื่อนไขสองประการที่จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่มีริบาเกิดขึ้น นั่นก็ได้แก่

 

     ประการที่หนึ่ง ต้องเป็นข้อตกลงที่มีการชำระทันที โดยต้องไม่มีการระบุในข้อตกลงว่า จะมีการค้างชำระไม่ว่าจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ว่าจะค้างชำระในระยะสั้นเพียงใดก็ตามก็ไม่อนุญาตให้มีการค้างชำระ แต่จะต้องมีการชำระกันในทันทีในขณะนั้น ในขณะที่กำลังซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเรียกว่า ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ ...เพราะถ้าหากมีการค้างชำระในขณะนั้นก็จะเกิดเป็นริบา เรียกว่าริบาอันนะซีอะฮฺ (رِبَااﻟﻨﺴﻴﺌﺔ) (ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น)

 

     ประการที่สอง ที่จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาเดียวกันแต่ต่างประเภทกันไม่มีริบาเกิดขึ้นก็คือ ต่างฝ่ายต่างต้องรับกันไป คือทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้รับทรัพย์สินที่นำซื้อขายแลกเปลี่ยนในทันทีในสถานที่ที่ได้ทำการตกลงซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะแยกจากกันไป ...ซึ่งถ้าหากไม่มีการรับทรัพย์สินในทันทีในสถานที่ที่ได้ทำการตกลงกัน ก็จะเกิดเป็นริบา เรียกว่าริบาอัลยัด (رِبَاالْيَدِ) (ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น)

 

          การซื้อขายแลกเปลี่ยนในกรณีนี้ไม่มีบทบัญญัติว่าทรัพย์สินที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันนั้นจะต้องเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำจำนวนหนึ่งกรัมกับแร่เงินจำนวนห้ากรัม หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนข้าวสาลีจำนวนหนึ่งลิตรกับข้าวบาร์เลย์จำนวนสองลิตร ซึ่งข้อตกลงนี้ถือว่าใช้ได้ ไม่ทำให้เกิดริบา ตราบใดที่ไม่มีการค้างชำระ และต่างฝ่ายต่างรับกันไปทันทีตามเงื่อนไขสองประการที่ได้กล่าวไปแล้ว

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอุบาดะฮฺ บิน อัซซอมิต เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

فإذا اخْتَلَفَتْ هذِه الأصْنافُ، فَبِيعُوا كيفَ شِئْتُمْ، إذا كانَ يَدًا بيَدٍ.

 

     ดังนั้น ถ้าหากสิ่งเหล่านี้ต่างประเภทกัน ท่านทั้งหลายจงซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ตามความประสงค์ตราบเมื่อว่า يَداً بِيَدٍ ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ

     หมายถึง ต่างฝ่ายต่างชำระค่าทรัพย์สินที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในทันที ในสถานที่ที่ตกลงกัน

 

          อัลหะดีษ مرفوعاً: ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม และท่านอื่น ๆ ซึ่งรายงานมาจากท่านอุมัร อิบนุล ค๊อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัมลัมได้กล่าวว่า

 

- الذَّهَبُ بالذَّهَبِ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ، والبُرُّ بالبُرِّ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ، والشَّعِيرُ بالشَّعِيرِ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ والتَّمْرُ بالتَّمْرِ رِبًا إلَّا هَاءَ وهَاءَ،.

 

      ทองคำแลกทองคำเป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป...ข้าวสาลีแลกข้าวสาลีเป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป ...ข้าวบาร์เลย์แลกข้าวบาร์เลย์เป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป ...อินทผลัมแห้งแลกอินทผลัมแห้งเป็นริบา นอกจากต่างฝ่ายต่างรับกันไป

 

     คำว่า وَهَاءَ هَاءَ ต่างฝ่ายต่างรับกันไป หมายถึง แต่ละฝ่ายต่างได้รับทรัพย์สินในส่วนของตนเองในขณะนั้น ณ สถานที่ทำการตกลงซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากมีการค้างชำระ หรือไม่มีการรับทรัพย์สิน ก็คือขาดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด หรือขาดทั้งสองเงื่อนไข ถือว่า การซื้อขายแลกเปลี่ยนนั้นทำให้เกิดริบา

 

          ดังนั้น การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาเดียวกันแต่ต่างประเภทกัน ต้องครบเงื่อนไขสองประการข้างต้น หากขาดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด นักนิติศาสตร์อิสลามถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ เพราะมันเป็นข้อตกลงที่ทำให้เกิดริบา ด้วยเหตุนี้ ผู้ทำการตกลงทั้งสองฝ่ายจะต้องคืนทรัพย์สินที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน และแต่ละฝ่ายต้องขอคืนทรัพย์สินที่ตนได้มอบให้อีกฝ่ายหนึ่งไป หลังจากนั้นให้ทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงกันใหม่ให้ครบเงื่อนไขทั้งสองประการ ข้อตกลงนั้นจึงจะไม่เกิดริบา ...แต่ถ้าไม่ทำให้ครบเงื่อนไขทั้งสองประการแล้วยังไม่ยอมยกเลิกข้อตกลง ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีบาป และต้องได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และสิ่งที่พวกเขาได้มาจากข้อตกลงเช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่หะรอมสำหรับพวกเขาด้วย

 

     ลำดับที่สาม การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบาเป็นคนละประเภทกัน หมายความว่า มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างทรัพย์สินกลุ่มที่มีค่าเป็นเงินตรา กับทรัพย์สินกลุ่มที่มีค่าเป็นอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนข้าวสาลีจำนวนยี่สิบลิตรกับทองคำหนักสิบกรัม ในกรณีอย่างนี้ถือว่าใช้ได้ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการส่งมอบหรือรับมอบกันในทันทีจากทั้งสองฝ่ายหรือไม่ก็ตาม และไม่คำนึงด้วยว่าจะมีการตั้งเงื่อนไขค้างชำระ หรือไม่มีการตั้งเงื่อนไขค้างชำระก็ตาม

 

          หลักฐานในเรื่องนี้อยู่ในอัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ และท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม รายงานว่า

 

     “ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้แต่งตั้งชายคนหนึ่งไปเก็บซะกาตที่คอยบัร (หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ) ชายคนนี้ก็ได้นำอินทผลัมชนิดดีกลับมาด้วย

     ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ถามชายคนนี้ว่า ...อินทผลัมทั้งหมดที่คอยบัรเป็นอย่างนี้หรือ ?

     ชายคนนี้ตอบว่า ..ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ไม่ใช่หรอกครับ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ความจริงเราแลกอินทผลัมชนิดดีนี้จำนวนหนึ่งซออฺกับอินทผลัมชนิดธรรมดาจำนวนสองซออฺ และแลกจำนวนสองซออฺด้วยกับจำนวนสามซออฺ

     ท่านเราะซูลุลลอฮฺจึงได้กล่าวว่า   لا تَفْعَلْ، بِعِ الجَمْعَ بالدَّرَاهِمِ، ثُمَّ ابْتَعْ بالدَّرَاهِمِ جَنِيبًا.

ท่านอย่าทำเช่นนั้น แต่ท่านจงขาย(อินทผลัมชนิดธรรมดาเหล่านั้น)คละกันไปเป็นเหรียญเงิน แล้วซื้ออินทผลัมชนิดดีนั้นมาด้วยเหรียญเงินเหล่านั้น

 

          อัลหะดีษบทนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่อนุญาตให้แลกเปลี่ยนอินทผลัม(ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีค่าเป็นอาหาร)ด้วยจำนวนที่ไม่เท่ากัน แต่อนุญาตให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่มีเหตุแห่งริบาได้โดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อทรัพย์สินอย่างหนึ่งมีค่าเป็นเงินตรา กับอีกอย่างหนึ่งที่มีค่าไม่ใช่เงินตรา

 

          ลำดับที่สี่ การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่มีเหตุแห่งริบากับทรัพย์สินที่ไม่มีเหตุแห่งริบา ก็คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่มีเหตุแห่งริบาทั้งหกประเภทกับทรัพย์สินที่ไม่มีเหตุแห่งริบา ยกตัวอย่างเช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินทั้งหกประเภทกับผ้าตัดเสื้อ เป็นต้น กรณีนี้ถือว่าใช้ได้ อนุญาตให้ทำได้ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเท่ากัน ไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องชำระกันทันที ไม่มีเงื่อนไขว่าต่างฝ่ายต่างต้องรับกันไปในสถานที่ตกลงกัน อันนี้อยู่ที่การตกลงกันของทั้งสองฝ่าย

 

          ทั้งสี่ลำดับที่กล่าวมาข้างต้น นั่นก็คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบา ซึ่ง เมื่อเรานำเอาทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้เกิดริบามาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน มันจะมีช่องทางที่ทำให้เกิดริบาได้ โดยสรุป ริบาที่เกิดจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นเหตุแห่งริบาแบ่งได้เป็นสามประเภท ได้แก่

 

     ริบาอัลฟัฏล์ (رِبَاالْفَضْلِ) หมายถึง ริบาที่มีการเกินเลยกันอยู่ฝ่ายหนึ่ง ก็คือมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่มีเหตุแห่งริบาประเภทเดียวกันด้วยจำนวนที่ไม่เท่ากัน

 

     ริบาอันนะซีอะฮฺ (رِبَااﻟﻨﺴﻴﺌﺔ) หมายถึง ริบาที่เกิดจากการค้างชำระ หรือมีการตั้งเงื่อนไขในการยังไม่ชำระไว้ในข้อตกลงในขณะนั้น หรือมีการผ่อนชำระเกิดขึ้น

 

     ริบาอัลยัด (رِبَاالْيَدِ) หมายถึง ริบาที่เกิดจากการไม่ได้รับทรัพย์สินที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในทันที ในสถานที่ที่ทำการตกลงกัน ก็คือ มีการส่งมอบทรัพย์สินไม่พร้อมกัน

 

          ดังนั้น เราจึงต้องมีความระมัดระวังในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินเหล่านี้ โดยเราต้องทำให้ถูกต้องตามที่บทบัญญัติศาสนาได้กำหนดเงื่อนไขไว้ มันจึงจะไม่เกิดริบา

 

          นอกจากริบาทั้งสามประเภทที่เป็นริบาที่เกิดจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินแล้ว ก็ยังมีริบาที่เกิดจากสัญญาหนี้ด้วย ซึ่งเป็นริบาหรือดอกเบี้ยที่เรามักจะรู้จักมักคุ้นกัน และเป็นริบาที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั้งในยุคก่อนอิสลามและยุคของเราด้วย เป็นริบาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบัญญัติห้ามไว้โดยตรง ซึ่งปรากฎหลักฐานอยู่ในอัลกุรอานในอายะฮฺที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

 

ริบาที่เกิดจากสัญญาหนี้ได้แก่.....

 

          ริบาอัลกอรฎ์ رِبَاالْقَرْضِ หรือที่เรามักรู้จักกันดีในชื่อว่าดอกเบี้ยเงินกู้ ก็คือ ริบาที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าจากการที่คน ๆหนึ่ง(ผู้กู้หรือลูกหนี้)ได้ทำการกู้เงินจำนวนที่แน่นอนจากคนอีกคนหนึ่ง(ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้) โดยมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญาว่า เมื่อถึงเวลาที่กำหนดจะต้องใช้คืนเงินต้นที่กู้มากับส่วนเพิ่มที่กำหนดไว้แล้วแก่ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ หรือจะผ่อนเป็นงวด ๆในรูปของผลประโยชน์อย่างใดจนกว่าจะคืนเงินต้นจนครบ ..ซึ่งส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้านี้ก็คือริบาหรือดอกเบี้ย กรณีอย่างนี้ถือว่าหะรอม ต้องห้าม ยกตัวอย่างเช่น การฝากเงินกับธนาคารที่ใช้ระบบดอกเบี้ย หรือการกู้ที่มีการกำหนดดอกเบี้ยเป็น การกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบ

 

          การกู้ในระบบก็คือ การกู้ที่มีการทำสัญญาที่ถูกต้อง มีการคิดริบาหรือดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ก็จะได้แก่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่าง ๆที่ไม่ใช่ธนาคาร ..ส่วนการกู้นอกระบบ ก็จะเป็นการกู้กันเอง ไม่มีสถาบันใดรองรับ มีการทำสัญญาที่เจ้าหนี้มักเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ คิดดอกเบี้ยสูงเกินไป อย่างที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ เช่น เงินด่วนทันใจ รับเงินสดทันที เป็นต้น

 

          ..แต่ถ้าหากผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ไม่ได้วางเงื่อนไขใดๆไว้ ก็คือ ให้ยืมโดยไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ แต่เมื่อถึงกำหนดชำระคืน ผู้ยืมหรือลูกหนี้ได้ให้ประโยชน์หรือจ่ายสิ่งที่ดีกว่า หรือจ่ายให้มากกว่าแก่ผู้ให้ยืมด้วยความสมัครใจ อย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้และได้รับผลบุญด้วย

 

          ริบาจากสัญญาหนี้อีกประเภทเรียกว่า ริบาอัลญาฮิลียะฮฺ ربا الجاهلية คือ ริบาที่เกิดจากการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเงินต้นที่ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้จะคิดจากผู้กู้หรือลูกหนี้ เมื่อผู้กู้หรือลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน หรือเป็นการคิดเพิ่มขึ้นจากหนี้เดิมเพื่อแลกเปลี่ยนกับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป ตัวอย่างเช่น ค่าเบี้ยปรับการจ่ายล่าช้าของการกู้ธนาคารในระบบดอกเบี้ย หรือ การคิดดอกเบี้ยเมื่อไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ครบหรือไม่สามารถจ่ายได้ตามกำหนดเวลา เช่น ทำสัญญากู้จำนวน 100 บาท ตกลงว่าจะจ่ายคืนในเดือนเราะมะฎอน แต่เมื่อถึงเดือนเราะมะฎอนไม่สามารถจ่ายคืนได้ ก็จะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 110 บาท เนื่องจากจ่ายล่าช้า อย่างนี้เป็นต้น 

          ดังกล่าวข้างต้นนั่นก็คือ เรื่องราวเบื้องต้นเพียงบางส่วนเท่านั้นในเรื่องของริบา พอให้เราได้ทราบในแนวทางของบทบัญญัติศาสนาในเรื่องของริบา ซึ่งเป็นเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้ามและทรงสั่งให้เราออกห่างด้วย อย่าไปเข้าใกล้ อย่าไปยุ่งเกี่ยว และเป็นเรื่องที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนำมาตักเตือนเรา ..แต่ถ้าหากใครยังดื้อดึง ยังฝ่าฝืน ..อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงถือว่า เขาผู้นั้นประกาศทำสงครามกับพระองค์ นี่ก็คือความร้ายแรงในเรื่องของริบา ..ก็หวังว่าสิ่งที่นำมาเสนอนี้พอจะมีประโยชน์บ้าง อย่างน้อย ๆก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราไปค้นคว้า ศึกษาใน

          รายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเป็นความรู้ไว้สำหรับป้องกันตัวเรา พาตัวเราให้รอดจากเรื่องของริบา ซึ่งนับวัน เรื่องของริบานี้ก็จะมาพัวพันอยู่ใกล้ ๆ ตัวเรา ในรูปของธุรกรรมการเงินที่มีรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีความซับซ้อนให้ต้องตีความว่า ธุรกรรมนั้น ๆ เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับเรื่องของริบาหรือไม่

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดช่วยเหลือเราให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของริบา และสามารถตัดขาดจากเรื่องของริบาได้ทั้งหมด ขอพระองค์โปรดให้เราเป็นผู้ยึดมั่นในบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงอภัยโทษบาปต่าง ๆให้แก่เรา และให้เราได้เป็นผู้ที่อยู่ในความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตลอดไปทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ อามีน

 

 

( นะศีหะฮฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )